25 สิงหาคม 2536 เป็นวันที่ “มูลนิธิยุวพัฒน์” กำเนิดขึ้น
30 ปีก่อน วันที่องค์กรเล็กๆ แห่งนี้ก่อรูปร่างด้วยความคิดที่ต้องการ “ลดความเหลื่อมล้ำ” โดยสนับสนุนและส่งเสริมการศึกษาให้กับเด็กที่ยากจนในประเทศไทยให้พวกเขาได้มีโอกาสศึกษาต่อจนจบการศึกษาภาคบังคับ โดยไม่หวังผลตอบแทน
ด้วยความมุ่งมั่นตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ปัจจุบันได้พิสูจน์แล้วว่า ความร่วมมือจากองค์กรต่างๆ และทุกคนในสังคมที่เชื่อในเรื่องเดียวกันสามารถช่วยขับเคลื่อนการศึกษาให้กับเด็กนักเรียน คุณครู และโรงเรียน รวมทั้งดูแลประคับประคองเด็กๆ ที่ต้องการโอกาสได้อย่างใกล้ชิด
ยิ่งเวลาผ่านไปก็ยิ่งแน่ใจได้ว่าการมีส่วนร่วมมากมาย ทำให้มูลนิธิฯ เติบโตขึ้นเรื่อยๆ จนพูดได้ว่า “มูลนิธิยุวพัฒน์” เป็นตัวกลางเชื่อมผู้คนจำนวนมากที่สนใจเรื่อง “เด็กขาดโอกาส”
จากปี 2535 “ยุวพัฒน์” เริ่มต้นจากการให้ทุนการศึกษาเพียง 100 คน เราให้ความสำคัญในการช่วยเหลือเด็กขาดโอกาสในประเทศไทยในด้านการศึกษา ด้วยความเชื่อมั่นว่า อนาคตของเยาวชนคืออนาคตของชาติ
มาถึงวันนี้ “มูลนิธิยุวพัฒน์” ได้ช่วยเหลือเด็กขาดโอกาสให้มีโอกาสเรียนหนังสือไปแล้วกว่า 17,000 คน มีนักเรียนทุนที่จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษา 6 หรือเทียบเท่าไปแล้วจำนวน 9,132 คน และในปี 2565 ยังมีนักเรียนทุนที่อยู่ในความดูแลจำนวน 6,885 คน (ข้อมูล ณ 30 มิถุนายน 2565)
หมายเหตุ :
– ปี 2535 ริเริ่มโครงการทุนการศึกษา โดยให้ทุนแบบต่อเนื่องแก่นักเรียนชั้น ม.1 จนเรียนจบการศึกษาภาคบังคับ ปีละ 100 คน
– 25 สิงหาคม 2536 ได้จดทะเบียนจัดตั้ง “มูลนิธิยุวพัฒน์” และต่อมาทางกระทรวงการคลังได้ประกาศให้เป็นองค์กรสาธารณกุศล ลำดับที่ 300
2535
“ภูมิใจที่ได้เป็นนักเรียนทุนรุ่นแรกของยุวพัฒน์”
จันจีรา โสะประจิน อดีตนักเรียนทุนยุวพัฒน์รุ่นแรก ตั้งแต่ปี 2535 จากวันนั้นจนถึงวันนี้เธอไม่เคยลืม
“มูลนิธิยุวพัฒน์” เปรียบเสมือนบ้านที่ “มอบโอกาสทางการศึกษา” โดยไม่หวังผลตอบแทน และในวันครบรอบ 30 ปี ก็ยิ่งตอกย้ำให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของมูลนิธิฯ ในการสานฝันด้านการศึกษาให้กับเด็กๆ
“ภูมิใจมากที่ตลอดระยะเวลา 30 ปี มูลนิธิยุวพัฒน์ได้มอบโอกาสให้เด็กๆ โดยไม่หวังผลอะไร เพียงแค่อยากให้เด็กมีโอกาสทางการศึกษาที่ดี ตั้งแต่วันนั้นจนวันนี้ความมุ่งมั่นนี้ไม่เคยเปลี่ยนแปลงเลย”
จากวันที่เริ่มต้น… ด้วยการให้ทุนการศึกษา
ขยายผล – สู่ความร่วมมือ – เพื่อผลลัพธ์ที่ยั่งยืน
ขยายผล – สู่ความร่วมมือ – เพื่อผลลัพธ์ที่ยั่งยืน
