ไวรัส Covid-19 ได้แพร่ระบาดไปทั่วโลก โดยเริ่มแพร่ระบาดตั้งแต่ปลายปี 2562 จนถึงปัจจุบัน แม้ว่าขณะนี้ทั่วโลกต่างเร่งมือทำการวิจัยค้นคว้าเพื่อผลิตวัคซีนป้องกันไวรัส Covid-19 แต่ดูเหมือนว่าจะใช้เวลานานพอสมควรเพื่อให้มั่นใจว่าวัคซีนที่ผลิตออกมานั้นปลอดภัยและไร้ผลข้างเคียง

ในช่วงเวลาที่ยังคิดค้นวัคซีนป้องกัน ไวรัส Covid-19 ได้ส่งผลกระทบต่อผู้คนอย่างมากมายและต่างก็ต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของตัวเองเพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นพนักงานบริษัทที่ต้องเปลี่ยนสถานที่การทำงาน จากบริษัทมาเป็นทำงานที่บ้าน (Work from home) ห้างสรรพสินค้า ร้านค้าต่างๆ ต้องปิดเป็นการชั่วคราวตามมาตรการเพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อเปลี่ยนมาขายบนออนไลน์ บุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องทำงานอย่างหนักเพื่อรักษาผู้ป่วยและมีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อ, แม่บ้านที่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในการซื้อหน้ากากอนามัยและเจลล้างมือ หรือแม้แต่นักเรียน นักศึกษา ที่ถูกเลื่อนการเปิดเทอม ส่งผลให้นักเรียนส่วนใหญ่เสียโอกาสในการเรียนรู้ ที่ร้ายแรงที่สุดนักเรียนกลุ่มนี้เสี่ยงที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษา ซึ่งจะก่อให้เกิดผลเสียต่อชีวิตเด็กในระยะยาว

เมื่อคุณครูและนักเรียนต้องทดลองการเรียนการสอนทางออนไลน์

ในการศึกษายุค Covid-19 ทำให้คุณครูและนักเรียนต้องปรับตัวสู่สภาวะการเรียนรู้ที่ไม่คุ้นเคย และรับภาระที่เพิ่มมากขึ้น คุณครูต้องใช้เวลามากขึ้นในการเตรียมการสอน นักเรียนรับการบ้านและต้องเรียนรู้ด้วยตนเองที่มากกว่าเรียนในชั้นเรียนมากขึ้น

ผลกระทบที่เกิดขึ้น

เด็กๆ หลายคนตื่นเต้นที่จะได้เรียนรู้การใช้เทคโนโลยีผ่านอุปกรณ์เทคโนโลยีต่างๆ แต่ทว่าเมื่อได้พิจารณาจากหลายๆ ด้านแล้ว พบว่ายังมีเด็กนักเรียนในหลายครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบซ้ำเติมจากการเรียนออนไลน์ และปัญหาที่ใหญ่สำหรับพวกเขาคือค่าใช้จ่ายที่มีเพิ่มมากขึ้น ทั้งค่าอุปกรณ์ในการเรียนออนไลน์ ค่าบริการอินเตอร์เน็ตรายเดือน ค่าไฟที่สูงขึ้น ยิ่งครอบครัวที่มีลูกในวัยเรียนมากกว่า 1 คน ก็จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอีก

หน้าที่ที่เพิ่มมากขึ้นหลายเท่าตัวของคุณครู…เราอาจจะได้เห็นผ่านสื่อโซเชียลที่เล่าเรื่องราวของคุณครูลงพื้นที่ไปเยี่ยมเยียนนักเรียนเพื่อสอบถามความเป็นอยู่ของเด็กๆ กลุ่มคุณครูจากจังหวัดอุทัยธานีที่รวมตัวกันก่อตั้ง “Grab แม่ครู” ลงพื้นที่ติดตามความเป็นอยู่ของนักเรียน และจัดส่งอาหารที่พร้อมด้วยคุณค่าทางโภชนาการให้กับเด็กๆ คุณครูที่จังหวัดอุตรดิตถ์ลงพื้นที่พบปะ ส่งสมุดการบ้านและตรวจแบบฝึกหัดให้นักเรียน และพูดคุยกับผู้ปกครองถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ในต่างประเทศก็เช่นเดียวกัน อย่างประเทศอเมริกา เด็กนักเรียนทุกคนต้องหยุดอยู่บ้าน ยิ่งทำให้นักเรียนในครอบครัวยากจนได้รับผลกระทบเรื่องค่าใช้จ่ายอาหารกลางวัน ทำให้คุณครูจากโรงเรียนหลายแห่งต้องร่วมมือร่วมใจกันหอบหิ้วและเดินสายนำอาหารไปให้นักเรียนถึงบ้าน หรือแม้แต่คุณครูที่ยอมเดินเท้าหลายกิโลเพื่อมาอธิบายการบ้านให้นักเรียนฟังถึงบ้าน เพราะนักเรียนไม่เข้าใจเนื้อหาจากการเรียนออนไลน์ สำหรับประเทศเพื่อนบ้านของเรา อย่างประเทศกัมพูชาคุณครูได้ออกลุยเดินทางไปสอนหนังสือที่บ้านของนักเรียนหลังโรงเรียนปิดเพราะลูกศิษย์ไม่มีอินเตอร์เน็ต หรือแม้แต่ทีวีเพื่อใช้เรียน

