ก๊อกๆ  “เทคโนโลยี” มาเคาะประตูโรงเรียนแล้ว!!!

เราอาจมีความทรงจำถึง “ครู” คือคนที่ยืนสอนหนังสือโดยใช้เทคนิคแบบเรียบง่ายอยู่หน้ากระดานดำเพียงอย่างเดียว หากมองลึกลงไปถึงคุณค่าของครูแล้ว จะเห็นว่าครูคือ “ห่วงโซ่สำคัญของระบบการศึกษา”

แต่การเป็นครูไม่ใช่เรื่องง่าย ยิ่งโลกมีการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดด ความท้าทายเกิดขึ้นมากมาย โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของ “โควิด-19” ทำให้ “วงการการศึกษา” ต้องปรับตัวครั้งใหญ่ การเรียนรู้เปลี่ยนผ่านจากออฟไลน์สู่ออนไลน์มากขึ้น เผยให้เห็นช่องโหว่แห่ง “ความเหลื่อมล้ำ” ในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ “เด็กหลุดจากระบบ” เหมือนใบไม้ร่วง แต่คนแรกที่ต้องไม่หลุดจากระบบก็คือครู

ครูต้องปรับตัวให้ทันยุคสมัย มองผลลัพธ์การเรียนรู้แนวใหม่ที่เหมาะกับเด็กและโลกยุคใหม่ พร้อมติดอาวุธเทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนสำคัญในการเรียนการสอน เพื่อเตรียมเหล่า “เจเนอเรชั่นใหม่” ให้พร้อมอยู่เสมอ เพราะเด็กๆ คืออนาคตประเทศ

จะสอนแบบเดิมไม่ได้แล้ว…

นี่คือมุมมองที่เปลี่ยนไปของ “ครูอรวรรณ  ใสโยธา” โรงเรียนศรีโคตรบูรณ์ จ.นครพนม หลังจากได้ใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์สอนภาษาอังกฤษ “วินเนอร์อิงลิช (Winner English)” หนึ่งในเครื่องมือของ “โครงการร้อยพลังการศึกษา”

ครูอรวรรณมองว่าโปรแกรมนี้ช่วยลดภาระไปได้มาก ทำให้ครูได้เรียนรู้การใช้เทคโนโลยี ก้าวข้ามคำว่า “ครูรุ่นเก่า”

“เป็นครูรุ่นเก่า  ไม่เก่งเทคโนโลยีเลย แต่พอมีวินเนอร์อิงลิชเข้ามาก็ช่วยให้ได้เรียนรู้เทคโนโลยีไปด้วย สะดวกสบายขึ้น ลดภาระได้มาก เช่น การสร้างเเบบทดสอบก่อนเรียน หลังเรียน การบริหารห้องเรียน สำคัญคือกระตุ้นให้เด็กสนใจ การเรียนก็ดีขึ้นด้วย และที่ดีใจคือได้รางวัลเหรียญทองจากการอ้างอิงและนำหลักสูตรของวินเนอร์มาปรับใช้ในการผลิตสื่อนวัตกรรมส่งเข้าประกวดในระดับสหวิทยาเขตด้วย”

“แต่สิ่งที่น่าภูมิใจมากกว่าความสำเร็จของตัวเอง คือ การได้เห็นลูกศิษย์ สนใจภาษาอังกฤษมากขึ้น เปิดโลกกว้างให้เข้าถึงการใช้เทคโนโลยี มีความรู้หลายมิติ สนุก ตื่นเต้น และไม่จำเจ”

หลุมพรางที่สกัดการเปลี่ยนแปลง นั่นก็คือ ความรู้เดิมที่บล็อกความกล้าที่จะเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ไม่คุ้นเคย  เมื่อยอมรับว่าไม่รู้ ทุกอย่างจะเริ่มเปลี่ยนแปลง

“เทคโนโลยีไปไกลมากจริงๆ ต้องตามให้ทัน ต้องยอมรับว่าเราไม่รู้ แล้วพยายามพัฒนา หาความรู้เพิ่มเติม ถ้าทำได้ลูกศิษย์ก็จะได้ด้วย อย่าท้อ ต้องให้กำลังใจตัวเอง ทดลอง ปรับปรุง ปรับตัวไปเรื่อยๆ แล้วเราจะรู้จักตัวเองมากขึ้น ไม่เป็นภาระคนอื่น ทำตามเป้าหมายที่ต้องเป็นครูคุณภาพในโลกยุคใหม่”