ปี 2543 ได้ริเริ่ม โครงการ“ร้านปันกัน” โดย มูลนิธิยุวพัฒน์ แพลตฟอร์มระดมทุนในรูปแบบธุรกิจเพื่อสังคม ที่มีเป้าหมายในการสร้างการมีส่วนร่วมเพื่อช่วยเหลือสังคมจากการ“แบ่งปัน” โดยการเปิดรับบริจาคสิ่งของสภาพดีเพื่อนำมาเป็นสินค้าแบ่งปันในร้าน จำหน่ายและนำเงินที่ระดมได้ทั้งหมดมอบเป็นทุนการศึกษาแก่เด็กขาดโอกาส ใน มูลนิธิยุวพัฒน์
จากวันนั้นถึงวันนี้ “ร้านปันกัน” สร้าง “สังคมแห่งการแบ่งปัน” เพื่อช่วยเหลือเด็กขาดโอกาสได้อย่างยั่งยืน จากจำนวนทุนหลักร้อยที่ระดมได้ เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนหลายพันทุนต่อปี ปัจจุบัน เปิดดำเนินการ 16 สาขา 1 แฟรนไชส์ และ 1 คลังสินค้าแบ่งปัน คลิก! ดูสาขาร้านปันกัน
2557
เด็กทุกคนควรได้รับอาหารที่ถูกต้อง เหมาะสมตามวัย
นอกจากเรื่องการศึกษาแล้ว ปัญหาทุพโภชนาการในเด็กก็สำคัญและจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน จากผลสำรวจ กลุ่มงานยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข ปี 2563 พบว่า 1 ใน 3 ของเด็กไทยอายุระหว่าง 6 – 14 ปี มีภาวะทุพโภชนาการ เนื่องจากเด็กๆ ไม่ได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนทำให้มีภาวะโภชนาการขาดหรือเกิน ส่งผลต่อการพัฒนาทางร่างกายและสมอง ในปี 2557 มูลนิธิฯ จึงได้เริ่มโครงการ “Food For Good” กลไกสร้างการมีส่วนร่วมของคนในสังคม โดยมีเป้าหมายเพื่อลดจำนวนเด็กที่มีภาวะทุพโภชนาการอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
เพราะ “โภชนาการที่ดี” คือรากฐานของการเจริญเติบโต เด็กทุกคนควรได้รับอาหารที่มีสารอาหารครบถ้วน เหมาะสมตามวัย
ปัจจุบันโครงการ Food For Good สามารถช่วยเหลือให้เด็กๆ ได้รับการดูแลโภชนาการที่ดีไปแล้ว 11,300 คน เด็กที่มีภาวะทุพโภชนาการ 80% กลับมามีสุขภาพที่ดี
2558
จากการช่วยเด็กเป็นรายบุคคลให้ได้เรียนหนังสือจนจบ… ขยายไปช่วยเหลือเด็กๆ ทั้งโรงเรียน
มูลนิธิยุวพัฒน์ขยายภารกิจเพื่อช่วยเหลือเด็กขาดโอกาสเพิ่มมากขึ้นกว่าแค่การมอบทุนการศึกษา เพราะถึงแม้ว่าจะได้ทุนไปเรียนต่อ แต่หากยังต้องเรียนอยู่ในโรงเรียนที่ขาดคุณภาพการศึกษา ปัญหาความเหลื่อมล้ำก็ยังคงอยู่ ในปี 2558 มูลนิธิฯ เข้าร่วมเป็นหนึ่งในภาคีกับ “โครงการร้อยพลังการศึกษา” อีกหนึ่งโครงการพัฒนาเยาวชน ที่รวบรวมเครื่องมือ นวัตกรรม ความรู้และความเชี่ยวชาญของแต่ละภาคีเครือข่ายการศึกษา ทำงานร่วมกับโรงเรียนขยายโอกาสและโรงเรียนมัธยมฯ ทั่วประเทศ ที่มีความต้องการและพร้อมพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน เพื่อช่วยกันลดปัญหาความเหลื่อมล้ำและสร้างโอกาสทางการศึกษาให้กับเด็กๆ ทั้งโรงเรียน
ในปีการศึกษา 2565 มีโรงเรียนเข้าร่วมโครงการแล้ว จำนวน 102 โรงเรียน ใน 36 จังหวัด และมีนักเรียนที่ได้รับประโยชน์แล้วมากกว่า 37,000 คน ดูรายชื่อโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ คลิก!
