Site icon มูลนิธิยุวพัฒน์

คาบเรียนแห่งความสุข – ชุมนุมนักเรียนทุนยุวพัฒน์

เชื่อว่าคุณครูหลายโรงเรียน คงเคยพบเจอกับปัญหา เด็กไม่อยากเข้าเรียน ไม่สนใจเนื้อหาที่เรียน เข้าห้องเรียนล่าช้า ฯลฯ พฤติกรรมเหล่านี้เป็นสัญญาณที่แสดงให้เห็นว่าห้องเรียนที่เขาเรียนอาจไม่ได้สร้างความสุขและดึงดูดให้เขาอยากมาเรียนรู้เท่าที่ควร ซึ่งอาจส่งผลให้นักเรียนไม่อยากมาโรงเรียนและในที่สุดพวกเขาอาจจะหลุดออกจากระบบกลางคันได้

จากปัญหาเหล่านี้ที่เกิดขึ้น มูลนิธิยุวพัฒน์ได้ชวนโรงเรียนในเครือข่ายร้อยพลังการศึกษาจำนวน 14 โรงเรียน (โรงเรียนที่มีนักเรียนทุนยุวพัฒน์เรียนอยู่) ที่สนใจต้องการจัดการเรียนการสอนคาบชุมนุมนักเรียนทุนยุวพัฒน์ โดยให้คุณครูและนักเรียนทุนแกนนำมาเข้าค่ายพัฒนาศักยภาพไปเมื่อเดือนสิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา เพื่อทำความเข้าใจเป้าหมายโครงการชุมนุมนักเรียนทุนยุวพัฒน์ ได้เรียนรู้การสร้างพื้นที่ปลอดภัย การเป็นผู้นำกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน รวมไปถึงแนวทางการดูแลประคับประคองนักเรียนทุน เพื่อให้คุณครูและนักเรียนทุนแกนนำ นำกระบวนการต่างๆ ไปใช้กับเพื่อนนักเรียนทุนคนอื่นๆ ในคาบกิจกรรมชุมนุมนักเรียนทุนยุวพัฒน์ในโรงเรียนของตนเอง (คลิก! อ่านข่าว) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่จะช่วยให้นักเรียนทุนฯ มีเป้าหมายในการเรียน การดำเนินชีวิต และมีภูมิคุ้มกันที่จะเรียนให้จบการศึกษาขั้นพื้นฐานได้

ชุมนุมนักเรียนทุนยุวพัฒน์ คือ คาบเรียน 1 ชั่วโมง/สัปดาห์ เป็นห้องเรียนแห่งกระบวนการเรียนรู้ทั้งภายในและภายนอกห้องเรียน และเป็นพื้นที่ให้นักเรียนทุนได้มาลงมือทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อนพี่น้องนักเรียนทุนในโรงเรียนเดียวกัน ซึ่งชุมนุมฯ นี้จะช่วยให้น้องๆ ได้ค้นพบตัวตน ความชอบ ความถนัดของตัวเอง จนนำไปสู่การกำหนดเส้นทางชีวิตในอนาคตของตัวเองได้ และยังเป็นตัวช่วยสำคัญในการดูแลประคับประคองนักเรียนทุนไม่ให้หลุดออกจากระบบการศึกษากลางคันอีกด้วย

ผ่านไป 1 ภาคเรียน นักเรียนทุนในชุมนุมฯ เปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง?

