ความไม่สมบูรณ์แบบไม่ใช่อุปสรรค
แต่เป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้เติบโต
และเกิดการสร้างสรรค์

เพราะความไม่สมบูรณ์แบบที่กลับเป็นความสมบูรณ์แบบในชีวิตของ 3 บุคคลที่สร้างผลงานได้อย่างโดดเด่นจากความไม่สมบูรณ์แบบของตนเอง: โดนัท, กระดาษโพสต์อิท, และแวนโก๊ะ ซึ่งจะเห็นได้ว่า “ความไม่สมบูรณ์แบบไม่ใช่อุปสรรค แต่เป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้เติบโตและเกิดการสร้างสรรค์”

ความไม่สมบูรณ์แบบของ “โดนัท”

“โดนัท” เป็นขนมยอดฮิตที่เราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี และเป็นที่นิยมมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน แต่ก่อนจะเป็น “โดนัท” ที่มีรูตรงกลาง มันเคยเป็นขนมทรงกลมแบบเต็มชิ้นที่มีชื่อเรียกว่า “Oily Cakes” แต่เพราะความไม่สมบูรณ์แบบของมันเอง จนกลายเป็นที่มาของชื่อ “โดนัท”

ความไม่สมบูรณ์แบบของ “โดนัท” นั้นเกิดจากเรื่องราวของอลิซาเบธ เกรเกอรี่ ที่เธอลองปรับปรุงสูตร Oily Cakes เพราะลูกชายของเธอไม่ชอบ เนื่องจากเป็นขนมที่ชุ่มไปด้วยน้ำมัน เพราะทอดทั้งชิ้นในน้ำมันพืช จึงมีการลองกดเนื้อแป้งตรงกลางออกไป ทำให้เกิดรูตรงกลาง เมื่อนำลงไปทอดกลับไม่อมน้ำมันมากเหมือนเดิม จนกลายเป็นขนมชิ้นหนึ่งในประวัติศาสตร์ นำไปสู่การตั้งชื่อใหม่เรียกว่า “โดนัท”

ความไม่สมบูรณ์แบบของ “โพสต์อิท”

เรื่องราวของแผ่น “กระดาษโพสต์อิท” กลายเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้น เพราะมีที่มาจากความผิดพลาดที่กลับเป็นความสำเร็จ แต่ในตอนแรก สเปนเซอร์ ซิลเวอร์ (Spencer Silver) ต้องการสูตรกาวที่เหนียว ติดแน่น และทนทาน แต่ผลการทดลองกลับได้สูตรที่ไม่สมบูรณ์แบบทำให้เขาหยุดทำการทดลอง

และได้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น เมื่ออาเธอร์ ฟลาย (Arther Fry) พบปัญหาในการใช้กระดาษคั่นหนังสือโน้ตเพลง เขานึกถึงกาวที่ไม่สมบูรณ์แบบที่ Spencer Silver ทำการทดลองค้างไว้ และได้ลองนำมาทาบนกระดาษและเขาพบว่า กาวนั้นติดกระดาษได้และไม่ปลิว เมื่อลอกออกก็ไม่ทิ้งคราบ หลังจากนั้นการพัฒนากาวที่ไม่สมบูรณ์แบบนี้ ก็นำไปสู่การสร้างกระดาษโพสต์อิทที่เป็นที่รู้จักและใช้งานโดยทั่วไปจนถึงปัจจุบัน เพราะความไม่สมบูรณ์แบบของกาวนั้นกลับกลายเป็นจุดแข็งที่ทำให้เกิดนวัตกรรมที่น่าประทับใจ

ชีวิตที่ไม่สมบูรณ์แบบของ “แวนโก๊ะ (Van Gogh)”

