ครั้งสุดท้ายที่เราไม่ได้ใช้อินเทอร์เน็ตหรือไม่ได้เล่นโซเชียลมีเดียเลยภายใน 24 ชั่วโมงคือเมื่อไรกันนะ? นานจนลืมไปแล้วใช่หรือเปล่า? ทุกวันนี้การใช้อินเทอร์เน็ตเป็นสิ่งจำเป็น (เรียกว่าเป็นปัจจัยที่ 5 เลยก็ว่าได้) และกลายเป็นความเคยชินของคนจำนวนมาก แต่เมื่อมองย้อนกลับไปการเกิดขึ้นของอินเทอร์เน็ตถือเป็นจุดเปลี่ยนที่ยิ่งใหญ่สำหรับมนุษยชาติเลยทีเดียว
จากศตวรรษที่ 20 (ค.ศ. 1901–2000) ที่ในช่วงต้นถึงกลางสามารถสรุปได้คร่าวๆ ด้วยสงครามโลกทั้ง 2 ครั้ง และการดำรงรักษาเอกราชของชาติต่างๆ หลังจากผ่านพ้นยุคล่าอาณานิคมไป แล้วปิดท้ายด้วยการเกิดขึ้นของอินเทอร์เน็ตในช่วงท้ายของศตวรรษ เข้าสู่ศตวรรษที่ 21 (ค.ศ. 2001 – 2100) ที่เป็นยุคแห่งนวัตกรรมอย่างเต็มตัวเพราะมีการพัฒนาด้านเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดดจนมีสิ่งประดิษฐ์และเครือข่ายเกิดขึ้นมากมาย เช่น โซเชียลมีเดีย อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Internet of Things : IoT) และปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) เป็นต้น รูปแบบและโอกาสในการเรียนรู้ก็เริ่มเปลี่ยนแปลงไปตามกระแส การเรียนรู้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในบรรยากาศการมานั่งเรียนที่โต๊ะเรียนพร้อมเพื่อนร่วมชั้นเรียนและฟังคุณครูอธิบายหน้ากระดานเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้การเรียนรู้เกิดขึ้นได้ทุกที่และทุกเวลาเพราะทุกวันนี้เรามีฐานข้อมูลพร้อมให้เข้าไปค้นคว้าด้วยเพียงสัมผัสปลายนิ้ว หนึ่งคลิกโดยใช้เวลาเพียงเสี้ยววินาที และการติดตามข้อมูลข่าวสารก็ไม่จำเป็นต้องจำกัดอยู่กับแค่การฟังวิทยุ อ่านหนังสือพิมพ์ และดูโทรทัศน์อีกต่อไป
ปัจจุบันคนนิยมติดตามข่าวจากโซเชียลมีเดียมากขึ้น เนื่องจากเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าทำให้เราเข้าถึงข้อมูลในโลกออนไลน์ที่ถูกแชร์โดยคนทั่วไปได้ง่ายและรวดเร็วมากขึ้น มีข้อมูลจากแหล่งข้อมูลนับไม่ถ้วนที่พร้อมให้เข้าถึง ยิ่งเวลาผ่านไปแนวโน้มในการติดตามข้อมูลข่าวสารผ่านสิ่งที่สังคมออนไลน์แชร์ยิ่งสูงมากขึ้น เห็นได้จากแผนภูมิวงกลมด้านล่าง (ข้อมูล ณ เดือนพฤศจิกายน 2562)
ที่มา: โครงการสำรวจพฤติกรรมและแนวโน้มการบริโภคสื่อของไทย ดำเนินโครงการโดยสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
แสดงให้เห็นว่า การติดตามข้อมูลข่าวสารจากสังคมออนไลน์ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ โดยจะสังเกตได้ถึงความเหลื่อมล้ำระหว่างเจเนอเรชัน (Generation Divide) ในด้านพฤติกรรมในการบริโภคสื่อระหว่างกลุ่มคนที่มีอายุ 57 ปีขึ้นไป (ได้แก่ กลุ่มเบบี้บูมเมอร์ และกลุ่มเจเนอเรชัน จี.