พ่อแม่หลายคนมักมีความกังวลเกี่ยวกับการเลี้ยงดูลูกในยุคปัจจุบัน การแข่งขันในด้านการศึกษาที่เข้มข้นและความคาดหวังสูงจากสังคม ทำให้บางครั้งก็รู้สึกว่าต้องเข้มงวดกับลูก ๆ เพื่อให้พวกเขาเติบโตเป็นคนที่ประสบความสำเร็จและมีคุณภาพ แต่คำถามที่หลายคนมักจะถามตัวเองคือ “ทำไมเราต้องเข้มงวดกับลูกขนาดนี้?” การเข้มงวดกับลูกอาจทำให้เกิดความขัดแย้งและความเครียดในครอบครัว ทำให้เกิดความไม่เข้าใจกันระหว่างพ่อแม่และลูก

บทความนี้จะให้พ่อแม่ได้สำรวจเหตุผลที่ตัวเองรู้สึกว่าจำเป็นต้องเข้มงวดกับลูก และผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเข้มงวดนี้ โดยเรียนรู้จากแนวคิดและวิธีการเลี้ยงดูของคุณแม่ชาวญี่ปุ่นจากหนังสือ “พูดอย่างไร? ให้ลูกอยากเรียน (สไตล์คุณแม่ญี่ปุ่น)” เขียนโดย เทรุโกะ โซดะ ซึ่งจะช่วยให้เหล่าพ่อแม่เข้าใจว่าการเลี้ยงดูลูกที่ดีไม่จำเป็นต้องมาจากความเข้มงวดเสมอไป แต่สามารถมาจากการสร้างความสมดุลระหว่างความรักและการสนับสนุนอย่างเหมาะสม

บทเรียนที่ 2
ทำไมต้องเข้มงวดกับลูกขนาดนี้นะ

เลิกทำอะไรไร้สาระและไปอ่านหนังสือได้แล้ว!

พ่อแม่คงคิดว่าเรื่องบางเรื่องดูไร้สาระ แต่สิ่งนั้นอาจเป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับลูก

“ถ้าเขาสนใจอะไรขึ้นมา ก็จะจริงจังและตั้งใจทำจนลืมเวลา ไม่สนใจอ่านหนังสือเรียนเลย อยากให้ลูกเอาความตั้งใจดูการ์ตูนมาใช้กับการอ่านหนังสือเรียนให้ได้สักครึ่งจัง”

หากพ่อแม่เอาแต่ปฏิเสธไม่ยอมรับสิ่งที่ลูกทำ เขาจะไม่เชื่อฟังใครอีกต่อไป คุณเทรุโกะเคยลองถามลูกสาวของเธอที่ไม่ยอมอ่านหนังสือเรียนเลย วัน ๆ เอาแต่นั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ว่า… “ถ้าแม่ขอให้เลิกทำตัวไร้สาระ เลิกเล่นคอมพิวเตอร์ แล้วไปอ่านหนังสือเรียน ลูกจะว่ายังไง” ลูกสาวเธอตอบกลับมาอย่างที่คุณเทรุโกะคิดไม่ถึงเลยว่า “อ่านหนังสือเรียนหรอ ก็กำลังทำอยู่นี่ไงคะ” แถมบอกต่ออีกคำว่า “อ่านหนังสือของคุณแม่ที่หมายถึงการนั่งท่องจำหนังสือเรียนที่โต๊ะ เพื่อที่จะสอบได้คะแนนดี ๆ ใช่ไหมคะ? แต่สำหรับหนูแล้วมันไม่ใช่ค่ะ” การได้ใช้คอมพิวเตอร์เพื่อสร้างสรรค์ผลงานต่าง ๆ เช่น แต่งเพลง วาดรูป ก็เป็นการได้เรียนรู้ในอีกรูปแบบหนึ่ง

