Site icon มูลนิธิยุวพัฒน์

Bullying…เทรนด์อันตรายของโลก

บูลลี่ (Bullying) เป็นปัญหาทางสังคมที่มีผลกระทบมากมายไปทั่วโลก และเป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจจากหลายฝ่าย เนื่องจากมีผลต่อสุขภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจของผู้ถูกกลั่นแกล้ง “บูลลี่” มีความหมายว่า เป็นพฤติกรรมที่แสดงความรุนแรงทางอารมณ์หรือทางกาย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อก่อให้เกิดผลกระทบต่อผู้ถูกกลั่นแกล้งทั้งทางร่างกาย จิตใจ และการใช้ชีวิตในสังคม

การบูลลี่สามารถเกิดขึ้นทุกที่ แต่มักจะพบมากที่สุด เช่น โรงเรียน ที่ทำงาน และสังคมออนไลน์ การกลั่นแกล้งมีจุดประสงค์เพื่อทำให้ “ผู้ถูกกลั่นแกล้ง” ได้รับความเดือดร้อนทั้งทางกายและจิตใจ ซึ่งส่งผลกระทบไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและระดับกลุ่มอีกด้วย

การล้อเล่นและการบูลลี่

เพราะการอยากสร้างบรรยากาศความสนุกสนานและความบันเทิง การแซว การแหย่ การล้อเล่น และการล้อเลียน เป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนานในสังคมไทย ในวัยเด็กหลายๆ คนมักถูกเรียกกันด้วยชื่อที่เกี่ยวกับลักษณะภายนอกหรือลักษณะเฉพาะ เช่น เด็กที่มีรูปร่างที่อ้วนท้วนสมบูรณ์ มักถูกเรียกว่าแทนชื่อว่า “อ้วน” ในขณะที่คนรูปร่างผอมจะถูกเรียกว่าแทนชื่อว่า “แห้ง” หรือ “กุ้งแห้ง” จนกลายเป็น AKA (ชื่อเฉพาะที่ใช้กล่าวถึงกัน เหมือนกับวงการแร็ปเปอร์) ประจำตัวไปโดยปริยาย ซึ่งการเรียกแบบนี้มักจะเป็นการแซวหรือเพื่อความตลกเฮฮากันในครอบครัว หรือกลุ่มเพื่อนที่มีความสนิทสนมกันมานาน อย่างไรก็ตาม หากการกลั่นแกล้งนั้นเกิดขึ้นซ้ำๆ หรือการล้อเลียนซ้ำๆ และรู้ว่าเขาไม่ชอบหรือไม่สนุกด้วย และ “ผู้กลั่นแกล้ง” ไม่มีทีท่าว่าจะหยุด ผู้ที่ถูกล้อเลียนได้แสดงออกถึงความไม่พอใจ ความโกรธ ความโมโห ความเครียด หรือแม้กระทั่งเกิดความแค้น เหตุการณ์ในลักษณะนี้จะเรียกว่า “การบูลลี่” และสามารถเกิดความรุนแรงมากขึ้นได้ในอนาคต เนื่องจากมีพฤติกรรมที่ชัดเจนในการก่อกวนให้เกิดความเครียดหรือความแค้นจากผู้ถูกกลั่นแกล้ง คำพูดที่ใช้ในการแกล้งต้องมีเจตนาที่ดีและชัดเจน และไม่สามารถใช้ “แค่แหย่เล่น” หรือ “ไม่ได้ตั้งใจ” เป็นข้ออ้างหรือข้อแก้ตัวได้

รูปแบบการบูลลี่

  1. บูลลี่ทางร่างกาย : เป็นการทำร้ายร่างกายจนมีบาดแผลที่เห็นได้อย่างชัดเจน และไม่ได้มีเพียงบาดแผลทางร่างกายเท่านั้นแต่ส่งผลกระทบทางด้านจิตใจด้วย
  2. บูลลี่ทางวาจา : เป็นการด่าทอ ล้อปมด้อย ส่อเสียด ใส่ร้าย พูดประจานออกสู่สาธารณะเพื่อให้บุคคลอื่นรับรู้ด้วย ซึ่งการกระทำดังกล่าวจะก่อให้เกิดเป็นบาดแผลทางจิตใจ สร้างความอับอาย เครียด เก็บกด และอาจส่งผลร้ายแรงถึงขั้นเป็นโรคซึมเศร้าได้
  3. บูลลี่ทางสังคม : เป็นการสร้างกระแสสังคมให้รุมกระหน่ำมาที่เหยื่อของการบูลลี่ ให้เกิดความอับอาย เช่น การปล่อยคลิปของเหยื่อ การสร้างข่าวลือ/ข่าวปลอม กดดันหรือขับไล่เพื่อนออกจากกลุ่ม