ไอ.) กับกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีอายุน้อยกว่า 41 ปี (กลุ่มเจเนอเรชัน วาย และกลุ่มเจเนอเรชัน แซด) โดยมีกลุ่มเจเนอเรชัน เอกซ์ ที่มีพฤติกรรมคาบเกี่ยวระหว่างทั้งสองกลุ่มข้างต้น สมมติฐานที่เราสามารถตั้งได้จากแผนภูมินี้ คือ ความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นระหว่างเจเนอเรชันสามารถอธิบายได้ด้วยความก้าวหน้าของอินเทอร์เน็ต โดยได้เกิดระบบหนึ่งที่สามารถเชื่อมโยงข้อมูลจากแหล่งข้อมูลหนึ่งไปยังอีกแหล่งข้อมูลได้แม้จะอยู่ห่างไกลกันแค่ไหนก็ตาม หรือ World Wide Web (WWW) เมื่อ 31 ปีที่แล้ว (ค.ศ. 1989) ทำให้สามารถใช้เว็บบราวเซอร์ในการติดตามข้อมูลข่าวสารผ่านอินเทอร์เน็ตได้อย่างรวดเร็วและมีการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างแพร่หลายมากขึ้น จนนำไปสู่จุดกำเนิดของโซเชียลมีเดียในเวลาต่อมา ซึ่งถ้านับจากปีที่เกิด WWW ก็สอดคล้องกับการที่สัดส่วนของการติดตามข่าวจากการแชร์ของสังคมออนไลน์ของกลุ่มเจเนอเรชัน วาย เติบโตขึ้นถึง 13.9% เมื่อเทียบกับกลุ่มเจเนอเรชัน เอกซ์ ที่คาบเกี่ยวระหว่างยุคก่อนกำเนิดอินเทอร์เน็ตกับยุคที่เริ่มมีอินเทอร์เน็ตจึงทำให้อาจไม่คุ้นเคยกับความสะดวกและการสามารถเข้าถึงสื่อได้ตลอดเวลาเท่ากับอีก 2 กลุ่มเจเนอเรชันที่ตามมา ซึ่งเกิดในช่วงที่การพัฒนาเทคโนโลยีด้านการสื่อสารเป็นไปอย่างรวดเร็ว มีการใช้อินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียอย่างแพร่หลาย ประกอบกับมีการกระจายสัญญาณอินเทอร์เน็ตให้ครอบคลุมทั่วถึงพื้นที่ต่างๆ และการพัฒนาเทคโนโลยีเครื่องมือสื่อสารทำให้เข้าถึงข้อมูลข่าวสารผ่านช่องทางสังคมออนไลน์ได้ง่ายยิ่งกว่าเดิม
จึงปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ยิ่งเวลาผ่านไป ผู้คนยิ่งหันไปใช้เวลากับหน้าจอโทรศัพท์/แท็บเลต/คอมพิวเตอร์มากขึ้น แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากกว่าเวลาที่ใช้ไปกับโลกออนไลน์คือเนื้อหาและข้อมูลต่างๆ ที่พวกเราซึมซับจากการใช้เวลาตรงนั้น เพราะการเผยแพร่ข่าวสารสามารถเกิดขึ้นได้วินาทีต่อวินาที โดยโซเชียลมีเดียเป็นแพลตฟอร์มที่ทำให้การเป็นผู้ให้ข่าวสารง่ายพอๆ กับการเป็นผู้เสพข่าวสาร และเราไม่สามารถรู้ได้แน่นอนว่าข่าวที่เพื่อนในสังคมออนไลน์แชร์ต่อๆ กันนั้นเป็นความจริง 100% หรือไม่
ตัวอย่างเช่น ตอนที่เรื่องราวของเกม Momo Challenge ได้รับความสนใจจากสื่อทั่วโลก รายละเอียดของเกมนี้ที่เล่าต่อกันมามีอยู่ว่า เด็กๆ และเยาวชนบางคนจะได้รับภารกิจจาก Momo หญิงสาวที่มีตาโปนโตและปากฉีกกว้างผิดมนุษย์มนา ผ่านสื่อออนไลน์ โดย Momo จะสั่งให้เด็กทำอะไรที่รุนแรงไปจนถึงขั้นเสียชีวิต และถ้าหากไม่ทำตามภารกิจ เธอจะตามไปหลอกหลอน ข่าวเกี่ยวกับ Momo Challenge ที่ถูกนำเสนออย่างแพร่หลายได้สร้างความตื่นตระหนกให้กับผู้ปกครองของเด็กๆ ทั่วโลกเป็นอย่างมากเพราะมีคนอ้างว่าภาพของ Momo ถูกตัดต่อให้แทรกอยู่ในคลิปวิดีโอการ์ตูนที่ได้รับความนิยมหลายเรื่องบนเว็บไซต์ YouTube และลูกของเขาฝันร้ายและมีพฤติกรรมแปลกไปหลังจากได้ดูคลิป Momo รวมถึงมีคดีฆ่าตัวตายของเด็กและเยาวชนหลายคนถูกนำมาเชื่อมโยงกับเกมนี้ แต่แท้จริงแล้ว Momo เป็นแค่ผลงานประติมากรรมของศิลปินชาวญี่ปุ่นที่ถูกนำรูปไปใช้ และส่วนที่ถูกอ้างว่าเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของเด็กนั้นไม่ได้มีการพิสูจน์ว่าเป็นจริงแต่อย่างใด
