ปัญหาความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาที่ซับซ้อนและเป็นปัญหารากฐานที่สำคัญอย่างหนึ่งของสังคมไทย โดยเฉพาะเรื่อง “การศึกษา” ที่เป็นปัญหาเรื้อรังมาอย่างยาวนาน เราต่างรู้กันดีว่า “การศึกษา” คือโอกาสที่สามารถช่วยให้คนยกระดับคุณภาพชีวิตในระยะยาวได้ แต่ในทางกลับกันในประเทศไทยก็ยังมีคนที่เข้าไม่ถึงการศึกษา โดยเฉพาะเด็กๆ ในพื้นที่ห่างไกล เพราะติดกับดักความยากจนเข้ามาซ้ำเติมแม้จะมีนโยบายเรียนฟรี แต่เด็กจำนวนไม่น้อยก็ยังขาดแคลนทุนทรัพย์สำหรับค่าเล่าเรียนและค่าเดินทาง
ในยุคที่เด็กๆ ถูกซ้ำเติมจากวิกฤตรอบด้าน ทั้งความเหลื่อมล้ำ ปัญหาเศรษฐกิจ วิกฤตโรคระบาดที่ทำให้หลายครอบครัวมีรายได้ลดลงหรือถูกเลิกจ้าง และยังต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ซึ่งส่งผลกระทบมาสู่โอกาสทางการศึกษาของเด็กๆ หลายครอบครัวมีค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของเด็กเพิ่มขึ้น เช่น ค่าใช้จ่ายการเรียนออนไลน์ เนื่องจากไม่ได้มีความพร้อมในการจ่ายค่าอุปกรณ์ต่างๆ เช่น โทรศัพท์ แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์ ค่าอินเทอร์เน็ต และค่าอุปโภคบริโภคอื่นๆ ถึงแม้ว่า ณ ปัจจุบันโรงเรียนกลับมาเปิดตามปกติแล้วก็ตาม แต่พวกเขาก็ยังจะต้องเจอกับภาวะเงินเฟ้อ ข้าวของแพง ซึ่งดูเหมือนค่าใช้จ่ายยิ่งเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม
หากวัดความจนโดยใช้ “เส้นแบ่งความยากจน” (Poverty Line) ตั้งแต่ปีการศึกษา 2563 – 2565 มีนักเรียนอยู่ในครอบครัวฐานะยากจนที่มีรายได้เฉลี่ยไม่เกิน 3,000 บาท/คน/เดือน ในระดับการศึกษาภาคบังคับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง (ข้อมูลจาก กสศ.) ซึ่งกลุ่มยากจนพิเศษเหล่านี้เป็นกลุ่มเสี่ยง “หลุดจากระบบการศึกษา”
จากข้อมูลรายได้ของครอบครัวนักเรียนทุนยุวพัฒน์ ในปีการศึกษา 2565 – 2566 พบว่า รายได้เฉลี่ยของผู้ที่ส่งเสียนักเรียนทุนต่อครัวเรือนในปี 2566 เฉลี่ยอยู่ที่ เดือนละ 1,517 บาท มีจำนวนลดลงเมื่อเทียบกับปี 2565 เฉลี่ยอยู่ที่เดือนละ 1,623 บาท โดยแหล่งรายได้ของครอบครัวนักเรียนทุนมากกว่า 50% มีอาชีพรับจ้าง และรองลงมาทำเกษตรกรรมซึ่งมีความไม่แน่นอนเรื่องรายได้
นอกจาก “รายได้” แล้ว “สถานภาพครอบครัว”
ก็เป็นความเสี่ยงสูงที่ทำให้เด็กหลุดจากระบบการศึกษาได้
ก็เป็นความเสี่ยงสูงที่ทำให้เด็กหลุดจากระบบการศึกษาได้
มูลนิธิยุวพัฒน์ประเมินว่า ปัจจุบันเด็กขาดโอกาสกว่า 3 ล้านคนทั่วประเทศไทย ทั้งเด็กยากจน เด็กถูกทอดทิ้งและชนกลุ่มน้อย เยาวชนอายุ 12 – 17 ปี ยังขาดโอกาสทางการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ขณะที่เยาวชนนับแสนคนไม่มีโอกาสได้เรียนต่อชั้นมัธยมศึกษา เพราะขาดแคลนทุนทรัพย์และต้องออกจากโรงเรียนเพื่อมาทำงานหาเลี้ยงตนเองและครอบครัว นั่นหมายถึงเด็กเหล่านี้จะสูญเสียโอกาสในชีวิต ไม่ว่าจะเป็น โอกาสที่จะพัฒนาตัวเอง โอกาสที่จะได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีเพื่อไปสู่การเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต โอกาสที่จะทำตามความฝัน ฯลฯ แต่ผลกระทบที่มากกว่านั้นคือ โอกาสของประเทศที่จะสูญเสียประชากรคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความสามารถในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
