หากได้ติดตามข่าวสารทางช่องทางต่างๆ คงทราบดีว่าทุกวันนี้ ปัญหาการกลั่นแกล้งของคนในสังคม ไม่ว่าจะเกิดขึ้นในสถานศึกษา สังคมที่ทำงาน และบนโลกออนไลน์ ปัญหานี้เกิดขึ้นทุกวันและเป็นปัญหาที่กำลังได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก หลายคนอาจมองว่าการกลั่นแกล้งเป็นเรื่องธรรมดา เป็นเรื่องสนุกสนาน ที่ได้หยอกล้อกันในกลุ่มเพื่อนๆ แต่สำหรับปัจจุบัน ปัญหาการกลั่นแกล้งทั้งในวัยเด็ก วัยรุ่น วัยผู้ใหญ่ ได้ส่งผลกระทบทางลบอย่างมาก ทั้งกับผู้ที่กระทำและผู้ถูกกระทำ การกลั่นแกล้งกันไม่ใช่เรื่องล้อเล่นอีกต่อไป แต่เป็นภัยร้ายที่ใกล้ตัวเราและเป็นอันตรายมากกว่าที่คาดคิด

การกลั่นแกล้ง (Bullying) หมายถึง พฤติกรรมที่ไม่เป็นที่ยอมรับในสังคม โดยพฤติกรรมนั้นเป็นความตั้งใจกระทำให้ผู้อื่นได้รับความทุกข์ความเจ็บปวด เพื่อให้ตนเองรู้สึกมีอำนาจ หรือมีพลังเหนือกว่าผู้อื่น อีกทั้งการกระทำดังกล่าวจะเกิดขึ้นซ้ำๆ อย่างต่อเนื่องและมีระยะเวลายาวนาน

ปัจจุบันระดับความรุนแรงของพฤติกรรมการกลั่นแกล้งได้ทวีคูณมากขึ้นกว่าในอดีต จากข้อมูลกรมสุขภาพจิตซึ่งเผยแพร่เมื่อต้น 2561 ระบุว่าเด็กนักเรียนโดนกลั่นแกล้งในโรงเรียนถึง 600,000 คน เมื่อคิดเป็นอัตราส่วนแล้วเท่ากับประมาณ 40% ถือเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากประเทศญี่ปุ่น นอกจากระดับความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นแล้ววิธีการกลั่นแกล้งก็เปลี่ยนไปจากในอดีตที่เคยใช้ เช่น การล้อเลียนชื่อพ่อแม่ การเรียกชื่อสมมติหรือปมด้อยของเพื่อน การไม่ให้เข้าร่วมกลุ่มเล่นหรือทำกิจกรรม และการตบหัวหรือการชกต่อยเบาๆ พฤติกรรมดังกล่าวเหล่านี้เป็นวิธีดั้งเดิมที่ใช้ในการกลั่นแกล้ง แต่สำหรับในปัจจุบัน สื่อ (Media) และเทคโนโลยี (Technology) มีบทบาทสำคัญและเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการกลั่นแกล้งของคนในยุคปัจจุบัน สำหรับในประเทศไทย พบว่า กลุ่มเยาวชนมากกว่าร้อยละ 50 มีพฤติกรรมกลั่นแกล้งผ่านโลกไซเบอร์และคุกคามผู้อื่นผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์

ประเภทของการกลั่นแกล้ง

การกลั่นแกล้งทางร่างกาย เป็นลักษณะของการทำร้ายร่างกาย การชกต่อย การผลัก การตบตี

การกลั่นแกล้งทางสังคมหรือด้านอารมณ์ เป็นลักษณะของการใช้กลุ่มเพื่อนหรือสังคมกดดันและทำให้บุคคลแยกออกจากกลุ่ม เป็นผลทำให้เกิดความรู้สึกเจ็บปวดหรือเสียใจจากการกระทำดังกล่าว

การกลั่นแกล้งทางคำพูด เป็นลักษณะการพูดที่ส่งผลกระทบต่อความรู้สึกหรือทำให้เจ็บปวด จะเกิดขึ้นในสถานการณ์ที่มีการยั่วยุ เย้าแหย่ เยาะเย้ย ข่มขู่ การพูดจาดูถูก เสียดสีกันในกลุ่มเพื่อน หรือการวิจารณ์ด้วยคำพูดในลักษณะข่าวลือ คำนินทา และการพูดจาโกหกบิดเบือนข้อมูลที่ไม่เป็นจริง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดความเจ็บปวด

การกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ (Cyberbullying) เป็นประเภทหนึ่งของการกลั่นแกล้งที่เกิดขึ้นใหม่และเป็นประเด็นปัญหาสำคัญในสังคม โดยใช้เครื่องมือสื่อสารเป็นเครื่องมือหลัก เช่น สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์เชื่อมต่อเครือข่ายสังคมออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็น เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม แชท หรือเครือข่ายทางสังคม ออนไลน์อื่นๆ ในการโจมตี ขู่ทำร้าย หรือใช้ถ้อยหยาบคาย การคุกคามทางเพศแบบออนไลน์ การแอบอ้างตัวตนของผู้อื่น การนำความลับของอีกฝ่ายมาเปิดเผย การหลอกลวง การสร้างกลุ่มในโซเชียลเพื่อโจมตีโดยเฉพาะ เพื่อให้อีกฝ่ายขายหน้าหรือทนไม่ได้จนกลายเป็นปัญหาบานปลาย

ประเภทของการกลั่นแกล้ง

สาเหตุของการเกิด cyberbullying

สาเหตุของการเกิด cyberbullying เกือบทั้งหมด มักเริ่มก่อตัวจากความขัดแย้ง ความเห็นต่าง หรือมีกรณีพิพาทระหว่าง 2 คน ลุกลามจนเป็นชนวนของการกลั่นแกล้งกันในโลกออนไลน์ นอกจากนี้ผู้คนยังเข้าใจว่าโซเชียลมีเดียคือพื้นที่ส่วนตัว สามารถใช้ระบายความรู้สึกได้ ถ้อยคำที่ใช้โพสต์จึงออกแนวรุนแรง โพสต์เสียดสี หรือสร้างความเสียหายให้อีกฝ่ายและแสดงอารมณ์แง่ลบออกมาได้อย่างเต็มที่โดยไม่ต้องเกรงใจ

Cyber bullying แบ่งเป็น 7 ประเภท คือ

  • การส่งข้อความนินทาผู้อื่น ให้เขาเสียหาย
  • การไล่บางคนออกจากกลุ่มออนไลน์ เช่น กลุ่มไลน์หรือเฟซบุ๊กกรุ๊ป
  • การแอบเข้าไปในใช้เฟซบุ๊กของคนอื่นและโพสต์ข้อความให้เจ้าของบัญชีเฟซบุ๊กเสียหาย และทำให้คนรอบตัวเข้าใจผิด
  • การว่ากล่าว ด่าทอ ด้วยถ้อยคำหยาบคาย ตอกย้ำปมด้อยทำให้เสียความมั่นใจ
  • ส่งข้อความ รูป วิดีโอ หรืออะไรก็ตามที่ทำให้คนอื่นอับอายบนอินเทอร์เน็ต รวมถึงข่มขู่
  • หยอกล้อ ยั่วโมโหจนอีกฝ่ายเผยความลับที่น่าอายของตัวเองบนโลกออนไลน์
  • เห็นการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์แล้วเข้าไปร่วมด้วย

การป้องกันการกลั่นแกล้งกันผ่านพื้นที่ออนไลน์

การป้องกันการกลั่นแกล้งกันผ่านพื้นที่ออนไลน์ ปัจจัยสำคัญที่สุดที่จะช่วยป้องกันปัญหา คือ เราควรเรียนรู้มารยาทของการใช้การสื่อสารผ่านทางพื้นที่ออนไลน์ต่างๆ เพื่อป้องกันปัญหาและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับทั้งตัวผู้กระทำหรือผู้ถูกกระทำหลังการลงรูป คลิป หรือข้อความที่ไม่เหมาะสม ทั้งที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจก็ตาม

