Site icon มูลนิธิยุวพัฒน์

เปลี่ยนตัวเองสู่วัยรุ่นในศตวรรษที่ 21

โลกต้องการคนที่พร้อมจะเรียนรู้สิ่งใหม่ และพร้อมจะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างสร้างสรรค์

น้องๆ วัยรุ่นคงสงสัยว่าศตวรรษที่ 21 คืออะไรสำคัญอย่างไร เพราะอะไรวัยรุ่นอย่างเราจึงต้องเตรียมพร้อมเพื่อให้เป็นวัยรุ่นในศตวรรษนี้ และเราจะต้องมีความพร้อมเรื่องอะไรบ้าง บทความนี้จะพาน้องๆ วัยรุ่นได้รู้จักการเปลี่ยนตัวเองเพื่อให้เป็นวัยรุ่นในยุคดิจิทัลกัน

ศตวรรษที่ 21 เป็นอย่างไร?
เพราะอะไรวัยรุ่นจึงต้องเตรียมพร้อมให้เป็นวัยรุ่นในศตวรรษนี้

ปัจจุบันเรากำลังอยู่ในศตวรรษที่ 21 โลกได้เข้าสู่สังคมที่เรียกว่า “สังคมความรู้” ความรู้ใหม่ๆ เกิดขึ้นทุกวันและเราสามารถรับความรู้ได้จากหลายช่องทางและได้รับอย่างรวดเร็ว คนท่องเก่ง เรียนเก่ง จำเก่ง ไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีที่สุดอีกแล้ว แต่คนที่พร้อมจะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ คือคนที่สังคมโลกต้องการ

ศตวรรษที่ 21 เป็นโลกของเทคโนโลยีและนวัตกรรม เครื่องจักรและหุ่นยนต์ ถูกนำเข้ามาใช้งานทดแทนแรงงานคน เพราะฉะนั้นเราควรมีทักษะบางอย่างที่เครื่องจักรหรือหุ่นยนต์ทำแทนไม่ได้ เช่น ทักษะการคิดแบบผู้เชี่ยวชาญและการสื่อสารที่ซับซ้อน ซึ่งจะมีโอกาสมากกว่าคนอื่น เพราะทักษะขั้นสูงเหล่านี้เครื่องจักรไม่สามารถทำแทนได้

เรากำลังเผชิญกับปัญหาระดับโลก เช่น วิกฤตการเงินโลก ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาเรื่องโรคภัยไข้เจ็บ เราจะต้องเตรียมพร้อมเพื่อให้สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมและปัญหาระดับโลกเหล่านี้

ศตวรรษนี้เป็นยุคของการเปลี่ยนแปลง ความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างเกิดขึ้นในโลก ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจและการเมืองการปกครอง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและยากที่จะคาดเดาได้ว่าจะเกิดอะไรต่อไป

พอจะมองเห็นแล้วใช่ไหม ว่าเรากำลังอยู่ในสังคมที่มีลักษณะเป็นอย่างไร สังคมแห่งความรู้และความเปลี่ยนแปลง ซึ่งสามารถเกิดขึ้นตลอดเวลาและเกิดขึ้นรวดเร็ว ฉะนั้นวัยรุ่นอย่างเราๆ จึงต้องเตรียมตัวให้พร้อม เพื่อการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีศักยภาพและรู้เท่าทันโลก

วัยรุ่นในศตวรรษที่ 21 ต้องเป็นอย่างไร

จริงหรือ? แค่อ่านออก เขียนได้ คิดเลขเป็น ก็เพียงพอแล้วในศตวรรษที่ 21

แค่อ่านออก…ไม่พอ!!  ต้องอ่านอย่างมีความสุข ต้องรักการอ่าน

แค่เขียนได้…ไม่พอ!! ต้องเขียนอย่างสร้างสรรค์เขียนให้เป็นประโยชน์ทั้งกับผู้เขียนและผู้อ่าน

แค่คิดเลขเป็น…ไม่พอ!! ต้องคิดโดยใช้เหตุผล

เพิ่มการคิดอย่างมีวิจารณญาณ ไม่เชื่อ อะไรง่ายๆ รู้จักหาข้อมูลจากหลายๆ แหล่ง เพื่อประกอบการตัดสินใจ

เพิ่มการคิดสร้างสรรค์ คิดอะไรใหม่ๆ สร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ของเดิมเป็นแบบนี้ ถ้าเราจะเปลี่ยนให้เป็นอีกแบบล่ะ จะเป็นอย่างไร… แล้วลงมือทำ

