Site icon มูลนิธิยุวพัฒน์

เรียนหนังสอน : Wonder ชีวิตมหัศจรรย์วันเดอร์

หลายๆ คนคงคุ้นเคยกับวรรณกรรมหรือภาพยนตร์น่ารัก อบอุ่น ละมุนและอ่อนโยนเรื่อง “ชีวิตมหัศจรรย์ของออกัสต์ (Wonder)” แม้จะไม่ใช่ภาพยนตร์ที่ Perfect แต่ก็เป็นภาพยนตร์ที่ทำให้รู้สึกอบอุ่นและประทับใจสุดๆ แล้วเราจะได้เรียนรู้อะไรบ้างจากภาพยนตร์เรื่องนี้

ในเมื่อชีวิตไม่ได้ทุกสิ่งตามที่ต้องการและไม่อาจแก้ไขความบกพร่องทุกอย่างบนโลกได้ ไม่มีทางหลบเลี่ยงความเลวร้ายทั้งหมดที่เกิดขึ้นได้นอกจากดำรงชีวิตอยู่กับมันต่อไป แม้ต้องรู้สึกทุกข์ทรมานขนาดไหน แต่ตราบใดที่ยังมีชีวิต เชื่อเถอะว่าเราจะผ่านมันไปได้เสมอ นี่แหละคือเรื่องมหัศจรรย์ของเด็กชายออกัสต์ พูลแมน “วรรณกรรมเยาวชนที่ติดอันดับ 1 New York Times Bestseller ข้ามปี สู่ภาพยนตร์ฟีลกู๊ดแห่งปี 2017”

เรื่องราวของ Wonder เกี่ยวกับชีวิตของเด็กชายอายุ 10 ขวบ ออกัสต์ พูลล์แมน หรือ อ๊อกกี้ ที่เหมือนเด็กประถมทั่วไปที่เขาเป็นแฟนภาพยนตร์ชุด Star Wars และหลงใหลในอวกาศ แต่สิ่งหนึ่งที่เขาไม่เหมือนคนอื่นคือความผิดปกติของใบหน้าจากโรคเทรเชอร์-คอลลินส์ เขาผ่านการผ่าตัดถึง 27 ครั้ง ทำให้ใบหน้าของเขาผิดปกติจากคนอื่นๆ เขามักได้รับสายตาหวาดกลัวหรือสงสัยจากคนแปลกหน้าอยู่บ่อยๆ หลังจากที่คุณพ่อคุณแม่ให้อ๊อกกี้เรียนหนังสืออยู่กับบ้านมานานหลายปี ก็ถึงวันที่เขาจะต้องไปโรงเรียนเพื่อเริ่มเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 และมีเพื่อนร่วมชั้นจริงๆ แล้ว นั่นก็ทำให้อ๊อกกี้ต้องเจอกับ “ครั้งแรก” มากมาย ตั้งแต่การมีเพื่อนคนแรกไปจนถึงการโดนกลั่นแกล้งครั้งแรก

เทศกาลโปรดของอ๊อกกี้ ก็คือ วันฮัลโลวีน เพราะเขาจะได้แต่งตัวในชุดคอสตูมเพื่อซ่อนหน้าตาของตัวเองได้อย่างไม่มีข้ออ้างแล้วออกไปเล่นกับเด็กคนอื่นๆ ได้อย่างกลมกลืนนั่นเอง ส่วนอีก 364 วันที่เหลือ ที่ไม่ใช่วันฮัลโลวีน อ๊อกกี้จะสวมหมวกนักบินอวกาศเพื่อปิดบังใบหน้าอยู่บ่อยๆ ทำให้เขารู้สึกปลอดภัยและมีพลังเพราะอ๊อกกี้รักวิชาวิทยาศาสตร์และใฝ่ฝันอยากจะเป็นนักบินอวกาศเมื่อโตขึ้น ดังนั้นอ๊อกกี้จึงเลือกหยิบหมวกใบนี้มาใส่เมื่อเจอเหตุการณ์แย่ๆ จนวันหนึ่งคุณพ่อเอาหมวกนักบินอวกาศของอ๊อกกี้ไปซ่อน เพราะเห็นว่าหมวกใบนี้ทำให้อ๊อกกี้ห่างเหินกับครอบครัวมากขึ้นและอ๊อกกี้เองก็ไม่สามารถซ่อนตัวตนจริงๆ ภายใต้หมวกใบนี้ได้ตลอดไป และที่สำคัญคือเพราะคุณพ่อคิดถึงการได้เห็นใบหน้าของอ๊อกกี้ที่เขารัก การที่คุณพ่อทำแบบนี้เป็นการย้ำกับอ๊อกกี้ว่าอ๊อกกี้มีคุณค่าในตัวเองมากแค่ไหนและสมควรได้รับความรักเมื่อได้เห็นตัวตนจริงๆ มากเพียงใด

