คุณอยู่ใน Generation ไหน?

ทุกคนคงทราบกันดีว่า ผู้คนในแต่ละรุ่นจะมีลักษณะที่แตกต่างกันไป ความต่างของคนในแต่ละกลุ่มอายุไม่ได้เกิดจากวัยที่แตกต่างกันอย่างเดียว แต่เกิดจาก Generation ระหว่างรุ่นด้วย และสิ่งนี้จึงอาจทำให้เกิดปัญหาช่องว่างทั้งในด้านของมุมมองความคิด ความเชื่อ การใช้ชีวิต และระบบการศึกษา

มีงานวิจัยหลายชิ้นยืนยันไปในทิศทางเดียวกันว่า คนแต่ละรุ่น มีค่านิยม แนวคิด ความชอบ มีสไตล์ในการเรียนต่างกัน รวมถึงความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ส่งผลต่อสังคมและเศรษฐกิจ ขณะที่สถาบันการศึกษา ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ผลิตบุคลากรเพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการพัฒนาประเทศ ก็ต้องพลิกโฉมครั้งใหญ่ นักการศึกษาและบุคลากรทางการศึกษาต่างตื่นตัว ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ รูปแบบ วิธีการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับยุคสมัย และพฤติกรรมการเรียนรู้ของผู้เรียนที่เปลี่ยนแปลงไป ที่เห็นได้ชัดก็คือความต่างระหว่างรุ่นในสังคมของคนทำงาน เพราะมีคนหลากหลายวัยทำงานอยู่ร่วมกัน และคาดว่าจะมีมากขึ้นในอนาคตอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

รูปแบบการศึกษา
แต่ละ Generation เป็นอย่างไร


Generation B หรือ Baby boomer


คนที่เกิดในช่วงหลังของสงครามโลกครั้งที่ 2 พ.ศ. 2489 – 2507 เป็นยุคที่อยู่ในภาวะสงคราม ผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก กลุ่มนี้จึงต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด หน้าที่หลักๆ จะอยู่ที่เรื่องของการฟื้นฟูประเทศ ดังนั้นจึงมีหลายคนต้องเข้าสู่ตลาดแรงงานก่อนวัยอันควร นั่นหมายความอาจไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือเท่าที่ควรจะเป็น เมื่อเข้าสู่ทำงานต้องพบเจอกับสภาวะการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 3 ที่เน้นการนำเทคโนโลยีประเภทเครื่องจักร คนกลุ่มนี้ที่อยู่ในช่วงวัยทำงานจึงต้องทำงานหนัก ปัจจุบันอยู่ในช่วงอายุระหว่าง 59 – 73 ปี ซึ่งผู้บริหารในหลายๆ องค์กร จะอยู่ในกลุ่มนี้


Generation X


คนที่เกิดระหว่างปี พ.ศ. 2508 – 2522 เป็นรุ่นลูกๆ ของ Baby boomer ที่เกิดมาพร้อมกับโลกที่เริ่มมีการแข่งขันทางด้านเศรษฐกิจสูงและกำลังเริ่มต้นพัฒนา ไม่ว่าจะเป็น การศึกษา สาธารณสุข แต่ละครอบครัวจึงเน้นให้คนกลุ่มนี้ได้เรียนหนังสือเพื่ออนาคต ในสมัยนั้นโดยส่วนใหญ่จะเน้นให้ทำงานกลุ่มราชการและรัฐวิสาหกิจมากกว่าการทำงานกับเอกชน เพราะมองว่ามีความมั่นคงสูง อาจมีบางคนเปิดธุรกิจเป็นของตนเอง เรียกได้ว่าเป็นยุคแห่งการสร้างเนื้อสร้างตัวเพื่อสร้างรากฐานให้คนรุ่นต่อมา

การศึกษาของคนกลุ่มนี้เรียกได้ว่าเป็นช่วงการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคดิจิทัลจึงต้องเรียนรู้และปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยค่อนข้างมาก คนกลุ่มนี้ไม่ได้อยู่กับเทคโนโลยีซะทีเดียว แม้ในยุคนี้จะเริ่มเห็นการเน้นไปที่การเรียนรู้ด้วยตนเอง (Self-learning) โดยอาศัยเทคโนโลยีเป็นสื่อกลาง การเรียนรู้ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้เรียนสามารถเลือกเรียนรู้ในสิ่งที่สนใจได้ตามเวลาที่สะดวก เช่น การเรียนระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-learning) หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (e-books) ห้องเรียนออนไลน์ (online classroom)


