วัยรุ่นเขาตื่นเช้าขึ้นมาด้วยความคิดหรือความรู้สึกแบบไหนกันนะ?
จริงหรือไม่ที่เขาว่ากันว่าวัยรุ่นในปัจจุบันจำนวนมากตื่นขึ้นมากับความคิดว่า “เราไม่เอาไหน” “เราไม่สวย” “เราไม่โอเค” หรือตื่นมาด้วยความรู้สึกเบื่อ เซ็ง เหงา โกรธ เครียด เป็นต้น คุณเป็นคนหนึ่งที่กำลังคิดหรือรู้สึกอะไรทำนองนี้ไหม? หรือถ้าไม่ใช่ แล้วคุณตื่นขึ้นมาด้วยความคิด ความรู้สึกแบบไหนนะ? หรือที่น่ากังวลที่สุดคือการที่เราไม่เคยสังเกตความคิดและความรู้สึกที่เกิดขึ้นเลย พอรู้ตัวอีกทีอะไรๆ ก็อาจจะสายเกินไปหรือสายเกินแก้เสียแล้ว
คงจะดีมาก ถ้าเวลาที่เรามีความคิดมากมายชวนให้รู้สึกว้าวุ่นใจ สับสน ไม่มั่นคงในตัวเอง หรือไม่มีคำตอบ แล้วเรารู้เท่าทันความคิดความรู้สึกเหล่านั้นและสามารถก้าวผ่านไปได้ด้วยตัวเอง และก็คงจะดีไม่น้อย ถ้ามีใครสักคนที่เราไว้วางใจสามารถชี้ให้เห็นว่าตอนนี้กำลังเกิดอะไรขึ้นกับเรา และหน้าที่ของวัยรุ่นอย่างเราคืออะไร
สำหรับบทความนี้ได้คัดเลือกข้อความจากหนังสือที่ทำให้รู้สึกว่าช่วงเป็นวัยรุ่นถ้าได้อ่านข้อความเหล่านี้คงจะได้กำลังใจมากทีเดียว ซึ่งจะขอเรียกว่า “จดหมายรัก” บางทีสิ่งนี้อาจจะช่วยให้เราได้พบศักยภาพที่แท้จริงหรือความจริงแท้ในตัวเองก็ได้
จดหมายรักฉบับที่ 1
จากคุณตาถึงหลานสาว
“…จริงหรือที่เราทุกคนได้รับของขวัญแห่งการเป็นตัวเองมาตั้งแต่เกิด และตัวเรามีฐานะเป็นของขวัญอันมีค่า ขอให้ลองสังเกตเด็กทารกหรือเด็กเล็กๆ ดู เมื่อไม่กี่ปีก่อนลูกสาวและหลานสาวของผมซึ่งเพิ่งเกิดได้ไม่นาน ได้มาพักอาศัยกับผมอยู่ช่วงเวลาหนึ่ง การเฝ้าดูหลานสาวตั้งแต่วันแรกๆ ที่เธอเกิดมา ทำให้ผมในวัยห้าสิบต้นๆ มองเห็นสิ่งที่ผมไม่เคยเห็นสมัยที่เป็นพ่อคนใหม่ๆ ในช่วงวัยยี่สิบ นั่นคือ หลานสาวของผมเกิดมาในโลกนี้เพื่อเป็นบุคคลอย่างที่เธอเป็น ไม่ใช่เป็นแบบคนนั้น คนโน้น หรือคนไหนๆ เธอไม่ได้แสดงตัวว่าเป็นวัตถุดิบที่จะเปลี่ยนแปลงไปเป็นคนตามแบบใดๆ ที่โลกต้องการให้เธอเป็น เธอเกิดมาในแบบที่เธอเป็นอยู่แล้ว…
ตั้งแต่หลานสาวผมยังเป็นเด็กทารก ผมเริ่มสังเกตว่าเธอมีความโน้มเอียงอย่างไรบ้างตั้งแต่เกิด ผมคอยสังเกตและบันทึกว่าอะไรที่เธอชอบ และอะไรที่ไม่ชอบ อะไรที่ดึงดูดเธอ และอะไรที่เธอถอยหนี ผมเฝ้าสังเกตลักษณะการเคลื่อนไหวของเธอ สิ่งที่เธอทำ และสิ่งที่เธอพูด