ข้อควรปฏิบัติเพื่อป้องกันการกลั่นแกล้งบนพื้นที่ออนไลน์

  • สร้างความตระหนัก เราต้องตระหนักถึงมารยาทในการสื่อสารกับบุคคลอื่น ถึงแม้ว่าจะเป็นการสื่อสารผ่านกลุ่มที่เป็นกลุ่มเฉพาะบุคคล พึงตระหนักเสมอว่าต้องปฏิบัติต่อบุคคลอื่นให้เหมือนกับที่เราอยากให้คนอื่นปฏิบัติกับเรา
  • คิดก่อนโพสต์ ไม่ว่าจะโพสต์อะไรก็ตามให้คำนึงถึงผลกระทบทั้งผลดีและผลเสียที่อาจจะเกิดขึ้นตามมาทุกครั้ง
  • ข้อมูลส่วนตัวควรเป็นเรื่องส่วนตัว การโพสต์ข้อมูลที่มีความเป็นส่วนตัว ผิดที่ ผิดเวลา สามารถนำมาซึ่งปัญหาที่ร้ายแรงต่อผู้โพสต์ได้
  • จำกัดเวลา  สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ การจำกัดเวลาในการใช้พื้นที่ออนไลน์ ควรพยายามจำกัดเวลา หรือ ลดเวลาในการเล่นสื่อสังคมออนไลน์และเพิ่มเวลาในการสื่อสารซึ่งกันและกันในโลกของความเป็นจริง

การลงโทษไม่ใช่ทางออก
เพื่อหยุดพฤติกรรมการกลั่นแกล้ง

เพราะอะไรต้องกลั่นแกล้งคนอื่น

มีสาเหตุหลายประการที่กระตุ้นให้บางคนลุกขึ้นมากลั่นแกล้งผู้อื่น ซึ่งวิธีที่ดีที่สุด คือ ไม่ตอบโต้โดยใช้ความรุนแรงกลับไป ทำความเข้าใจผู้ที่ชอบกลั่นแกล้งผู้อื่น ด้วยการมองย้อนกลับไปถึงตัวตนของเขา ว่าเขาต้องเคยเผชิญอะไรมาจึงกลายเป็นคนที่ชอบกลั่นแกล้งผู้อื่น และนี่คือสาเหตุบางประการที่ทำให้เกิดการกลั่นแกล้งกัน

เคยถูกแกล้งมาก่อน
คนที่ชอบกลั่นแกล้งผู้อื่น หลายคนเคยถูกรังแกมาก่อน ไม่ว่าจากเพื่อนหรือจากครอบครัวก็ตาม และพวกเขารู้สึกว่าต้องระบายความเกรี้ยวโกรธที่ตนเองได้รับออกไปให้ผู้อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากพวกเขาเผชิญกับประสบการณ์ร้ายๆ ในวัยเด็ก เมื่อเขาเติบโตขึ้นเขาจะเป็นผู้ใหญ่ที่ติดนิสัยชอบระบายความโกรธกับผู้อื่น

แท้จริงแล้วรู้สึกโดดเดี่ยว
ความรู้สึกโดดเดี่ยวและไม่มีความสำคัญ อาจนำไปสู่การกลั่นแกล้งผู้อื่นได้ ทุกๆ คนต้องการความสนใจและหากไม่ได้รับความสนใจมากพอ การกลายเป็นคนพาล คือ ทางเลือกที่ได้ผล เพราะนอกจากจะได้รับความสนใจแล้วยังช่วยให้พวกเขารู้สึกมีอำนาจมากขึ้น

มีความพึงพอใจในตนเองต่ำ
หากใครสักคนรู้สึกว่าตนเองไม่ฉลาดพอ หน้าตาไม่ดีพอ หรือไม่ร่ำรวยมากพอ คนๆ นั้นอาจมองหาวิธีการให้ตนเองรู้สึกดีกว่าคนอื่น โดยการกดให้ผู้อื่นต่ำลงกว่าตนเอง

ถือว่าตนเองสำคัญ
บางคนที่ชอบกลั่นแกล้งผู้อื่น มักหยิ่งผยองในตนเอง และรู้สึกว่าสิ่งที่พวกเขาทำหรือสิ่งที่พวกเขาคิดนั้นดีที่สุด และการถือว่าตนเองสำคัญนี้จะแปรเปลี่ยนไปเป็นความโกรธเมื่อใครสักคนท้าทาย หรือพิสูจน์ให้เห็นว่าเขาไม่ได้ถูกต้องไปเสียทุกอย่าง

เพราะคุณแตกต่าง
บางครั้งการกลั่นแกล้งก็มาจากเหตุผลง่ายๆ เพียงเพราะเหยื่อแตกต่างจากผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็น เชื้อชาติ เพศ สีผิวหรือแม้แต่ความพิการ ความแตกต่างนี้จะถูกหยิบยกมาล้อเลียนจนนำไปสู่การปฏิบัติกับเหยื่อแบบที่ไม่เท่าเทียมกับคนอื่นๆ

