Site icon มูลนิธิยุวพัฒน์

ขีดจำกัด

ในวันๆ หนึ่ง เรามีเรื่องต้องตัดสินใจเป็นสิบๆ เรื่อง และการเลือกจะทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งมักมาพร้อมกับต้นทุนค่าเสียโอกาส (Opportunity Cost) เสมอ ทั้งเรื่องใหญ่และเรื่องเล็ก คำถามง่ายๆ อย่างวันนี้ทานอะไรดี ก็มีความซับซ้อนมากกว่าที่ใครหลายคนคิด คนส่วนหนึ่งมีแนวโน้มที่จะวิเคราะห์มากเกินไปด้วยเพราะกลัวอาหารร้านนั้นไม่ถูกปาก บริการไม่ดี บรรยากาศไม่ได้ จานที่เราเลือกเราจะเลือกอันที่อร่อยน้อยกว่าเมนูอื่นๆ หรือเปล่า และอาจทำให้เราพลาดตัวเลือกอื่นๆ ที่ดีกว่าไป หรืออยากทานบุฟเฟต์มากเลย แต่ถ้าทานคนเดียว คนจะมองเราแปลกๆ หรือเปล่า แต่ถ้ามองในแง่ดีๆ สุดท้ายแล้วถ้าเราไม่ชอบสิ่งที่เราทาน อย่างน้อยเราก็ได้รู้แล้วว่าจะไม่สั่งเมนูนี้อีกแล้ว ป่านนี้เราก็คงยังไม่มีอะไรตกถึงท้องถ้ามัวแต่ลังเล การนำปัจจัยต่างๆ มาชั่งน้ำหนักก่อนตัดสินใจเป็นเรื่องดีแต่ถ้ามากเกินไปเราก็อาจจะติดอยู่ที่เดิมตลอดไปเลยก็ได้

มาถึงการเลือกที่สำคัญที่สุดในการเติบโตของคนเรา ทุกคนมีสิทธิ์เลือกว่าอยากแสดงออกอย่างไรและอยากเป็นคนแบบไหน แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะเลือกเดินตามทางที่ตัวเองกำหนด หลายคนเลือกเดินตามทางเดินที่สังคมหรือครอบครัวกำหนดไว้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว พวกเราเป็นมากกว่าสิ่งที่คนอื่นเชื่อหรือคิดว่าเราเป็น เพียงเท่านี้อาจยังเห็นภาพไม่ชัด ขอยกตัวอย่าง 4 ตัวละครจากภาพยนตร์มาประกอบ

อย่างหุ่นยนต์ยักษ์จากภาพยนตร์อนิเมชั่น The Iron Giant ถูกโปรแกรมให้มีกลไกการป้องกันตัวเองที่มีพลานุภาพสูง ทำให้เขากลายเป็นอาวุธเดินได้เมื่อโดนโจมตี เขาถูกวางระบบมาแบบนั้น แต่พอเขาเห็นกวางที่ถูกพรานล่าสัตว์ยิงตายด้วยปืน เขากลับโศกเศร้าและได้เรียนรู้เกี่ยวกับความตายและผลของการใช้ปืนเป็นครั้งแรก

นอกจากนี้ โฮการ์ธ เพื่อนมนุษย์ของหุ่นยนต์ยักษ์ ได้แนะนำหุ่นยนต์ยักษ์ให้รู้จักกับซูเปอร์แมนจากหนังสือการ์ตูน ซึ่งเจ้าหุ่นยนต์ยักษ์พบว่าตัวเองรักและอยากเป็นซูเปอร์แมน แม้ว่ารูปลักษณ์ของเขาจะดูใกล้เคียงและเหมาะกับอะตอมโมตัวร้ายจากหนังสือการ์ตูนอีกเล่มมากกว่าก็ตาม

และในอีกฉากหนึ่งโฮการ์ธพูดว่า “ปืนมีไว้ฆ่า นายไม่จำเป็นต้องเป็นปืน นายเป็นสิ่งที่นายเลือกจะเป็น นายเลือกได้เอง” สุดท้ายแล้ว หุ่นยนต์ยักษ์ก็สามารถพิสูจน์ตัวเองได้ในที่สุดว่า ถึงแม้ตัวเขาเองจะถูกสร้างมาเพื่อทำลาย แต่เขาเลือกเส้นทางของเขาเองและกำหนดอนาคตตัวเองได้ ด้วยการเป็นฮีโร่ ช่วยชีวิตชาวเมืองได้ เป็นซูเปอร์แมนในแบบของเขาเอง

