การสอนลูกวัยรุ่นให้รู้จักการจัดการเงินเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้พวกเขาสามารถใช้ชีวิตอย่างมีความรับผิดชอบในอนาคต การรู้จักการใช้เงินอย่างชาญฉลาดจะช่วยลดปัญหาหนี้สินในอนาคตและสร้างพื้นฐานที่มั่นคงสำหรับการเงินในชีวิตของพวกเขา บทความนี้จะแนะนำแนวทางและวิธีการที่คุณพ่อคุณแม่สามารถใช้ในการสอนลูกวัยรุ่นเกี่ยวกับการเงินอย่างมีประสิทธิภาพ
ความสำคัญของการจัดการเงิน การมีความรู้ในการจัดการเงินไม่เพียงแต่จะทำให้ลูกวัยรุ่นเข้าใจถึงคุณค่าของเงิน แต่ยังช่วยให้พวกเขา:
- พัฒนาทักษะการวางแผน: การจัดการเงินเป็นพื้นฐานสำคัญในการวางแผนชีวิต เช่น การวางแผนค่าใช้จ่าย การออมเงิน และการลงทุน
- เพิ่มความมั่นใจ: เมื่อลูกสามารถจัดการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะทำให้พวกเขามีความมั่นใจในการตัดสินใจทางการเงิน
- สร้างนิสัยการใช้เงินที่ดี: การเรียนรู้การใช้เงินอย่างชาญฉลาดในวัยรุ่นจะช่วยส่งเสริมนิสัยที่ดีในอนาคต
การแยกแยะ “จำเป็น” หรือ “อยากได้“
ความหมายของสองคำนี้แตกต่างกัน การสอนลูกวัยรุ่นให้แยกแยะระหว่าง ‘ความจำเป็น’ (Need) กับ ‘ความอยาก’ (Want) เป็นสิ่งสำคัญ โดย “ความจำเป็น” หมายถึง สิ่งที่ต้องมีเพื่อดำรงชีวิต เช่น อาหาร การเข้าถึงระบบสาธารณสุข ที่อยู่อาศัย และเสื้อผ้า ในขณะที่ “ความอยาก” คือ สิ่งที่เราต้องการ แต่ไม่จำเป็นต้องมีอีกก็ได้ เช่น สินค้าฟุ่มเฟือย หรือ สิ่งของเกินความจำเป็น
การเรียนรู้ที่จะจัดลำดับความสำคัญในการเลือกซื้อสิ่งของจะช่วยให้พวกเขาตระหนักถึงความสำคัญของการใช้จ่ายอย่างมีเหตุผล วัยรุ่นหลายคนอาจรู้สึกว่าความต้องการและความจำเป็นคือสิ่งเดียวกัน โดยเฉพาะเมื่อมีเพื่อนๆ และสังคมรอบตัวที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจในการซื้อ
สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการพูดคุยกับลูกอย่างตรงไปตรงมา อธิบายให้พวกเขาเข้าใจว่าสิ่งของที่มีอยู่แล้วนั้นไม่จำเป็นต้องอัปเกรดหรือซื้อใหม่ในราคาสูงตามเทรนด์ การสอนให้พวกเขาเห็นคุณค่าของสิ่งที่มีอยู่ จะช่วยให้พวกเขาเรียนรู้ที่จะใช้จ่ายเงินอย่างชาญฉลาดและมีวินัยในด้านการเงินในอนาคต
แชร์เรื่องสถานะทางการเงินของครอบครัว
หลายครอบครัวอาจไม่อยากให้ลูกได้รับรู้เรื่องสถานะการเงิน เพราะกังวลว่าอาจทำให้ลูกเกิดความกดดัน แต่จากงานวิจัยในหัวข้อ “การเงิน: การรับรู้ของเด็กเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินระหว่างพ่อแม่และลูก” พบว่าลูกอาจมีความเข้าใจและตระหนักถึงสถานการณ์ทางการเงินได้มากกว่าที่พ่อแม่คิดไว้
การให้ลูกทราบเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเงินของครอบครัวสามารถช่วยให้พวกเขารู้จักการจัดการเงินและระมัดระวังในการใช้จ่าย ไม่ใช้จ่ายเกินตัว ตัวอย่างเช่น ถ้าลูกเข้าใจว่าครอบครัวมีงบประมาณจำกัด พวกเขาก็จะตัดสินใจซื้อของได้ดีกว่า