การเรียนออนไลน์นั้น มีข้อจำกัดเรื่องความพร้อมส่วนบุคคลมากมาย โดยเฉพาะเด็กในครอบครัวที่มีฐานะยากจนเสียเปรียบ เพราะไม่มีอุปกรณ์ดิจิทัลที่บ้าน จากข้อมูลของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) บ่งชี้ว่า สัดส่วนของครัวเรือนที่มีคอมพิวเตอร์ค่อนข้างต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยของประเทศพัฒนาแล้ว นอกจากนี้ การสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติยังสะท้อนให้เห็นความเหลื่อมล้ำสูงในการเข้าถึงอุปกรณ์ดิจิทัล โดยเฉพาะครัวเรือนที่มีฐานะยากจนและครัวเรือนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นอกจากนี้ ในการเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน เด็กจำเป็นต้องได้รับการเอาใจใส่ การเรียนที่บ้านจึงเป็นการผลักภาระให้ผู้ปกครอง อาจทำให้เหลื่อมล้ำทางการศึกษาเพิ่มมากขึ้น หากผู้ปกครองไม่มีความพร้อมในการช่วยเหลือบุตรหลานของตนในการเรียน ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีนักเรียนกว่า 8 หมื่นคน อยู่ในพื้นที่ที่ไฟฟ้าเข้าไม่ถึง รวมไปถึงโรงเรียนขนาดเล็ก ขนาดกลางในต่างจังหวัด ที่คุณครูก็ยังไม่มีความคุ้นชินกับโปรแกรมต่างๆ รวมถึงสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่ไม่ดีนัก เพราะประเทศไทยยังมีข้อจำกัดในการเรียนทางไกลหรือเรียนออนไลน์ค่อนข้างสูง

อย่างไรก็ตามการเรียนออนไลน์ไม่ใช่เรื่องใหม่ โดยเริ่มต้นจากสถาบันกวดวิชาต่างๆ ให้ผู้ที่ไม่มีเวลาเดินทาง สามารถเรียนผ่านออนไลน์ที่เป็นคลิปวิดีโอในเว็บไซต์ได้ จึงไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคม หากแต่ในช่วงวิกฤตนี้ การเรียนออนไลน์กลายมาเป็นค่านิยมในการเรียนรูปแบบใหม่ เพราะปัจจุบันในโลกออนไลน์นั้น สามารถเรียนรู้ร่วมกันได้ ถ้ามีเวลาก็สามารถศึกษาด้วยตนเอง รวมทั้งเลือกสิ่งที่จะเรียนและเวลาเรียนได้อีกด้วย

การเรียนออนไลน์จะเข้ามาทดแทนการเรียนที่โรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยได้จริงหรือไม่ เพราะปัจจุบันยังไม่มีใครรับประกันว่าโควิด-19 จะหยุดลงเมื่อไร ในสถานการณ์เช่นนี้ การเรียนออนไลน์ยังคงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด แต่ก็ยังมีผลกระทบที่ตามมาด้วย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสัญญาณอินเทอร์เน็ตในพื้นที่ห่างไกล การเข้าถึงอุปกรณ์การเรียนต่างๆ ของผู้มีรายได้น้อยอีกด้วย

เรื่อง : ศิริพรรณ รัตนะอำพร
ข้อมูลบางส่วน : http://accesstrade.in.th/
ภาพประกอบ : https://www.pinterest.com