เมื่อพูดถึง “การศึกษาไทย” รู้ทันทีว่าในประเทศไทยมี “ปัญหาการศึกษา” ที่ยังแก้ไม่ตก เพื่อสะท้อนถึงความจริงและปัญหาของระบบการศึกษาไทยออกมา จะพบว่ามีเรื่องที่น่าตกใจ คือ เด็กนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือ ปวช.3 ในปีการศึกษา 2564 เหลืออยู่ไม่ถึง 80% หรือ 464,394 คน ต้อง “หลุดออกจากระบบการศึกษา”
1. ความบอบช้ำทางเศรษฐกิจ เพราะโควิด-19
การมาของโควิด-19 ทำให้เกิด “แผลเป็น” ทางเศรษฐกิจ และยังเหมือนแว่นขยาย “ความเหลื่อมล้ำ” ทางการศึกษาให้ชัดขึ้นกว่าเดิม หนึ่งกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักก็คือ เด็กที่ฐานะยากจน ผู้ปกครองของเด็กเหล่านี้ บ้างก็ถูกลดเงินเดือน ถูกพักงานไม่มีกำหนด ถูกเลิกจ้างกระทันหัน ส่งผลให้เด็กวัยเรียนไม่สามารถกลับเข้าโรงเรียนได้ตามเดิม เนื่องจากมีเงินไม่เพียงพอในการสนับสนุนการศึกษาของลูกหลาน กลายเป็นเพิ่มจำนวน “เด็กขาดโอกาส” ปัจจุบันมีเด็กยากจนและยากจนพิเศษ หลุดจากระบบการศึกษามากถึง 1,137,539 คน ทั้งที่ “การเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ” คือปัจจัยขั้นพื้นฐานที่เด็กทุกคนควรได้รับอย่างเท่าเทียมกัน
2.สภาพครอบครัวก็สำคัญ
เด็กที่ครอบครัวมีฐานะยากจน ส่วนใหญ่จะอาศัยและถูกเลี้ยงดูโดยญาติ เช่น ปู่ย่า ตายาย ลุงป้า เนื่องจากพ่อแม่ต้องไปทำงานที่ต่างจังหวัด ส่งเงินเพื่อใช้จ่ายในบ้านและเรื่องการศึกษาของลูก แต่อาจไม่ได้ส่งมาให้ทุกเดือน และการที่ปู่ย่า ตายาย ต้องดูแลเด็กๆ แม้จะเป็นการแบ่งเบาภาระ แต่อีกด้านหนึ่งก็ส่งผลกระทบต่อสายสัมพันธ์ระหว่างครอบครัว อาจทำให้เด็กขาดความอบอุ่น เด็กบางคนต้องอาศัยอยู่กับผู้อุปการะที่อายุมาก ไม่มีรายได้ รวมทั้งคำแนะนำที่ไม่ตอบโจทย์กับช่วงวัยของเด็กๆ
3. การเรียนออนไลน์ เด็กจำนวนไม่น้อยไม่สามารถเข้าถึงได้
วิกฤตโควิด-19 ทำให้โลกการศึกษาเปลี่ยนไป การปิดโรงเรียนและการเรียนออนไลน์ส่งผลต่อคุณภาพการเรียนการสอน มีเด็กจำนวนไม่น้อยไม่สามารถเข้าถึงได้ เพราะขาดแคลนอุปกรณ์ โดยเฉพาะเด็กๆ ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะหลุดจากระบบการศึกษาได้ทุกเมื่อ
การเรียนออนไลน์โดยเฉพาะสำหรับเด็กวัยอนุบาลและประถมศึกษายังต้องอาศัยการให้ความร่วมมือของพ่อแม่หรือผู้ที่ดูแล ในบ้านที่ผู้ดูแลไม่สามารถใช้เทคโนโลยีได้หรือไม่มีเวลาให้ เด็กอาจขาดโอกาสในการเรียนรู้
4.เด็กส่วนใหญ่หลุดจากระบบในช่วงมัธยมปลาย
รอยต่อสำคัญในการหลุดจากระบบการศึกษา คือช่วง ม.3 ขึ้น ม.4 สาเหตุมาจาก เมื่อเรียนครบตามกฎหมายภาคบังคับ ผู้ปกครองหรือเด็กในครอบครัวที่มีข้อจำกัด มักจะตัดสินใจออกจากระบบการศึกษา ขณะเดียวกันรัฐก็ไม่สามารถเติมเต็มด้านโครงสร้างพื้นฐาน สิ่งอำนวยความสะดวก หรือเงินทุนสนับสนุน ให้กับโรงเรียนที่ขาดแคลนได้ จึงทำให้เด็กตัดสินใจออกจากระบบ
5. ปัญหาภาวะเด็กทุพโภชนาการ