ผ่านไปแล้ว 1 เทอม ชุมนุมนักเรียนทุนยุวพัฒน์มีสมาชิกเข้าร่วมจำนวน 337 คน (คุณครูแกนนำ 18 คน และนักเรียนทุนยุวพัฒน์ 319 คน) จากการสอบถามน้องๆ นักเรียนทุนที่อยู่ในชุมนุมฯ น้องๆ ได้ให้ความคิดเห็นไว้ว่า…ตัวเองนั้นได้พัฒนาเรื่องความกล้าและการแสดงออก เนื่องจากว่าน้องๆ เห็นว่าตนเองสามารถออกมาพูดนำเสนอหน้าชั้นเรียนได้ดีมากขึ้น มีความเขินและประหม่าน้อยลงและยังสามารถสื่อสารให้เพื่อนๆ ในชั้นเรียนเข้าใจในเนื้อหาที่ตนเองสื่อสารออกไป และยังมองเห็นคุณค่าที่ตัวเองมี มีความภาคภูมิใจในตัวเอง รู้สึกว่าตัวเองมีประโยชน์ ทำอะไรเพื่อคนอื่นๆ ได้ เช่น แบ่งปันความรู้ให้เพื่อน แนะนำการส่งเอกสารเกี่ยวกับทุนการศึกษาให้เพื่อนๆ เป็นผู้ช่วยคุณครูในการอธิบายการทำกิจกรรมในคาบชุมนุมฯ และเด็กๆ ยังมองเห็นว่าตัวเองนั้นมีบางอย่างที่ถนัดและทำได้ดีกว่าเพื่อนและมีบางอย่างที่ต้องเรียนรู้จากเพื่อนเพิ่มเติม

9 เทคนิค ที่ทำให้คาบชุมนุมนักเรียนทุนยุวพัฒน์เป็นคาบเรียนแห่งความสุขที่ทำให้นักเรียนอยากเข้าไปเรียนมากขึ้น

1.สื่อสารกับนักเรียนและให้เลือกตามความสมัครใจ
คุณครูผู้ดูแลชุมนุมฯ จะมีการประชุมชี้แจงกับนักเรียนทุนและผู้ปกครองก่อน และเปิดโอกาสให้นักเรียนทุนเป็นผู้เลือกชุมนุมตามความสมัครใจ

2.ดึงดูดด้วยกิจกรรมที่สนุกและหาแนวร่วม
คุณครูจะเป็นผู้ริเริ่มทำกิจกรรมกับนักเรียนทุนที่สนใจเข้าชุมนุมฯ ก่อน เมื่อกิจกรรมทำให้นักเรียนสนุก และมีความสุขแล้ว นักเรียนทุนคนอื่นๆ จะเห็นว่าชุมนุมนักเรียนทุนยุวพัฒน์นั้นมีกิจกรรมสนุกๆ ให้ทำ และจะอยากสมัครเข้าร่วมชุมนุมฯ กับเพื่อนๆ นักเรียนทุนคนอื่นๆ ผลที่เกิดขึ้น คือ มีนักเรียนบางคนที่เคยโดดเรียน ตอนนี้เขากลับเข้ามาเรียนกับเพื่อนๆ ด้วย

3.สร้างพลังแห่งการบอกต่อ เพื่อนชวนเพื่อน
เมื่อทำให้คาบเรียนชุมนุมสนุกและมีความสุขแล้ว ก็จะให้นักเรียนทุนเป็นผู้ชักชวนเพื่อนนักเรียนทุนคนอื่นๆ มาเข้าชุมนุมฯ ด้วยกัน เพราะจะทำให้นักเรียนทุนอยากจะเข้าชุมนุมฯ มากกว่าให้คุณครูบังคับ

4.ฝึกนักเรียนทุนแกนนำ ให้เป็นผู้นำกิจกรรม
คุณครูจะนัดพูดคุยกับนักเรียนทุนแกนนำช่วงพักกลางวัน และให้นักเรียนทุนแกนนำ คิดพร้อมวางแผนกิจกรรมมาก่อน และมาเสนอไอเดียว่าจะพาเพื่อนๆ ในชุมนุมทำกิจกรรมอะไรบ้าง คุณครูจะให้คำแนะนำในสิ่งที่ต้องปรับปรุง  และให้นักเรียนทุนแกนนำฝึกนำเสนอ การพูด การอธิบายกิจกรรม และเตรียมสื่ออุปกรณ์สำหรับทำกิจกรรมด้วย (คุณครูจะทำเป็นตัวอย่างก่อนในช่วง 2-3 คาบแรก)