ภาพยนตร์เรื่อง มู่หลาน ก่อนที่มู่หลานจะได้เป็นวีรสตรีแห่งแผ่นดินจีน เธอพยายามไม่ทำให้พ่อแม่ผิดหวังมาโดยตลอด โดยมู่หลานถูกคาดหวังว่าจะต้องนำเกียรติยศมาสู่วงศ์ตระกูลด้วยการแต่งงานกับผู้ชายที่เพียบพร้อมและเป็นภรรยาที่ดีตามอุดมคติและธรรมเนียมของหญิงชาวจีนสมัยนั้น มู่หลานจึงต้องแต่งตัว แต่งหน้าอย่างประณีต มีกิริยาวาจาเรียบร้อย และเข้ารับการอบรมจากแม่สื่อ

ทั้งที่จริงๆ แล้วมู่หลานออกจะเป็นผู้หญิงห้าวหาญ โผงผางอยู่สักหน่อย ถึงแม้ว่าสาเหตุหลักที่ทำให้มู่หลานตัดสินใจปลอมตัวเป็นทหารหนุ่มไปค่ายทหาร เพราะเห็นว่าร่างกายคุณพ่อไม่ไหวจึงไปรายงานตัวเข้าค่ายฝึกทหารตามจดหมายเรียกเกณฑ์ทหารไปรบของราชสำนักแทน

แต่ในตอนหลังแม้มู่หลานจะถูกปลดประจำการแล้ว แต่เมื่อเธอเห็นว่ากองทัพชาวฮั่นกำลังมุ่งสู่ตัวเมืองหมายยึดครอง มู่หลานก็ตัดสินใจวางแผนด้วยตัวเองและชวนเพื่อนทหารจัดการกับกองทัพชาวฮั่น มู่หลานยังได้เผชิญหน้ากับฉางหยู แม่ทัพชาวฮั่น และจัดการเขาด้วยตนเอง จนสุดท้ายมู่หลานได้รับการยกย่องจากฮ่องเต้ให้เป็นวีรสตรี

ออสการ์ ชินด์เลอร์ จากภาพยนตร์ Schindler’s list เป็นตัวละครที่มีอยู่จริง ชินด์เลอร์เป็นสมาชิกพรรคนาซีในเยอรมนีในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และได้รับมอบหมายให้เป็นเจ้าของโรงงานผลิตภาชนะเครื่องเคลือบในเขตยึดครองโปแลนด์ของกองทัพนาซี แต่เขากลับใช้เส้นสายและโรงงานของเขาเป็นข้ออ้างในการช่วยชาวยิวมากกว่าพันคนให้รอดพ้นจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โดยกองทัพนาซี โดยอ้างว่ากระบวนการผลิตต้องใช้แรงงานชาวยิวจำนวนมาก เขายอมเสี่ยงชีวิตและหมดทรัพย์สินส่วนตัวไปเป็นจำนวนมากในการทำให้ความตั้งใจของเขาในการต่อต้านอาชญากรรมต่อมนุษยชาติสำเร็จให้ได้

นอกจากนี้ ในความคิดของคนส่วนใหญ่ หนูกับความสกปรกเป็นสิ่งที่แยกขาดจากกันไม่ได้ และร้านอาหารกับสุขอนามัยที่ดีก็แยกขาดจากกันไม่ได้เช่นกัน ดังนั้นหนูจึงควรอยู่ให้ไกลจากห้องครัวให้มากที่สุด แต่เรมี่จากภาพยนตร์อนิเมชั่น Ratatouille เป็นหนูที่หลงใหลศาสตร์การทำอาหาร มีประสาทสัมผัสในการดมกลิ่นและรับรสดีกว่าคนธรรมดา

และเมื่อมีโอกาสเขาก็ไม่ลังเลจะคว้ามันไว้ ศึกษาและฝึกฝนงานในครัวเป็นประจำผ่านการบังคับร่างกายของลูกจ้างคนหนึ่งในครัวชั้นนำของฝรั่งเศส กล้าที่จะลองคิดค้นสูตรอาหารของตัวเอง ทำให้เรมี่กลายเป็นพ่อครัวชั้นเยี่ยมที่นักวิจารณ์สุดโหดยังยอมรับได้ในท้ายที่สุด

