ในช่วงชีวิตวัยเรียน หลายคนคงพยายามตั้งใจเรียนให้ได้คะแนนสอบดีๆ เพื่อต่อยอดไปถึงการสอบเข้ามหาวิทยาลัยและประกอบอาชีพ และเมื่อลองมองย้อนดูระบบการศึกษาของไทย ก็สอดรับกับชุดความคิดดังกล่าวเป็นอย่างดี ช่วยสะท้อนสภาพสังคมไทยที่คะแนนสอบคล้ายจะเป็นปลายทางของทุกเรื่อง
แต่เมื่อโลกได้เปลี่ยนแปลงไป ตั้งแต่การเข้ามาดิสรัปต์ของเทคโนโลยี โควิดแพร่ระบาดไปทั่วโลก ไม่เพียงส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิตของมนุษย์ แต่ยังทำให้เด็กจำนวนมากต้องหลุดออกจากห้องเรียน คำถามสำคัญจึงเริ่มเกิดขึ้นในแวดวงการศึกษาที่เน้นวิชาการว่ายังสอดคล้องกับบริบทของโลกปัจจุบันอยู่หรือไม่ การวัดผลด้วยคะแนนสอบต้องเป็นจุดหมายปลายทางของการเรียนเสมอไปและเป็นไปได้หรือไม่ แต่ถ้าพูดถึง “วิชาคณิตศาสตร์” เป็นทักษะวิชาการที่เน้นการคิดวิเคราะห์ การแก้โจทย์ทางคณิตศาสตร์ ถือเป็นทักษะที่มีความสำคัญในสังคมเทคโนโลยีมากขึ้น แม้ว่าวิชานี้จะทำให้เด็กไทยบางคนเข็ดขยาดกันไม่มากก็น้อย
วิธีการของครูดาร์ลี่ก็คือ การเปิดโอกาสให้นักเรียนได้แสดงความคิดเห็น ตั้งคำถาม คิดวิเคราะห์ และสื่อสารสิ่งที่คิดออกมา เพราะเชื่อว่าจะทำให้เด็กได้พัฒนากระบวนการคิดและความเข้าใจในเนื้อหาวิชาได้ดีขึ้น อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้ครูได้เรียนรู้ว่านักเรียนว่ามีความเข้าใจเนื้อหามากน้อยแค่ไหนด้วย เป้าหมายสูงสุดก็เพื่อเชื่อมโยงนักเรียนสู่เนื้อหาด้านวิชาการที่ไม่น่าเบื่อ ทำให้ห้องเรียนกลับมามีความสุข และผู้เรียนก็รู้สึกสนุก กระตือรือร้นในการเรียนเพื่อให้ได้เกรดเฉลี่ยที่ดีขึ้น
“เด็กในห้องเรียนจะมีทั้งที่ชอบกับไม่ชอบวิชาคณิต ซึ่งคนเรามีความไม่ชอบวิชาอะไรได้ทั้งนั้น เพียงแต่ว่าถ้าสุดท้ายแล้วเรายังจำเป็นต้องเรียนมันต่อไปอย่างเลือกไม่ได้ การสอนของครูจะค่อยๆ จัดการห้องเรียนให้เป็นกันเอง เพื่อให้นักเรียนผ่อนคลาย พยายามทำให้การเรียนรู้ของเด็กเป็นสิ่งที่มีคุณค่าและมีความหมาย แต่ก็มีการตั้งกติการ่วมกันอย่างเข้าใจ เช่น เวลาครูสอนให้ตั้งใจฟัง ไม่พูดแทรก ส่วนการสอนของครูจะเน้นถามตอบเป็นหลัก เพื่อฝึกให้เด็กได้คิด และกล้าตอบ เพราะเด็กบางคนที่ไม่ชอบเรียนคณิต ส่วนหนึ่งเพราะกลัวว่าสิ่งที่ตอบจะผิด ซึ่งครูจะบอกนักเรียนตลอดว่าอย่ากลัวที่จะตอบผิด เมื่อรู้ว่าผิดก็กลับมาทบทวนเนื้อหาใหม่ ส่วนครูพอจัดการห้องเรียนแบบนี้ก็ได้รู้ว่านักเรียนคิดวิเคราะห์โจทย์คณิตแบบไหน ถ้าผิดก็จะพยายามอธิบายให้เด็กเข้าใจ พวกเขาจะได้รู้ว่าขั้นตอนที่ถูกต้องเป็นแบบไหน ได้เรียนรู้การคิดแบบเป็นขั้นเป็นตอน ผลลัพธ์ก็คือ นักเรียนตั้งใจเรียนมากขึ้นและมีคะแนนดีขึ้นตามลำดับ”
