Site icon มูลนิธิยุวพัฒน์

พูดอย่างไร? ให้ลูกอยากเรียน EP.1

พ่อแม่ทุกคนอยากให้ลูกตั้งใจเรียน ตั้งใจทำการบ้าน อ่านหนังสือมากขึ้น แต่ลูกๆ กลับติดเกม ห่วงเล่น ติดเพื่อน และโซเชียล ไม่กระตือรือร้นเลย “จะทำอย่างไรให้ลูกสนใจอยากเรียนขึ้นบ้างนะ?” หลายคนอาจกังวลเรื่องนี้จนบางครั้งหงุดหงิดและอารมณ์ไม่ดี

บทความนี้นำเรื่องราวในหนังสือ “พูดอย่างไร? ให้ลูกอยากเรียน (สไตล์คุณแม่ญี่ปุ่น)” เขียนโดย เทรุโกะ โซดะ เป็นหนังสือที่น่าสนใจ ที่นำเสนอเทคนิคและแนวทางในการสร้างแรงจูงใจในการเรียนรู้ให้กับลูก โดยอาศัยแนวคิดและวิธีการเลี้ยงดูในแบบฉบับของคุณแม่ชาวญี่ปุ่น เรื่องราวในหนังสือเล่มนี้ไม่เพียงแต่จะเน้นไปที่วิธีการพูดคุยและสื่อสารกับลูกเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม การเสริมสร้างความมั่นใจ และการสนับสนุนการเรียนรู้ในทุกๆ ด้านอย่างเหมาะสม

เทรุโกะ โซดะ ได้นำประสบการณ์ส่วนตัวและความรู้ที่ได้รับจากการวิจัย มาแบ่งปันวิธีการที่ได้ผลในการสร้างความสนใจและความรักในการเรียนรู้ โดยที่เด็กจะรู้สึกสนุกสนานและมีความสุขกับการเรียน ซึ่งทั้งหมดนี้เกิดขึ้นได้จากการสนับสนุนและการให้กำลังใจจากผู้ปกครอง หนังสือเล่มนี้จึงเป็นคู่มือที่มีคุณค่าสำหรับพ่อแม่ทุกคนที่ต้องการพัฒนาศักยภาพทางการเรียนรู้ของลูกในระยะยาว

บทเรียนที่ 1
จู้จี้ขี้บ่นมากเท่าไหร่ ยิ่งทำลายความตั้งใจเรียนมากเท่านั้น

“ไปอ่านหนังสือสอบได้แล้ว”
“ไปทำการบ้านเดี๋ยวนี้นะ!”

พูดไปตั้งหลายหนแต่ลูกก็ไม่ทำสักที จนหลังๆ เริ่มรู้สึกว่าติดนิสัยเป็นคนที่ช่างขี้บ่นไปแล้ว ทำยังไงก็อดบ่นไม่ได้

ทั้งดุลูก ทั้งทำให้ดูเป็นตัวอย่างก็แล้วยังไม่ได้ผล จากผลสำรวจพบว่า คำพูดที่ทำให้เด็กๆ ไม่อยากเรียนมากที่สุดเป็นอันดับ 1 คือ ไปอ่านหนังสือเดี๋ยวนี้ พอไปถามลูกๆ ก็ตอบกลับมาคล้ายๆ กัน จากประสบการณ์ตรงของ เทรุโกะ โซดะ ก็เช่นกัน ตอนที่โดนดุว่าไปอ่านหนังสือเดี๋ยวนี้หรือไปทำการบ้านได้แล้ว ก็หมดความตั้งใจไปเหมือนกัน

ผลสำรวจนักศึกษามหาวิทยาลัยโตเกียวพบว่า ที่ผ่านมาไม่เคยโดนพ่อแม่ดุว่าหรือเคี่ยวเข็ญให้ไปอ่านหนังสือหรือทำการบ้าน เช่นนั้นถ้าพ่อแม่อยากเลี้ยงลูกให้เป็น “เด็กรักการเรียน” หรือ “เด็กเรียนเก่ง” ก็ห้ามดุว่าลูก “ให้ไปอ่านหนังสือซะ” อย่างนั้นหรือ

ก็เข้าใจอยู่หรอกตัวเองก็อยากจะเลิกจู้จี้จุกจิกอย่างนั้นเหมือนกัน แต่เมื่อถึงสถานการณ์จริงก็อดทนไม่ได้ เพราะลูกไม่มีท่าทีจะลุกขึ้นมาอ่านหนังสือหนังหาเลย ขืนปล่อยไปอย่างนี้ ผลสอบจะเป็นอย่างไรคงไม่ต้องบอก อดบ่นไม่ได้นี่นา

