ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน “ปัญหาอาหารกลางวันเด็ก” ก็ยังอยู่และไม่เคยหายไป เราอาจเคยได้ยินการพูดถึงเรื่องนี้บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทุจริตค่าอาหารกลางวัน งบประมาณที่ไม่เพียงพอ หรือเด็กรับประทานอาหารที่ไม่มีคุณภาพและไม่เหมาะสม

“You Are What You Eat” กินอะไรเข้าไป คุณก็เป็นอย่างนั้น แล้วถ้าเด็กๆ ที่เป็นอนาคตของชาติ ในวัยกำลังเจริญเติบโต แต่ไม่ได้รับประทานอาหารที่ดี มีประโยชน์ สารอาหารครบถ้วนเหมาะสมในสิ่งที่ควรได้รับจะเกิดอะไรขึ้น?

ปัจจุบันเด็กทั้งในชนบทและในเมืองบางส่วนไม่ได้รับการดูแลเท่าที่ควร แม้ “อาหาร” จะเป็นหนึ่งในปัจจัย 4 ที่มีค่าสำหรับทุกคน คุณค่าเหล่านี้คือสิ่งที่ประชากรเด็กไทย ช่วงอายุ 6 – 14 ปี หรือราว 2.9 ล้านคน ไม่สามารถเข้าถึงได้ จนต้องเจอกับ “ภาวะทุพโภชนาการ” หรือร่างกายได้รับสารอาหารไม่เหมาะสม ซึ่งอาจจะได้รับน้อยหรือมากกว่าความต้องการของร่างกายจนทำให้เกิดภาวะผิดปกติขึ้น

ปัจจุบันเด็กๆ ในประเทศไทยมีทั้งขาดสารอาหารและได้รับสารอาหารเกิน จนส่งผลให้ร่างกายเตี้ย ผอม และอ้วน เมื่อก่อนเราอาจจะเห็นสัดส่วนเด็กผอมในชนบทเยอะกว่าเด็กอ้วน แต่ปัจจุบันขนมกรุบกรอบ น้ำอัดลมมีวางขายมากขึ้น เด็กในชนบทก็มีภาวะอ้วนเพิ่มขึ้นเช่นกัน ตามหลักโภชนาการเราต้องดูว่าเด็กได้รับสารอาหารเหมาะสมเพียงพอหรือไม่ บางคนอาจจะได้รับโซเดียมจากขนมมากเกินไป หรือหนักไปทางคาร์โบไฮเดรต เช่น กินขนมจีนน้ำเงี้ยวแต่ก็ยังเติมข้าวเข้าไปอีก

คุณมด ธมนวรรณ อั๋นประเสริฐ นักโภชนาการประจำโครงการ FOOD FOR GOOD อธิบาย

เมื่อเข้าสู่วัยเรียนอายุ 6 – 14 ปี ซึ่งเป็นวัยที่กำลังเจริญเติบโต หากไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่เรื่องอาหารก็มีแนวโน้มเกิดภาวะเตี้ย ผอม และอ้วน ซึ่งส่งผลต่อพัฒนาการของเด็ก ทำให้เรียนรู้ช้า สติปัญญาต่ำ ภูมิคุ้มกันโรคต่ำ เจ็บป่วยง่าย มีโอกาสในการเป็นโรคติดต่อเรื้อรังได้ในอนาคต ความเหลื่อมล้ำเหล่านี้ไม่เพียงส่งผลต่อสุขภาพของเด็กๆ ยังนำไปสู่กระทบต่อสังคม เศรษฐกิจ และการพัฒนาประเทศในอนาคต

“สำหรับเด็กๆ เมื่อท้องหิว แน่นอนส่งผลให้ไม่มีสมาธิในการเรียน และหากไม่ได้รับอาหารและสารอาหารในปริมาณที่เหมาะสมกับช่วงวัยของเขา พัฒนาการทางสติปัญญาก็อาจจะช้ากว่าเด็กที่ได้รับสารอาหารครบถ้วน มื้อกลางวันที่โรงเรียนเป็นหลัก เราจึงสนับสนุนให้โรงเรียนดูแลเรื่องการให้ถูกต้อง เหมาะสม ไม่ใช่เด็กอยู่ในภาวะอ้วนแล้วห้ามกินข้าว แต่ควรปรับสัดส่วนของอาหารอย่างไรให้ได้รับคุณค่าสารอาหารเหมาะสม อย่าลืมว่ายังมีอีก 2 มื้อที่บ้าน โรงเรียนต้องทำงานร่วมกับสาธารณสุขในพื้นที่ เช่น โรงเรียนส่งเสริมสุขภาพตำบล ผู้ปกครองและชุมชน เพื่อสามารถแชร์ปัญหาและหาวิธีดูแลร่วมกัน”

ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ด้วยเงินเฟ้อ ทำให้ข้าวของแพงขึ้น รัฐบาลมีงบสนับสนุนค่าอาหารกลางวันให้เด็ก 21 บาทต่อคน คำถามที่ตามมาคือ เพียงพอหรือไม่ เพราะหากกางรายละเอียด ยังมีเงื่อนไขอีกมากมายที่ทำให้แต่ละโรงเรียนอีกมากต้องเผชิญปัญหาที่ซับซ้อนกว่านั้น

