ก่อนจะอ่านเนื้อหา ให้สำรวจตัวเองก่อน โดยตอบคำถาม 5 ข้อนี้
-
ตอนนี้เรา “รู้สึก” อย่างไร ถ้าไม่แน่ใจลองหายใจเข้าออกลึกๆ สัก 2-3 ครั้ง เอามือสัมผัสที่หัวใจแล้วลองฟังคำหรือความรู้สึกแรก ที่ผุดขึ้นมาในใจ (ไม่มีผิด/ถูก ดี/ไม่ดี เพียงแค่รับรู้ว่าเรารู้สึกอะไร)
-
“ตอนนี้” เรามีความพอใจในชีวิตมากน้อยแค่ไหน หากต้องให้คะแนน 1-10 โดยที่ 1 พอใจน้อยที่สุด และ 10 พอใจมากที่สุด
-
เรา “คิด” ว่าเวลาที่เหมาะสมในการใช้สมาร์ตโฟนของวัยรุ่น คือวันละกี่ชั่วโมงหรือสัปดาห์ละกี่ชั่วโมงกันนะ
-
ใน “ความเป็นจริง” เราใช้สมาร์ตโฟนวันละกี่ชั่วโมงหรือสัปดาห์ละกี่ชั่วโมง
-
เรา “คิด” ว่าการใช้สมาร์ตโฟนส่งผลต่อความสุขและความพอใจในชีวิตของเราหรือไม่ อย่างไรบ้าง
“ได้คำตอบกันแล้วใช่ไหม รู้สึกอย่างไรบ้าง?”
หลายคนอาจรู้สึกว่าการได้ใช้สมาร์ตโฟน ไถๆ เพลินๆ เล่นเกม ดู TikTok หรือ YouTube กด like ส่งหัวใจรัวๆ หรือแอบส่องใครในโซเชียลมีเดียเป็นการนำความสุขมาให้เรา แต่รู้หรือไม่ว่ายิ่งเราใช้เวลากับสมาร์ตโฟน มากขึ้น เรายิ่งมีความสุขน้อยลง งานวิจัยพบว่า วัยรุ่นที่ใช้สมาร์ตโฟน คอมพิวเตอร์ หรือแท็บเล็ตสัปดาห์ละ 9-10 ชั่วโมงขึ้นไป คือกลุ่มที่รู้สึก “ไม่มีความสุข” มากที่สุด และนอกจากความสุขแล้ว สิ่งที่สมาร์ตโฟนได้พรากไปจากเรายังมีอีกมากมาย เช่น พรากเวลานอน เวลาออกกำลังกาย สมาธิในการเรียน และการได้ปฏิสัมพันธ์พบปะกับผู้คน ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นต่อพัฒนาการด้านต่างๆ ของวัยรุ่น
ในโรงเรียนหรือครอบครัวมักมีข้อตกลงในการใช้สมาร์ตโฟนที่แตกต่างกัน ซึ่งมีผลการศึกษาที่พบว่า การนำสมาร์ตโฟนออกจากห้องเรียนทำให้นักเรียนเรียนดีขึ้น และนักเรียนที่ใช้สมาร์ตโฟนน้อยกว่า 2 ชั่วโมงต่อวันมีผลการเรียนดีกว่า นอกจากนี้การใช้เวลากับสมาร์ตโฟนมากเกินไปทำให้เรามีเวลานอนน้อยลง เสี่ยงที่จะทำให้เกิดความวิตกกังวล หรือรู้สึกซึมเศร้ามากขึ้นด้วย จากสถิติพบว่าในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา เด็กอายุ 10-17 ปีเข้าพบจิตแพทย์และรับยาจิตเวชเพิ่มขึ้นเท่าตัว หรือในบางประเทศเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว โดยโรคที่พบมากที่สุดคือ โรควิตกกังวลและซึมเศร้า โดยเฉพาะในวัยรุ่นผู้หญิง