ไม่อยากตกเป็นเหยื่อการบูลลี่… อย่าเป็นคนบูลลี่

คงไม่มีใครอยากตกเป็นเหยื่อของการบูลลี่ หรืออยากเป็นคนใจร้ายทำลายผู้อื่น โดยพื้นฐานทางด้านจิตใจของทุกคนไม่มีเจตนาทำให้ผู้อื่นเสียหายอยู่แล้ว แต่ด้วยการขาดความเข้าใจ หรือไม่มีความรู้บางประการ ก็อาจเป็นแหล่งที่ก่อให้เกิดพฤติกรรมการบูลลี่ได้ ดังนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของการบูลลี่ เราควรระมัดระวังกับการใช้คำพูด และแสดงท่าทีที่สุภาพและเคารพความเป็นผู้อื่นอยู่เสมอ และการทำความเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่นก็เป็นเรื่องที่สำคัญมากเช่นเดียวกัน

นพ.อภิชาติ จริยาวิลาศ จิตแพทย์ โรงพยาบาลเวชธานี ได้ระบุถึงความสำคัญของการ “ไม่ควรนำเรื่อง รูปร่าง หน้าตา น้ำหนัก ส่วนสูง เชื้อชาติ ศาสนา รวมถึงปัญหาสุขภาพ และปัญหาสุขภาพจิต มาล้อเล่นหรือล้อเลียน” อาจทำให้คนที่ถูกล้อเลียนรู้สึกไม่พอใจและมีผลกระทบทางจิตใจ หลักการง่ายๆ ก่อนที่จะล้อเล่นใครคือ “ถามตัวเองก่อนว่าจะก่อให้เกิดความรู้สึกด้านลบไหม ถ้ามีความเสี่ยงแค่ ‘อาจจะ’ ก็อย่าเล่นมุกนั้น อย่าล้อเล่นเรื่องนั้นเด็ดขาด”

จากสถิติของกรมสุขภาพจิต พบว่าในปี 2563 เด็กไทยมีพฤติกรรมบูลลี่เป็นอันดับที่ 2 ของโลก รองจากประเทศญี่ปุ่น โดยเด็กไทยโดนบูลลี่ปีละประมาณ 600,000 คน คิดเป็น 40% ของนักเรียนทั้งหมด และส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นกับนักเรียนระดับชั้นมัธยม สำหรับสถิติระดับโลกนั้น จากรายงาน School Violence and Bullying: Global Status Report ขององค์การเพื่อการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ระบุว่าความรุนแรงและการบูลลี่หลากหลายรูปแบบในโรงเรียนเกิดขึ้นกับเด็กและวัยรุ่นมากกว่า 246 ล้านคนทั่วโลก ขณะที่สถาบันสถิติศาสตร์ (UIS) ของ UNESCO ชี้ว่าเยาวชนเกือบ 1 ใน 3 ทั่วโลก มีประสบการณ์ถูกบูลลี่มาก่อน องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) รายงานว่าข้อมูลจากการสำรวจ 106 ประเทศทั่วโลก บ่งชี้ว่าวัยรุ่นอายุ 13 – 15 ปี มีประสบการณ์โดนบูลลี่มากที่สุด

อย่างเวทีการประกวดนางงามมิสยูนิเวิร์ส 2023 ก็นำประเด็นนี้มาเป็นคำถามในรอบ 5 คนสุดท้าย ซึ่งเป็นคำถามของ แอนโทเนีย โพซิ้ว ตัวแทนจากประเทศไทย โดยคำถามคือ “ถ้ามีโอกาสได้พูดกับเด็กนักเรียนในห้องเรื่องการบูลลี่ในโลกออนไลน์คุณจะพูดว่าอะไร?” โดยเธอตอบว่า “ฉันจะบอกพวกเขาว่า อย่าฟังสิ่งที่คนอื่นพูด เพราะในที่สุดทุกคนมีสิทธิ์มีความคิดเห็นของตัวเอง แต่อยู่ที่ตัวเราเองจะตอบโต้อย่างไร ใช้เสียงของเรายืนหยัดเพื่อสิ่งที่ถูกต้อง และเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เราอยากเห็นในโลกด้วยการเป็นผู้นำเป็นแบบอย่าง อย่าฟังคำพูดที่เกลียดชัง เพราะสิ่งนั้นไม่ได้กำหนดให้เราเป็น แต่สิ่งที่กำหนดเราคือวิธีที่เรารับมือและจัดการปัญหา”

