Site icon มูลนิธิยุวพัฒน์

สอนลูกให้เห็นอกเห็นใจผู้อื่น (Empathy)

ความสุขของเด็กหลายๆ คน คงไม่พ้นการมีของเล่นที่ถูกใจ การมีเพื่อนพูดคุยและเล่นอย่างสนุกสนานด้วยกัน หรือการได้อยู่ในครอบครัวที่อบอุ่น มีความรัก มีความเข้าใจ และคงจะดีมากๆ ถ้าวันหนึ่งลูกของเราจะเป็นความสุขของตัวเขาเอง และเป็นความสุขของคนรอบข้างด้วย

เพราะอะไร Empathy จึงทำให้เด็กมีความสุขได้

  • เด็กมีความสามารถในการรับมือกับความทุกข์ในอนาคต
  • เด็กมีความกล้าหาญทางจริยธรรม ไม่นิ่งดูดายเมื่อผู้อื่นเดือดร้อน เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง คือ ไม่ถอยหนีเมื่อพบปัญหา แต่จะกล้าที่จะก้าวเข้าไปสร้างความแตกต่าง
  • ไม่ Bully (การกลั่นแกล้ง) คนอื่น
  • ไม่ดูถูกคนอื่น

Empathy ไม่ใช่แค่การรับรู้ว่า
คนอื่นรู้สึกแบบเดียวกันกับเราเท่านั้น
แต่คือการรู้ว่า แม้ตัวเราไม่ได้รู้สึก
แบบเดียวกันกับเขา แต่เราก็เป็นห่วงเขา

พ่อแม่จะสอนให้ลูกมี Empathy ได้อย่างไร?

⇒ ผ่านการชวนคุยให้เด็กได้แชร์ความคิดเห็น เช่น

  • “เราจะรู้ได้ยังไงนะว่า คนอื่นกำลังอารมณ์ไม่ดี”
  • “เราจะช่วยเพื่อนที่กำลังเครียดหรือกังวลอย่างไรได้บ้าง”
  • “ลูกจะรู้ได้ยังไง ว่าคุณยายรู้สึกยังไง”
  • “คุณยายทำสีหน้าแบบไหน ที่ทำให้ลูกรู้ว่าคุณยายไม่อยากคุยแล้ว”
  • สอนให้เด็กรู้จักอธิบายว่าเขากำลังรู้สึกอย่างไร?

⇒ ผ่านการฝึกให้เด็กซึมซับการเป็น “ผู้ช่วยเหลือผู้อื่น” ด้วยการให้คำชม โดยใช้คำชมที่สะท้อนบุคลิกตัวตนมากกว่าพฤติกรรม

  • คำชมที่เน้นบุคลิกตัวตน เช่น “หนูเป็นเด็กที่ชอบช่วยเหลือคนอื่น” “หนูเป็นเด็กที่เอาใจใส่คนอื่นเสมอ”
  • คำชมที่เน้นพฤติกรรม เช่น “ดีจังเลย เพราะการแบ่งของคนให้อื่นเป็นเรื่องดีที่ควรทำ”

ยิ่งพ่อแม่สร้างประสบการณ์ให้เด็กๆ
ได้รู้สึกถึง Empathy มากเท่าไหร่
เด็กจะ Empathy คนอื่นได้

⇒ ผ่านการรับรู้ความรู้สึกของผู้อื่น

มีกรณีศึกษา เรื่องการหยุดเหยียดเชื้อชาติ โดยครูในโรงเรียนแห่งหนึ่งให้นักเรียนในห้องแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มเด็กตาสีฟ้า กับ กลุ่มเด็กตาสีน้ำตาล และให้เด็กตาสีน้ำตาลได้อภิสิทธิ์ทุกอย่างในโรงเรียนไประยะหนึ่ง จากนั้นสลับให้เด็กตาสีฟ้าได้อภิสิทธิ์ในโรงเรียนบ้าง จากนั้นให้เด็กแต่ละคนสะท้อนความรู้สึกที่เกิดขึ้น

จากการศึกษาครั้งนั้นส่งผลให้ผู้ปกครองเห็นพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงของลูก เด็กๆ เอื้อเฟื้อต่อกันมากขึ้น คนเป็นพี่ดูแลน้องมากขึ้น และเมื่อเวลาผ่านไป 40 ปี เด็กกลุ่มนี้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ทำกิจกรรมหลายอย่างเพื่อผู้อื่น และพวกเขายังจำบทเรียนครั้งนั้นได้เหมือนเพิ่งจะผ่านไปไม่นาน