ซึ่งก็จริงตามที่ลูกบอก สิ่งที่เขามุ่งมั่นทำแบบไม่ลืมหูลืมตาด้วยความลุ่มหลงนั้น มักมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเรียนอยู่บ้างไม่มากก็น้อย เช่น ลูกสาวของคุณเทรุโกะที่ชอบอยู่กับคอมพิวเตอร์ หากเขาได้เรียนรู้ไปเรื่อย ๆ อาจมีส่วนช่วยด้านวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์อย่างแน่นอน ถ้าเด็ก ๆ ได้รับรู้เรื่องนี้ก็คงมีความตั้งใจเพิ่มขึ้นอีกมากแน่ ๆ

หากคุณพ่อคุณแม่เปิดใจว่า… การศึกษาหรือการเรียนรู้มีหลากหลายวิธี นอกจากการเรียนรู้จากตำราหรือในห้องเรียนที่เราเองมักคิดว่าจะช่วยลูก ๆ ให้ได้คะแนนสอบที่สูงขึ้น หรือมีผลการเรียนที่ดีขึ้นนั้น เป็นเรื่องไร้สาระไปหมดแล้ว ก็จะเป็นการทำลายโอกาสในการเรียนรู้หลาย ๆ อย่างของพวกเขา

ถ้าคุณพ่อคุณแม่ยังคงคิดว่า… หากมัวแต่ใจเย็นปล่อยเลยตามเลยไปแบบนั้นคงไม่ได้ ก็ยังอยากให้ลูก ๆ สนใจผลการเรียนของตัวเองในปัจจุบันให้มากขึ้นด้วย ทำให้บางครั้งก็อดจู้จี้จุกจิกกับลูกไม่ได้ แต่ขอให้อดทนไว้บ้าง ไม่ว่าใครก็ไม่ชอบการถูกบีบบังคับหรือโดนห้ามทำไปเสียทุกอย่าง คุณเทรุโกะได้ให้คำแนะนำไว้ว่า… ให้คุณพ่อคุณแม่ลองเริ่มต้นจากการหาวิธีทำความรู้จักลูกมากขึ้น เพื่อเข้าใจเหตุผล ที่มาที่ไป และฝึกยอมรับสิ่งในที่ลูกชอบ

หน้าที่ของผู้เป็นพ่อแม่ คือ การอธิบายอย่างใจเย็นให้ลูกเข้าใจว่า… กิจกรรมที่เขาชื่นชอบนั้นเชื่อมโยงกับการเรียน วิชาหรืออาชีพใดได้บ้าง รวมถึงการชี้แนะอย่างอดทนเพื่อให้ลูกเข้าใจ ว่าผลการเรียนของเขามีส่วนสำคัญในการเพิ่มทางเลือกชีวิตของเขาในอนาคตอย่างไร… ลองทำแบบนี้ดู

อย่าห้ามสิ่งที่ลูกชอบหรือกิจกรรมที่เขาอยากทำ ทำใจยอมรับว่ากิจกรรมทุกอย่างนั้นเกี่ยวข้องกับการเรียนได้ทั้งนั้น

เฮ้อ…

การถอนหายใจแม้จะเป็นแค่เสียงที่ไร้คำพูด แต่มีพลังกดดันลูกยิ่งกว่า คำบ่น คำตำหนิ

“ดูผลสอบของลูกทีไร ต้องถอนหายใจออกมาอยู่เรื่อย ก็รู้ว่าไม่ควรทำ แต่เผลอทีไรก็หลุดถอนหายใจไปทุกที”
“เราเผลอกดดันลูกโดยไม่รู้ตัวหรือเปล่า รู้ว่าไม่ควรคาดหวังอะไรกับลูกมากนัก แต่ในใจลึก ๆ ก็อดหวังให้เกิดปาฏิหาริย์ไม่ได้ เฮ้อ…”

