Site icon มูลนิธิยุวพัฒน์

Empathy การเห็นอกเห็นใจผู้อื่น

“เวลาที่เราสนใจตนเอง
โลกของเราจะแคบลง
แต่เมื่อใดที่เราสนใจผู้อื่น
โลกของเราจะขยายกว้างขึ้น”

ในโลกที่ชวนให้เราหมกหมุ่นอยู่กับตัวเองทุกวัน และมีแต่คำว่า “ฉัน” เป็นศูนย์กลางของชีวิต หรือการคิดถึงแต่ตัวเองจะเป็นตัวทำลายความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น (Empathy) ที่มีอยู่ในตัวเรา นั่นจึงเป็นเหตุผลที่เราต้องเปลี่ยนจุดสนใจจาก “ฉัน ของฉัน ตัวฉัน” เป็น “เรา ของเรา ตัวเรา”  เพื่อสร้างการเติบโตที่มาพร้อมกับคำว่า น้ำใจ ห่วงใย และเมตตา ต่อเพื่อนในสังคมด้วยกัน

เช่นเดียวกับการประสบความสำเร็จไม่ได้เกิดจากการที่เราจดจ่อที่ “ตัวฉัน” เพียงอย่างเดียว แต่เริ่มต้นจากการที่เรามีความเข้าใจ รู้สึกเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ดังนั้น การจะประสบความสำเร็จได้ เราจึงต้องเพิ่มทักษะความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นให้มากขึ้น

“ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น สามารถสร้างได้จากการเรียนรู้ที่จะเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของผู้อื่น”

เคยเป็นกันไหม เวลาที่ดูละครหรือซีรีย์หรืออ่านหนังสือนวนิยายแล้วมีความรู้สึกร่วมไปกับบทบาทของตัวละคร รู้ไหมว่าความรู้สึกมีอารมณ์ร่วมที่เกิดขึ้นคืออะไร?

การที่เรามีความรู้สึกร่วมไปกับบทบาทที่รับรู้นั้น เป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่า เราเป็นคนหนึ่งที่มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น หรือ Empathy เพราะในขณะที่เรากำลังดูละครหรืออ่านนวนิยาย สมองที่กำลังประมวลผลจากการดูละครหรืออ่านนวนิยายจะเกิดการเชื่อมโยงกับประสบการณ์เดิมหรือเหตุการณ์ที่เราเคยพบเจอ นี่จึงส่งผลให้เราเกิดความรู้สึกร่วมไปกับบทบาทของตัวละครนั้นๆ เราจะเข้าใจความรู้สึกของตัวละคร เพราะเราเองก็เคยมีประสบการณ์นั้นเช่นกัน

Empathy หรือความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นคืออะไร

ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นหรือการเอาใจเขามาใส่ใจเรา คือ การที่ไม่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง เป็นทักษะพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนมีติดตัวอยู่แล้ว ซึ่ง Empathy นั้นสามารถนำไปปรับใช้ได้กับหลายบริบทและหลายสถานการณ์ในชีวิตประจำวันได้ เช่น การที่เราพยายามเข้าใจแม่ที่ปลุกให้เราตื่นเช้า การที่เราพยายามจะเข้าใจความรู้สึกของคนอื่นที่กำลังแสดงพฤติกรรมไม่น่ารักกับเรา เป็นต้น

ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นหรือการเอาใจเขามาใส่ใจเรา คือ ความสามารถในการเข้าใจคนอื่นในมุมมองของพวกเขาที่มีต่อเหตุการณ์นั้นๆ ซึ่งยังรวมถึงการที่เราห่วงใยคนอื่น มีน้ำใจคิดถึงความรู้สึกของคนอื่นและไม่คาดหวังสิ่งตอบแทน เป็นความต้องการอยากช่วยเหลือ เพื่อให้คนอื่นมีชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งทุกคนสามารถพัฒนาฝึกฝนได้จากการให้ความช่วยเหลือเล็ก ๆ น้อย ๆ กับคนรอบข้าง เช่น ถ้าเพื่อนทำงานของทีมเสร็จไม่ทัน เราจะพยายามทำความเข้าใจสถานการณ์ความรู้สึกของเพื่อน อยากเข้าใจว่าเพราะอะไรเพื่อนจึงทำงานไม่เสร็จ เขามีภาระที่บ้านหรือเปล่า หรือเพื่อนกำลังติดปัญหาอะไรอยู่หรือไม่ เป็นความรู้สึกเห็นอกเห็นใจ ไม่ตำหนิ ไม่ตัดสินไปก่อนว่าเพื่อนเป็นคนไม่มีความรับผิดชอบ และอยากจะเข้าไปช่วยเหลือเพื่อให้งานของทีมเสร็จลุล่วง

“ยิ่งเราตระหนักรู้อารมณ์ความรู้สึกของตัวเองมากขึ้นเท่าไหร่เราจะยิ่งควบคุมตัวเองได้มากขึ้นเท่านั้น”