จากประสบการณ์ตรงที่ครูดาร์ลี่ชอบเรียนวิชาคณิตศาสตร์เป็นทุนเดิม และได้ซึมซับบรรยากาศการเรียนกับ “ครูผู้สร้างแรงบันดาลใจ” เรียนรู้ด้วยวิธีครูพักลักจำในการจัดการห้องเรียนที่เคยได้สัมผัส จึงกลายเป็นต้นแบบให้มุ่งมั่นอยากจะเป็น “ครูสอนคณิต”
“ถึงจะไม่ได้เรียนคณิตเก่งมาก แต่ครูก็ชอบวิชาคณิตศาสตร์ เคยได้เรียนกับครูที่สอนสนุก เป็นกันเอง มีเทคนิคการสอนที่น่าสนใจ เช่น ใช้วิธีการใส่ทำนองเพลงเข้าไปในการท่องสูตรคณิต ก็ทำให้นักเรียนสนุก แถมยังจำได้ง่ายขึ้น จึงเป็นมีแรงบันดาลใจนำมาเป็นต้นแบบเพื่อจัดการห้องเรียนของเรา”
สิ่งที่ครูดาร์ลี่พยายามทำ สะท้อนให้เห็นถึงการปรับเปลี่ยนความคิดของนักเรียนว่าการเรียนคณิตศาสตร์ไม่ได้ยากและให้พวกเขาเห็นความสำคัญของการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ในการนำไปต่อยอดกับการเรียนในสาขาต่างๆ เพราะอย่าลืมว่าคณิตศาสตร์เป็นหนึ่งในทักษะที่จำเป็นที่ผู้คนใช้ตลอดชีวิต
แม้ว่าวิชานี้อาจเป็นเรื่องสนุกและท้าทายสำหรับเด็กบางคน แต่อาจจะเป็นประสบการณ์ที่ให้ความรู้สึกตรงกันข้ามสำหรับเด็กหลายคน การพยายามทำความเข้าใจกับตัวเลขและแนวคิดทางคณิตศาสตร์นั้นอาจทำให้พวกเขาเกิดความหวาดกลัวและความเครียดต่อวิชาคณิตศาสตร์จนนำไปสู่การไม่ชอบและทำคะแนนได้ไม่ดี
แต่กับ “เด็กชายรัชชานนท์ ทายา หรือข้าวโอ๊ต” นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ที่ได้เรียนคณิตศาสตร์กับครูดาร์ลี่ ไม่ได้รู้สึกว่าการเรียนคณิตศาสตร์เป็นเรื่องน่ากลัว แต่ก็เข้าใจความรู้สึกของคนที่ไม่ชอบวิชานี้ โดยตั้งข้อสังเกตว่าอาจเกิดจากการที่ไม่สามารถหาคำตอบได้ถูกต้องและไม่เข้าใจสิ่งที่ครูกำลังสอน พวกเขาอาจรู้สึกหงุดหงิดที่ไม่สามารถทำวิชานี้ได้ดีและอาจกลายเป็นไม่ชอบวิชานี้ไปเลย ซึ่งจะยิ่งทำให้การพัฒนาทักษะทางคณิตศาสตร์เป็นเรื่องที่ยากขึ้นไปอีก แม้พวกเขาจะรู้ดีว่าเป็นวิชาที่มีความสำคัญอย่างมากต่ออนาคตข้างหน้า