เข้าใจดีว่า… ความรู้สึกที่อยากถอนหายใจออกมาแรง ๆ เพราะผิดหวังเมื่อเห็นผลการเรียนในสมุดพกของลูก โดยคุณเทรุโกะให้คำแนะนำไว้ว่า… ถ้าเป็นไปได้ไม่ควรถอนหายใจให้ลูกเห็น เพราะเธอเคยทดลองถอนหายใจให้ลูกสาวเห็น และลูกสาวถามเธอกลับมาด้วยความเป็นห่วงทันทีว่า… “แม่เป็นอะไรคะ? ไม่สบายหรือเปล่า”

เมื่อคนอื่นเห็นเราถอนหายใจ แม้ว่าเราจะไม่ได้พูดอะไรออกมา แต่คนที่เห็นก็รับรู้ได้ในทันทีและมักจะคิดว่า… ต้องมีอะไรที่ไม่ดีเกิดขึ้น แต่เมื่อเด็ก ๆ เห็นพ่อแม่ถอนหายใจ แม้ว่าจะไม่ได้พูดอะไรออกมา พวกเขาก็อาจจะรู้สึกแย่และเสียใจที่เป็นต้นเหตุให้พ่อแม่ผิดหวังได้

การทำให้พ่อแม่ผิดหวังเป็นเรื่องที่ทำให้เด็กเสียใจ กลัวการถูกทอดทิ้ง กลัวไม่มีใครสนใจใยดี เพื่อไม่ให้ถูกทอดทิ้ง เด็ก ๆ อาจจะเกิดความรู้สึกอยากจะมุ่งมั่นตั้งอกตั้งใจเรียนมากขึ้น แต่ความมุ่งมั่นแบบนี้มักจะมีพื้นฐานมาจากความกลัวไม่อยากให้พ่อแม่ถอนหายใจใส่อีก แต่ไม่ได้เกิดจากความต้องการของเด็ก ๆ เองที่อยากได้คะแนนสอบดี ๆ

คุณพ่อคุณแม่ คือ ทุกสิ่งทุกอย่างของลูก เด็ก ๆ จะใช้ชีวิตต่อไปไม่ได้ถ้าไม่มีพ่อแม่ หรืออาจจะกล่าวได้ว่าพ่อแม่เป็นผู้คุมชีวิตของลูก แม้ว่าจะไม่มีเจตนาจะกดดันอะไรลูกก็ตาม แต่การที่ถอนหายใจใส่ลูก ๆ ก็เป็นแรงกดดันในระดับหนึ่ง แน่นอนว่าหน้าที่ของพ่อแม่ คือ การช่วยกระตุ้นลูกให้เกิดความมุ่งมั่นขึ้นบ้างในเวลาที่จำเป็น แต่การเอาแต่ถอนหายใจใส่ลูกทุกครั้งที่เห็นคะแนนในสมุดพก คงไม่เป็นการดีแน่ ถ้าเด็ก ๆ ถูกกดดันแบบนี้ติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ จิตใจของเขาอาจสั่นคลอน หรือมีแนวโน้มจะเป็นเด็กที่เครียด คิดมากก็เป็นได้… ลองทำแบบนี้

หันมาทบทวนตัวเองดูว่า เรากำลังเผลอกดดันลูกโดยไม่ได้ตั้งใจอยู่หรือเปล่า

เดี๋ยวแม่คุยกับคุณครูเอง

ไม่ควรก้าวก่ายเข้าไปยุ่งเรื่องที่โรงเรียนมากเกินไป ควรจัดการแบบพอเหมาะ

“คุณครูให้การบ้านลูกเยอะมาก ถึงขั้นนั่งทำถึง 4 ทุ่มทุกคืนก็ยังไม่เสร็จ เลยว่าจะไปร้องเรียนกับที่โรงเรียนน่าจะดี”