แน่นอนว่าเด็กหลุดออกจากระบบเพราะความจนมากที่สุด ขณะที่ช่วงชั้นที่หลุดจากระบบมากที่สุด คือ ระหว่างชั้น ม.2 ขึ้น ม.3 / ชั้น ป.6 ขึ้น ม.1 และ ชั้น ม.3 ขึ้น ม.4 สาเหตุหลักมาจากเมื่อเรียนครบตามกฎหมายภาคบังคับ ผู้ปกครองหรือเด็กในครอบครัวที่มีฐานะยากจน ไม่มีค่าเดินทางไปโรงเรียน หรือออกไปเพื่อช่วยพ่อแม่ทำงานเพื่อเลี้ยงปากท้อง จึงมักตัดสินใจออกจากระบบการศึกษา ขณะเดียวกันรัฐก็ไม่สามารถเติมเต็มด้านโครงสร้างพื้นฐาน
การแก้ปัญหาที่ “มูลนิธิยุวพัฒน์” และเครือข่ายพยายามทำมาอย่างต่อเนื่อง คือ ให้ทุนการศึกษา เพื่อช่วยเหลือเด็กนักเรียนที่มีฐานะทางครอบครัวยากจนพิเศษ และเด็กนักเรียนเหล่านั้นมีความเสี่ยงที่จะไม่ได้เรียนต่อหรือเสี่ยงที่จะลาออกกลางคัน ใช้เกณฑ์การคัดเลือกโดยครอบครัวต้องสนับสนุนให้เด็กเรียนต่อในระดับชั้นมัธยม (ม.1 – ม.6) หรือเทียบเท่า (ปวช.1 – ปวช.3) และครอบครัวของเด็กฐานะยากจน โดยวัดจากรายได้ครัวเรือนเฉลี่ยน้อยกว่า 3,000 บาท/คน/เดือน จะเห็นได้ว่าการจะช่วยเด็กยากจน 1 คนให้ได้กลับเข้าเรียน ไม่ใช่แค่เด็ก 1 คนเท่านั้น แต่อาจต้องหมายรวมถึงช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจของครอบครัวได้อีกด้วย เพื่อไม่ให้เด็กกลับไปสู่วังวนเดิม
ปีการศึกษา 2566 มูลนิธิยุวพัฒน์มีนักเรียนทุนในความดูแลจำนวน 6,269 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 31 มีนาคม 2566) ซึ่งต้องใช้งบประมาณมากกว่า 50 ล้านบาท เพื่อเป็นทุนการศึกษาแก่นักเรียนที่ขาดโอกาส โดยหวังว่าจะสนับสนุนและส่งเสริมให้เด็กเหล่านี้มีโอกาสเรียนต่อจนจบชั้น ม.6 หรือเทียบเท่า
นอกจากการให้ทุนการศึกษากับนักเรียนทุนในทุกเทอมแล้ว มูลนิธิฯ ยังปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม ผ่านยุวพัฒน์สาร มีระบบดูแลประคับประคองเพื่อไม่ให้นักเรียนทุนหลุดออกจากระบบการศึกษากลางคันด้วยระบบพี่เลี้ยงอาสาทางโทรศัพท์ พี่เลี้ยงอาสาออนไลน์ โดยกลุ่มปิดเฟซบุ๊กนักเรียนทุนยุวพัฒน์ มีทีมลงพื้นที่เยี่ยมคุณครูที่ดูแลนักเรียนทุน พร้อมทั้งติดตามความเป็นไปของนักเรียนทุนทั้งที่โรงเรียนหรือที่บ้าน
เพื่อไม่ให้เด็กและเยาวชนหลุดจากระบบการศึกษาไปมากกว่านี้ นอกจากภาครัฐจะพิจารณาในฐานะที่เป็นเรื่องเร่งด่วน และมีมาตรการในการช่วยเหลือดูแลกลุ่มเด็กที่มีปัญหาการเข้าถึงระบบการศึกษาและมีประสิทธิภาพ เราทุกคนในสังคมที่อยากเห็นประเทศไทยขับเคลื่อนไปสู่อนาคตที่ดีก็สามารถช่วยกันคนละไม้คนละมือคอยประคับประคอง มอบโอกาสและช่วยกันโอบอุ้มเด็กๆ ไม่ให้หลุดจากระบบการศึกษา ให้สามารถก้าวเดินไปสู่อนาคตที่พวกเขาคาดหวังไว้ได้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นและก้าวสำคัญของระบบการศึกษาไทย