การทำให้เด็กเข้าใจความคิด ความรู้สึก และความต้องการของคนอื่น เด็กมีแนวโน้ม Empathy มากขึ้น ปรับตัวได้เก่ง เป็นที่รัก รับมือความขัดแย้งอย่างสันติได้ ตัดสินคนอื่นน้อยลง ปกป้องคนที่ถูกรังแก รู้จักปลอบประโลมผู้อื่น และส่งเสริมคนอื่นมากขึ้น

⇒ ผ่านการฝึกให้เด็กทำความเข้าใจกับความคิด ความรู้สึก และความต้องการของคนอื่น

  • ให้เด็กตั้งใจฟัง ด้วยการจดจ่อ และให้ความสนใจคนอื่น
  • รับฟังความรู้สึกของคนอื่น ด้วยการสังเกตสีหน้า น้ำเสียง กริยาท่าทางของอีกฝ่าย
  • จินตนาการ “เอาใจเขามาใส่ใจเรา”
    “ลูกคิดว่าเวลาที่คนนั้นพูด เขาคิดหรือรู้สึกยังไง เขาต้องการอะไร”
    “ถ้าเป็นเรา เราจะคิด / รู้สึก / ต้องการอะไร”
  • สรุปความคิด ความรู้สึก ความต้องการของอีกฝ่าย จากความเข้าใจของตัวเด็กเอง
    “จากที่ฟังมา ลูกคิดว่า…”
    “เท่าที่ลูกได้คุยกับเขา เขารู้สึกว่า….”
    “สิ่งที่เขาต้องการคือ…”

สร้าง Empathy
ด้วยการตั้งคำถาม

  • ถ้า…
    “จะเกิดอะไรขึ้น ถ้า….”
    “ถ้าหนูเป็นตัวละครตัวนี้ หนูจะ….”
    “ถ้าเป็นหนู หนูจะทำอย่างไรต่อ”
    “ถ้าเป็นหนู หนูจะให้คำแนะนำอย่างไร”
  • หนูรู้สึกอย่างไร
    “หนูเคยมีประสบการณ์แบบเดียวกันมั้ย แล้วหนูรู้สึกยังไง”
    “ดูหน้าตัวละครตัวนั้นสิ หนูว่าเขารู้สึกยังไง หนูเคยรู้สึกแบบนั้นมั้ย”
  • เปลี่ยนจุดเน้นจาก “ฉัน” เป็น “เธอ”
    “สมมติว่าหนูเป็นตัวละครตัวนี้ หนูคิดว่าตอนนี้เธอรู้สึกยังไง แล้วอะไรจะทำให้เธอรู้สึกดีขึ้น”

ปลูกฝังความมีน้ำใจ
ให้เด็กได้อย่างไร?

เริ่มง่ายๆ โดยการเปลี่ยนคำถามจาก “วันนี้เรียนเป็นยังไงบ้าง” เป็น “วันนี้ทำอะไรดีๆ ให้ใครบ้าง

ผู้ใหญ่เป็นแบบอย่างของความมีน้ำใจ มีงานวิจัยยืนยันว่าเด็กๆ ลอกเลียนแบบความมีน้ำใจ หรือการเห็นแก่ตัวเองจากผู้ใหญ่ พ่อแม่จึงควรทำให้การแสดงออกถึงการมีน้ำใจกลายเป็นเรื่องปกติในกิจวัตรประจำวันให้เด็กๆ พูด หรือทำสิ่งดีๆ ต่อคนอื่นอย่างน้อย 2 อย่างต่อวัน และให้เด็กเห็นผลที่เกิดจากการมีน้ำใจให้ผู้อื่น เมื่อผู้ใหญ่รู้จักเห็นอกเห็นใจ ความรู้สึกนี้จะส่งผ่านไปที่เด็ก และเมื่อเด็กเติบโต เขาจะเป็นผู้ใหญ่ที่สร้างสังคมนี้ให้น่าอยู่ และเต็มไปด้วยการเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกัน


อ้างอิง : หนังสือสอนลูกอย่างไรให้เห็นหัวใจคนอื่น
โดย มิเชล บอร์บา – นักการศึกษา
เมริษา ยอดมณฑป – นักจิตวิทยาเด็กและครอบครัว

ภาพประกอบ
: https://www.behance.net/dilekaltintas
: https://www.katuno.com/illustration

Exit mobile version