ทีนี้เราจะสามารถจัดการกับข้อมูลเท็จในสื่อต่างๆ โดยเฉพาะในสังคมออนไลน์ได้อย่างไร? ถึงแม้ว่ารัฐบาลในประเทศต่างๆ จะมีการจัดตั้งหน่วยงานหรือบังคับใช้กฎหมายเพื่อรับมือกับข่าวปลอม แต่ดูเหมือนว่ากลไกรัฐเหล่านี้จะไม่ใช่คำตอบสุดท้าย อย่างประเทศไทยเองก็มีการจัดตั้งศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม (Anti-Fake News Center) โดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเมื่อปีที่แล้ว แต่ด้วยการที่ศูนย์ฯ นี้ดำเนินงานโดยภาครัฐเป็นหลักจึงถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงดุลยพินิจในการตัดสินว่าข่าวไหนจริงข่าวไหนปลอม ซึ่งบางทีก็ไม่ตรงกับสิ่งที่ประชาชนคิดจนอาจถูกมองว่า ศูนย์ฯ นี้ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นเครื่องมือในการสกัดกั้นการรับรู้ข่าวสารและการแสดงความคิดเห็นของประชาชน เพราะไม่มีอะไรการันตีว่า รัฐตรวจสอบข้อมูลอย่างเป็นกลางโดยไม่มีการยกเว้นให้ข้อมูลเท็จที่เป็นประโยชน์ต่อรัฐบาลหรือไม่ อีกทั้งการพิสูจน์และตรวจสอบแหล่งที่มาของข้อมูลข่าวสารต้องเป็นไปตามกระบวนการที่ต้องมีการส่งต่อเรื่องกันไปมาระหว่างหน่วยงาน รัฐจึงอาจต้องใช้เวลานานจนกว่าจะถึงขั้นที่สามารถเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องได้ อย่างไรก็ตามกลไกรัฐไม่ใช่ทางออกหนึ่งเดียวของปัญหานี้ ลองมาดูที่ภาคประชาชนกันบ้าง
ผู้รับสารคือเป้าหมายของการสื่อสาร และในยุคนี้ผู้รับสารส่วนใหญ่คุ้นเคยกับความรวดเร็วและความเร้าอารมณ์ของข้อมูลข่าวสาร การส่งต่อก็ทำได้อย่างง่ายดายแค่กดแชร์ ทำให้หลายคนเชื่อข้อมูลข่าวสารที่สอดคล้องกับความเชื่อของเขาเองโดยไม่ได้ตรวจสอบข้อมูลอย่างถี่ถ้วนก่อนส่งต่อชุดข้อมูลนี้ไปในวงกว้าง ทำให้ความคิดของคนจำนวนมากได้รับอิทธิพลจากตรงนี้ การปลอมข่าวหรือโน้มน้าวให้เชื่อในสิ่งหนึ่งที่แม้จะไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องจึงไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป ดังนั้นการสนับสนุนให้มีการพัฒนาทักษะการรู้เท่าทันสื่อดิจิทัล (Digital Media Literacy) โดยเฉพาะผู้รับสารที่อยู่ในวัยเด็ก จึงเป็นหนึ่งในทางออกที่มีความยั่งยืนและมีประสิทธิภาพมากที่สุด เนื่องจากเด็กปฐมวัยมีพัฒนาการด้านสติปัญญา (Cognitive Development) ที่รวดเร็วมาก ดังนั้น การเริ่มต้นสร้างหรือพัฒนาทักษะหนึ่งๆ ในช่วงปฐมวัยซึ่งเป็นวัยแห่งการเรียนรู้จึงสามารถนำไปสู่การก่อเกิดเป็นความสามารถติดตัวและเป็นฐานการพัฒนาต่อเนื่องไปตลอดชีวิต (Lifelong Learning)