Generation Y


บางคนเรียกว่า Millennial หรือ WHY Generation คือคนที่เกิดระหว่างปี พ.ศ. 2523 – 2540 ส่วนใหญ่มาจากครอบครัวที่มีความมั่นคงทางฐานะแล้ว จึงมีการศึกษาสูง มีวิถีการดำเนินชีวิตที่ความแตกต่างจากคนรุ่นก่อนอย่างชัดเจน คนกลุ่มนี้ถือว่าเป็นยุคสมัยที่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ในด้านการศึกษาจึงมีความสะดวกสบายมากขึ้น เข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้การเรียนรู้ได้ตลอดเวลา การเรียนมีความยืดหยุ่นสูง คนในวัยนี้เริ่มสนใจทำธุรกิจมากกว่าการทำงานกับองค์กร โดยเฉพาะการทำ Startup

ในปัจจุบันการศึกษาขั้นพื้นฐานในประเทศไทยนั้น “วัยเรียน” จะประกอบไปด้วยกลุ่มเด็กที่อยู่ในช่วงของ Generation Z และ Generation Alpha ซึ่งทั้งสองกลุ่มนี้มีความคล้ายคลึงกัน เพราะพวกเขาให้ความสำคัญกับเรื่องของเทคโนโลยีเหมือนกัน


Generation Z


คนที่เกิดหลังปี พ.ศ.2540 ขึ้นไป ถ้าดูตามอายุแล้วก็คือ “เยาวชน” ปัจจุบันอยู่ในช่วงประถมศึกษาไปจนถึงมหาวิทยาลัย ทักษะที่โดดเด่นของกลุ่ม Gen Z คือ เทคโนโลยี พวกเขาเติบโตมาพร้อมกับสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย จึงมีความคุ้นเคยกับเทคโนโลยีเป็นอย่างดี เรียนรู้ได้เร็ว มีความคิดเป็นของตนเอง มองเห็นคุณค่าของตัวเอง เชื่อในสิ่งที่มีข้อมูลรองรับ ซึ่งในประเทศไทยมีเด็กกลุ่มนี้อยู่ประมาณกว่า 13 ล้านคน คาดการณ์ว่าเป็น Generation ที่มีความสำคัญและมีอิทธิพลต่อการขับเคลื่อนอนาคตของประเทศทั้งในด้านสังคมและเศรษฐกิจ

ประเด็นที่น่าสนใจสำหรับกลุ่ม Gen Z คือ พวกเขาอยู่ในยุคที่การศึกษาถูก “Disruption” จึงต้องปรับตัวให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และการแข่งขันที่สูงขึ้นเป็นเท่าตัว เด็กกลุ่มนี้ถูกคาดหวังว่าจะสามารถก้าวทันเทคโนโลยีและขับเคลื่อนไปในทางที่ถูกต้องเหมาะสม พร้อมความคิดสร้างสรรค์เกี่ยวกับนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับสังคมได้  

ในด้านความสนใจเรื่องการศึกษา เพราะคนกลุ่มนี้อยู่ในยุคที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จึงมักมองหาแนวทางการเรียนที่ใช้เวลาน้อยแต่ได้ประสิทธิภาพมากพอที่จะต่อยอดไปสู่งานในด้านที่ตนเองสนใจและมีรายได้ดี ขณะเดียวกันก็มองหาธุรกิจที่น่าสนใจควบคู่ไปด้วย สิ่งเหล่านี้ทำให้มุมมองที่มีต่อการศึกษาเปลี่ยนไป บางส่วนหันไปสนใจบทเรียนออนไลน์ที่สามารถเรียนรู้ด้วยตนเองได้ เพราะว่าการเรียนรู้ไม่ได้จบอยู่เพียงแค่ในห้องเรียนเท่านั้น