ทุกตัวอย่างที่กล่าวมา ต่างถูกสังคมกำหนดขีดจำกัดไว้ทั้งนั้น อาจด้วยเพียงเพราะเพศ วัย สัญชาติ รูปลักษณ์ภายนอก เกรด หรืออื่นๆ อีกมากมาย การที่คนหนึ่งอ่านเขียนไม่เก่ง ไม่ได้หมายความว่าเขาโง่ การเป็นผู้หญิงในวงการอาหาร ไม่ได้หมายความว่าไม่ควรได้รับบทบาทของการเป็นเชฟ เพราะมีกรอบความคิดว่าผู้หญิงรับแรงกดดันมากมายจากสถานการณ์ที่รีบเร่งและยุ่งเหยิง อยู่หน้าเตาร้อนๆ ตลอดวัน หรือคำตำหนิจากลูกค้าไม่ไหว หรือการเป็นเยาวชนก็ไม่ควรถูกปิดกั้นจากเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ ของสังคม ไม่ใช่เพราะเสียงของเขาดังไม่เท่าเสียงของผู้ใหญ่ ความคิดจากเด็กและเยาวชนเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้ามและถูกดูถูก องค์การสหประชาชาติเองก็ย้ำถึงความสำคัญของสิทธิของเด็กที่จะได้แสดงความคิดเห็นไว้อย่างดีตามข้อ 12 (1) ของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ที่ระบุว่า “รัฐภาคีจะประกันแก่เด็กที่สามารถมีความคิดเห็นเป็นของตนได้แล้ว ซึ่งสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็นเหล่านั้นโดยเสรีในทุกๆ เรื่องที่มีผลกระทบต่อเด็ก ทั้งนี้ ความคิดเห็นดังกล่าวของเด็กจะได้รับการพิจารณาตามสมควรแก่อายุและวุฒิภาวะของเด็กคนนั้น” คำพูดที่ว่า “เด็กคืออนาคตของชาติ” ยังใช้ได้ดีเสมอ เพราะการวางแผนใดๆ ก็ตาม คือการสร้างอนาคตทั้งนั้น และคนที่จะใช้ชีวิตอยู่ในอนาคตที่ว่าก็ไม่ใช่ใครนอกจากเด็กๆ และเยาวชนในวันนี้

ดังนั้นการที่เด็กและเยาวชนแสดงความคิดเห็นโดยเสรีในทุกๆ ประเด็น ที่อาจส่งผลกระทบต่ออนาคต (และชีวิตปัจจุบัน) ของเขา หากจะกล่าวหาว่าเขา “ผิด” ก็คงไม่ใช่ หรือบางคนดูไม่เหมาะกับการทำอะไรบางอย่าง ไม่ได้หมายความว่าเขาจะทำไม่ได้ ถ้าหากเขาไม่ถูก “ปิดกั้นโอกาส” และได้รับ “ความเสมอภาค” ผลที่ได้อาจจะดีกว่าคนที่ดูเหมาะกับสิ่งนั้นด้วยซ้ำไป

ทุกคนต่างมีสิทธิ์ที่จะกำหนดเส้นทางและเขียนเรื่องราวในชีวิตของตัวเองได้ ไม่ต้องให้คนอื่นมากำหนดขีดจำกัดของเรา ถึงเราจะไม่ประสบความสำเร็จในทางที่เราเลือก แต่อย่างน้อยเราก็ได้ก้าวไปข้างหน้าและได้บทเรียนจากการตัดสินใจนั้น ทุกวันคือโอกาสเรียนรู้และเติบโต นำสิ่งที่ผิดพลาดไปมาทบทวน และเลือกทางใหม่โดยยึดเป้าหมายเป้าเดิม

อย่างในกรณีของวอลเตอร์ อีเลียส ดิสนีย์ (Walter Elias Disney) ผู้ก่อตั้งบริษัทวอลต์ดิสนีย์และให้กำเนิดตัวการ์ตูนขวัญใจเด็กๆ ทั่วโลก อย่างมิกกี้เม้าส์ ก่อนที่เขาจะได้ชื่อว่าเป็นผู้บุกเบิกวงการอนิเมชั่น เขาเคยถูกไล่ออกจากงานโดยบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ที่เขาทำงานอยู่ และให้เหตุผลว่าเขาขาดจินตนาการและไม่มีไอเดียดีๆ มานำเสนอเลย แต่ดิสนีย์กลับไม่ยอมแพ้แล้วตั้งใจสานต่อความหลงใหลด้านการวาดภาพและเอาดีด้านอนิเมชั่นต่อไป ถึงแม้หลังจากนั้นเขาได้เปิดบริษัทอีก 2 ครั้งแต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จทั้ง 2 ครั้ง และครั้งหลังยังเจอภาวะล้มละลายอีกด้วย แต่เขาก็ไม่ยอมแพ้และตั้งบริษัทขึ้นมาอีกครั้งและประสบความสำเร็จในที่สุด