อย่างไรก็ตาม การพูดคุยเกี่ยวกับสถานะการเงินของครอบครัวควรพิจารณาตามอายุและระดับความเป็นผู้ใหญ่ของลูก เพื่อให้การแบ่งปันข้อมูลเป็นไปอย่างเหมาะสม ตัวอย่างเช่น เด็กเล็กอาจไม่เข้าใจเรื่องการเงินในระดับลึก แต่เมื่อพวกเขาโตขึ้น ความสามารถในการเข้าใจและใช้ข้อมูลทางการเงินจะเพิ่มขึ้น
แต่ละครอบครัวมีสภาพแวดล้อมและวัตถุประสงค์ทางการเงินที่แตกต่างกัน ลูกแต่ละคนในครอบครัวเดียวกันก็อาจมีเป้าหมายและความต้องการที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้นการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินของครอบครัวจึงควรมีความยืดหยุ่นและสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ เพื่อให้แน่ใจว่าการสนทนาเกี่ยวกับการเงินเป็นไปอย่างเหมาะสมและสร้างสรรค์
ให้ค่าขนมเป็นรายอาทิตย์หรือรายเดือน
ซึ่งจะมีข้อดีหลายประการที่จะช่วยส่งเสริมทักษะด้านการจัดการเงินและความรับผิดชอบของลูกวัยรุ่นได้ ดังนี้:
- การวางแผนการใช้เงิน: เมื่อได้รับค่าขนมในช่วงเวลาที่กำหนด ลูกจะต้องเรียนรู้การวางแผนการใช้เงินล่วงหน้า เช่น การคิดว่าในแต่ละวันควรใช้เงินเท่าไหร่ หรือเก็บออมไว้สำหรับสิ่งที่ต้องการในอนาคต
- การจัดสรรเงิน: ลูกจะต้องจัดสรรเงินให้เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายตลอดช่วงเวลาที่ได้รับ เช่น ต้องคำนึงถึงการใช้จ่ายในแต่ละสัปดาห์หรือเดือน และทำให้พวกเขาไม่ใช้เงินหมดไปอย่างรวดเร็วในช่วงแรกที่ได้รับ
- การสร้างวินัยในการใช้จ่าย: เมื่อใช้เงินหมดแล้ว ลูกจะต้องรอจนถึงรอบถัดไป นี่จะช่วยเสริมสร้างวินัยในการใช้จ่าย และทำให้พวกเขาเรียนรู้ว่าการใช้เงินอย่างระมัดระวังมีความสำคัญ
- การจัดการเงินที่มีจำกัด: การฝึกวางแผนการใช้เงินจะช่วยให้ลูกเข้าใจการจัดการเงินที่มีจำกัดและรู้จักการใช้จ่ายอย่างระมัดระวังมากขึ้น
สร้างแผนรายรับรายจ่าย
แม้ว่าลูกวัยรุ่นอาจจะยังมีรายรับและค่าใช้จ่ายไม่มาก การปลูกฝังนิสัยการจัดทำงบประมาณตั้งแต่วัยนี้จะช่วยให้พวกเขาจัดการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ การติดตามรายรับและรายจ่ายจะทำให้พวกเขาตระหนักถึงความสำคัญของการใช้จ่ายอย่างพอประมาณ
ขั้นตอนง่าย ๆ ในการเริ่มต้นจัดทำแผนรายรับรายจ่าย:
- แบ่งเงินออกเป็นหมวดหมู่: สอนให้ลูกแยกเงินเป็นหมวดหมู่หลัก ๆ เช่น รายรับ การออม และรายจ่าย เพื่อให้พวกเขาเห็นภาพรวมของการใช้เงินได้ชัดเจนขึ้น
- การวางแผนการใช้เงิน: เมื่อรู้ว่าต้องใช้เงินในหมวดไหนบ้าง ลูกจะได้จัดสรรเงินอย่างเหมาะสม เช่น เก็บส่วนหนึ่งไว้สำหรับออม และส่วนที่เหลือไว้สำหรับการใช้จ่ายต่าง ๆ
- ใช้แอปพลิเคชันช่วยในการจัดการ: ปัจจุบันมีแอปพลิเคชันช่วยจัดทำงบประมาณในมือถือและคอมพิวเตอร์ที่ใช้งานง่ายและสนุก เช่น แอปที่ให้ผู้ใช้บันทึกค่าใช้จ่ายโดยเลือกจากไอคอนรูปภาพของสิ่งที่ใช้จ่าย โดยไม่ต้องพิมพ์ข้อมูลซับซ้อน
การใช้เครื่องมือเหล่านี้จะช่วยให้การทำแผนรายรับรายจ่ายไม่เป็นเรื่องน่าเบื่อ และทำให้ลูกมีความสนุกสนานในการจัดการเงินมากยิ่งขึ้น