แน่นอนว่าการใช้สมาร์ตโฟนนั้นส่งผลกระทบกับแต่ละบุคคลมากน้อยไม่เท่ากัน แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่าสมาร์ตโฟนส่งผลกระทบต่อเราแน่นอน เนื่องจากสมองบางส่วนของวัยรุ่นยังพัฒนาไม่เต็มที่ทำให้ได้รับผลกระทบมากกว่าวัยผู้ใหญ่ หากเปรียบสมองเป็นภาพจิ๊กซอว์ สมองของวัยรุ่นเหมือนจิ๊กซอว์ที่ยังต่อไม่เสร็จ ผู้เชี่ยวชาญทางจิตเวชเผยว่าสมองส่วนหน้าจะพัฒนาเต็มที่เมื่อผู้หญิงอายุประมาณ 25 ปี และเมื่อผู้ชายอายุประมาณ 27 ปี โดยสมองส่วนดังกล่าวมีหน้าที่เกี่ยวกับการวางแผน การจัดลำดับความสำคัญ การควบคุมแรงกระตุ้น การยับยั้งชั่งใจ เป็นต้น และนี่เป็นเหตุผลที่ว่า เพราะอะไรวัยรุ่นจึงหุนหันพลันแล่นหรือมีความสามารถในการชั่งน้ำหนักผลที่จะตามมาจากการกระทำต่างๆ ได้น้อยกว่าผู้ใหญ่
จากผลกระทบเหล่านี้ จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่สตีฟ จ็อบส์ ผู้ก่อตั้งบริษัทแอปเปิ้ลที่จะควบคุมเวลาใช้งานไอแพ็ดของลูกอย่างเข้มงวด หรือบุคคลชั้นนำในธุรกิจด้านไอทีหลายคน เช่น บิล เกตส์ ก็ไม่อนุญาตให้ลูกมีสมาร์ตโฟนเป็นของตัวเองจนกว่าจะอายุ 14 ปี เพราะพวกเขารู้ดีว่าสิ่งที่พวกเขาออกแบบมานั้นทำให้เกิดการเสพติดการใช้งานได้ง่าย โดยเฉพาะกับกลุ่มวัยรุ่น ดังนั้น หากเราอยู่ในโรงเรียนหรือครอบครัวที่มีข้อตกลงเรื่องการใช้สมาร์ตโฟน ก็ขอให้ดีใจที่เขาเป็นห่วงเรา หรือหากมีใครบอกให้เราวางโทรศัพท์ระหว่างทานข้าว เข้าห้องน้ำ หรือเมื่อถึงเวลานอน เราก็ควรยิ้มรับด้วยความขอบคุณและวางเพื่อนซี้จอสี่เหลี่ยมนี้ลงบ้าง เพื่อนซี้ของเราได้พักด้วยนะ
ในวันที่เราต้องพึ่งพาเทคโนโลยีมากขึ้น ส่งผลให้คนใช้เวลากับสมาร์ตโฟนมากขึ้น สิ่งนี้สะท้อนอะไร?
เรากำลังให้เวลาในการสร้างความสัมพันธ์กับสมาร์ตโฟนมากกว่าเวลาสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกันและกันใช่ไหม ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างกันที่ขาดหายไปนี้ กลับเป็นปัจจัยสำคัญในการอยู่ร่วมกันในสังคม การรู้จักตัวเองและผู้อื่น ซึ่งจริงๆ แล้ว มนุษย์เรียนรู้ความสุข ความทุกข์ และความเป็นจริงของชีวิต เกิดความเข้าใจ ความเห็นอกเห็นใจ และความเอื้ออารีที่จะช่วยเหลือกันจากการมีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน
การใช้เวลาอยู่กับสมาร์ตโฟนทำให้เรารู้สึกแย่ลงบ้างไหม ทำให้นอนดึกไหม ทำให้ไม่ได้ออกกำลังกายหรือเล่นกับเพื่อนไหม ทำให้เรียนไม่รู้เรื่องหรือเปล่า หรือทำให้จำอะไรไม่ค่อยได้ด้วยไหม มันทำให้เรามีความสุขขึ้นจริงหรือเปล่า หรือเป็นเพียงเศษเสี้ยวความสุขที่สมาร์ตโฟนได้หยิบยื่นให้กับเรา แลกกับเวลามากมายที่ต้องเสียไป ครั้งสุดท้ายที่เราได้มองคนตรงหน้า ได้เล่าและฟังเรื่องราวจากปากของอีกฝ่ายแล้วเรียนรู้ แบ่งปัน ยิ้มหัวเราะไปด้วยกัน ได้เล่นกัน หรือได้ลงมือทำอะไรที่เราชอบและสนใจจริงๆ โดยที่ไม่ได้หยิบสมาร์ตโฟนขึ้นมาดูนั้น…เมื่อไหร่กันนะ ?