เรื่องราวของ แวนโก๊ะ (Van Gogh) กับเส้นทางชีวิตที่น่าตื่นเต้นและเต็มไปด้วยความมหัศจรรย์ ชีวิตของแวนโก๊ะ (Van Gogh) ทำให้เห็นว่าความไม่สมบูรณ์แบบในชีวิตไม่ได้เป็นข้อจำกัดที่จะยับยั้งความสามารถในการสร้างผลงานศิลปะของเขาได้ แม้ว่าเขาจะเป็นคนที่มีบุคลิกเงียบ เคร่งขรึม และโดดเดี่ยว แต่เขาก็สามารถสร้างผลงานศิลปะแนวโพสต์อิมเพรสชั่นนิสม์ (Post-Impressionism) ที่สมบูรณ์แบบได้

ชีวิตของแวนโก๊ะ (Van Gogh) ในช่วงอายุ 16 ปี เขาเริ่มทำงานเป็นพนักงานขายภาพวาด และต้องเดินทางและการย้ายถิ่นฐานไปหลายเมือง จนทำให้เขารู้สึกโดดเดี่ยว และล้มเหลวในการขายภาพและการทำงานอื่นๆ แต่ก็ไม่ได้ทำให้เขาท้อใจ แต่เขากลับมองหาหนทางเข้าสู่การทำงานศิลปะอย่างจริงจัง และเริ่มวาดรูปเป็นอาชีพในช่วงวัย 27 ปี แต่เขาก็ไม่มีเงินเพียงพอจะจ้างคนมาเป็นแบบให้วาดรูป เขาจึงใช้กระจกเงาส่องตัวเองเพื่อเป็นแบบในการวาดรูป และได้กลายเป็นผลงานศิลปะที่น่าทึ่งมากๆ

ถึงแม้ว่าแวนโก๊ะ (Van Gogh) จะไม่เคยประสบความสำเร็จในด้านชีวิตส่วนตัว แต่ผลงานที่เขาสร้างสรรค์นั้นก็กลายเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก โดยเฉพาะ “ผลงานชุดดอกทานตะวันสีเหลือง” ที่ทำให้เขามีชื่อเสียง และเป็นชุดผลงานที่มีมูลค่าที่สูงมาก และภาพที่มี 15 ดอก มีชาวญี่ปุ่นประมูลไปที่ราคา 39.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2530

เรื่องราวที่ไม่สมบูรณ์แบบในชีวิตของแวนโก๊ะ (Van Gogh) ทำให้เห็นว่าความไม่สมบูรณ์แบบในชีวิตไม่ได้เป็นข้อจำกัดที่จะยับยั้งความสามารถในการสร้างผลงานศิลปะ เพราะความมุ่งมั่นจึงทำให้แวนโก๊ะกลายเป็นจิตรกรที่ทรงอิทธิพลไปทั่วโลก ให้เราได้ศึกษาและเรียนรู้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

เพราะเกิดความไม่สมบูรณ์ของโดนัท กระดาษโพสต์อิท และชีวิตของแวนโก๊ะในวันนั้น ได้เกิดเป็นผลงานที่สมบูรณ์แบบจนถึงวันนี้ ซึ่งเราได้เห็นถึงความพยายาม เกิดการค้นพบ และความมุ่งมั่นที่เกิดขึ้น จนผลงานเหล่านั้นได้รับการยอมรับจากคนทั่วโลก ทั้งโดนัทที่เกิดขึ้นจากความผิดพลาด กระดาษโพสต์อิทที่เกิดจากการทดลองที่ไม่สมบูรณ์ และแวนโก๊ะที่พัฒนาความสามารถของตนเองแม้ชีวิตจะท้าทายแต่ก็ได้สร้างผลงานศิลปะจนเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก เพราะความไม่สมบูรณ์แบบนั้นไม่ใช่อุปสรรคแต่เป็นแรงบันดาลใจที่ช่วยสร้างสรรค์สิ่งที่ไม่สมบูรณ์แบบให้กลายเป็นสมบูรณ์แบบได้

ผู้เขียน : รกานท์
#อาสาเขียนบทความ