เพิ่มการรู้จักทำางานเป็นทีม ชวนเพื่อนๆ มาช่วยกันคนละไม้คนละมือ

เพิ่มการเรียนรู้ถึงความแตกต่างทางวัฒนธรรม หมายถึงความแตกต่างของประสบการณ์ วิถีการดำเนินชีวิต การอบรมเลี้ยงดู ซึ่งแต่ละคนมีความแตกต่างกัน

เพิ่มความสามารถในการใช้เทคโนโลยีอย่างสร้างสรรค์และรู้เท่าทันสื่อ ต้องมีวิจารณญาณในการบริโภคสื่อ และใช้เทคโนโลยีเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น

เพิ่มทักษะทางอาชีพและการเรียนรู้ เรียนเก่ง ท่องเก่งอย่างเดียวไม่ได้แล้ว ต้องทำงานเป็นและพร้อมจะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา

> เพราะคุณสมบัติเหล่านี้ถูกนำมาใช้เป็นเกณฑ์ในการคัดเลือกพนักงานของบริษัทใหญ่ๆ หลายบริษัท น้องๆ วัยรุ่นทุกคนจึงควรฝึกตัวเองให้มีคุณสมบัติเหล่านี้ ตั้งแต่วันนี้

ความรู้ที่เราเรียนกันอยู่ทุกวันนี้ จะยังมีความสำคัญอีกหรือไม่

ความรู้ในวิชาหลักพื้นฐานที่เรากำลังเรียนอยู่หรือเราเรียกว่า “เนื้อหา” นั้น ยังคงมีความสำคัญ เพียงแต่ในศตวรรษนี้ เราคงจะต้องมี “3 ทักษะ” เพิ่มเติมนอกเหนือจากความรู้ในวิชาหลัก

1.ทักษะด้านการเรียนรู้และนวัตกรรม ในโลกของการทำงาน เขาไม่ต้องการคนเรียนเก่ง จำเก่งอีกแล้ว แต่เขาต้องการคนที่พร้อมจะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา เพราะความรู้ที่มีในวันนี้อีกไม่กี่ปีข้างหน้าจะกลายเป็นความรู้เก่าไปเสียแล้ว เพราะฉะนั้นคนที่จะประสบความสำเร็จในอาชีพจะต้องเป็นคนที่พร้อมจะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ที่ไม่มีในตำราเรียน และจะต้องเป็นผู้ที่มีความสุขในการเรียนรู้ เพื่อที่จะมีแรงจูงใจในการพัฒนาสิ่งใหม่ๆ ต้องคิดอย่างมีวิจารณญาณ และแก้ไขปัญหาได้

2.ทักษะชีวิตและอาชีพ คือความสามารถของคนในการที่จะปรับตัว หรือเลือกทางเดินชีวิตให้เหมาะสม ซึ่งทักษะนี้จะช่วยให้น้องๆ สามารถเผชิญกับความไม่แน่นอนต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ที่ยากจะคาดเดาว่าจะเป็นอย่างไร รวมไปถึงการรู้จักอยู่ร่วมกับผู้อื่น การทำงานร่วมกับผู้อื่น การรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง มีความยืดหยุ่นประนีประนอม เพื่อให้บรรลุเป้าหมายมากกว่ายึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง มองความล้มเหลวที่เกิดขึ้นว่าเป็นบทเรียน มีความรับผิดชอบ มีวินัยและทุ่มเททำงานอย่างจริงจัง รู้จักควบคุมอารมณ์ รู้จักการให้และทำประโยชน์เพื่อผู้อื่น มีภาวะความเป็นผู้นำ และรู้จักทำความดีโดยไม่หวังผล

3.ทักษะด้านเทคโนโลยีและการสื่อสาร คือการใช้เทคโนโลยีอย่างสร้างสรรค์ใช้ให้ถูกวิธีและเกิดประโยชน์  ใช้เทคโนโลยีเพื่อหาความรู้มากกว่าความบันเทิง รู้วิธีการที่จะเข้าถึงข้อมูลต่างๆ และสามารถประเมินได้ว่าข้อมูลที่มากมายเหล่านั้นมีความน่าเชื่อถือหรือไม่ รู้จักอ้างถึงที่มาของข้อมูล มีทักษะที่จะนำเสนองานต่างๆ มากกว่านั่งอ่านไปเรื่อยๆ โดยไม่แสดงความคิดเห็นหรือไม่จับประเด็นสำคัญ