หากเริ่มรู้สึกว่าเรากำลังใช้เวลากับเพื่อนซี้จอสี่เหลี่ยมในมือมากเกินไปและอยากเปลี่ยนเพื่อนซี้แล้ว แน่นอนว่าในช่วงแรกอาจจะยากเพราะสมองจะยังคิดถึงเพื่่อนเก่าจอสี่เหลี่ยมบ่อยๆ จึงขอแบ่งปันเทคนิคบางข้อจากหนังสือ Smartphone Brain เมื่อสมาร์ตโฟนปฏิวัติสมอง ที่จะช่วยทำให้วัยรุ่นลดสถานะเพื่อนซี้เก่าแล้วหาเพื่อนซี้ใหม่ได้สำเร็จ
- หมั่นตรวจดูเวลาการใช้งานสมาร์ตโฟนของตัวเอง “นานไปแล้วรึยัง…”
- ใช้นาฬิกาปลุกหรือนาฬิกาข้อมือแทนการดูเวลาจากสมาร์ตโฟน
- ไม่นำสมาร์ตโฟนเข้าห้องเรียน
- กำหนดเวลาดูหน้าจอในแต่ละวันให้ชัดเจน
- เวลาว่างหรือเมื่อรู้สึกเบื่อๆ ให้ใช้เวลาทำกิจกรรมที่ชอบแทนการใช้สมาร์ตโฟน
- ไม่หยิบสมาร์ตโฟนขึ้นมาใช้ขณะที่เราอยู่กับคนอื่น (ถ้าเราหยิบ พวกเขาจะเริ่มหยิบตาม และหากพวกเขาหยิบก่อน เราก็สามารถบอกให้เขาช่วยวางมันลงได้นะ)
- เวลาอ่านหนังสือ ทำการบ้าน หรือทำรายงาน ให้ปิดและวางสมาร์ตโฟนไว้ไกลตัว
- ปิดสมาร์ตโฟนก่อนเวลานอน 1 ชั่วโมง
- เมื่อจะเข้านอน ไม่วางสมาร์ตโฟนไว้ใกล้ตัว
- ใช้ตัวเลือกอื่น เช่น มีหนังสือสักเล่มไว้อ่าน มีสมุดบันทึกกับดินสอปากกาไว้ขีดๆ เขียนๆ เพราะใครจะรู้ว่าเราอาจจะได้รู้จักและค้นพบศักยภาพของตัวเองผ่านการอ่านหนังสือที่เราสนใจ ขีดเขียนลายเส้น หรือการเขียนบันทึกสิ่งที่สะกิดใจเราในแต่ละวันก็ได้นะ
ลองเช็กดูว่าเราสามารถทำได้กี่ข้อจาก 10 ข้อนี้ นี่เป็นภารกิจทวงคืนความสุขและความสนุกที่แท้ทรูของชีวิตวัยรุ่นกลับมา
ที่มา :
หนังสือ smartphone brain เมื่อสมาร์ตโฟนปฏิวัติสมอง
Mission to the moon podcast EP. 1800 ซึมเศร้า? วิตกกังวล? ผลกระทบจาก Social Media ต่อสุขภาพจิตของวัยรุ่น
ผู้เขียน : พี่กุหลาบหนูสีชมพู
#อาสาเขียนบทความ