ผมกำลังรวบรวมบันทึกการสังเกตของผมลงในจดหมาย เมื่อหลานสาวเติบโตเป็นวัยรุ่น ผมจะมอบจดหมายนี้ให้เธอได้อ่าน ซึ่งจะมีคำนำในทำนองว่า ‘นี่คือภาพโดยคร่าวๆ ว่าหลานเป็นใครตั้งแต่วันแรกที่เกิดมาบนโลก มันไม่ใช่ภาพที่มีรายละเอียดชัดเจนเพราะภาพนั้นจะมีแค่หลานคนเดียวที่จะเป็นผู้เขียนมันได้ แต่นี่คือภาพโดยคร่าวๆ ที่คนซึ่งรักหลานอย่างมากได้มองเห็น บางทีบันทึกนี้จะช่วยให้หลานไม่ต้องรอนานกว่าจะได้ทำในสิ่งซึ่งคุณตาต้องใช้เวลานานกว่าจะได้เริ่มทำ นั่นคือ การได้ระลึกว่าเราเป็นใครตั้งแต่แรกเกิดมาและตอบรับต่อของขวัญของการเป็นตัวตนที่แท้จริง’ … (ส่วนหนึ่งจากหนังสือเสียงเพรียกแห่งชีวิต)
จดหมายรักฉบับที่ 2
จากพ่อถึงลูกชาย
“…นักเรียนมัธยมต้นถึงมัธยมปลายมักได้รับการปลูกฝังว่า แค่เรียนให้เก่งก็พอ แต่พอเข้ามหาวิทยาลัยกลับต้องเจอปัญหาชีวิตในฐานะผู้ใหญ่จริงๆ
…ในวัยนี้จะมีชีวิตแบบอื่นไม่ได้นอกจากต้องทนทุกข์ใจแบบนี้ ก่อนสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ทุกคนต้องทนเรียนหนัก พ่อแม่ผู้เคยเคร่งครัดดูผ่อนปรนขึ้นเล็กน้อย ทั้งที่นึกว่ามหาวิทยาลัยคือเส้นชัยของชีวิตมาตลอด แต่พอได้เข้าเรียนจริงๆ ก็รู้ว่าไม่ใช่ คนหนุ่มสาวที่อยู่ในช่วงวัยนี้แม้จะเหนื่อย ท้อใจ และลำบาก ก็อย่าตั้งใจเรียนหรือสะสมผลงานเพียงอย่างเดียว…ผมอยากให้คุณได้สัมผัสชีวิตหลากหลาย ไม่ใช่ประกาศนียบัตร แต่เป็นประสบการณ์ที่ก่อให้เกิดปัญญา วัย 20 เป็นวัยที่ต้องเรียนรู้คน เรียนรู้สังคม และต้องเรียนรู้ชีวิต ผมขอให้คุณนักศึกษาที่มีไฟฝันพุ่งทะยานไปสู่โลกกว้าง กล้าทดลองทำสิ่งต่างๆ เพื่อรับการเรียนรู้ที่ยิ่งใหญ่ ถึงแม้จะยังไม่แน่ใจว่าฉันเป็นใคร มีเป้าหมายอะไร จะว่าไปคนส่วนใหญ่ก็ยังไม่รู้กันทั้งนั้น แต่ก็อยากให้รู้สึกชีวิตนั้นท้าทายอยู่ตลอด อยากให้โอบกอดความปรารถนาที่ร้อนระอุ มีฝันที่งดงามเป็นประกายไปตลอดชีวิต ถ้าคุณไม่รู้ว่าคุณจะไปที่ไหน…ก็แค่ไป