ที่ผ่านมาเด็กกลุ่ม Gen Z ถือได้ว่าเข้ามาในระบบการศึกษามาระยะเวลาหนึ่งแล้ว ทำให้ปัจจุบันจะเห็นว่ามีรูปแบบของการศึกษาที่เหมาะสมรองรับคนกลุ่มนี้พอสมควร แต่สำหรับอีกกลุ่มหนึ่งคือ Generation Alpha ทำให้หน่วยงานด้านการศึกษาต่างก็หันมาค้นหาแนวการจัดการเรียนรู้ที่เหมาะสม เพื่อให้เข้ากับยุคสมัยและสถานการณ์ ควบคู่ไปกับการส่งเสริมตามแนวทางของการศึกษาในศตวรรษที่ 21


Generation Alpha


ถือเป็นรุ่นลูกของ Gen Y และ Gen Z มีศักยภาพด้านเทคโนโลยีคล้ายกับกลุ่ม Gen Z คนวัยนี้ส่วนใหญ่อยู่ในระดับการเรียนอนุบาล พวกเขาเติบโตมากับโลกดิจิตอล รวมทั้ง AI ที่เข้ามามีบทบาทกับตลาดแรงงาน ทั้งอาชีพงานที่จะหายไปและงานรูปแบบใหม่ๆ เด็กกลุ่มนี้คุ้นเคยกับการเปลี่ยนแปลง และมองหาสูตรความสำเร็จที่จะทำให้ประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุยังน้อย เรียกได้ว่าเป็นเยาวชนที่จะกลายเป็นอนาคตของชาติและอนาคตของโลกต่อจากนี้  

ตามข้อมูลพบว่า การศึกษาของเด็กกลุ่มนี้จะมีความเฉพาะบุคคลและเฉพาะทางมากขึ้น เพราะสามารถศึกษาหาความรู้ได้จากโลกออนไลน์ตามความสนใจ โดยไม่จำเป็นต้องเรียนรู้แค่ในห้องเรียน ดังนั้นจึงได้เห็นการศึกษาแบบ Home school ได้รับความนิยมมากขึ้น รวมทั้งหลักสูตรเด็กปฐมวัย เพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ระดับอนุบาล

GenerationAlpha_CHPT2_opener
เมื่อรูปแบบการศึกษาเปลี่ยนไปตามลักษณะของคนแต่ละรุ่นและการเปลี่ยนแปลงของโลก ถือเป็นความท้าทายของระบบการศึกษา โดยเฉพาะ “คุณครู” ที่มีบทบาทสำคัญทั้งการเป็นแบบอย่างให้เด็กๆ มีความรักที่จะเรียนรู้ พร้อมพัฒนาตนเองตลอดเวลา สำหรับการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนี้ ซึ่งเป็นได้ทั้งช่องว่างระหว่างวัยที่แตกต่างกัน สภาพแวดล้อมและสังคมที่ต่างกันสุดขั้ว คุณครูจึงมีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ รูปแบบ วิธีการเรียนการสอนเพื่อให้เหมาะสมและสอดคล้องกับยุคสมัยที่ต้องใช้เทคโนโลยีมากขึ้น
รวมทั้งพฤติกรรมการเรียนรู้ของนักเรียนที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อเตรียมความพร้อมให้เด็กในแต่ละวัยได้เรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับแต่ละ Generation เพราะในอนาคต อาจได้เห็นรูปแบบสังคมที่เปลี่ยนไปจากเดิม เมื่อคนกลุ่มนี้ก้าวเข้ามาเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนประเทศ ซึ่งการที่ครูเล็งเห็นและยอมรับในความแตกต่างของเด็กแต่กลุ่มอายุและสามารถดึงศักยภาพของแต่ละคนออกมา ก็ยังคงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญที่สุดในระบบการศึกษา

ข้อมูลอ้างอิง :
https://generationalpha.com/
http://www.adobeeducate.com/genz/Thailand-Study-Results
https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-social-media/Pages/Gen-Z-11-08-21.aspx
https://comms.holoniq.com/hubfs/Education/Asset%20downloads/HolonIQ%20Education%20in%202030.pdf 

ภาพประกอบ :
https://www.freepik.com/
https://www.wired.co.uk/article/bc/understanding-generation-alpha