5.มีไลน์กลุ่มระหว่างครูกับนักเรียนทุนในชุมนุมฯ
ไลน์ (Line) เป็นช่องทางการสื่อสารที่รวดเร็วและสามารถกระจายข่าวได้ทั่วถึง เช่น กรณีเปลี่ยนสถานที่ทำกิจกรรม หรือแจ้งเพื่อให้นักเรียนทุนเตรียมตัวจัดกิจกรรมในแต่ละสัปดาห์

6.คุณครูต้องไม่ตัดสิน ถูก/ผิด
คาบเรียนชุมนุมฯ จะเป็นพื้นที่ให้เด็กได้ระบาย ได้แสดงออก ทุกคนใช้สิทธิในการแสดงความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่ ไม่ว่านักเรียนจะมีความคิดเห็นหรือแสดงอะไรออกมา คุณครูจะไม่ดุหรือห้าม และไม่ตัดสินว่านักเรียนถูกหรือผิด ทำให้เด็กๆ กล้าที่จะบอกความคิดและความรู้สึกจริงๆ ของตัวเองอย่างตรงไปตรงมา

7.Reflection จะไม่กดดันใคร
– ในช่วงคาบเรียนแรกๆ ให้ทำ Reflection แบบกลุ่มก่อน เพื่อให้เด็กๆ คุ้นเคยกัน แล้วค่อยๆ ปรับไปทำแบบรายบุคคล จะทำให้เด็กๆ แต่ละคนค่อยๆ กล้าพูด กล้าแสดงความคิดเห็นของตัวเองมากขึ้น เมื่อเขาเห็นว่าเพื่อนๆ พูดได้ ทำได้ นักเรียนจะรู้สึกว่าตัวเองก็ทำได้เช่นกัน
(เทคนิคเพิ่มเติม : การสุ่มเรียกชื่อนักเรียนด้วยไม้ไอติมหรือจับสลากเมื่อต้องตอบคำถาม จะช่วยลดความรู้สึกกดดันของนักเรียน พวกเขาจะรู้สึกว่าคุณครูไม่ได้เจาะจงเรียกนักเรียนคนไหนเป็นพิเศษ)

8.นักเรียนจะเห็นคุณค่าในตนเองจากการถูกรับฟัง
เมื่อนักเรียนมีโอกาสได้พูด ต้องทำให้เขารู้สึกว่ากำลังถูกรับฟัง เพื่อให้เขารู้ว่าตัวเองมีคุณค่า มีพื้นที่ในการแสดงออก มีเพื่อน มีคุณครูที่รับฟัง และเขามีตัวตนอยู่ในชุมนุมฯ นี้

9.ให้นักเรียนทุนแกนนำเป็นผู้นำ ในกรณีที่คุณครูไม่อยู่
ให้นักเรียนทุนแกนนำเป็นผู้นำเพื่อนๆ ในชุมนุมฯ ทำกิจกรรม หรืออาจจะมอบหมายกิจกรรมผ่านใบงานให้นักเรียนทุนแกนนำพาเพื่อนๆ สมาชิกในชุมนุมฯ ทำ

5 ความสุข ที่เกิดขึ้นจากคาบชุมนุมนักเรียนทุนยุวพัฒน์

1.ความสุขกับบรรยากาศในห้องเรียน

  • นักเรียนมีความสุขที่ได้เข้ามาเรียน สนุกเมื่อได้ทำกิจกรรม ทุกคนได้ผ่อนคลาย ได้เป็นตัวของตัวเองและไม่เครียด
  • คาบเรียนชุมนุมฯ มีเกมและกิจกรรมสนุกๆ มากมาย ให้นักเรียนทุนที่อยู่ต่างห้อง ต่างชั้นเรียน ได้ทำกิจกรรมร่วมกัน
  • เด็กๆ ได้เรียนรู้ที่จะเป็นผู้นำและผู้ตาม (นักเรียนทุกคนมีโอกาสได้เป็นผู้นำในสิ่งที่ตนถนัด)