เติมภูมิคุ้มกันใจในการรับมือกับการบูลลี่ ไม่แตกต่างจากการฉีดวัคซีนที่ช่วยเสริมร่างกายในการต่อต้านโรคต่าง ๆ ดังนั้น วิธีการต่างๆ เหล่านี้ สามารถใช้เพื่อเสริมภูมิคุ้มกันใจของเราต่อการบูลลี่ได้ และสามารถนำมาใช้เป็นแนวทางดังนี้:

  1. ใช้ความนิ่งสยบการบูลลี่: การควบคุมอารมณ์และการนิ่งเฉยต่อการบูลลี่เป็นสิ่งสำคัญ นั่นคือการตั้งสติและแสดงให้เห็นว่าเราไม่ได้ให้ความสำคัญกับพฤติกรรมการบูลลี่ เราเข้มแข็งและไม่กลัว
  2. ตอบโต้อย่างสุภาพ: การตอบโต้อย่างสุภาพช่วยให้เราสามารถแสดงออกถึงความไม่พึงพอใจอย่างมีมารยาท ไม่ต้องใช้คำหยาบคาย แต่สามารถชี้แจงข้อกล่าวหาที่ไม่เป็นความจริงได้อย่างมีเหตุผล
  3. เปลี่ยนสิ่งแวดล้อม: การเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม เช่นการเลือกที่จะอยู่กับกลุ่มเพื่อนที่สนับสนุนหรือการเปลี่ยนที่ทำงานอาจช่วยในการฟื้นฟูจิตใจและลดความเดือดร้อนจากการถูกบูลลี่ได้
  4. เก็บหลักฐาน: การรวบรวมหลักฐานที่ถูกบูลลี่ เช่น รูปภาพ ข้อความ หรือภาพถ่าย สามารถใช้เป็นประกันหลักในกรณีที่ต้องดำเนินคดีตามกฎหมาย และยังช่วยในการทำให้ผู้บูลลี่ตระหนักถึงผลที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
  5. พบผู้เชี่ยวชาญ: การไปพบนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์เป็นทางเลือกที่ดี เพื่อรับคำปรึกษาและช่วยในการดูแลสุขภาพจิต หรือสามารถใช้แอปพลิเคชันที่เชื่อถือได้ เช่น BuddyThai ที่มีทั้งแบบทดสอบและคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ

“เอาใจเขา มาใส่ใจเรา: ไตร่ตรองก่อนจะพูดหรือพิมพ์ข้อความอะไรลงในโซเชียล” ต้องใส่ใจและพิจารณาถึงผลที่อาจเกิดขึ้นจากคำพูดหรือข้อความเหล่านั้นก่อนเสมอ และใส่ใจให้มากขึ้นที่จะไม่ให้คำพูดหรือข้อความนั้นกลายเป็นมลพิษที่สามารถทำร้ายคนอื่นได้ ในขณะเดียวกัน เมื่อเราถูกบูลลี่ สิ่งสำคัญคือ การมีสติ การมีจิตใจที่เข้มแข็ง การรักตัวเอง และการทำความเข้าใจกับตัวเองก่อน จะช่วยให้เราสามารถเผชิญหน้าอย่างเข้มแข็งกับการถูกบูลลี่ได้ และเพื่อสร้างความตระหนักให้คนทั่วโลกไม่ยอมรับกับพฤติกรรมการบูลลี่ มาร่วมมือกันสร้างเทรนด์ “Stop Bullying” ชวนทุกๆ คนมาร่วมมือกันทำให้สังคมของเราเป็นสังคมที่เต็มไปด้วยความเข้าใจและการเคารพซึ่งกันและกัน มาช่วยกันสร้างการเปลี่ยนแปลงให้ทุกคนในสังคมไม่ยอมรับการบูลลี่

ข้อมูลอ้างอิง :
https://shorturl.asia/qzYi4
https://shorturl.asia/mgB2t
https://shorturl.asia/mgB2t
https://shorturl.asia/sj9Hq
https://shorturl.asia/g324V
https://shorturl.asia/g5Az4

ผู้เขียน : แสงอรุณ ลิ้มวงศ์ถาวร
#อาสาเขียนบทความ

Exit mobile version