รู้จักสร้างรายได้
ปัจจุบันมีทางเลือกในการสร้างรายได้มากมาย การสอนให้วัยรุ่นเริ่มรู้จักการทำงานตั้งแต่วัยนี้เป็นการเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับอนาคต นอกจากจะช่วยเสริมสร้างความรับผิดชอบแล้ว ยังทำให้พวกเขาเข้าใจถึงคุณค่าของเงินอีกด้วย
ตัวเลือกการสร้างรายได้ที่น่าสนใจสำหรับวัยรุ่น:
- งานที่ใช้ความถนัดหรือความสามารถ: เช่น การเป็นติวเตอร์สอนวิชาที่ตัวเองถนัด ช่วยให้พวกเขาฝึกทักษะการสอนและการสื่อสาร พร้อมทั้งมีรายได้เสริม
- งานพาร์ทไทม์: การทำงานพาร์ทไทม์ เช่น งานร้านกาแฟหรือร้านอาหาร จะช่วยให้วัยรุ่นได้เรียนรู้วินัยและการบริหารเวลา อีกทั้งยังช่วยให้พวกเขารับผิดชอบต่องานที่ได้รับมอบหมาย
- รับจ้างเล็ก ๆ น้อย ๆ: การช่วยงานเล็ก ๆ น้อย ๆ ในชุมชน เช่น รับจ้างซ่อมแซมเล็ก ๆ หรืองานบริการต่าง ๆ จะช่วยให้พวกเขารู้สึกภูมิใจในความสามารถและพัฒนาทักษะการแก้ปัญหา
- การลงทุนออนไลน์ (พร้อมคำแนะนำจากผู้ปกครอง): หากสนใจลงทุนออนไลน์ ควรศึกษาและทำผ่านสถาบันการเงินที่น่าเชื่อถือและได้รับการรับรองจากกระทรวงพาณิชย์หรือธนาคารแห่งประเทศไทย โดยผู้ปกครองควรให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด
ประโยชน์จากการทำงานและสร้างรายได้ในวัยรุ่น:
- เรียนรู้จรรยาบรรณและความพยายามในการทำงาน: จะทำให้พวกเขาเข้าใจว่ารายได้มาจากความพยายามของตัวเอง
- เตรียมพร้อมก่อนเข้าสู่สายอาชีพในอนาคต: การทำงานจะช่วยพัฒนาทักษะที่จำเป็นในสายอาชีพที่สนใจ
- เห็นคุณค่าและรู้จักการใช้เงิน: พวกเขาจะเข้าใจคุณค่าของเงินและรู้จักการใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง
การฝึกสร้างรายได้ในวัยรุ่นไม่เพียงแค่สร้างรายได้ แต่ยังเป็นการฝึกความรับผิดชอบ และเสริมสร้างจรรยาบรรณในการทำงาน ซึ่งจะเป็นพื้นฐานที่ดีในการพัฒนาตนเองและสร้างความสำเร็จในอนาคต
เปิดบัญชีธนาคาร
เมื่อวัยรุ่นเริ่มมีรายได้ การเปิดบัญชีธนาคารเป็นของตัวเองจะช่วยเสริมสร้างความรู้ทางการเงินให้กับพวกเขา การเปิดบัญชีธนาคารสำหรับเด็กหรือวัยรุ่นมีขั้นตอนง่ายๆ (ขึ้นอยู่กับข้อกำหนดของแต่ละธนาคาร) และการมีบัญชีของตัวเองจะทำให้พวกเขาได้เรียนรู้ทักษะพื้นฐานทางการเงินที่สำคัญ
ประโยชน์จากการมีบัญชีธนาคารสำหรับวัยรุ่น:
- ฝึกทักษะการทำธุรกรรมทางการเงิน: เช่น การฝาก-ถอนเงิน, การใช้ ATM, การตรวจสอบยอดคงเหลือ, การทำธุรกรรมออนไลน์ สิ่งเหล่านี้ช่วยให้พวกเขาคุ้นเคยกับระบบการเงิน
- ฝึกวินัยทางการเงิน: การมีบัญชีธนาคารส่วนตัวทำให้วัยรุ่นสามารถจัดการรายรับและรายจ่ายของตนเองได้ ซึ่งจะช่วยให้พวกเขามองเห็นภาพรวมของการใช้เงินชัดเจนขึ้น
- เตรียมพร้อมสำหรับอนาคต: การเรียนรู้การจัดการเงินผ่านประสบการณ์จริงจะทำให้วัยรุ่นมีทักษะที่จำเป็นในการรับมือกับสถานการณ์การเงินในอนาคตได้อย่างมั่นใจ