2.ความสุขที่เห็นทักษะของนักเรียนทุนได้พัฒนาและนำออกมาใช้มากขึ้น

  • ได้เห็นทักษะการทำงานเป็นทีม (Collaboration) ของนักเรียนทุนผ่านเกมและกิจกรรม
  • ได้เห็นทักษะการคิด การตัดสินใจ และการแก้ไขปัญหา เมื่อพวกเขาพบปัญหาระหว่างการเล่นเกมหรือทำกิจกรรม
  • ได้เห็นทักษะด้านการเห็นคุณค่าในตัวเอง ผ่านการสื่อสารที่นักเรียนทุนได้แสดงออกหรือการแสดงความคิดเห็น
  • ได้เห็นทักษะความกล้าแสดงออกของนักเรียนมากขึ้น

3.ความสุขด้านความสัมพันธ์ระหว่างนักเรียนทุนกับเพื่อน

  • นักเรียนปรับตัวเข้าหากันได้ดี ที่เห็นได้ชัด คือ เพื่อนต่างห้องที่เรียนเก่งช่วยสอนการบ้านให้เพื่อนที่เรียนอ่อน นักเรียนจำวันเกิดของกันและกันได้
  • นักเรียนที่ไม่ค่อยกล้าพูด เริ่มมีเพื่อน และมีวิธีการปรับตัวเข้าหาเพื่อนๆ
  • เมื่อถึงเวลาส่งเอกสารทุนให้มูลนิธิฯ เด็กๆ จะช่วยกันสอนวิธีการส่งเอกสารทุนให้กันและกัน
  • นักเรียนได้พูดคุยแลกเปลี่ยนและแชร์ประสบการณ์ร่วมกัน

4.ความสุขด้านความสัมพันธ์ระหว่างคุณครูกับนักเรียนทุน

  • คุณครูผู้ดูแลทุนสามารถติดต่อสื่อสารกับนักเรียนทุนและส่งเอกสารทุนได้ง่ายขึ้น
  • นักเรียนกล้าเข้ามาปรึกษาปัญหากับครูมากขึ้นโดยไม่กลัวว่าจะถูกหรือผิด เพราะคุณครูพร้อมรับฟังและไม่ตีกรอบความคิดของพวกเขา

5.ความสุขที่เห็นผลลัพท์ดีๆ เกิดขึ้นกับนักเรียนทุนแกนนำ

  • นักเรียนสามารถนำเสนอหน้าชั้นเรียนได้ดีขึ้น ประหม่าน้อยลง อธิบายสื่อสารให้เพื่อนเข้าใจได้
  • นักเรียนเข้าใจตัวเองในเรื่องที่ทำได้ดี รู้สึกว่าตัวเองมีประโยชน์ ทำอะไรเพื่อคนอื่นๆ ได้ เช่น สอนเพื่อนส่งเอกสารทุน อธิบายวิธีทำกิจกรรมในคาบเรียน เป็นต้น
  • นักเรียนทุนแกนนำในชุมนุมฯ กลายเป็นแกนนำในการทำกิจกรรมต่างๆ ของโรงเรียน

ผลการประเมินตนเองของนักเรียนทุนในชุมนุมฯ
ก่อนและหลังเรียน (ภาคเรียนที่ 1/2563)

ผลตอบรับจากนักเรียนทุนที่ได้เข้าชุมนุมฯ

“ตอนที่ได้ทำกิจกรรมในชุมนุมฯ ทำให้หนูรู้ว่าตัวเราเองนั้นก็เป็นผู้นำได้ เช่น ได้ออกมาพูด ได้แสดงความคิดเห็น และหนูก็ได้เป็นทั้งผู้ตามด้วย ตอนที่เรียนวิชาอื่นๆ หนูเป็นผู้ตามคนอื่นเสมอ เพราะว่ามีเพื่อนที่เก่งและกล้าแสดงออกมากกว่า”