ทั้ง 3 ทักษะจำเป็นแห่งยุค IT นี้ จะช่วยให้เราประสบความสำเร็จและมีความสุขแม้ว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงใดก็ตาม แต่ทักษะเหล่านี้ไม่สามารถเกิดขึ้นเองได้ ต้องอาศัยการฝึกฝนที่เขียนไว้ข้างต้นนั้น ว่าในอนาคตข้างหน้า เราจะต้องเผชิญกับปัญหาระดับโลก ทั้งด้านการเงิน เศรษฐกิจ สังคม สภาพแวดล้อม โรคภัยไข้เจ็บ เพราะฉะนั้นนอกจาก 3 ทักษะนี้แล้ว พวกเราทุกคนต้องเข้าใจเรื่องวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน เคารพสิทธิการเป็นพลเมืองของชุมชน สังคมและโลก และมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

จะทำอย่างไร เพื่อให้เป็นวัยรุ่นที่มีศักยภาพ

“เราคือใคร?” ต้องทำความรู้จักกับตัวเอง โดยการหาประสบการณ์นอกห้องเรียนให้เยอะๆ  หาความรู้จากการลงมือทำจริงการลงมือทำมากกว่าท่องจำหลักการและการหาประสบการณ์นอกห้องเรียนจะช่วยให้เรารู้ว่า เราชอบ / เราไม่ชอบ / เราถนัด / เราไม่ถนัดอะไร เราต้องการอะไร

“ต้องดีกว่าเก่า” รู้จักสร้างแรงจูงใจบันดาลใจให้ตัวเอง เพื่อให้สามารถพัฒนาสิ่งใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น ต้องมีไฟที่จะสร้างสิ่งดีๆ ลองทำสิ่งที่ยากขึ้นมาอีกนิด เมื่อเรามีแรงบันดาลใจแล้ว เราจะสามารถเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้อื่นได้อีกด้วย

“ออกจากโลกใบเก่า” ฝึกคิดนอกกรอบเพื่อหาแนวทางใหม่ๆ ในการต่อยอดหรือพัฒนาสิ่งเดิมๆ ไม่เอาแล้วกับวิธีการเดิมๆ เลิกยึดติดกับวิธีการหาคำตอบแบบที่เคยเรียนรู้มาแล้วลองหาวิธีการใหม่ๆ ในการหาคำตอบ

“มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ หรือ” ไม่เชื่ออะไรง่ายๆ  จนกว่าจะค้นหาข้อมูลเปรียบเทียบจากหลายๆ แหล่ง

“เพราะอะไร?” หมั่นตั้งคำถามบ่อยๆ กับสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัว  เช่น หากเราเจอสถานการณ์อย่างนี้ เราจะแก้ปัญหาอย่างไรการตั้งคำถามกับตัวเองช่วยให้เราคิดอย่างมีวิจารณญาณแรง

“จงเงย จงเงย” เงยหน้าขึ้นมาจากโลกโซเชียลแล้วเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับผู้อื่น ทำงานกับผู้อื่นบนโลกของความเป็นจริงลดการใช้โซเชียลเพื่อความบันเทิง  แต่ให้ใช้โซเชียลเพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างสร้างสรรค์

“ให้ ให้ ให้” ฝึกเป็น “ผู้ให้” รู้จักที่จะแบ่งปันเพื่อผู้อื่น

“ไม่ได้ซิ ทำแบบนี้ไม่ดีกับคนอื่นเลย”  รู้และเคารพในสิทธิของผู้อื่น และมีความรับผิดชอบต่อการกระทำของตัวเอง

ถึงเวลา…
พัฒนาศักยภาพ
ของตัวเองแล้วนะ

ความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามปกติ และเมื่อมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเราจึงต้องปรับตัวเอง เปลี่ยนวิธีการคิด เพื่อให้วิถีการดำเนินชีวิตของเราสอดคล้องไปกับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป เพื่อให้เราใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุขและรู้เท่าทันกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น หากเราเตรียมตัวเองให้พร้อม ไม่ว่าเราจะต้องเผชิญกับสถานการณ์ใด เราจะสามารถรับมือได้

ในศตวรรษหน้าโลกคงต้องการคนที่มีคุณสมบัติในแบบอื่นๆ แต่ไม่ว่าโลกจะเข้าสู่ยุคสมัยใด โลกยังต้องการคนคิดดี พูดดี และทำดี เพราะความดีไม่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย…

ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก www.tci-thaijo.org

Exit mobile version