ถ้าเช่นนั้นควรจะทำอย่างไรดีล่ะ คำตอบคือ การทำให้ลูกมีความตั้งใจอยากจะเริ่มอ่านหนังสือ ลุกขึ้นมาทำการบ้านด้วยตัวเอง แต่จะทำอย่างไรให้ลูกเป็นอย่างนั้นได้ วิธีที่ได้ยินบ่อยๆ เห็นจะเป็นการให้พ่อแม่ตั้งใจอ่านหนังสือให้ลูกดูเป็นตัวอย่าง ผลการวิจัยทางสมองยืนยันว่าลูกๆ มักเลียนแบบพฤติกรรมของพ่อแม่

คุณ เทรุโกะ โซดะ ถามลูกตัวเองว่า เห็นแม่ตั้งใจอ่านหนังสือแล้วมีความคิดอยากจะอ่านหนังสือขึ้นบ้างไหม ลูกกลับตอบว่าไม่เลย! คิดว่าแม่ตั้งใจอ่านหนังสือดีจัง…ก็เท่านั้นเอง ช่างเป็นคำตอบที่เฉียบคมจริงๆ สำหรับลูกที่โดนพ่อแม่บ่นจู้จี้อยู่เป็นประจำจนเคยชิน แค่ทำให้ดูเป็นตัวอย่างเหมือนจะยังไม่พอ… ลองทำแบบนี้ดู

ชวนลูกให้มาอ่านหนังสือด้วยกัน ทำอะไรด้วยกัน ลูกจะมีแนวโน้มตั้งใจอ่านหนังสือมากขึ้น

“ทำการบ้าน เสร็จหรือยัง?”

ทำไมยิ่งถามบ่อย ลูกยิ่งไม่อยากทำ อยากให้ลูกทำการบ้านให้เสร็จเรียบร้อยแบบติดเป็นนิสัย บ่นว่าลูกไปตั้งเยอะแต่เหมือนไม่ได้ผลเลย ควรทำอย่างไรดี?

มีวิธีที่ทำแล้วได้ผลมากกว่าการจู้จี้ขี้บ่น คงลำบากใจแย่ถ้าลูกไม่ยอมทำการบ้านสักที ไม่ว่าจะพร่ำบ่นแค่ไหน… ตอนลูกสาวของคุณเทรุโกะอยู่ชั้นประถมต้น มีครั้งหนึ่งเธอไม่สนใจที่ลูกไม่ทำการบ้าน เพราะคิดว่าเดี๋ยวลูกก็คงโดนคุณครูดุเองแหละ ปรากฏว่าวันถัดมามีหนังสือจากโรงเรียนแจ้งว่า คุณแม่ช่วยกวดขันดูแลการบ้านให้ลูกด้วย คุณเทรุโกะ โซดะเลยอับอายเป็นอย่างมาก

ที่จริงแล้วการบ้านของเด็กประถมต้นก็ถือเป็นการบ้านของพ่อแม่ด้วย… หลังจากนั้นคุณเทรุโกะ ก็แบ่งเวลาเท่าที่จะทำได้มาดูแลลูกทำการบ้าน พอขึ้นชั้นเรียนที่สูงขึ้นลูกก็เริ่มทำการบ้านเองคนเดียวได้ ถ้าทำการบ้านเองได้ก็ดีอยู่หรอก แต่สำหรับเด็กประเภทที่…ถ้าไม่บอกก็ไม่มีทางทำ เมื่อพ่อแม่บ่นก็ยิ่งไม่อยากทำมากขึ้น พอไม่ทำก็จะถูกบ่นตำหนิหนักขึ้นไปอีก กลายเป็นสถานการณ์ที่มีแต่จะแย่ลง

ที่ผ่านมาเคยใช้เทคนิคต่างๆ เพื่อให้ลูกยอมทำการบ้านแบบไม่ต้องทะเลาะกัน เช่น ซื้ออุปกรณ์เครื่องเขียนน่ารักๆ ให้ใช้ เขียนโน้ตบอกให้ลูกทำการบ้าน แปะแผ่นข้อความชวนลูกมาทำการบ้านไว้ที่ผนังบ้าน (แต่ว่าใช้ไปทุกวิธี ก็ใช้ได้ผลครั้งเดียว) คุณเทรุโกะพยายามอย่างมากกลัวว่าถ้าลูกไม่ทำการบ้าน อาจโดนโรงเรียนเรียกไปตำหนิให้พ่อแม่ต้องอับอายอีก

อยู่มาวันหนึ่งลูกตัดพ้อขึ้นมาว่า คุณแม่สนใจการบ้านมากกว่าตัวหนูเสียอีก จึงตระหนักได้ว่าการพยายามเคี่ยวเข็ญลูกให้ทำการบ้านนั้นสำคัญก็จริง แต่สิ่งที่สำคัญมากกว่านั้นคือ “ความรู้สึกของลูก” เมื่อลูกแสดงอาการไม่อยากทำการบ้าน แทนที่จะเอาแต่บังคับคะยั้นคะยอหรือหลอกล่อลูกให้ทำการบ้านให้ได้ น่าจะถามความรู้สึกของเจ้าตัวก่อน ทำไมถึงไม่อยากทำ ลูกๆ อาจมีเหตุผลที่เรานึกไม่ถึงก็ได้… ลองทำแบบนี้ดู