สิ่งที่เลวร้ายกว่าการทำผิดคือการไม่ได้ลงมือทำอะไรเลย ถ้าเรือจอดอยู่ที่ท่าเรืออาจจะปลอดภัยที่สุด แต่เรือไม่ได้ถูกสร้างมาเพื่อให้ถูกจอดเฉยๆ เรือจะมีคุณค่าเมื่อได้เผชิญออกสู่คลื่นลม เช่นเดียวกันแม้จะมีประตูมากมาย แต่ถ้าไม่ได้เปิดออกเลย ประตูเหล่านั้นก็ไม่ต่างไปจากผนัง จงเปิดประตูเหล่านั้นออก จงให้โอกาสแห่งวัยหนุ่มสาวลองผิดลองถูกดู ลูกชายที่รักของพ่อ พ่อเขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นเพราะเสียใจต่อวัย 20 ของตัวเอง ไม่ได้เสียใจที่ตอนนั้นใช้ชีวิตมุ่งมั่นน้อยเกินไปหรือเสียดายที่ไม่ได้เลือกอาชีพอื่น ถ้ามีโทรศัพท์ที่สามารถโทรกลับไปหาอดีตของตัวเองได้ พ่ออยากโทรไปบอกกับตัวเองในวัย 20 ว่า…วัยรุ่นคือความเจ็บปวด ดังนั้นอย่าหวั่นไหว จงยอมรับความทรมานอย่างเข้มแข็ง ความเจ็บปวดนี้ภายหลังจะกลายเป็นเชื้อเพลิงให้ชีวิตเราลุกโชติช่วงขึ้น…” (ตอนจบของหนังสือเพราะเป็นวัยรุ่นจึงเจ็บปวด)
การได้รู้จักและเข้าใจตัวเองตั้งแต่เนิ่นๆ จึงถือเป็นความโชคดีมาก เพราะช่วงวัยรุ่นเป็นวัยที่เต็มเปี่ยมไปด้วยพลัง มีทั้งสมอง ทั้งสองมือ มีความฝันที่สวยงาม และมีเวลาได้ทดลองเดินตามหัวใจในวันที่ความรับผิดชอบยังไม่มากเมื่อเปรียบเทียบกับวัยผู้ใหญ่ที่รออยู่ข้างหน้า ดังนั้นการฝึกสังเกตความคิดและความรู้สึกที่เกิดขึ้น ให้เวลาตัวเองได้เรียนรู้ว่าอะไรที่เราชอบและทำได้ดี ผ่านประสบการณ์จากการลงมือทำนั้นเป็นสิ่งหนึ่งที่จะช่วยให้วัยรุ่นรู้จักและเข้าใจตัวเอง สามารถกำหนดเป้าหมายชีวิตด้วยตัวเอง และประคับประคองตนให้ผ่านวัยนี้ไปได้อย่างงดงามและกล้าหาญ
แน่นอนว่าชีวิตนั้นไม่ได้ราบรื่นตลอดเวลา เมื่อใดก็ตามที่ความท้าทายน้อยใหญ่เข้ามาทักทายเรา ขอให้ระลึกว่านั่นคือจดหมายรักรูปแบบหนึ่งที่ชีวิตเขียนถึงเราเช่นกัน เพราะบ่อยครั้งการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีจะเกิดขึ้นได้ ต้องอาศัยความทุกข์เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ ดังนั้นขอให้ความทุกข์ที่เกิดขึ้นเป็นเหมือนจดหมายรักที่สะกิดใจให้กลับมาสำรวจตัวเองอีกครั้ง แล้วก้าวต่อไปครั้งแล้วครั้งเล่า ขัดเกลาให้เราได้เป็นคนที่ทั้งเข้มแข็งและอ่อนโยนยิ่งขึ้น จนกว่าวันที่ได้ค้นพบศักยภาพในตัวเองและตัวตนที่แท้จริง
ข้อมูลอ้างอิง :
– หนังสือเสียงเพรียกแห่งชีวิต Let your life speak โดย Parker J. Palmer
– Mission to the moon podcast EP 536 ตอนสุดท้ายของเพราะเป็นวัยรุ่นจึงเจ็บปวด
ผู้เขียน : พี่กุหลาบหนูสีชมพู
#อาสาเขียนบทความ