มาตรวจสอบตัวเองและเตรียมความพร้อมสำหรับการเรียนสายอาชีพ โดยในปี 2563 กระทรวงศึกษาธิการได้มีการปรับนโยบายด้านการศึกษาระดับอาชีวศึกษาเพื่อเตรียมคนสู่ศตวรรษที่ 21 โดยจัดการศึกษาระบบทวิภาคี เพื่อให้นักเรียนมีทักษะและความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เรียนภาษาอังกฤษเพิ่มขึ้น เรียนรู้การใช้ดิจิทัล เพื่อเป็นเครื่องมือในการสร้างอาชีพ และมีการจัดตั้งศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาในภูมิภาค ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ดีสำหรับน้องๆ ที่สนใจจะเรียนอาชีวศึกษา หากกำลังตัดสินใจว่าจะเรียนต่ออะไรในอนาคตและอยากรู้จักกับการเรียนสายอาชีพให้มากขึ้น มาศึกษาข้อมูลก่อนได้ ดังนี้
อาชีวศึกษาคืออะไร?
การเรียนสายอาชีวศึกษาหรือสายอาชีพ คือ การเรียนต่อในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ หรือ ปวช. เป็นการเรียนในหลักสูตรที่ไม่ได้เน้นการเรียนวิชาพื้นฐานเหมือนกับสายสามัญ มีระยะเวลาในการเรียน 3 ปี โดยหากเรียนจบแล้วจะมีทางเลือกในการเรียนต่อ 2 ทางเลือกใหญ่ๆ คือ
1.การเรียนต่อในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง หรือ (ปวส.) ใช้เวลาเรียน 2 ปี หลังจากจบแล้วสามารถเรียนต่อปริญญาตรี อีก 2 ปี
2.การเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย (ระดับปริญญาตรี) ใช้เวลาเรียน 4 – 5 ปี แล้วแต่คณะวิชาที่เลือก
จุดเด่นสำคัญที่ทำให้หลายๆ คนเลือกเรียนต่อสายอาชีพนั้น เพราะจะได้มีโอกาสเรียนในสายวิชาที่เน้นการทำงานจริงเป็นหลัก ได้พุ่งเป้าไปที่การเรียนในด้านนั้นๆอย่างเต็มที่ ต่อให้เรียนจบระดับ ปวช. ก็สามารถทำงานได้ และทำให้นักเรียนได้เข้าใจถึงการเรียนตามหลักสูตรที่ออกแบบมาเพื่อการประกอบอาชีพในอนาคต
เรียนสายอาชีพดีอย่างไร
⇒ ได้ความรู้ ได้ประสบการณ์ มีรายได้ระหว่างเรียน
นอกจากการเรียนทฤษฎีแล้ว หลักสูตรสายอาชีพยังเน้นการลงมือภาคปฏิบัติอย่างเข้มข้น ทุกหลักสูตรมีการฝึกงานเพื่อสร้างเสริมประสบการณ์และทักษะวิชาชีพตั้งแต่ยังเรียนอยู่ไม่น้อยกว่า 300 ชั่วโมง นักเรียนจะได้มีโอกาสลงมือปฏิบัติงานจริง ฝึกใช้อุปกรณ์ เรียนรู้ กระบวนการในสายอาชีพนั้นๆ เป็นประสบการณ์ตรงจากหน้างาน
⇒ มีทักษะวิชาชีพติดตัว
การได้มีโอกาสฝึกงานระหว่างเรียนสายอาชีพให้อะไรมากกว่าการเรียนรู้จากตำราเพียงอย่างเดียว เพราะการฝึกฝนปฏิบัติงานเป็นประจำย่อมทำให้เกิดทักษะและความเชี่ยวชาญติดตัวนักเรียนไปตลอด เมื่อศึกษาจบระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพสามารถใช้เป็นใบเบิกทางสมัครงานได้เลย
⇒ สามารถเลือกเรียนได้หลากหลาย
หลักสูตรสายอาชีพมีให้เลือกเรียนหลากหลายสาขาวิชา ซึ่งแต่ละสาขามีความน่าสนใจ จบแล้วมีตำแหน่งงานรองรับ นักเรียนสามารถเลือกเรียนได้ตามความสนใจและความถนัดของตัวเอง