ก่อนจะเอาแต่บ่นจู้จี้หรือบังคับให้ลูกทำการบ้าน คุยกับลูกดูว่าทำไมถึงไม่อยากทำ แล้วค่อยคิดหาวิธีแก้ปัญหาจะดีกว่า

“ถ้ายังทำตัวแบบนี้ ต่อไปอนาคตจะลำบาก”

พูดถึงอนาคตลูกแบบเป็นรูปธรรม อาจช่วยสร้างแรงจูงใจในการเรียนหนังสือให้ลูกได้

ใกล้จะขึ้นชั้นมัธยมแล้วลูกเรายังเอาแต่เล่นเกมอยู่เลย อยากให้เขารู้ตัวและหันมาคิดถึงอนาคตของตัวเองบ้าง แต่ดูเหมือนลูกจะไม่เข้าใจเลยแม้สักนิดเดียว

สอนลูกให้จินตนาการถึงอนาคตไปด้วยกัน คุณเทรุโกะเคยพูดไปว่า “ตั้งใจเรียนหน่อยสิอนาคตจะได้ไม่ลำบาก” ลูกกลับตอบมาว่า หนูไม่รู้หรอกว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร พอลูกตอบมาแบบนั้นจึงทำให้ฉุกคิดขึ้นมาว่า แม้แต่ตัวคุณเทรุโกะเองก็ยังไม่รู้อนาคตลูกว่าจะเป็นอย่างไร แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่รู้อะไรเลย

ยุคสมัยเปลี่ยนแปลงเร็ว อาชีพการงานก็เปลี่ยนไปตามด้วย ความคิดแบบญี่ปุ่นโบราณที่ว่า ถ้าได้ทำงานในบริษัทใหญ่ๆ ก็จะสบายไปตลอดชีวิต หรือถ้าได้บรรจุเป็นข้าราชการก็ไม่ต้องห่วงอะไรแล้ว ในปัจจุบันแนวคิดนี้เริ่มจะใช้ไม่ได้ที่ญี่ปุ่น (อาชีพรับราชการนั้นสอบบรรจุยากมากและมีเงินเดือนที่สูงพอสมควร) ในอนาคตจากนี้ไป ทักษะความสามารถแบบไหนนะ? จะเป็นที่ต้องการของตลาด

ความสามารถหลายๆ อย่าง เช่น ทักษะการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง ความสามารถที่จะมองให้ลึกได้ถึงแก่นแท้ของสิ่งต่างๆ ทักษะการนำเสนอความคิดเห็นของตัวเอง ทักษะในการสื่อสารและภาษาต่างประเทศ ฯลฯ ทั้งหมดทั้งปวงการเรียนนับเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยสร้างทักษะความสามารถเหล่านี้ คุณเทรุโกะเคยคุยกับลูกในเรื่องดังกล่าว แต่ลูกก็ไม่ใส่ใจหรือรับฟังเลย

ในชีวิตที่ผ่านมาเคยนึกเสียใจอยู่หลายครั้งว่า “รู้อย่างนี้ตอนเด็กๆ จะตั้งใจเรียนหนังสือให้มากกว่านี้” หรือ “รู้อย่างนี้ตอนนั้นจะพยายามสอบเข้าโรงเรียนดีๆ ให้ได้” แต่ตัวลูกเองยังไม่เคยผ่านประสบการณ์แบบนั้น เด็กๆ จึงยังไม่เข้าใจเหตุผลว่าทำไมตัวเองถึงต้องเรียนหนังสือ ดังนั้นเมื่อถูกบังคับให้เรียนอย่างหนัก จึงเป็นเรื่องที่ไม่มีใครชอบแน่ๆ

คงไม่มีทางอื่นนอกจากคุณพ่อคุณแม่ต้องอธิบายให้ลูกเข้าใจว่า สิ่งที่กำลังร่ำเรียนอยู่นี้เชื่อมโยงกับลูกอย่างไรในอนาคต และการเรียนหนังสือมีประโยชน์อย่างไร โดยอธิบายให้เป็นรูปธรรม ยกตัวอย่างให้มากที่สุด อาจต้องอธิบายกันหลายครั้งอย่างอดทน เวลานี้ลูกอาจจะรู้สึกรำคาญแต่สักวันลูกจะต้องเข้าใจอย่างแน่นอน… ลองทำแบบนี้ดู

เชื่อมโยงสิ่งที่เรียนในตอนนี้กับอนาคต เช่น ช่วยกันคิดกับลูกว่า ถ้าในอนาคตอยากทำงานเกี่ยวกับเกม ตอนนี้จะต้องเรียนรู้อะไรบ้าง

นี่เป็นเพียงตัวอย่างที่หยิบยกมาจากหนังสือเล่มนี้… ติดตามบทความ “พูดอย่างไร? ให้ลูกอยากเรียน” ใน EP. ต่อไป เร็วๆ นี้

Exit mobile version