คุณเทรุโกะเคยคิดว่าจะไปร้องเรียนเรื่องคล้าย ๆ กันนี้กับโรงเรียนของลูกสาวเธอ เพราะว่ามีอยู่ช่วงหนึ่งที่คุณครูให้การบ้านลูกสาวเยอะมาก แต่ละวันใช้เวลาทำการบ้านไม่ต่ำกว่า 2 ชั่วโมงเลยทีเดียว ซึ่งเธอโมโหมาก เพราะไม่รู้ว่าคุณครูมีเจตนาอะไรถึงให้การบ้านเยอะขนาดนี้ ทำเอาลูกสาวของเธอนอนดึกทุกวัน แต่… จะให้โทรศัพท์ไปหาคุณครูแล้วถามว่าคิดอะไรอยู่? ทำไมถึงให้การบ้านเด็กเยอะขนาดนี้? พูดแบบขวานผ่าซากก็ดูจะเสียมารยาท สิ่งที่คุณเทรุโกะอยากร้องเรียนกับโรงเรียนอาจไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร แต่หากเกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน อาจทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างบ้านกับโรงเรียนไม่ราบรื่นได้

หากพ่อแม่พยายามก้าวก่ายเข้าไปแก้ปัญหาที่โรงเรียนแทนลูกบ่อย ๆ เด็ก ๆ จะไม่รู้จักแก้ปัญหาด้วยตัวเอง แถมยังรู้สึกว่าตัวเองไม่มีความสามารถหรือประเมินปัญหาอะไรได้เองด้วย ถึงอย่างไรก็ตาม ในเวลาที่จำเป็นจริง ๆ พ่อแม่ก็ไม่ต้องกลัวหากจะแสดงความคิดเห็นหรือสอบถามกับทางโรงเรียน

เทคนิคในการปรึกษากับทางโรงเรียนของลูก คือ ถอยหลังสักหนึ่งก้าวและคิดถึง 2 สิ่งสำคัญที่จะช่วยให้การสื่อสารดีขึ้น คือ
1. คุณครูมีงานยุ่งจนล้นมือ
2. คุณครูเป็นผู้เชี่ยววชาญการสอนเด็ก

เมื่อใดก็ตามที่พ่อแม่ต้องประสบปัญหาของลูกก็มักจะใช้อารมณ์ในการสื่อสารและมีอคติต่อฝ่ายตรงข้าม ซึ่งอาจส่งผลต่อการตัดสินใจที่ไม่ถูกต้อง สุดท้ายแล้ว ณ ตอนนั้นคุณเทรุโกะก็ไม่ได้ไปร้องเรียนทางโรงเรียนโดยตรง แต่ใช้วิธีเขียนข้อสงสัยเรื่องการบ้านที่เยอะในสมุดบันทึกการเรียนแล้วส่งให้คุณครูแทน

หลังจากนั้นคุณครูรีบส่งคำตอบกลับมาว่า… ที่ให้การบ้านไปเยอะ เพราะเห็นว่าเป็นเด็กฉลาด เกรงว่าการบ้านที่ให้ปกติอาจไม่เพียงพอสำหรับเจ้าตัวจึงให้เพิ่มเป็นของแถม ซึ่งการบ้านในส่วนนั้นจะทำส่งหรือไม่ก็ได้ แต่ลูกสาวของเธอเข้าใจว่าต้องทำส่งครูทั้งหมด

หลังจากนั้นคุณครูก็บอกเรื่องนี้กับลูกสาวของคุณเทรุโกะโดยตรง (พร้อมคำชมที่พยายามและมีความตั้งใจดีมาก) เรื่องนี้ก็จบลงด้วยดี… ลองทำแบบนี้ดู

พ่อแม่ควรพูดคุยกับทางโรงเรียนเท่าที่จำเป็น โดยไม่ก้าวก่ายเกินไป

อีกหนึ่งตัวอย่างที่หยิบยกมาจากหนังสือเล่มนี้… ติดตามบทความ “พูดอย่างไร? ให้ลูกอยากเรียน” ใน EP. ต่อไป เร็วๆ นี้