2562
ปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรม ให้เด็กๆ ได้เติบโตไปเป็นคนดีของสังคม
ไม่ใช่แค่การได้เรียนหนังสือ แต่การที่เด็กคนหนึ่งจะเติบโตไปอย่างมีคุณภาพและมีอุปนิสัยที่ดีงามติดตัวนั้น การปลูกฝังคุณงามความดี มีคุณธรรมจริยธรรมก็เป็นสิ่งที่ต้องพัฒนาควบคู่กันไปกับการให้ความรู้ ในปี 2562 มูลนิธิยุวพัฒน์ได้สานต่อ “โครงการพัฒนาโรงเรียนคุณธรรม” ดำเนินงานโดย สถาบันพัฒนาโรงเรียนคุณธรรม ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาเยาวชนที่เน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของนักเรียน ครู ผู้บริหาร ผู้ปกครอง คณะกรรมการสถานศึกษา และชุมชน เกิดเป็นโครงงานคุณธรรม (Moral Project) เพื่อใช้ในการเรียนรู้และปฏิบัติจริง โดยมีนิเทศอาสาเป็นผู้ให้คำปรึกษาและผลักดันให้โครงงานประสบความสำเร็จ เพื่อลดปัญหาด้านพฤติกรรม สร้างวินัยและความรับผิดชอบให้เกิดขึ้นในโรงเรียน นักเรียนมีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีตามที่โรงเรียนต้องการ
ปัจจุบันมีโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 394 โรงเรียน ใน 76 จังหวัด ดูรายชื่อโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ คลิก!
2563
สร้างพื้นฐานที่ดีให้กับเด็กตั้งแต่ปฐมวัย กระตุ้นพัฒนาการอย่างเหมาะสมด้วยการเรียนรู้ การเล่น และลงมือทำอย่างสร้างสรรค์
ในปี 2563 มูลนิธิยุวพัฒน์ได้ขยายการทำงานเพื่อพัฒนา “เด็กปฐมวัย” ซึ่งเป็นช่วงวัยที่พัฒนาการในช่วงเวลานี้จะสำคัญที่สุด แต่ในประเทศไทยมีเด็กปฐมวัยจำนวนมากที่ขาดการดูแลและกระตุ้นพัฒนาการอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะเด็กในครอบครัวที่มีฐานะยากจน ซึ่งพบว่าเด็กอายุ 3 – 5 ปี ร้อยละ 15 ไม่ได้เข้าเรียนในระดับปฐมวัย มูลนิธิยุวพัฒน์จึงได้สนับสนุน “โครงการพัฒนาเด็กปฐมวัยแบบบูรณาการโดยยึดเด็กเป็นศูนย์กลาง Integrated Child – Centered Active Learning project (ICAP)” เพื่อให้เด็กปฐมวัยทั่วประเทศได้เรียนรู้ผ่านการลงมือทำอย่างสร้างสรรค์ผ่านหลักสูตรการเรียนรู้ของโครงการ
ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2560 – 2564 มีสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยเข้าร่วมโครงการรวม 117 แห่ง มีเด็กปฐมวัยที่ได้เรียนตามแนวทาง ICAP รวม 7,280 คน มีห้องเรียนที่เข้าร่วมโครงการรวม 197 ห้อง คุณครูที่ผ่านการอบรม ICAP แล้วจำนวน 243 คน
นอกจากการทำงานเพื่อพัฒนาเยาวชนขาดโอกาสแล้ว มูลนิธิฯ ยังส่งเสริมและสนับสนุนการทำงานขององค์กร/ภาคี ที่ทำงานเพื่อสังคมในประเด็นต่างๆ เพื่อก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีและส่งผลกระทบในวงกว้าง
พลังของความร่วมมือ สร้างพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงได้
นอกจากการทำงานด้านการศึกษาและการพัฒนาเยาวชนแล้ว ในทุกๆ ปีมูลนิธิยุวพัฒน์ได้ให้การสนับสนุนองค์กร/ ภาคีทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ที่ทำงานเพื่อสังคมในประเด็นที่หลากหลาย รวมถึงสร้างความร่วมมือของคนในสังคมเพื่อขับเคลื่อนและสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกที่มีผลกระทบอย่างกว้างขวางในประเด็นต่าง ดังนี้ ด้านการช่วยเหลือเด็กและเยาวชนขาดโอกาส ด้านการช่วยเหลือฟื้นฟูสุขภาพกายและใจ และด้านสร้างจิตสำนึกของการมีส่วนร่วมเพื่อส่วนรวม
รู้จักภาคีเพื่อสังคมที่มูลนิธิยุวพัฒน์สนับสนุน คลิก!
โครงการเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้… ถ้าไม่มีฟันเฟืองแต่ละชิ้น
“วันวิสาข์ มาเมือง” หนึ่งในทีมงานยุวพัฒน์ เธอรู้สึกว่ามูลนิธิฯ ไม่ใช่แค่ที่ทำงาน เพราะนอกจากได้ช่วยเหลือเด็กๆ ที่นี่ยังทำให้มีโอกาสฝึกฝนทักษะหลายๆ อย่าง ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับคนทำงานร่วมกัน ได้เห็นทัศนคติที่แตกต่างแต่ลงตัว การทำงานที่นี่ทำให้ได้เข้าใจว่าการจะช่วยให้คนๆ หนึ่ง ซึ่งก็คือเด็กขาดโอกาสให้มีชีวิตที่ประสบความสำเร็จและมีความสุขนั้น จะต้องช่วยให้พวกเขาได้รับประสบการณ์ที่ดีผ่านประสบการณ์จากการทำงานที่ผ่านมาของทีมงานทุกคน
“มูลนิธิยุวพัฒน์เดินทางสู่ปีที่ 30 อยากเห็นเด็กที่ขาดโอกาสได้รับโอกาสมากขึ้น อยากให้พวกเขามีมูลนิธิยุวพัฒน์เป็นพื้นที่ปลอดภัย อยากเห็นคนทำงานยุวพัฒน์มีความสุขและอยากเห็นการมีส่วนร่วมของคนในสังคมที่จะเข้ามาช่วยกันมอบโอกาสให้เด็กๆ”
ก้าวสู่ปีที่ 30 “มูลนิธิยุวพัฒน์” ยังคงเดินทางเพื่อสร้างโอกาสต่อไป
ก้าวสู่ปีที่ 30 “มูลนิธิยุวพัฒน์” ยังคงเดินทางต่อไป เพราะยังมีเด็กขาดโอกาสและโรงเรียนอีกจำนวนมากที่รอคอยโอกาส และสิ่งที่ขาดไม่ได้ที่จะทำให้มูลนิธิฯ ก้าวต่อไปได้อย่างเข้มแข็ง นั่นก็คือ “พลังแห่งความร่วมมือ” จากทุกคนในสังคม ที่เป็นส่วนสำคัญในการมอบโอกาสที่ดีให้กับเด็กๆ เพื่อให้พวกเขาได้เติบโตอย่างมีคุณภาพและมีอนาคตที่สดใสต่อไป
เราเดินทางเพื่อช่วยเด็กขาดโอกาสต่อไป
มาร่วมเดินทางไปกับเรากับภารกิจ “มอบโอกาส”
ผ่านโครงการต่างๆ ของมูลนิธิยุวพัฒน์ ที่คุณสนใจ
สนับสนุนกิจกรรม โครงการต่างๆ หรือร่วมทำแคมเปญกับมูลนิธิฯ
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
เบอร์โทร 02 301 1061 | 02 301 1080
E mail : ybf@ybf.premier.co.th | Line@ ID : @BOS9702T
เปิดทำการ จันทร์ – ศุกร์ เวลา 08.00 – 17.00 น.
(หยุดเสาร์ – อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์)