อย่างเพิ่งรีบร้อนตัดสินใจเลือกว่าจะเรียนต่ออะไร มาดูสิ่งสำคัญกันก่อน
ถามตัวเองด้วยคำถามง่ายๆ ว่า “อนาคตฉันอยากทำงานอะไร? และพิจารณาด้วยว่างานที่เราอยากทำกับความสามารถและความถนัดของเรานั้น ไปด้วยกันหรือไม่ น้องๆ บางคนอยากเป็นคุณหมอแต่ไม่ค่อยชอบเพิ่มเติมความรู้ใหม่ๆ แบบนี้อาจจะต้องเลือกอาชีพอื่นสำรองไว้หรือมองหาอาชีพในฝันอื่นๆ ที่สอดคล้องกับความชอบและความถนัดของเรา
ค้นหาข้อมูลอาชีพต่างๆ
ถือเป็นเป็นการเปิดโลกกว้างทางอาชีพให้ตัวเราเอง ศตวรรษ ที่ 21 นี้ สื่อสารสนเทศและเทคโนโลยีต่างๆ มีมากมายให้เราหยิบจับมาใช้ให้เป็นประโยชน์ ลองใช้อินเทอร์เน็ตค้นหาข้อมูลอาชีพต่างๆ ซึ่งจะช่วยให้เราเข้าใจลักษณะของอาชีพ ข้อดี ข้อเสียของอาชีพนั้นๆ ได้มากขึ้น
เลือกอาชีพที่ถูกใจสัก 2-3 อาชีพ และพิจารณาดูว่า อาชีพที่เราชอบนั้น เน้นความรู้ทางด้านทฤษฎีหรือเน้นประสบการณ์การปฏิบัติ อาชีพที่เน้นความรู้ทางด้านทฤษฎี เช่น แพทย์ พยาบาล เภสัช ครู อาจารย์ นักวิเคราะห์ นักวิจัย ตำรวจ นักกฎหมาย เป็นต้น ส่วนอาชีพที่เน้นประสบการณ์การปฏิบัติ เช่น นักออกแบบการฟิกดีไซน์ งานช่าง งานขาย งานการตลาด งานด้านบัญชีการเงิน เป็นต้น
ค้นหาข้อมูลแบบเจาะลึก
ข้อมูลของสถาบันการศึกษาที่เปิดสอนคุณสมบัติของผู้ที่จะสมัครเรียน ต้องจบสายสามัญหรือสายอาชีพ เมื่อเรียนจบแล้วต้องสอบเข้าทำงานหรือต้องสอบเข้าเรียนต่อยอดวิชาความรู้อีกหรือไม่ ใช้เวลาเรียนกี่ปี ค่าใช้จ่ายตลอดหลักสูตรเท่าไหร่ อาชีพนั้นต้องทำงานที่ไหน จังหวัดบ้านเกิดของเราหรือจังหวัดใกล้เคียงมีงานรองรับหรือไม่
โลกของการทำงานในอนาคตข้างหน้าเต็มไปด้วยการแข่งขัน องค์กรต่างๆ ต้องการบุคลากรที่มีคุณภาพและศักยภาพ และพร้อมที่จะพัฒนาตัวเองให้มีความรู้ ความสามารถ การที่เราจะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความสุขไปตลอดชีวิตของการทำงาน เราต้องรู้สึกสนุกกับงานที่ทำ และพร้อมที่จะแก้ไข พัฒนา ปรับปรุงให้ตนเอง และงานมีคุณภาพมากขึ้น
สายสามัญ
สำหรับผู้ชื่นชอบความรู้ด้านทฤษฏี
แผนการเรียนวิทย์ – คณิต เน้นการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ อาชีพที่ต้องอาศัยความรู้จากการเรียนแผนการเรียนวิทย์ – คณิต เช่น กลุ่มงานทางด้านการดูแลสุขภาพ นักออกแบบโครงสร้าง เกษตรกรรม เช่น เทคโนโลยีการเกษตร อุตสาหกรรมการเกษตร นักวิเคราะห์ นักวิจัย เป็นต้น
1. แผนการเรียน ศิลป์-คำนวณ
เน้นการเรียนวิชาทางด้านภาษาและคณิตศาตร์