พฤติกรรมชอบกลั่นแกล้งนั้นถูกสั่งสมจากสถานการณ์ทางลบที่เจ้าตัวเผชิญมาหลายปี ไม่ว่าจะเป็นครอบครัวที่ไม่ใส่ใจหรือการขาดปฏิสัมพันธ์ทางสังคม หนึ่งในวิธีสำคัญที่จะช่วยให้เขาหยุดพฤติกรรมชอบกลั่นแกล้งไม่ใช่ การลงโทษ แต่คือ “การพูดคุย” หากเราปฏิบัติกับคนนั้นเหมือนเป็นอันธพาล ก็มีแนวโน้มที่เขาคนนั้นจะมีพฤติกรรมอันธพาลมากขึ้น ฉะนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ควรใช้ความอ่อนโยนในการสร้างความเข้าใจให้แก่พวกเขา พูดคุยให้พวกเขามองเห็นว่าพฤติกรรมดังกล่าวเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ในสังคม ตลอดจนให้โอกาสและให้เวลาพวกเขาในการปรับปรุงตัว การปฏิบัติต่อคนที่ก้าวร้าวด้วยความเคารพและเมตตาจะช่วยให้พฤติกรรมของเขาเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นได้

คนอ่อนแอและแตกต่างมักถูกกลั่นแกล้ง

จากรายงานการศึกษาสถานการณ์การกลั่นแกล้งกันในโรงเรียนไทย ที่เข้าร่วมโครงการป้องกันและลดการใช้ความรุนแรง และการกลั่นแกล้งกันในสถานศึกษา ในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งจัดทำโดย มูลนิธิแพธทูเฮลท์ ในปี 2557 ได้สรุปลักษณะของนักเรียนที่มักถูกกลั่นแกล้งเป็นประจำซ้ำๆ ทุกวัน ไว้ว่า มักเป็นคนที่ “อ่อนแอและแตกต่างจากเพื่อน” ซึ่งสรุปลักษณะได้ดังนี้

  • นักเรียนพิเศษ เช่น สมาธิสั้น ดาวน์ซินโดรม อัจฉริยะแต่เข้าสังคมไม่ได้
  • นักเรียนที่มีความหลากหลายทางเพศ เช่น เกย์ กระเทย ทอม
  • นักเรียนที่อยู่โดดเดี่ยวมีเพื่อนน้อย
  • นักเรียนที่ไม่สู้คน เป็นได้ทั้งทางด้านร่างกาย เช่น นักเรียนที่ตัวเล็กกว่าคนอื่นๆ หรือด้านจิตใจ เช่น เป็นคนมีความอดทนอดกลั้นหรือมีเมตตาสูง
  • นักเรียนที่มีปัญหาทางบ้าน มีความทุกข์สะสมในใจ เก็บตัว
  • นักเรียนที่มีลักษณะภายนอกโดดเด่นหรือต่างจากผู้อื่น เช่น ฟันเหยินผิวดา อ้วน เป็นต้น

ผลกระทบต่อผู้ที่ถูกกลั่นแกล้ง…

  • มีภาวะซึมเศร้าและความวิตกกังวล ส่งผลต่อความรู้สึกโดดเดี่ยว มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงด้านการนอนหลับ การรับประทานอาหาร และการสูญเสียความสนใจในกิจกรรมที่พวกเขาเคยสนุก ภาวะซึมเศร้านี้อาจส่งผลไปถึงวัยผู้ใหญ่
  • ปัญหาด้านสุขภาพ
  • ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนลดลงและมีแนวโน้มที่จะออกจากโรงเรียนกลางคันมากขึ้น

ผลกระทบต่อผู้ที่มักจะกลั่นแกล้งผู้อื่น

  • อาจจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่เสพติดแอลกอฮอล์หรือสารเสพติดอื่นๆ
  • มีพฤติกรรมลักขโมยและเรียนไม่จบ
  • มีพฤติกรรมทางเพศก่อนวัยอันควร
  • อาจจะเป็นอาชญากรในอนาคต
  • มีพฤติกรรมใช้ความรุนแรงกับคู่สมรสหรือลูก และคนใกล้ตัว