ทั้งเรื่องราวของตัวละครจากภาพยนตร์และของวอลเตอร์ ดิสนีย์ ชี้ให้เราเห็นถึง 2 ปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้เราก้าวไปข้างหน้าในเส้นทางที่เราเลือก ได้แก่ ความกล้าที่จะตัดสินใจแล้วลงมือทำและความยืดหยุ่น มีคนจำนวนไม่น้อยที่เป็นคนคิดละเอียดยิบ นำทุกความเป็นไปได้มาคำนวณ แต่สุดท้ายตัดสินใจไม่ได้ว่าอะไรดีที่สุดจึงไม่ทำอะไรเลยเนื่องจากการวิเคราะห์สถานการณ์ที่ซับซ้อนเกินไปทำให้ต้นทุนค่าเสียโอกาสแพงกว่าประโยขน์ที่ได้จากการเสียเวลาคำนวณโอกาสและความเสี่ยง ในขณะที่คนอีกกลุ่มหนึ่งคิดเท่าที่จำเป็นสำหรับการเริ่มเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างแล้วลงมือทำตามที่คิดมาเลย แล้วถ้าเจอปัญหาตามมาก็ค่อยปรับตัวและพยายามหาทางแก้ ถึงจะเสี่ยงแต่คนกลุ่มนี้มีโอกาสประสบความสำเร็จมากกว่าเพราะอย่างน้อยพวกเขาก็มีความก้าวหน้าและสามารถเติบโตได้จากทั้งความผิดพลาดและความสำเร็จ

โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่เรารู้สึกว่าเราตกอยู่ในสถานการณ์ที่เราควบคุมไม่ได้ การหวังแต่จะพึ่งพาโชคช่วยหรือความช่วยเหลือจากคนอื่นไม่ใช่เรื่องที่ดี สมมติว่า ดากานดาฝันอยากเป็นซีอีโอบริษัท แต่ปัจจุบันยังเป็นลูกจ้างที่ทำผลงานดีมาโดยตลอดระยะเวลา 8 ปีที่ทำงานในบริษัทนี้มา เธอเคยคุยกับหัวหน้าหลายรอบในเรื่องการขอเลื่อนตำแหน่งแต่ก็ไม่ได้เลื่อนสักที ฝ่ายบุคคลก็ดูจะเมินเฉย คิดดูว่าเป็นความผิดของดากานดาหรือเปล่าที่หัวหน้าไม่เลื่อนตำแหน่งให้สักที คำตอบคือ “ไม่ใช่” ดากานดาเลือกจะทำงานต่อไปเพื่อรอวันที่ได้เลื่อนตำแหน่ง เลือกที่จะยึดอยู่กับสิ่งที่ไม่มีความแน่นอนต่อไปเรื่อยๆ ทั้งที่จริงๆ แล้วควรมุ่งความสนใจไปที่สิ่งอื่นที่เราสามารถทำได้ดีมากกว่า อย่างเช่น การเปิดโอกาสให้ตัวเองด้วยการหางานใหม่ที่เราสนใจ ถ้างานนั้นรับเฉพาะคนที่มีทักษะเฉพาะซึ่งเราไม่มี เราก็เรียนรู้ได้ เราสร้างโชคและเพิ่มโอกาสให้ตัวเองได้รู้จักปรับตัวและหาแนวทางอื่นเมื่อเจอปัญหาในทางที่เราเดินอยู่ สิ่งที่เราเป็นอยู่ในทุกวันนี้ คือ ผลจากการตัดสินใจทุกครั้งที่ผ่านมาในชีวิตของเรา สิ่งใดก็ตามที่เราอยากจะเป็นในอนาคต จึงขึ้นอยู่กับการกระทำในปัจจุบันของเราเอง

ดังนั้นเราเป็นได้มากกว่าสิ่งที่คนอื่นเชื่อหรือคิดให้เราอยากเป็น เราสามารถเลือกที่จะเป็นในสิ่งที่อยากเป็น ทำในสิ่งที่อยากจะทำ เราเป็นเจ้าของเรื่องราวชีวิตของตนเอง อย่าให้คนอื่นมาสร้างขีดจำกัดและกำหนดทิศทางของเรื่องราวที่ตัวเราเป็นเจ้าของ

เรื่อง : ชนกนันท์ พังงา
ภาพประกอบจาก : https://www.pinterest.com

Exit mobile version