⇒ ได้รับความนิยมจากตลาดแรงงาน
ตำแหน่งงานในปัจจุบันกำลังขาดแคลนช่างฝีมือและบุคลากรวิชาชีพทักษะเฉพาะอยู่เป็นจำนวนมาก หลายคนแม้จะเรียนจบปริญญาตรงกับสายงาน แต่ยังขาดประสบการณ์ในการทำงานจริง การเรียนสายอาชีพจึงมีข้อได้เปรียบมากกว่า
⇒ โอกาสเรียนต่อระดับอุดมศึกษา
วุฒิการศึกษาในการเรียนสายอาชีพไม่ใช่แค่ ปวช. ปวส. เท่านั้น เพราะหลายๆ สถาบันอุดมศึกษาในปัจจุบันหันมารับนักเรียนสายอาชีพให้เข้าศึกษาในระดับปริญญาตรี โดยเปิดหลักสูตรพิเศษที่น่าสนใจ เพื่อสนับสนุนให้นักเรียนสายอาชีพได้เรียนต่อในระดับสูงขึ้น
11 สาขาวิชาน่าสนใจของสายอาชีพ
การเรียนอาชีวศึกษาแบบระบบปกติ
หลักสูตรการเรียนการสอนในระดับ ปวช.นั้น ได้มีการปรับปรุงเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานโดยได้แบ่งประเภทวิชาออกเป็น 11 ประเภท ได้แก่
1.อุตสาหกรรม สาขาวิชา : ช่างยนต์ ช่างกลโรงงาน ช่างเชื่อมโลหะ ช่างไฟฟ้ากำลัง ช่างอิเล็กทรอนิกส์ ช่างก่อสร้าง เครื่องเรือนและตกแต่งภายใน สถาปัตยกรรม สำรวจ ช่างเขียนแบบเครื่องกล ช่างซ่อมบำรุง ช่างพิมพ์ เทคนิคแว่นตาและเลนส์ ช่างโทรคมนาคม ช่างเครื่องมือวัดและควบคุม อุตสาหกรรมยาง เมคคาทรอนิกส์ ช่างเทคนิคคอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีฟอกหนัง ช่างเครื่องทำความเย็นและปรับอากาศ เครื่องกลเกษตร
2.พาณิชยกรรม สาขาวิชา : การบัญชี การตลาด การเลขานุการ คอมพิวเตอร์ธุรกิจ ธุรกิจสถานพยาบาล การประชาสัมพันธ์ ธุรกิจค้าปลีก ภาษาต่างประเทศ โลจิสติกส์ การจัดการสำนักงาน การจัดการด้านความปลอดภัย ธุรกิจการกีฬา
3.ศิลปกรรม สาขาวิชา : วิจิตรศิลป์ การออกแบบ ศิลปหัตถกรรม ศิลปกรรมเซรามิก ศิลปหัตถกรรมรูปพรรณเครื่องถมและเครื่องประดับ ถ่ายภาพและมัลติมีเดีย เทคโนโลยีศิลปกรรม คอมพิวเตอร์กราฟิกอุตสาหกรรมเครื่องหนัง เครื่องประดับอัญมณี ช่างทองหลวง การพิมพ์สกรีน ออกแบบนิเทศศิลป์
4.คหกรรม สาขาวิชา : แฟชั่นและสิ่งทอ อาหารและโภชนาการ คหกรรมศาสตร์ ธุรกิจเสริมสวย ธุรกิจคหกรรม
5.เกษตรกรรม สาขาวิชา : เกษตรศาสตร์
6.ประมง สาขาวิชา : เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
7.อุตสาหกรรมท่องเที่ยว สาขาวิชา : การโรงแรม การท่องเที่ยว
8.อุตสาหกรรมสิ่งทอ สาขาวิชา : เทคโนโลยีสิ่งทอ เคมีสิ่งทอ เทคโนโลยีเครื่องนุ่งห่ม
9.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สาขาวิชา : เทคโนโลยีสารสนเทศ คอมพิวเตอร์โปรแกรมเมอร์
10.อุตสาหกรรมบันเทิงและดนตรี สาขาวิชา : อุตสาหกรรมบันเทิง การดนตรี การสร้างเครื่องดนตรีไทย
11.พาณิชย์นาวี สาขาวิชา : เดินเรือ ช่างกลเรือ
การจัดการเรียนการสอนระดับ ปวช.