นักเรียนกลุ่มยากจนพิเศษในระดับประถมศึกษามีภาวะทุพโภชนาการถึง 5.8% ส่วนนักเรียนยากจนพิเศษในระดับมัธยมต้นมีภาวะทุพโภชนาการ 3.6% ขณะที่ในประเทศไทยมีเด็กกว่า 2.9 ล้านคน หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของเด็กอายุ 6 – 14 ปี มีภาวะทุพโภชนาการ เฉพาะเด็กในชนบทมีโอกาสขาดสารอาหารมากกว่าเด็กในเมือง
เด็กจำนวนไม่น้อยต้องเผชิญกับความหิวโหยและการขาดสารอาหาร ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและความอยู่ดีมีสุขของนักเรียนด้วย แม้ปัจจุบันจะมีนโยบายเพื่อสนับสนุนค่าอาหารกลางวันให้แก่เด็กนักเรียนอนุบาล – ประถมศึกษา หัวละ 20 บาท แล้วก็ตาม
6. ปัญหาพัฒนาการเด็กในช่วงปฐมวัย
ปฐมวัย เป็นช่วงที่สำคัญมาก เพราะเป็นช่วงเวลาแห่งการเรียนรู้ จดจำสิ่งต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว จากข้อมูลพัฒนาการเด็ก โดย สำนักงานสถิติแห่งชาติ องค์การยูนิเซฟ (UNICEF) ประเทศไทย สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) และกรมอนามัย เก็บข้อมูลใน 17 จังหวัด จาก 4 ภูมิภาคทั่วประเทศ พบว่า เด็กปฐมวัยในประเทศไทยมีพัฒนาการสมวัยร้อยละ 92.3 ซึ่งถือเป็นอันดับที่ 7 จาก 80 ประเทศ ที่มีรายได้ต่ำหรือปานกลาง มีพัฒนาการด้านสติปัญญาและภาษาต่ำที่สุด ที่ร้อยละ 61 ในเด็กผู้ชาย และร้อยละ 64 ในเด็กผู้หญิง โดยเฉพาะครอบครัวยากจนจะมีพัฒนาการด้านสติปัญญาและภาษาต่ำไปด้วย
นี่จึงเป็นปัญหาที่ทุกคนต้องหันมามอง เพราะเทคโนโลยีสำหรับเด็กวัยนี้ อาจไม่ใช่สิ่งที่เห็นผล เท่าการเรียนรู้ที่ได้ทดลองหยิบจับเอง หรือที่เรียกว่า Active Learning เด็กจะใช้ประสาทสัมผัสครบทุกด้าน ผ่านการเล่น โดยมีครูคอยดูอยู่ข้างๆ นั่นหมายความว่าเราจำเป็นต้องพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีคุณภาพเพื่อเป็นภูมิคุ้มกันอย่างดีของเด็กที่จะเติบโตเป็น “คนคุณภาพ”
8. “ครู” ห่วงโซ่สำคัญของการศึกษา
ครูต้องแบกภาระหลายอย่างที่ไม่ใช่แค่การสอนหนังสือ แต่ยังต้องจัดการภาระงานอื่น ทั้งงานเอกสาร ทำแบบประเมิน เข้าเวร ทำธุรการ จัดกิจกรรม และปัญหาที่หลายๆ โรงเรียนเจอ คือ ครูหนึ่งคนสอนหลายวิชา หลายคาบ สาเหตุจากโรงเรียน “ขาดแคลนครู” ขณะที่จากการจัดการศึกษาของไทยในปัจจุบันยังมีปัญหาหลายด้านโดยเฉพาะในเรื่องครูผู้สอน ซึ่งกำลังเผชิญปัญหาวิกฤติทั้งในเรื่องคุณภาพการจัดการเรียนการสอน รวมทั้งปัญหาครูมีหนี้สิน
ใช่ว่าปัญหาต่างๆ ที่กล่าวถึงนี้ จะไม่มีความพยายามในการแก้ไข ที่ผ่านมาก็น่าดีใจไม่น้อยเมื่อยังมีหลายกรณ์ขันอาสาเข้ามาแก้ปัญหาระบบการศึกษาไทยอยู่เรื่อยๆ พร้อมทุ่มเทให้กับ “การเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาไทย”
หากคุณเป็นคนหนึ่งที่อยากเห็นการศึกษาของไทยเปลี่ยนแปลง เห็นเด็กๆ มีอนาคตที่สดใส เติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ สามารถมาร่วมมือกันไม่ว่าจะเป็นองค์กร หรือบุคคล เพราะหัวใจสำคัญของการศึกษา เกิดจากความเชื่อมั่นว่าถ้าการศึกษาเปลี่ยน ประเทศไทยจะเปลี่ยนได้เช่นกัน