Site icon มูลนิธิยุวพัฒน์

ร้อยพลังการศึกษาชวนครูมาร่วมงาน Teacher Eco-system Workshop

ร้อยพลังการศึกษาชวนครูที่ใช้ระบบเลิร์นเอ็ดฯ (บทเรียนดิจิทัลวิชาคณิตศาสตร์) จำนวน 15 คน มาเข้าร่วมงาน Teacher Eco-system Workshop เพื่อแลกเปลี่ยนวิธีการเรียนการสอนของครูในแต่ละโรงเรียน

เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2561 ณ โรงแรมเอเชีย แอร์พอร์ต จ.ปทุมธานี โครงการร้อยพลังฯ ได้เชิญชวนครูที่ใช้ระบบของเลิร์นเอ็ด ตัวช่วยคุณครูในการสอนวิชาคณิตศาสตร์ในห้องเรียนที่สนุกมากขึ้น โดยคัดเลือกครูที่ร่วม Workshop จากวิธีการจัดการปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นในห้องเรียน คุณครูทั้ง 15 คนมีวิธีจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างไร เพื่อให้การเรียนวิชาคณิตศาสตร์ของนักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ที่ดีขึ้น

Workshop ครั้งนี้ ได้เชิญคุณหนุ่ม – จิรวุฒิ พงษ์โสภณ มาเป็นกระบวนกรในการสร้างกระบวนการเพื่อให้คุณครูได้ร่วมแบ่งปัน พูดและฟังอย่างเข้าใจ ได้ทบทวนตัวเองถึงวิธีการเรียนการสอนที่ผ่านมา การจัด Workshop ครั้งนี้ เพื่อให้ครูได้แลกเปลี่ยนวิธีการเรียนการสอนที่ใช้กับนักเรียน และครูจากต่างโรงเรียน ต่างภูมิภาคก็ได้วิธีการแก้ไขปัญหาใหม่ๆ ไปใช้กับนักเรียนของตัวเองต่อได้

เราได้มีโอกาสพูดคุยกับคุณครูวนิดา เกตุทอง (ครูวิ) จากโรงเรียนวังข่อยวิทยา จังหวัดนครสวรรค์ ถึงเรื่องการใช้เครื่องมือของเลิร์นเอ็ดดูเคชั่น ปัญหาและอุปสรรคที่คุณครูพบเจอในห้องเรียน และการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่คุณครูนำมาแชร์ในวันนี้
คุณครูได้รับอะไรบ้างจากการ Work Shop ครั้งนี้

“Work Shop วันนี้เหมือนเป็นการมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน และเราก็ได้ประสบการณ์จากครูคนอื่นๆ ด้วย ซึ่งเป็นอะไรที่มาสอนกันไม่ได้ บางอย่างสามารถนำไปใช้ได้เลย เราเองก็ไม่ต้องมาคิดว่าจะทำยังไงนะ เวลามีปัญหาขึ้นระหว่างการสอน คือ เราได้เรียนรู้จากครูคนอื่นๆ ที่มาแบ่งปันกันวันนี้ ช่วยเราได้เยอะมากเลยค่ะ พอได้ฟังเรื่องราวจากครูคนอื่นๆ แล้ว เราก็ได้กลับมาทบทวนตัวเอง ว่าครูคนนั้นแก้ปัญหาแบบนี้ แล้วตัวเราเองล่ะลองทำหรือยัง ซึ่งจริงๆ แล้วเราก็ทำได้นะ เราทำอะไรได้อีกเยอะเลยค่ะ”

ปัญหาที่เหมือนกันกับคุณครูโรงเรียนอื่นๆ มีอะไรบ้าง แล้วแต่ละโรงเรียนแก้ปัญหายังไงบ้าง?

“ปัญหาของคุณครูแต่ละโรงเรียนคล้ายๆ กันเลย เช่น เด็กนักเรียนไม่สนใจเรียน ซึ่งเราก็ได้เห็นมุมมองของครูคนอื่นๆ ที่เขาเอามาแชร์ในกลุ่มนะคะ ว่าเด็กไม่สนใจเรียนมาจากปัญหานั่นนี่นู้น หลายข้อ แต่มีครูจากโรงเรียนหนึ่งที่คิดเหมือนเรา ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น เราต้องหันมามองตัวเองว่าที่เด็กไม่สนใจเรียนเป็นเพราะเราหรือเปล่า จริงๆ เราต้องดูที่ตัวเราเองนะ ปัญหาหลักๆ เลย คือ ตัวเรา เราสอนยังไงล่ะ เด็กถึงไม่สนใจ เราสอนยังไงเด็กถึงไม่ตั้งใจเรียน สำหรับครูท่านอื่นที่มาแชร์ก็ใช่ เพราะวิธีแก้มีหลากหลายวิธี แล้วเราก็นำไปปรับใช้ได้กับทุกวิธีที่ทุกคนแชร์กันมา”