ระบบปกติ
เข้าไปเรียน
ในวิทยาลัย
5 ภาคเรียน
ออกฝึกงานใน
สถานประกอบการ
1 ภาคเรียน
ระบบทวิภาคี
เข้าไปเรียน
ในวิทยาลัย
3 ภาคเรียน
ออกฝึกงานใน
สถานประกอบการ
3 ภาคเรียน
ระบบทวิศึกษา
เข้าไปเรียน
ในโรงเรียน
6 ภาคเรียน
ออกฝึกงานใน
สถานประกอบการ
ช่วงปิดเทอม
(ได้รับวุฒิ ม.6 และ ปวช.)
การเรียนอาชีวศึกษาแบบทวิภาคี (เปิดสอนบางวิทยาลัยเท่านั้น)
การเรียนระบบทวิภาคี คือ การจัดการศึกษาวิชาชีพที่เกิดจากข้อตกลงระหว่างสถานศึกษากับสถานประกอบการ ในการจัดหลักสูตร จัดการเรียนการสอน จัดฝึกอาชีพ การวัดและการประเมินผลโดยผู้เรียนใช้เวลาส่วนหนึ่งเรียนในสถานศึกษาหรือสถาบันและเรียนภาคปฏิบัติในสถานประกอบการ การเรียนในระบบทวิภาคีนี้ไม่ใช่เพียงการฝึกงานในบริษัท แต่เป็นการฝึกทำงานในอาชีพเฉพาะทาง ตลอดทั้งหลักสูตรที่เรียนนักเรียนจะได้ทำงานในสิ่งแวดล้อมของการทำงานจริงใกล้ชิดกับหัวหน้างานมีพี่เลี้ยงในที่ทำงาน มีรุ่นพี่เป็นเพื่อนร่วมงาน รวมถึงต้องพบปะกับลูกค้าในสายงานของตัวเอง ต้องเผชิญกับสถานการณ์จริงแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้จริง อาชีวศึกษามีระบบทวิภาคีทั้งระดับ ปวช. ปวส. และปริญญาตรี ดังนั้นไม่ว่าจะจบม.3 ม.6 หรือ ปวช. สามารถเรียนทวิภาคีได้
ประโยชน์ที่นักเรียนได้รับจากการเรียนแบบทวิภาคี
– ได้รับค่าเบี้ยเลี้ยงและสวัสดิการอื่นๆ ตามที่ตกลง
– มีโอกาสที่จะเข้าทำงานในสถานประกอบการที่ได้ฝึกอาชีพ
– ได้รับใบรับรองจากสถานประกอบการ
– ได้รับประกาศนียบัตรปวช. และ ปวส. เช่นเดียวกับนักเรียนปกติ
– ได้โอกาสศึกษาต่อระดับสูงขึ้นต่อไป
– สามารถนำความรู้ทางทฤษฎีไปใช้ประยุกต์เข้ากับภาคปฏิบัติในสถานประกอบการได้ทันทีไม่ต้องรอให้จบการศึกษา เป็นการเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจและประสบการณ์การทำงาน
– มีทักษะในการปฏิบัติงานวิชาชีพที่ตรงกับความต้องการของสถานประกอบการต่างๆ
การเรียนอาชีวศึกษาแบบทวิศึกษา (เปิดสอนบางโรงเรียนเท่านั้น)
การเรียนแบบทวิศึกษา คือ การจัดการศึกษาตามหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ให้แก่นักเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่มีความประสงค์จะเรียนในสายวิชาชีพ เมื่อนักเรียนสำเร็จการศึกษาครบตามหลักสูตร จะได้รับประกาศนียบัตรรับรองวุฒิการศึกษา ทั้งในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 และระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพพร้อมกัน
การจัดการศึกษารูปแบบทวิศึกษา เป็นแนวคิดใหม่และเป็นการสร้างนวัตกรรมในการจัดการศึกษารูปแบบใหม่ ที่เป็นการเพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้นักเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.6) ในการศึกษาทางด้านวิชาชีพ เพื่อเพิ่มทักษะและความรู้ความสามารถต่างๆ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการประกอบอาชีพ รวมทั้งเพิ่มโอกาสในการมีงานทำมากกว่าการมีวุฒิการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.6) เพียงอย่างเดียว
แนวทางการเลือกสถานศึกษาเพื่อศึกษาต่อ
หากต้องการศึกษาต่อในระดับอาชีวศึกษา นอกจากการพิจารณาเลือกสาขาที่ต้องการแล้ว ระยะทางและการเดินทางไปยังสถานศึกษาถือว่ามีความสำคัญเช่นเดียวกัน ให้พิจารณาเป็นอันดับที่…
ใกล้
เดินทางสะดวก
อันดับแรก
ไกล
เดินทางสะดวก
อันดับสอง
ใกล้
เดินทางไม่สะดวก
อันดับสาม
ไกล
เดินทางไม่สะดวก
อันดับสี่
ค่าใช้จ่ายในการเรียนอาชีวศึกษา ระดับ ปวช.