อาชีพที่ต้องอาศัยความรู้จากการเรียนแผนการเรียนศิลป์-คำนวณ เช่น นักบริหาร นักเศรษฐศาสตร์ นักออกแบบตกแต่งภายใน นักสังคมสงเคราะห์ งานด้านนิเทศศาสตร์ อักษรศาสตร์ เป็นต้น
2. แผนการเรียน ศิลป์ – ภาษา
เน้นการเรียนวิชาทางด้านภาษาศาสตร์
อาชีพที่ต้องอาศัยความรู้จากการเรียนแผนการเรียนศิลป์ – ภาษา เช่น นักเขียน นักแปลหนังสือล่าม มัคคุเทศก์ พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน สื่อสารมวลชน งาน้านการโรงแรม เป็นต้น
3. แผนการเรียน ศิลป์ – สังคม
เน้นการเรียนวิชาทางด้านสังคมศาสตร์
อาชีพที่ต้องอาศัยความรู้จากการเรียนแผนการเรียนศิลป์ – สังคม เช่น นักกฎหมาย นักปกครอง นักโบราณคดี นักประวัติศาสตร์ เป็นต้น
สำหรับน้องๆ ที่คิดว่าตัวเองชอบความรู้ทางด้านทฤษฎีหรือมีความฝันอยากทำงานเหล่านี้ การเรียนสายสามัญจะเป็นทางเลือกที่ดีในการสานฝันของน้องๆ อยากจะเรียนต่อในระดับปริญญาตรี น้องๆ จะต้องเตรียมตัวเพื่อสอบเข้าและใช้เวลาในการเรียนอย่างน้อย 4 ปี
สายอาชีพ
เหมาะกับผู้ที่ชื่นชอบด้านการลงมือปฏิบัติ
1. อุตสาหกรรม
อาชีพที่เกี่ยวข้อง เช่น งานด้านเครื่องกล เครื่องมือกลและซ่อมบำรุง โลหะ ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ การก่อสร้าง สิ่งพิมพ์ แว่นตาและเลนส์ การต่อเรือ ผลิตภัณฑ์ยาง
2. พาณิชยกรรม บริหารธุรกิจ
อาชีพที่เกี่ยวข้อง เช่น งานการบัญชี การขาย เลขานุการ คอมพิวเตอร์ธุรกิจ ธุรกิจค้าปลีก การประชาสัมพันธ์ งานจัดการ
3. ศิลปกรรม
อาชีพที่เกี่ยวข้อง เช่น งานวิจิตรศิลป์ การออกแบบ ศิลปหัตกรรม เครื่องเคลือบดินเผา เทคโนโลยีการถ่ายภาพ เครื่องประดับอัญมณี ช่างทองหลวง เทคโนโลยีศิลปกรรมการพิมพ์สกรีน คอมพิวเตอร์กราฟิก ศิลปหัตกรรมโลหะ รูปพรรณและเครื่องประดับ เทคโนโลยีนิเทศศิลป์
4. คหกรรม
อาชีพที่เกี่ยวข้อง เช่น งานผ้าและเครื่องแต่งกาย อาหารและโภชนาการ เสริมสวย
5. เกษตรกรรม
อาชีพที่เกี่ยวข้อง เช่น งานด้านพืช – สัตว์ อุตสาหกรรมเกษตร ช่างเกษตร เกษตรทั่วไป
6. ประมง
อาชีพที่เกี่ยวข้อง เช่น การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ แปรรูป สัตว์น้ำ ประมงทะเล
7. อุตสาหกรรมท่องเที่ยว
อาชีพที่เกี่ยวข้อง เช่น การโรงแรมและการท่องเที่ยว
8. อุตสาหกรรมสิ่งทอ
อาชีพที่เกี่ยวข้อง เช่น เทคโนโลยีสิ่งทอ เคมีสิ่งทอ อุตสาหกรรมเสื้อผ้าสำเร็จรูป
9. เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