– น้องนิ่ม นักเรียนทุนชั้น ม.3 –

“ในคาบชุมนุมฯ คุณครูให้หนูพูดมากกว่าคาบเรียนอื่นๆ หนูชอบที่ครูตั้งคำถาม ทำให้หนูได้แสดงความคิดเห็นของตัวเอง หนูได้มีส่วนร่วม และหนูก็ชอบทุกๆ อย่างในคาบชุมนุม ชอบกิจกรรม ชอบคุณครู ชอบเพื่อน ชอบเล่นเกม พวกเราสนุกและผ่อนคลาย ทุกคนอยู่ด้วยกันอบอุ่นและน่ารักมากค่ะ”

น้องมุก นักเรียนทุนชั้น ม.2 –

“เพื่อนๆ และคุณครูใจดี มีกิจกรรมให้เล่น ทุกคนช่วยกันสร้างบรรยากาศดีๆ มีเสียงหัวเราะ และทำให้หนูมีความสุข”

– น้องดา นักเรียนทุนชั้น ม.3 –

“ตอนที่เล่นเกม เราได้เห็นว่าตัวเองสามารถเป็นผู้นำในเรื่องที่เราถนัดได้ และเป็นผู้ตามในเรื่องที่เพื่อนถนัด เมื่อนักเรียนคนไหนพบปัญหา อยากปรึกษา สามารถเข้ามาคุยกับเพื่อนๆ พี่ๆ หรือคุณครูในชุมนุมนี้ได้ และคุณครูติดตามและคอยถามความรู้สึกและให้กำลังใจอยู่เสมอ”

น้องพลอย นักเรียนทุนชั้น ม.3 –

“หนูอยากอยู่ชุมนุมฯ นี้ เพราะได้ทำกิจกรรมร่วมกัน ทำให้เห็นผลสำเร็จมากกว่าการคิดคนเดียว ทำคนเดียว”

น้องครีม นักเรียนทุนชั้น ม.3

“เมื่อก่อนพวกเรานักเรียนทุนต่างคนต่างอยู่ เมื่อมาอยู่ร่วมกันในชุมนุมฯ ดีมากๆ เลยค่ะ เพราะทำให้ได้รู้จักกับเพื่อนๆ ต่างชั้นเรียน ต่างห้องเรียน ได้คุยกัน ได้หัวเราะด้วยกัน”

น้องสรวง นักเรียนทุนชั้น ม.3 –

แม้ว่าโครงการจะเริ่มต้นได้เพียง 1 เทอม เราได้เห็นความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกที่เกิดขึ้น ทั้งในแง่ที่นักเรียนเปิดใจรับฟังเพื่อน ให้กำลังใจ ให้ความช่วยเหลือกัน  อีกทั้ง คุณครูมีโอกาสได้เห็นนักเรียนของตนเองในมุมที่แตกต่างจากการเรียนในคาบวิชาหลัก เนื่องจากกิจกรรมชุมนุมฯ เอื้อให้นักเรียนได้แสดงความคิดเห็น  รู้จักตั้งคำถาม และได้ลองเป็นผู้นำในแบบที่ตนเองถนัด มูลนิธิฯ หวังว่าชุมนุมนักเรียนทุนยุวพัฒน์จะเป็นพื้นที่ที่ทำให้นักเรียนทุนฯ รู้สึกอบอุ่นใจที่ได้มาเจอเพื่อนๆ คุณครู และได้พัฒนาตนเองจากการทำกิจกรรมในชุมนุมฯ มีคุณครูคอยให้คำปรึกษา และเป็นชุมนุมที่รุ่นพี่นักเรียนทุนส่งต่อให้รุ่นน้องนักเรียนทุนทำอย่างต่อเนื่องในปีการศึกษาต่อๆ ไป

โรงเรียนในเครือข่ายร้อยพลังการศึกษาที่สนใจในโครงการ
สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่
โทร : 02 301 1067 | 02 301 1147
อีเมล : ybf@ybf.premier.co.th
เปิดทำการ วันจันทร์ – วันศุกร์ เวลา 08.00 – 17.00 น.
(หยุดเสาร์ – อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์)
Exit mobile version