ส่วนที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล
(นักเรียนไม่ต้องจ่ายเงินเอง)
1.ค่าจัดการเรียนการสอนหรือค่าเล่าเรียน
2.ค่าใช้จ่ายในการศึกษาตามนโยบายเรียนฟรี 15 ปี อย่างมีคุณภาพ
– ค่าหนังสือเรียน
– ค่าอุปกรณ์การเรียน
– ค่าเครื่องแบบนักเรียน
– ค่ากิจกรรมพัฒนาคุณภาพการเรียน
ส่วนที่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล
(นักเรียนต้องจ่ายเงินเองทุกรายการ รวมเป็นเงินโดยประมาณ 1,800 บาท)
1.ค่าใช้บริการอินเทอร์เน็ต
2.ค่าจ้างครูต่างชาติ
3.ค่าสาธารณูปโภคสำหรับห้องเรียน
4.ค่าจ้างบุคลากรที่ปฏิบัติงานในสถานศึกษา
การเรียนอาชีวศึกษาควบคู่กับการทำงาน
– ระบบปกติเรียนวันจันทร์ – ศุกร์ นักเรียนสามารถทำงาน Part Time ได้
– ระบบทวิภาคี เรียนครึ่งหลักสูตรและฝึกงานครึ่งหลักสูตร นักเรียนสามารถทำงาน Part Time ได้
– การเรียนภาคสมทบหรือภาคค่ำ เฉพาะผู้ที่ทำงานแล้ว สามารถเรียนวันเสาร์ – อาทิตย์ หรือภาคค่ำ (เปิดสอนเฉพาะบางสาขาเท่านั้น)
แหล่งข้อมูลการหารายได้ระหว่างเรียน
นักเรียนที่สนใจทำงานรายได้ระหว่างเรียนสามารถขอคำแนะนำได้ที่วิทยาลัย โดยติดต่อสอบถามที่
- งานแนะแนวอาชีพและจัดหางาน
- งานส่งเสริมผลิตผลการค้าและประกอบธุรกิจ หรือศูนย์บ่มเพาะผู้ประกอบการ ศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจเพื่อการศึกษาหรือศึกษาข้อมูลได้ที่กองบริหารข้อมูลตลาดแรงงาน
หากน้องๆ ชอบการเรียนแบบได้ลงมือปฏิบัติมากกว่าการเรียนทฤษฎีในห้องเรียนและอยากก้าวสู่โลกของการทำงานเร็วขึ้น การเรียนสายอาชีพถือเป็นตัวเลือกที่เหมาะสม นอกจากนี้ตลาดแรงงานในอนาคตมีความต้องการแรงงานมากขึ้น เพื่อรองรับภาคอุตสาหกรรม ปัจจุบันนักเรียนที่จบสายอาชีวะมีงานทำ 100% แต่ละปีมีบัณฑิตอาชีวศึกษา จบการศึกษาประมาณ 2.3 แสนคน แต่ตลาดแรงงานต้องการไม่น้อยกว่า 5 แสนคน…ลองพิจารณาดูว่าเราชอบเรียนอะไร เรียนแล้วมีงานรองรับมากน้อยแค่ไหนแล้วจึงเลือกเรียนให้ตรงกับต้องการของเราให้มากที่สุด
10 ทักษะสำคัญ ที่ทั่วโลกต้องการในตลาดงานปี 2024
โดย เบอร์นาร์ด มาร์ (Bernard Marr)