ไหนจะงบประมาณค่าขนส่งสูง เนื่องจากอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ปัญหาการจัดเก็บวัตถุดิบ เพราะบางโรงเรียนไม่มีแม้แต่ไฟฟ้า เมื่อไม่สามารถตุนวัตถุดิบสดใหม่ แถมการซื้อในปริมาณน้อยก็ยิ่งราคาสูงตามกลไกตลาด โอกาสที่เด็กๆ จำเป็นต้องรับประทานอาหารแปรรูปที่เก็บตุนได้นานๆ มีมากขึ้น ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีปัญหาเรื่องการขาดองค์ความรู้ที่ถูกต้องในการจัดการอาหารและโภชนาการนักเรียน ส่งผลต่อคุณภาพ คุณค่าทางโภชนาการ และรสชาติของอาหารในถาดหลุมของเด็กๆ

โรงเรียนได้รับงบจัดสรรอาหารกลางวันรายหัว 21 บาท สำหรับเด็กนักเรียน 78 คน ครูก็พยายามจัดสรรให้ได้ตามงบ แต่อาหารที่จัดให้นักเรียนไม่มีความหลากหลาย บางวันมีอาหารแค่อย่างเดียว หรือบางวันเด็กๆ ก็ไม่ได้กินผลไม้ ไม่ได้กินของหวาน เฉลี่ยแล้วจะเป็นแบบนี้ประมาณ 2 วันต่อสัปดาห์ ปัญหาอีกอย่างคือเด็กบางคนอ้วนเพราะก่อนหน้านั้นโรงเรียนไม่มีความรู้ในการจัดอาหารให้ถูกหลักโภชนาการ ในขณะที่เด็กบางคนที่ผู้ปกครองไม่มีเวลาดูแลก็จะผอมแห้ง โดยเฉพาะช่วงปิดเทอม

คำบอกเล่าของ “ครูเจนจิรา ส่อนชัย” โรงเรียนบ้านหนองตูม จังหวัดเลย


แม้ล่าสุดรัฐบาลเตรียมปรับเพิ่มค่าอาหารกลางวันสำหรับเด็กเล็ก – ป.6 ตามขนาดของโรงเรียน ในอัตรา 22 – 36 บาท/คน/วัน ครอบคลุมจำนวนนักเรียนกว่า 5.8 ล้านคน


“ถึงแม้ว่าในปีการศึกษา 2566 จะมีมติจากรัฐบาลให้เพิ่มงบค่าอาหารของนักเรียนตามขนาดโรงเรียน แต่การทำงานของโครงการฯ ตลอดระยะเวลา 9 ปีที่ผ่านมา พบว่าปัญหาส่วนใหญ่คือการขาดองค์ความรู้การบริหารจัดการงบประมาณให้เหมาะสม ทำให้ที่ผ่านมาถึงแม้โรงเรียนจะได้รับงบสนับสนุนค่าอาหารของนักเรียนครบทุกคน แต่รู้สึกว่าอย่างไรก็ไม่พออยู่ดี

โครงการ FOOD FOR GOOD นอกจากจะสนับสนุนงบประมาณเพื่อเติมเต็มค่าอาหาร ได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมองค์ความรู้ให้กับคุณครูและแม่ครัว เพื่อให้พวกเขามีวิธีจัดการงานอาหารในโรงเรียนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น การวางแผนอาหารหมุนเวียน จะช่วยให้รู้ว่าถาดหลุมของเด็กๆ ได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนหรือไม่ในแต่ละวัน ต้องซื้อวัตถุดิบอะไรบ้าง วันไหน ช่วงไหนวัตถุดิบที่ต้องการขาดตลาด จะหาอะไรมาทดแทนให้เหมาะสม จะเห็นได้ว่าการจัดการที่ดีจะสามารถทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดและสามารถลดภาระงานบางอย่างอีกด้วย”

นักโภชนาการประจำโครงการ FOOD FOR GOOD กล่าว


โรงเรียนบ้านหนองตูม จังหวัดเลย เป็นหนึ่งในโรงเรียนที่เข้าร่วมกับโครงการ FOOD FOR GOOD หลังจากที่ได้เข้าร่วมเป็นระยะเวลา 1 ปี ทำให้ทราบถึงวิธีการแก้ปัญหา เพื่อให้เด็กเข้าถึง “โภชนาการ” ที่ดี