“ผมชอบเรียนคณิตตั้งแต่เด็ก การคำนวนทำให้ได้ฝึกคิดแบบเป็นขั้นเป็นตอน เป็นเรื่องที่ท้าทายดีเวลาเจอโจทย์เลขยากๆ ผมไม่กลัวว่าจะตอบผิด ถ้าผิดก็รอครูเฉลย ส่วนคะแนนก็เรียนได้ดีขึ้นตามลำดับจาก เกรด 3 สู่เกรด 4 แม้จะมีบ้างที่หลุดไป 3.5 แต่ก็ไม่ได้ทำให้รู้สึกท้อแท้ในการเรียนวิชานี้ สำหรับคนที่ไม่ชอบเรียน ผมเข้าใจและมองว่าอาจเป็นเพราะไม่กล้าถาม ไม่กล้าตอบ กลัวผิด บางคนกลัวครูดุ กลัวเพื่อนแซว ก็กลายเป็นว่าไม่มั่นใจในตัวเอง หรืออาจถูกคาดหวังมากเกินไป ถ้าเป็นแบบนั้นก็อาจจะเป็นปมด้อยทำให้กลัว จนลังเลที่จะพยายามให้มากขึ้นเพื่อพัฒนาทักษะของตัวเอง อีกอย่างผมเชื่อว่าเด็กทุกคนมีสิ่งที่ชอบสิ่งที่อยากเป็น ไม่ความกลัวอาจไม่ได้เป็นที่วิชาอย่างเดียว แต่เป็นที่คนสอน การอบรมเลี้ยงดูจากพ่อแม่ สภาพแวดล้อม”
แล้วจะทำอย่างไรให้กังวลคณิตศาสตร์น้อยลงและทำคะแนนให้ได้ดีขึ้นเรื่อยๆ เชื่อว่าเป็นคำถามที่นักเรียนหลายคนอยากรู้คำตอบ สำหรับข้าวโอ๊ตด้วยความเชื่อที่ว่าคณิตศาสตร์เป็นวิชาที่สำคัญในชีวิตการเรียน ไม่ว่าจะเรียนสายศิลป์ สายวิทย์ ก็ต้องเรียนคณิตศาสตร์กันทั้งหมด หลายคนเสียเงินมากมายไปกับการติวคณิตศาสตร์ เพื่อหวังว่าจะเก่งขึ้น แต่ก็อาจจะยังทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร วิธีการเรียนคณิตศาสตร์ให้ได้คะแนนที่ดี ก็ต้องมีวิธีรับมือและมีความตั้งใจที่มากขึ้น
“การเรียนคณิตศาสตร์ไม่เคยง่ายและซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ ตามระดับการพัฒนาทักษะ ผมเองก็เคยทำข้อสอบไม่ได้ในช่วงที่ต้องเรียนออนไลน์เพราะไม่เข้าใจเนื้อหา แต่ก็ทดลองทำไปเรื่อยๆ ผมจะไม่เครียด ไม่กดดันตัวเอง เมื่อใกล้ช่วงสอบจะพยายามผ่อนคลาย เพราะยิ่งเครียดยิ่งทำไม่ได้ คิดแค่ว่าทำได้เท่าไหนเท่านั้น ทำเต็มที่แล้ว สำหรับคนที่อยากจะเรียนให้ดี ต้องตั้งใจเรียน ถ้าไม่ค่อยมีเวลาเรียนเพิ่มเติมก็ต้องตั้งใจฟังครู มีสมาธิไม่วอกแว่ก ฝึกทำโจทย์ให้บ่อยๆ ที่สำคัญถ้าไม่เข้าใจต้องกล้าถาม จะถามครูหรือถามเพื่อนก็ได้ อย่าให้ค้างคาใจ”
ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นว่า สุดท้ายแล้วการเรียนรู้ทักษะหนึ่งจะเกิดขึ้นได้มาจากทุกส่วนร่วมมือกันไม่ว่าจะเป็น ครอบครัว ระบบการศึกษา การปรับปรุงเนื้อหา การเอาความสนใจของนักเรียนเป็นที่ตั้งบวกกับการสร้างกลยุทธ์ที่ใช้ในการสอนทางวิชาการ การสร้างทัศนคติต่อการเรียนรู้ แรงจูงใจและความพยายามต่างก็เป็นใบเบิกทางให้กล้าลุกขึ้นมาพัฒนาทักษะในวิชาต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้น