การมีความรู้สึกเห็นอกเห็นใจผู้อื่นดีอย่างไร

  • การเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ทำให้สามารถเข้าใจและปรองดองกับคนอื่นได้ และเป็นวิธีที่ช่วยให้เราตอบสนองต่อสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสม
  • หากเราเข้าใจผู้อื่น เราก็สามารถควบคุมอารมณ์ของตัวเองได้ ความสามารถในการควบคุมอารมณ์ของตัวเองจะช่วยให้เราผ่านสถานการณ์ตึงเครียดได้
  • ช่วยเหลือผู้อื่นได้มากขึ้น ไม่เพียงแต่เราจะทำความเข้าใจอารมณ์ของคนอื่น เรายังสามารถเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นกับเขา และอยากยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือคนอื่นให้ผ่านพ้นสถานการณ์นั้นด้วย

การฝึกมีความรู้สึกเห็นอกเห็นใจผู้อื่น

หนึ่งในลักษณะนิสัยของคนที่มีความเห็นอกใจผู้อื่น คือ การมีน้ำใจ อยากช่วยเหลือ ซึ่งเราทุกคนสามารถที่จะพัฒนาให้มีนิสัยนี้ได้ เปรียบเทียบง่ายๆ เช่น ถ้าเราอยากพูดภาษาอังกฤษได้คล่อง หรือคิดเลขเก่ง ก็ต้องฝึกฝนด้วยการฟัง พูด อ่าน เขียนภาษาอังกฤษบ่อยๆ หรือฝึกทำโจทย์เลขบ่อยๆ หากอยากเป็นคนที่มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น มีน้ำใจต่อผู้อื่น ก็เริ่มจากการทำความเข้าใจคนรอบข้างก่อน เพราะอะไรเขาจึงพูดแบบนั้น เพราะอะไรแม่ต้องบ่น เพราะอะไรครูจึงให้การบ้านเยอะ เพราะอะไรเพื่อนไม่พูดกับเราตรงๆ

การตั้งคำถามเพื่อทำความเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ จะช่วยให้พัฒนาความรู้สึกเห็นอกเห็นใจผู้อื่นได้มากขึ้น และเมื่อเข้าใจคนรอบข้าง เราจะไม่พอใจ เสียใจ โกรธ หรือมีความรู้สึกด้านลบกับคนๆ นั้นน้อยลง เมื่อความรู้สึกด้านลบน้อยลง ความสุขของเราก็จะเพิ่มขึ้น

“หากสามารถนึกภาพตัวเองเป็นคนที่ห่วงใยผู้อื่นได้
เราจะมีแนวโน้มเป็นคนที่ใส่ใจผู้อื่นมากขึ้น”

ทุกคนพัฒนาความสามารถในการเห็นอกเห็นใจผู้อื่นได้ ด้วย 8 วิธีดังนี้

1. ออกจาก Comfort Zone หรือพื้นที่ที่เคยชิน การลองทำอะไรใหม่ๆ ที่ไม่เคยทำมาก่อน จะทำให้เรารู้สึกอ่อนน้อมถ่อมตน ไม่เอาความคิดหรืออารมณ์ตัวเองเป็นที่ตั้งมากเกินไป เพราะจะเข้าใจว่าเราไม่ได้อยู่คนเดียวลำพัง ชีวิตแต่ละวันของเรามีคนรอบตัวร่วมอยู่ด้วย เราต้องพบปะผู้คนใหม่ๆ ที่แตกต่างจากเรา และเราไม่สามารถอยู่ในพื้นที่เดิมๆ ของเราได้ตลอดไป

2. ออกไปท่องเที่ยวให้เห็นสังคมที่กว้างขึ้น หรือการไปเยี่ยมชมสถานที่หรือวัฒนธรรมใหม่ ๆ จะช่วยทำให้เราเห็นโลกที่กว้างขึ้น และสามารถเข้าใจ “คนที่แตกต่าง” ได้มากขึ้น

3. รู้เท่าทันอารมณ์ความรู้สึกของตัวเอง เมื่อมีความรู้สึกหนึ่งเกิดขึ้นมา การรู้เท่าทัน คือการที่เราสามารถบอกได้ว่า ความรู้สึกที่กำลังเกิดขึ้นนี้คือความรู้สึกอะไร เช่น ความรู้สึกโกรธ เหงา หงุดหงิด ดีใจ เป็นต้น ตัวอย่างการรู้เท่าทันความรู้สึกของตนเอง เช่น “ฉันรู้สึกไม่ค่อยโอเค ความรู้สึกไม่ค่อยโอเคนี้เป็นความรู้สึกโกรธที่อยู่ในใจของฉัน”

4. สะท้อนความรู้สึกตัวเองเป็นคำพูด เช่น “ฉันรู้สึกหงุดหงิดเพราะวันนี้การบ้านเยอะมาก” การสะท้อนออกมาเป็นคำพูดจะช่วยให้เราเข้าใจความรู้สึกตัวเองที่เป็นอยู่ ว่าตอนนี้เรากำลังหงุดหงิดอยู่นะ

ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น
เริ่มต้นจาก…
การตั้งใจฟัง
โดยไม่ตัดสิน

5. ยอมรับความรู้สึกของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกดีหรือไม่ เป็นธรรมดาที่เราจะดีใจ มีความสุข แต่ในบางครั้งเราก็เศร้าเสียใจได้เหมือนกัน การยอมรับความรู้สึกที่เกิดขึ้นของตัวเอง จะช่วยให้เรายอมรับอารมณ์ความรู้สึกของคนอื่นได้ด้วย เมื่อเรารับรู้ว่าคนอื่นมีความรู้สึกและอารมณ์อย่างไร เราจะรู้ว่าเราต้องรับมืออย่างไรกับความรู้สึกของคนๆ นั้น เพื่อไม่ให้อารมณ์ของคนอื่นทำให้เรารู้สึกแย่ไปด้วย

6. หาเวลาพูดคุยกับคนอื่นๆ การมีโอกาสได้พูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับคนอื่นๆ บ้าง เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยให้เราเข้าใจคนอื่นได้มากขึ้น เราจะได้รู้ว่าเขามีความคิดเห็น  มีทัศนคติ อย่างไรกับเหตุการณ์นั้นๆ หรือเขามีความรู้สึกอย่างไรกับสถานการณ์ต่างๆ ประสบการณ์ของคนอื่นๆ จะช่วยให้เราเข้าใจมากขึ้น ว่าโลกนี้กว้างกว่าที่เราคิดไว้มากมาย

7. ฝึกตัวเองให้คิดในมุมมองของอีกฝ่าย เช่น ถ้าสถานการณ์นี้เกิดขึ้นกับเราบ้าง เราจะรู้สึกอย่างไร? ถ้าเราอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากแบบเขา เราจะรู้สึกอย่างไร? การฝึกตัวเองให้ลองคิดในมุมมองของอีกคน จะช่วยให้เราเข้าใจอีกฝ่ายมากขึ้น

8. มีจิตใจที่ดีและมั่นคง ซึ่งจะต้องเริ่มมาจากพื้นฐานความสัมพันธ์ที่ดี การสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับคนในครอบครัวหรือกับเพื่อน คอยดูแลเอาใจใส่ผู้คนรอบข้าง จะช่วยให้เรารู้สึกมีความมั่นคง มองโลกในแง่ดี พร้อมที่จะทำในสิ่งดี ๆ ให้กับตัวเอง พร้อมที่จะเห็นอกเห็นใจ และอยากแสดงน้ำใจช่วยเหลือผู้อื่น

ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นจะแข็งแกร่งขึ้นได้ด้วยการฝึกฝน เหมือนการออกกำลังกายที่ต้องทำเป็นประจำสม่ำเสมอเพื่อให้ได้ผล การกระทำที่แสดงความมีน้ำใจง่าย ๆ เป็นประจำในชีวิตประจำวัน เช่น การรับฟังเพื่อนที่มีปัญหาด้วยความตั้งใจ ใส่ใจ ชวนเพื่อนที่กำลังเหงามานั่งคุยกัน ก็ถือเป็นการเห็นอกเห็นใจ มีน้ำใจช่วยเหลือผู้อื่น โดยที่เราไม่ได้หยิบยื่นของมีค่าให้แต่อย่างใด

สิ่งนี้นอกจากจะช่วยให้คนอื่นได้รับประโยชน์จากการช่วยเหลือของเราแล้ว เราเองก็ได้รับกับความรู้สึกเป็นสุขใจ รู้สึกถึงคุณค่าของตัวเราที่มีต่อคนอื่น และสิ่งสำคัญยิ่งกว่านั้นคือ ช่วยให้เราเข้าใจคนอื่น เปิดโอกาสให้ตัวเองก้าวออกจากพื้นที่ที่เคยชิน สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่นๆ ได้ มีความห่วงใย ความเมตตา รู้จักเห็นอกเห็นใจ และลดช่องว่างของความไม่เข้าใจผู้อื่นลง การที่เรามีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นมากขึ้นจะทำให้ปัญหาต่างๆ ในสังคมลดลง ความสุขจะเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะเป็นผลดีทั้งต่อตัวเราและผู้อื่น

ที่มา :
หนังสือ สอนลูกอย่างไรให้เห็นหัวใจคนอื่น Unselfie
https: //www.starfishlabz.com/blog/203-รับผิดชอบต่อสังคม-ทักษะใหม่ที่ต้องสอนในยุค-new-normal
https: //faithandbacon.com/what-is-empathy/?fbclid=IwAR1ISA9oB-M-hGppjyN34S5Sx-Q_c0gkqQsE-ZAUhH82eqoItcZIfT-TN5s
Facebook Page : เข็นเด็กขึ้นภูเขา https://1th.me/TrLBW
https: //www.mangozero.com/empathy/

ภาพประกอบ :
https://dribbble.com/Olgasemklo

Exit mobile version