วิธีแก้ปัญหาของครูท่านไหนที่คุณครูคิดว่าดี และอยากลองใช้กับนักเรียนที่โรงเรียน

“สิ่งที่เราอยากลองใช้ คือ วิธีที่คุณครูท่านหนึ่งและวิทยากรพูดมา ก็คือ ให้เราหาสาเหตุของปัญหาก่อน เพราะทุกปัญหาจะมีทางแก้ของมันเอง สาเหตุของปัญหาเป็นสิ่งที่เราต้องรู้ก่อนว่าจริงๆ เกิดจากอะไร เราจะได้แก้ปัญหาได้ตรงจุด เช่น เรียนรู้เด็กให้มาก ว่าที่เขาแสดงพฤติกรรมแบบนี้เพราะอะไร  เพราะวิธีนี้น่าจะตรงและใช้ได้กับทุกวิชา ใช้ได้กับเด็กทุกคน เพราะเด็กแต่ละคนต่างกันมาก เราต้องมีวิธีเรียนรู้จากเขาและใช้วิธีเรียนรู้ที่ต่างกันไป ถ้าเรารู้สาเหตุของเด็กแล้ว เรามั่นใจว่าเราจะพาเขาเรียนได้สนุกขึ้นอยู่แล้ว”

ให้ฝากถึงคุณครูท่านอื่นๆ ที่เจอปัญหาเหมือนกับเรา และแนะนำวิธีแก้ไขปัญหาการเรียนการสอน และวิธีการพัฒนาเด็กนักเรียนในโรงเรียน

“การเรียนการสอนของเราเท่าที่คุยกับเด็กๆ มานะคะ ที่เห็นได้ชัดเลย คือ เราต้องไม่เครียดใส่พวกเขา เราต้องให้ความสนุกสนานเกิดขึ้นในห้องเรียน เราต้องทำให้พวกเขาอยากอยู่ในพื้นที่ตรงนั้น พื้นที่การเรียนรู้ พื้นที่การนั่งเรียนของพวกเขา เราต้องไม่เครียด ทั้งหมดทั้งมวลแล้ว ก็คือ การจัดบรรยากาศของครู ต้องทำให้รายวิชาที่ครูสอนน่าเรียน บางทีเราใช้วิธีการคิดแบบนี้ก็ได้นะคะ เด็กเขาไม่ได้เก่งเหมือนกันทุกคน เราเองสอนวิชาคณิตศาสตร์ เด็กทั้งห้องก็ไม่ได้เก่งคณิตศาสตร์ทุกคนนะคะ และพวกเขาก็ไม่ได้นำคณิตศาตร์ไปใช้อะไรเยอะแยะมากมายด้วยซ้ำ เราก็ไม่ต้องไปเอาเป็นเอาตายกับพวกเขา ไปเค้นให้เขาต้องทำได้ แก้โจทย์ได้ทุกข้อ เราสอนให้พอดีกับความสามารถของเขา เพื่อให้เขาไปใช้ต่อได้ในชีวิตประจำวันของเขาเอง การที่เราไปเน้น ไปเค้น ไปใส่ให้เขาเต็มๆ เราเองก็ต้องดูด้วยว่าเขารับได้แค่ไหน ชีวิตจริงเขาเอาไปใช้แค่ไหน และเด็กคนไหนที่เราพอจะรู้จักความสามารถในการเรียนรู้ของเขาแล้ว ว่าเขารับได้แค่นี้ จะให้เขาเรียนหนักไปเพื่ออะไรถ้าเขาไม่ได้เอาไปใช้อะไรเลย”

โครงการร้อยพลังการศึกษาสำหรับคุณครูเป็นอย่างไร

“ก่อนอื่นอยากบอกกับทางโครงการว่า สู้ๆ นะคะ ขอบคุณทุกอย่าง ซึ่งการที่เข้ามาช่วยแก้ไขมันไม่ได้เห็นผลทันที อย่างที่คุณโมนากล่าวไว้ว่า ถ้าเราทำอะไรเหมือนๆ เดิม มันก็ได้ผลเท่าเดิม แต่ถ้าเราเปิดรับสิ่งใหม่ๆ เข้ามาสักหน่อย แม้จะได้ผลแค่นิดเดียว หรือแค่ 1 เปอร์เซนต์ นั่นคือ ได้ มันคือเพิ่มขึ้นแล้ว ถึงแม้ไม่เห็นทันที แต่เราสะสมได้ สะสมไปเรื่อยๆ วันนึงผลจะเกิดขึ้นตามที่เราตั้งใจไว้ คุณครูขอเป็นกำลังใจให้กับทางโครงการร้อยพลังด้วยนะคะ สู้ๆ ต่อไปค่ะ”

ขอขอบคุณคุณครูทุกท่านที่ช่วยกันพัฒนาเยาวชนไทย เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษานะคะ
ติดตามรายละเอียดของโครงการร้อยพลังการศึกษาได้ที่
www.tcfe.or.th | facebook.com/tcfe
Exit mobile version