อย่างไรก็ตาม การสร้างหรือพัฒนาทักษะการรู้เท่าทันสื่อดิจิทัลในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องผลักดันให้เด็กๆ เข้าใจโทษและประโยชน์ของสื่อได้อย่างถ่องแท้และทันที เพราะทักษะและความเข้าใจในสิ่งนี้จะเพิ่มขึ้นได้ตามระดับความสามารถทางการรู้คิด (Cognitive Abilities) ของเด็กๆ ซึ่งพัฒนาได้โดยธรรมชาติหากเด็กๆ รู้จักตั้งคำถาม ทั้งนี้เราควรคำนึงถึงผลกระทบของการใช้เวลากับหน้าจอโทรศัพท์ โทรทัศน์ หรือคอมพิวเตอร์มากเกินไปต่อพัฒนาการทางสมองของเด็ก โดยนิตยสารไทม์ของสหรัฐอเมริกาได้เล่าถึงผลการวิจัยเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในบทความเรื่อง “Too Much Screen Time Can Have Lasting Consequences for Young Children’s Brains” ไว้ว่า เด็กที่ใช้เวลากับหน้าจอโทรทัศน์หรือคอมพิวเตอร์มากมีพัฒนาการด้านต่างๆ เช่น ด้านการสื่อสาร แย่กว่าเด็กวัยเดียวกันที่ใช้เวลากับหน้าจอน้อยกว่า โดยเฉพาะในเด็กช่วงอายุ 2-5 ปีที่สมองสามารถพัฒนาได้มากที่สุด
เพราะฉะนั้นเราอาจเริ่มถามคำถามง่ายๆ หลังจากอ่านเรื่องสั้นหรือดูรายการโทรทัศน์ตอนสั้นๆ ด้วยกันก่อน เช่น เมื่ออ่านนิทานให้เขาฟังหรือดูคลิปการ์ตูนด้วยกันก็อาจจะถามเขาหน่อยว่า “ใครเป็นคนเล่าเรื่องนี้กันนะ?” โดยคำตอบในเรื่องเดียวกันจะเปลี่ยนไปตามวัยและระดับการคิดอ่าน และคำถามที่ถามจะช่วยให้พัฒนาการของเด็กๆ เป็นไปอย่างสมวัย ตัวอย่างเช่น หากเราถามว่าใครคือผู้เล่าเรื่องในรายการกล้วยหอมจอมซน เด็กเล็กอาจตอบว่าคือกล้วยหอม B1 และ B2 เพราะเป็นตัวละครที่เด่นที่สุด เมื่อเด็กโตขึ้นมาอีกนิดก็อาจสังเกตถึงเสียงของผู้บรรยายที่พูดคั่นระหว่างฉากจนชี้ได้ว่า ผู้บรรยายต่างหากที่เป็นคนเล่า ถัดไปอีกขั้นหนึ่งคือเมื่อเด็กๆ เริ่มมีทักษะการวิเคราะห์ เด็กๆ ก็จะเข้าใจว่ารายการที่จะฉายทางโทรทัศน์จะเกิดขึ้นได้ต้องมีบทโทรทัศน์ ดังนั้นคนเขียนบทก็คือคนเล่าเรื่อง หรือหากคุณแม่อ่านเทพนิยายเรื่องเจ้าชายกบให้ลูกฟัง ลูกที่ยังเป็นเด็กเล็กก็จะตอบว่าคนเล่าเรื่องก็คือคุณแม่ แต่ถ้าโตขึ้นมาอีกหน่อยก็อาจตอบว่า พี่น้องตระกูลกริมม์ ซึ่งเป็นชื่อผู้เขียนที่ปรากฏอยู่บนปกหนังสือ เป็นต้น
คำตอบเหล่านั้นไม่มีผิดไม่มีถูก จุดประสงค์ของการถามไม่ใช่เพื่อทดสอบระดับสติปัญญาของเด็กแต่เป็นการให้โอกาสเด็กๆ ได้แสดงความคิดเห็นต่อสิ่งที่เขาได้ดูหรือได้ยินในมุมมองของตนเอง ซึ่งจะเป็นการสะท้อนความคิดหรือมุมมองของเด็ก ๆ ต่อสื่อชิ้นหนึ่งและปูพื้นไปสู่การคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผลและรู้จักวิพากษ์ได้ โดยการให้ความสำคัญกับการวิพากษ์ชุดข้อมูลจากสื่อหนึ่งๆ นั่นหมายความว่า เราต้องรู้จักตั้งคำถามต่อชุดข้อมูลนั้น ๆ และระมัดระวังในการเล่า/แชร์ต่อจนกว่าจะยืนยันได้ว่าเป็นความจริง โดยอาจเริ่มด้วยการตั้งคำถามว่า “ใครเป็นคนให้ข้อมูลนี้และเชื่อถือเขาได้มากแค่ไหน?” หรือ “ชุดข้อมูลนี้เป็นการเล่าข้อเท็จจริงหรือความคิดเห็นของผู้เขียน?” ตลอดจน “ชุดข้อมูลนี้มีวัตถุประสงค์แอบแฝง (Hidden Agenda) ใดๆ หรือไม่” ซึ่งตรงนี้คุณครูก็สามารถช่วยพัฒนาผ่านหลักสูตรการเรียนได้เช่นกัน เช่น การให้นักเรียนได้มีโอกาสลองสร้างสื่อของตัวเองขึ้นมาชิ้นหนึ่ง ในกระบวนการสร้างหรือรวบรวมข้อมูลนั้น นักเรียนก็จะได้ฝึกประเมินความน่าเชื่อถือของแต่ละแหล่งข้อมูล (ทั้งออฟไลน์และออนไลน์) และตรวจสอบข้อเท็จจริง (fact-checking) ก่อนสรุปข้อมูล เป็นต้น
เราต่างเคยได้ยินประโยคที่ว่า “เด็กในวันนี้คือผู้ใหญ่ในวันหน้า” และประโยคนี้ก็ยังคงเป็นจริงเสมอ แต่สิ่งที่ควรคำนึงถึงเพิ่มเติมในปัจจุบันนี้คือ สภาพแวดล้อมที่เด็กเติบโตมาในอดีตกับสภาพแวดล้อมที่เด็กเติบโตมาในวันนี้นั้นไม่เหมือนกัน นั่นหมายความว่า ตัวเราตอนนี้ในวัยผู้ใหญ่ที่เคยเป็นเด็กมาก่อนก็ไม่อาจสามารถนำบทเรียนที่เราเรียนรู้จากตอนเด็กมาใช้กับเด็กรุ่นหลังเราได้เสมอไป บางทีก็ไม่สามารถใช้ความรู้และทักษะบางอย่างในอดีตมาแก้ปัญหาในปัจจุบันได้ดี เพราะยุคสมัยเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว อะไรที่เคยเป็นเพียงแค่จินตนาการก็สามารถเป็นจริงขึ้นมาได้ ความจำเป็นในการมีทักษะใดทักษะหนึ่งเปลี่ยนไป ฐานข้อมูลที่พร้อมให้เข้าไปสืบค้นก็ขยายไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ดังนั้น เราจึงควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะของเด็กให้ตอบสนองต่อพลวัตการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี เพราะปัจจุบันแค่คลิกเดียวก็มีข่าวสารมาเสิร์ฟถึงที่ ทักษะการรู้เท่าทันสื่อดิจิทัลจึงมีความสำคัญมากอย่างที่ไม่เคยปรากฏในศตวรรษก่อนหน้า แต่การที่จะปลูกฝังทักษะที่จำเป็นในศตวรรษนี้ได้ต้องได้รับความร่วมมือจากทั้งครอบครัวโรงเรียน และสังคมรอบข้าง ในการปรับตัวเพื่อสร้างบรรยากาศให้เหมาะกับการเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ ของเด็ก รวมถึงความพร้อมที่จะเป็นแรงสนับสนุนและสร้างพื้นที่ให้เด็กได้คิดวิเคราะห์แล้วกล้าแสดงความคิดเห็นของตนเอง โดยไม่ตั้งเกรดเฉลี่ยเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จ
ขอบคุณข้อมูลจาก :
http://www.oecd.org/education/2030-project/about/E2030%20Introduction_FINAL.pdf
https://www.washingtonpost.com/technology/2019/03/01/momo-challenge-isnt-viral-danger-children-online-it-sure-is-viral/
https://www.betterinternetforkids.eu/web/portal/practice/awareness/detail?articleId=4400860
https://www.medialit.org/reading-room/abcs-media-literacy-what-can-pre-schooolers-learn
https://time.com/5514539/screen-time-children-brain/
เรื่อง : ชนกนันท์ พังงา
ภาพประกอบ : https://www.pinterest.com