อาชีพที่เกี่ยวข้อง เช่น เทคโนโลยีสารสนเทศ เทคโนโลยีระบบเสียง
วิธีการง่ายๆ ที่จะช่วยให้ตัดสินใจเลือกเรียนต่อได้อย่างเหมาะสม
⇒ ตระหนักรู้ในความจำเป็นของการตัดสินใจ เราต้องเห็นความสำคัญของการตัดสินใจเลือกเรียนต่อในครั้งนี้ก่อนว่ามีความสำคัญกับอนาคตของเรามากน้อยแค่ไหน
⇒ ตรวจสอบว่าเพราะอะไรเราจึงยังไม่สามารถตัดสินใจเลือกได้ว่าจะเรียนต่ออะไรดี…เช่น ไม่ทราบความแตกต่างระหว่างการเรียน ม.ปลาย กับ ปวช. ไม่รู้ว่าตัวเราเองต้องการอะไรกันแน่ ฯลฯ
⇒ สร้างทางเลือกเพื่อหาทางออกให้กับสาเหตุที่ทำให้เราตัดสินใจเลือกไม่ได้…เช่น ปรึกษาคุณครูแนะแนว รุ่นพี่ ผู้ปกครอง เพื่อขอคำแนะนำหรือความคิดเห็นอื่นๆ ที่เราอาจมองข้ามไป หรือค้นหาข้อมูลจากแหล่งข้อมูลต่างๆ เพิ่มเติม
⇒ ประเมินทางเลือก…โดยพิจารณาว่าสายการเรียนที่เราคิดว่าจะเลือกเรียนต่อนั้นเหมาะสมกับเรามากน้อยแค่ไหน มีความเป็นไปได้หรือไม่ และเป็นเส้นทางพาเราไปสู่อาชีพที่เราต้องการได้อย่างไร
⇒ ตัดสินใจเลือก!!!…โดยเลือกสานการเรียนที่เหมาะสมกับเรามากที่สุด ไม่ต้องกังวลผลจากการเลือกว่าจะดีหรือไม่ จะเรียนยากหรือง่าย จะเรียนไหวหรือไม่ไหว หากน้องๆ พิจารณาเลือกสายการเรียนต่อโดยใช้เหตุผลในการตัดสินใจแล้ว ผลที่ตามมาย่อมไม่เลวร้ายเกินกว่าจะแก้ไข
⇒ ลงมือปฏิบัติและเดินตามสิ่งที่น้องๆ เลือกอย่างมั่นใจและทุ่มเท…น้องๆ ต้องเตรียมใจยอมรับกับทุกๆ สิ่งที่จะเกิดขึ้น ความยากของการเรียน ความลำบากในการเดินทางหรือการที่ต้องต่อสู้กับอุปสรรคต่างๆ
แน่นอนว่าทุกๆ อย่าง ที่เราลงมือทำย่อมมีอุปสรรคกีดขวาง แต่หากน้องๆ เลือกในสิ่งที่เรารัก เราจะมีกำลังใจในการก้าวผ่านอุปสรรคต่างๆ ไปได้เสมอ
ทางเลือกในการเรียนต่อหลังจบ ม.3 ของเรา ไม่ได้มีเพียงการเรียนในโรงเรียนของรัฐบาล เอกชน วิทยาลัยเทคนิค วิทยาลัยการอาชีพ หรือวิทยาลัยสารพัดช่างเท่านั้น ปัจจุบันมีสถานศึกษาอีกประเภทหนึ่งซึ่งเปิดรับนักเรียนชั้น ม.3 เข้าเรียนต่อ เช่น โรงเรียนช่างฝีมือทหาร โรงเรียนดุริยางค์ทหารเรือ โรงเรียนดุริยางค์ทหารบก โรงเรียนจ่าอากาศ วิทยาลัยในวัง (หญิง) วิทยาลัยในวัง (ชาย) ทางเลือกในการเรียนต่อหลังจบชั้น ม.3 ของเรามีมากมาย ขอแค่เราให้ความสำคัญและให้เวลากับการสำรวจตรวจสอบตัวเองปรึกษาครูแนะแนว และสืบค้นข้อมูลในสายการเรียนที่เราสนใจ เพื่อประกอบการตัดสินใจ เพราะอนาคตเป็นสิ่งที่เราต้องกำหนดเองว่าจะให้เป็นอย่างไร
ข้อมูลบางส่วน : http://guidance.obec.go.th