“โครงการฯ เข้ามาเติมเต็ม ให้งบสนับสนุนและองค์ความรู้เกี่ยวกับคุณภาพของอาหารที่เหมาะสม เช่น นักเรียนคนหนึ่งต้องรับประทานอาหารที่มีคุณค่าในแต่ละวันอย่างไร เพื่อป้องกันไม่ให้ขาดสารอาหาร หรือได้รับเกินความพอดี นอกจากนี้ยังมีความรู้เรื่องการวางแผนเมนูอาหาร การปรับพฤติกรรมการกินที่ดีของเด็กๆ ดัดแปลงเมนูเพราะเด็กบางคนไม่ชอบกินผัก ครูก็ต้องมีวิธีนำเสนอเมนู เช่น ผัดเปรี้ยวหวานปกติจะหั่นมะเขือเทศแผ่นใหญ่ ครูก็ดัดแปลงหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ เด็กก็ชอบเพราะกินง่ายขึ้น เมื่อมีการประเมินผล ผ่านไป 1ปี นอกเหนือจากเด็กในโรงเรียนมีสุขภาพอยู่ในเกณฑ์ที่ดีขึ้น กินผักได้มากขึ้น เวลาเรียนหนังสือก็เข้าใจง่าย มีสมาธิ เพราะอาหารเป็นมื้อสำคัญ อยากให้ทุกคนตระหนักเรื่องการกินของเด็กมากยิ่งขึ้น”

ครูเจนจิรา กล่าวและอธิบายต่ออีกว่า นอกจากการที่โรงเรียนใส่ใจโภชนาการของเด็กๆ มากขึ้นแล้ว สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือการสร้างการมีส่วนร่วมระหว่าง ผู้ปกครอง และชุมชน


โครงการ FOOD FOR GOOD เป็นตัวเชื่อมระหว่างโรงเรียน ผู้ปกครอง และชุมชน


ที่ผ่านมาก็มีการทำความเข้าใจ สื่อสารกับผู้ปกครองและชุมชนมากขึ้น เพื่อรับรู้ถึงปัญหาและความสำคัญของโภชนาการที่ดีต่อเด็กร่วมกัน มีการแจ้งผลการตรวจเช็คสุขภาพของเด็กให้ทราบ ทำให้ผู้ปกครองรู้ถึงปัญหาเรื่องการกินและสุขภาพของเด็กๆ และให้ความร่วมมือมากขึ้น บางครอบครัวก็นำผักมาช่วยทางโรงเรียนด้วย หรือเมื่อตอนที่คุณครูออกเยี่ยมบ้านนักเรียน ก็มีโอกาสได้ไปพูดคุยกับร้านค้าในชุมชนที่เป็นผู้ปกครองของเด็กๆ ในเรื่องของอาหารหรือการขายขนมขบเคี้ยวที่ไม่มีประโยชน์ เราเองเข้าใจว่าร้านค้าก็ต้องการขายขนม เราก็จะอธิบายถึงผลที่เกิดขึ้นกับเด็กๆ เช่น อาจจะเกิดท้องเสีย ท้องผูก ฟันผุ และสุขภาพที่น่าเป็นห่วงในอนาคต


โครงการ FOOD FOR GOOD ภายใต้มูลนิธิยุวพัฒน์ เชื่อว่าการสนับสนุนเงินกับมื้ออาหารอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ จึงให้ความสำคัญกับการมอบองค์ความรู้ให้เป็นเครื่องมือเพื่อให้โรงเรียนนำไปปรับใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืน มากกว่านั้นการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนยังต้องมาจากความร่วมมือของทุกคนในสังคม


“ผลตอบรับจาก 35 โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการฯ ในปี 2565 สะท้อนว่าจากการทำงานร่วมกับโครงการฯ ต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี ทำให้โรงเรียนสามารถจัดการเรื่องอาหารและดูแลโภชนาการเด็กได้เหมาะสมยิ่งขึ้น ในปีนี้ทางโครงการฯ มองว่าอยากให้ทุกคนในสังคมเห็นว่าเรื่องอาหารเป็นเรื่องใหญ่และส่งผลต่อเรื่องสุขภาพและอนาคตของเด็กรวมไปถึงประเทศชาติด้วย จึงได้วางแผนขยายจำนวนโรงเรียนให้ครอบคลุมพื้นที่กว้างขึ้นและอยากให้ถึงพ่อแม่ผู้ปกครองให้มากขึ้นด้วย เพื่อช่วยกันส่งเสริมเรื่องการปรับพฤติกรรมการกินของเด็กๆ ในฝั่งนโยบายก็ตั้งใจเข้าไปทำงานกับหน่วยงานที่มีวิสัยทัศน์ร่วมกัน เช่น หน่วยงานในกระทรวงศึกษาธิการ กรุงเทพมหานคร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น ท้ายสุดคนในสังคมก็สามารถเข้ามาช่วยกันได้ เช่น การสนับสนุนเงินทุน องค์ความรู้ที่มี หรือเป็นกระบอกเสียงช่วยแชร์ข้อมูลได้เช่นกัน”

สุดท้ายแล้วปัญหาทุพโภชนาการที่เกิดจากอาหารในถาดหลุมของเด็ก จะสามารถแก้ไขอย่างยั่งยืนอาจไม่ใช่หน้าที่ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่ทุกคนในสังคมและทุกภาคส่วนสามารถร่วมมือกันได้ เพราะถ้าเด็กคืออนาคตของชาติ พวกเขาก็ควรอิ่มท้อง ได้รับสารอาหารตามหลักโภชนาการที่ดี เป็นปัญหาใกล้ตัวที่ไม่อาจมองข้ามไปได้เลย