ครอบครัวจึงมีส่วนสำคัญมากในการผลักดันให้ลูกได้แสดงความเป็นตัวตนจริงๆ ทั้งรูปลักษณ์ภายนอก ความสนใจ และความสามารถออกมา สมาชิกครอบครัวจึงเป็นคนสำคัญที่หล่อหลอมให้เด็กคนหนึ่งกลายเป็นคนที่ดีในวันข้างหน้าด้วยการถ่ายทอดทัศนคติที่ดีให้กับลูก สอนให้ลูกยอมรับความแตกต่างและพยายามทำเข้าใจกับสิ่งนั้น อย่างคุณพ่อคุณแม่ของอ๊อกกี้ก็สนับสนุนความชอบวิทยาศาสตร์ของอ๊อกกี้ได้เป็นอย่างดี ซึ่งเป็นการส่งเสริมความภูมิใจในตนเองและเพิ่มความมั่นใจของอ๊อกกี้เวลาอยู่กับหมู่เพื่อนได้ และในตอนของจูเลี่ยน เพื่อนร่วมชั้นของอ๊อกกี้ ชอบทำตัวไม่ดีกับอ๊อกกี้ที่โรงเรียนมาถึงหูคุณแม่ของอ๊อกกี้ คุณแม่กลับอธิบายให้อ๊อกกี้เข้าใจว่าอะไรที่ทำให้จูเลี่ยนมีพฤติกรรมแบบนั้นและมองในมุมของจูเลี่ยน แทนที่จะไปเอาเรื่องกับผู้ปกครองของจูเลี่ยนหรือยุยงให้อ๊อกกี้ใช้กำลังเอาคืน

ในทางกลับกัน ตอนหนึ่งที่จูเลี่ยนและพ่อแม่ของเขาถูกครูใหญ่เรียกพบเพราะจับได้เพราะจูเลี่ยนตัดรูปอ๊อกกี้ออกจากรูปรวมชั้นเรียนแล้วเขียนข้างหลังรูปว่าอ๊อกกี้ควรฆ่าตัวตาย คุณแม่ของจูเลี่ยนจึงออกตัวว่าเป็นคนตัดต่ออ๊อกกี้ออกจากรูปรวมเองเพราะบอกว่าเวลามีแขกมาที่บ้านแล้วเห็นรูป อยากให้สนใจจูเลี่ยนไม่ใช่อ๊อกกี้ที่ผิดปกติ และบอกว่าจูเลี่ยนต้องพบนักจิตวิทยาเด็กเพราะฝันร้ายจากการได้เห็นหน้าอ๊อกกี้บ่อยๆ ส่วนคุณพ่อก็ขู่คุณครูใหญ่ว่ามีคนรู้จักอยู่ในคณะกรรมการบริหารโรงเรียนหลายคน เสริมด้วยคุณแม่ที่พูดย้อนไปว่าครอบครัวเขาได้บริจาคเงินจำนวนมากให้โรงเรียน จากฉากนี้แสดงให้เห็นว่าคุณพ่อคุณแม่ไม่ได้เป็นตัวอย่างที่ดี ปลูกฝังความคิดที่ไม่ถูกต้องให้ลูก คอยหาข้อแก้ตัวให้ลูกเสมอ ทำให้เป็นคนที่ไม่สามารถเปิดใจยอมรับความแตกต่างได้ ไม่รู้จักนำใจเขามาใส่ใจเรา และคิดว่าสิ่งที่ตัวเองทำถูกต้องเสมอ