นักเรียนเป็นแรงผลักดันชั้นดี…

เมื่อเห็นว่าเด็กได้ประโยชน์ ครูก็มีแรงฮึดสู้ทำเพื่อเด็กๆ เรียนรู้สิ่งใหม่ มองมุมบวกมากกว่าเป็นลบ นี่คือสิ่งที่ทำให้ “ครูผิวผ่อง ปัญญารัตน์” โรงเรียนบ้านสะเมิงพิทยาคม จ.เชียงใหม่ ซึ่งใช้เครื่องมือ Learn Education หลักสูตรห้องเรียนดิจิทัลวิชาวิทย์- คณิต ม.ต้น พยายามใช้ความสามารถและความตั้งใจปรับให้เนื้อหาของ Learn Education เข้าไปผสมผสานกับเนื้อหาที่สอนอย่างลงตัว  และพัฒนาตัวเองให้ทันเทคโนโลยีตลอดเวลา

“ก่อนหน้าที่ยังไม่มี Learn Education ก็สอนธรรมดา บรรยายหน้าชั้นเรียน ให้เด็กออกมาทำเเบบฝึกหัดช่วยกัน ช่วงแรกที่เริ่มใช้ก็กังวลเพราะไม่เก่งเรื่องเทคโนโลยี แต่ลองผิดลองถูก จนเริ่มใช้เป็นก็สะดวก เด็กเก่งได้ต่อยอด เข้าไปกดดูเนื้อหาที่ยากขึ้นตามความสามารถของเขาและครูก็ได้ใช้เวลานี้ ไปดูแลนักเรียนคนอื่นที่ยังไม่เข้าใจ”

การเรียนการสอนในห้องเรียนด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาไปเรื่อยๆ แม้สะดุดบ้าง เพราะการเรียนออนไลน์ไม่ได้ง่าย

“ช่วงแรกก็ทุลักทุเลเหมือนกัน เพราะการเรียนออนไลน์ช่วยได้เฉพาะเด็กที่สนใจจริงๆ ต้องมีอุปกรณ์ มีอินเตอร์เน็ต รวมทั้งความรับผิดชอบของเด็กด้วย เเต่เท่าที่สอน เวลาให้เด็กๆ ใช้หลักสูตรเลิร์นก็สามารถ คุยโต้ตอบ มีความเข้าใจมากขึ้น”

ครูผิวผ่อง มองว่าการปรับตัวของครูต้องใช้ความพยายาม แล้วจะเจอทิศทางที่ถูกต้อง ความยาก ความท้าทาย คือจะทำอย่างไรให้ก้าวทันเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดด และการปรับตัวในการพลิกโฉมกระบวนการเรียนการสอน และการใช้เครื่องมือที่เหมาะสมในห้องเรียน ให้กับเด็กๆ นี่ถือเป็นเรื่องสำคัญ

เคล็ดลับของครู คือ เรียนรู้ไปพร้อมกับเด็กๆ ทำไปทีละเล็กละน้อย ปรับตัวไปเรื่อยๆ เราต้องเป็นแบบอย่างให้กับพวกเขา รักในการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา เมื่อเราเข้าใจ เก่งขึ้น สิ่งนี้จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกศิษย์ แต่ถ้าครูไม่ใช้เทคโนโลยีเลย ความเชื่อมั่นที่มีต่อครูก็จะน้อยลง

หลายคนพูดถึงโลกที่ต้องอยู่กับโควิดให้ได้ว่า เด็ก ๆ จะเติบโตอย่างไรต่อไปจากนี้ ถ้าโลกยังต้องการระยะห่างทางสังคมและเรียนออนไลน์  ทั้งครูอรวรรณและครูผิวผ่อง เห็นเหมือนกันว่า โควิดเป็นตัวเร่งการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ให้เกิดขึ้น

“ถ้าโควิดลากยาว ทำให้ต้องเรียนออนไลน์ทั้งครูและนักเรียน ถ้าใครตามไม่ทัน ไม่สนใจ ก็จะหลุดระบบ เพราะไม่สามารถเรียนรู้การใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์ได้”

สุดท้ายแล้ว ใช่ว่าเทคโนโลยีจะมาแทนที่ครู แต่หมายความคือ ครูจะใช้การสอนอย่างไรให้ตอบโจทย์ โดยใช้เทคนิคการสอนของตัวเองร่วมกับการใช้เทคโนโลยี เช่นเดียวกับความตั้งใจของ “โครงการร้อยพลังการศึกษา” ที่ต้องการลดความเหลื่อมล้ำด้วยการ “พัฒนาคุณภาพทางการศึกษา” จากการใช้เครื่องมือต่างๆ ในโครงการฯ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับเด็กๆ  เสริมสร้างทักษะการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพของพวกเขาอย่างเต็มที่ไปสู่การเป็นอนาคตของชาติต่อไป

โรงเรียนที่สนใจเข้าร่วมโครงการ
ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่
โทร : 02 301 1080 หรือ 02 301 1143
อีเมล : ybf@ybf.premier.co.th

เปิดทำการ วันจันทร์ – วันศุกร์ เวลา 08.00 – 17.00 น.
(หยุดเสาร์ – อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์)