ทำอย่างไรเมื่อถูกกลั่นแกล้งรังแก

หากเราโดนกลั่นแกล้งรังแกไม่ว่าจะในรูปแบบใดก็ตาม สิ่งที่จะช่วยให้เราก้าวผ่านสถานการณ์แย่ๆ นั้นไปได้ คือ การไม่ตอบโต้โดยการใช้ความรุนแรง และต้องไม่ยอมที่จะให้เกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ซ้ำอีก ด้วยการหาวิธีจัดการกับปัญหาโดย…

  • ต้องบอกใครสักคนเกี่ยวกับปัญหานี้  เพราะเราไม่สามารถจัดการกับปัญหาได้โดยลำพัง เช่น พ่อแม่ ผู้ปกครอง คุณครู ผู้ใหญ่ที่เราไว้วางใจ หรือเพื่อนสนิทหากบอกคนที่เราไว้ใจให้ช่วยแก้ปัญหานี้…แต่ปัญหายังคงมีอยู่ อย่า! เก็บปัญหาไว้คนเดียว ควรบอกให้คนที่เราไว้ใจทราบว่าปัญหายังไม่คลี่คลาย หรือปรึกษาองค์กรต่างๆ ที่รับฟังปัญหาด้านนี้โดยตรง ได้ที่ http://stopbullying.lovecarestation.com/
  • บอกให้ “เขา” หยุดพฤติกรรมกลั่นแกล้งรังแก อาจจะเป็นการยากที่จะบอกให้เขาหยุดพฤติกรรม แต่บางครั้งเขาอาจจะไม่รู้ว่าสิ่งที่เขาทำนั้นส่งผลกระทบร้ายแรงเพียงใดกับเรา
  • เพิกเฉยหรือเดินหนี คนที่ชอบกลั่นแกล้งผู้อื่นมักจะพูดหรือทำสิ่งต่างๆ เพื่อกลั่นแกล้ง ยั่วยุ เพราะพวกเขาต้องการให้เรามีปฏิกิริยาตอบโต้บางอย่าง หากเราไม่ใส่ใจกับสิ่งที่พวกเขาพูดหรือทำ พวกเขาอาจจะหยุดพฤติกรรมนั้น ไม่ต้องใส่ใจกับเสียงหัวเราะ ที่เขาแกล้งด่าว่าเรา เพราะการมีอารมณ์ตอบโต้เป็นอาวุธที่ดีสำหรับคนที่ชอบข่มขู่หรือรังแกผู้อื่นพวกเขามองว่าเป็นเรื่องสนุก ถ้าเราทำเฉยๆ เขาจะรู้สึกผิดหวัง หมดสนุกที่จะกลั่นแกล้งอีก
  • มีความมั่นใจในตัวเอง ความมั่นใจในตัวเองจะทำให้เรามีท่าทีแสดงถึงความมั่นใจในตัวเอง ซึ่งจะทำให้มีโอกาสน้อยที่เราจะตกเป็นเหยื่อความรุนแรง
  • ไปไหนมาไหนกับกลุ่มเพื่อนๆ อย่าแยกเดินคนเดียว
  • อย่าตอบโต้ด้วยกำลังเด็ดขาด เพราะจะยิ่งทำให้เกิดปัญหาและความรุนแรงมากขึ้น

ร่วมกัน หยุด!
พฤติกรรมการกลั่นแกล้งผู้อื่น

หากเราใช้สติในการแก้ปัญหา เรียนรู้ที่เอาใจเขามาใส่ใจเรา ตระหนักถึงข้อดีข้อเสียของพฤติกรรมที่จะกระทำลงไป จะมีผลกระทบทางบวกหรือลบกับใครบ้าง พฤติกรรมใดที่ไม่ควรกระทำต่อผู้อื่น แม้เราอาจจะมองว่าพฤติกรรมนั้นเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่สำหรับคนอื่นๆ แล้วอาจไม่ใช่ เด็กวัยรุ่นเป็นวัยของการเปลี่ยนแปลงเต็มเปี่ยมไปด้วยพลัง ความอยากรู้อยากเห็นอยากทดลอง ต้องการได้รับการยอมรับ และวัยรุ่นสามารถใช้พลังที่มีในตัวนั้นสร้างสิ่งดีๆ ให้เกิดขึ้น ในสังคมและเป็นฮีโร่ของวัยรุ่นคนอื่นด้วยพฤติกรรมบวกที่สร้างสรรค์ได้