ในการแก้ปัญหาการกลั่นแกล้งกันในสังคมนั้น การแก้เฉพาะที่ตัวผู้แกล้งยังไม่เพียงพอ แต่ต้องปรับเปลี่ยนที่ผู้ถูกแกล้งและผู้รู้เห็นเหตุการณ์ด้วย สำหรับผู้ถูกแกล้งควรเคารพและใจดีกับตัวเองให้มากๆ เพราะเราทุกคนควรได้รับความสุข จึงเป็นความรับผิดชอบของตัวเราเองที่จะเล่าและขอความช่วยเหลือจากคนที่ไว้ใจในช่วงเวลาที่เราเจอเรื่องลำบากใจ ส่วนใหญ่ผู้ถูกแกล้งมักจะไม่กล้าเล่าให้ใครฟังทันทีอาจเพราะอายหรือกลัว อย่างอ๊อกกี้ก็ตัดสินใจตัดเปียเล็กข้างใบหูที่เขาไว้ตามตัวละครใน Star Wars หลังโดนจูเลี่ยนล้อเปียนี้ คนคนหนึ่งไม่ควรเปลี่ยนแปลงตัวเองเพียงเพราะคำพูดของคนที่ไม่ได้มีเจตนาดีกับเรา การเปลี่ยนตามเจตนาของคนแกล้งก็เหมือนปล่อยให้เขาชนะ ส่วนผู้รู้เห็นเหตุการณ์ควรรับรู้ไว้ว่า เสียงหัวเราะไม่ได้ดีกับทุกสถานการณ์เสมอไป ผู้แกล้งมักรู้สึกเป็นผู้ชนะเมื่อมีคนอื่นๆ สนับสนุนโดยการร่วมผสมวงหรือหัวเราะกับมุกตลกที่ไม่ตลกสำหรับบางคน ในภาพยนตร์ก็มีฉากที่เพื่อนๆ ร่วมชั้นของอ๊อกกี้ตั้งวงพูดถึงอ๊อกกี้ในเชิงล้อเลียนอ๊อกกี้กันอย่างสนุกสนาน หากในฉากนั้นไม่ได้มีเพื่อนคนไหนขำให้กับมุกที่ไม่สร้างสรรค์เหล่านั้น สถานการณ์ก็คงเปลี่ยนไป ก็คล้ายกับเวลาเราตั้งใจนำเสนองานแล้วไม่มีคนตั้งใจฟังเรา เราก็ไม่อยากจะพูดต่อ

แม้โลกในความเป็นจริงจะไม่ได้สวยงามเท่าโลกในในภาพยนตร์ Wonder แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ทำให้เราได้เห็นความเป็นไปได้ที่จะมีสังคมที่ความแตกต่างเป็นเรื่องปกติและได้ทบทวนพฤติกรรมของเราเอง ถ้าเราพยายามทำความเข้าใจว่า ความสุขและการเป็นที่รักเป็นสิ่งที่ทุกคนต่างต้องการ ทุกคนล้วนมีเหตุผลบางอย่างที่ทำให้เขาเป็นเขาในแบบที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ รวมถึงเราเองด้วย เราก็จะรู้สึกว่าคนอื่นไม่เห็นต่างจากเราตรงไหนเลย แล้วความเห็นใจก็จะเกิดขึ้น ตามมาด้วยความรัก อย่างที่ครูใหญ่ในเรื่องนี้พูดว่า

อ๊อกกี้ไม่สามารถเปลี่ยนรูปลักษณ์เขาได้
แต่พวกเราอาจเปลี่ยนวิธีการมองของพวกเราเองได้

เรื่อง : ชนกนันท์ พังงา
ภาพประกอบจาก : http://sahamongkolfilm.com/saha-movie/wonder-movie/

Exit mobile version