การเปิดบัญชีธนาคารให้วัยรุ่นตั้งแต่วัยนี้ถือเป็นการปูพื้นฐานทางการเงินที่ดี ทำให้พวกเขามีความรับผิดชอบและสามารถบริหารจัดการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพตั้งแต่อายุยังน้อย
อธิบายเรื่องภาษีเบื้องต้น
เมื่อพูดถึง “ภาษี” หลายคนอาจนึกถึงตัวเลขซับซ้อนและกฎหมาย แต่จริงๆ แล้ว การอธิบายภาษีให้ลูกวัยรุ่นฟังตั้งแต่เนิ่น ๆ จะช่วยให้พวกเขาเข้าใจและเห็นความสำคัญของภาษีในชีวิตประจำวันและในระบบเศรษฐกิจโดยรวม
ภาษีคืออะไรและทำไมจึงสำคัญ? ภาษีเป็นเงินที่ประชาชนจ่ายให้รัฐบาลเพื่อใช้ในการพัฒนาสังคม เช่น การสร้างโรงพยาบาล โรงเรียน ถนน และบริการต่าง ๆ ที่ประชาชนทุกคนสามารถใช้ได้ การสอนให้ลูกเข้าใจว่าภาษีเป็นส่วนหนึ่งของความรับผิดชอบที่ทุกคนมี จะช่วยเตรียมพวกเขาให้พร้อมสำหรับชีวิตการทำงานและการบริหารจัดการเงินในอนาคต
วิธีการอธิบายเรื่องภาษีให้เข้าใจง่าย:
- เริ่มจากคำถามง่าย ๆ: อธิบายว่าภาษีคืออะไร โดยยกตัวอย่างว่า เมื่อเราไปซื้อของ ราคาอาจมีการคิดภาษีเพิ่มเติม ซึ่งเงินส่วนนี้จะนำไปใช้ในการพัฒนาสิ่งที่ทุกคนในประเทศใช้ร่วมกันได้
- ภาษีกับบทบาทในสังคม: แสดงให้เห็นว่าภาษีมีส่วนช่วยในการสร้างสังคมที่ดีขึ้น เช่น ภาษีที่เก็บจากประชาชนจะถูกนำไปพัฒนาโรงเรียน โรงพยาบาล หรือโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เพื่อให้ทุกคนใช้ได้อย่างทั่วถึง
- เตรียมความพร้อมสำหรับอนาคต: บอกลูกว่าเมื่อเริ่มทำงาน พวกเขาจะต้องเริ่มจ่ายภาษีเช่นกัน การเข้าใจเรื่องภาษีตั้งแต่ยังเล็กจะช่วยให้พวกเขารู้สึกมั่นใจและพร้อมรับผิดชอบเมื่อมีรายได้ของตัวเอง
การอธิบายเรื่องภาษีเบื้องต้นในลักษณะนี้จะช่วยให้วัยรุ่นไม่รู้สึกกังวลกับภาษี และเข้าใจบทบาทของภาษีในภาพรวมของระบบเศรษฐกิจได้
เป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูก
สิ่งสำคัญที่สุดในการสอนวัยรุ่นเรื่องการจัดการเงินคือการเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับพวกเขา เพราะเด็กมักเรียนรู้และเลียนแบบพฤติกรรมของพ่อแม่หรือผู้ปกครอง การที่พ่อแม่มีวินัยและทัศนคติที่ดีในการจัดการเงินจะส่งผลเชิงบวกให้ลูกเห็นคุณค่าในการใช้จ่ายและการออม
วิธีการเป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูกด้านการเงิน:
- มีวินัยในการใช้จ่าย: แสดงให้ลูกเห็นว่าการซื้อของฟุ่มเฟือยนั้นควรคิดให้รอบคอบและควรใช้อย่างพอดี ลูกจะค่อยๆ เรียนรู้ว่าสิ่งที่จำเป็นและความต้องการส่วนตัวนั้นแตกต่างกัน
- สอนการออมอย่างมีเป้าหมาย: พ่อแม่ควรแบ่งปันวิธีการออมของตัวเองให้ลูกฟัง อาจจะเป็นการตั้งเป้าหมายเพื่อซื้อของที่ต้องการหรือตั้งเงินออมเผื่อฉุกเฉิน สิ่งนี้จะช่วยให้ลูกเข้าใจถึงประโยชน์ของการออมและการจัดการเงินที่มีอยู่ให้คุ้มค่า
- มีทัศนคติที่ดีต่อการเงิน: การทำให้ลูกเห็นว่าพ่อแม่มีความสุขกับการบริหารจัดการเงินอย่างมีสติ จะช่วยให้ลูกไม่รู้สึกกังวลหรือเครียดเรื่องการเงินในอนาคต และมีแนวทางที่มั่นคงในการจัดการกับสถานการณ์ทางการเงินของตัวเอง
การเป็นแบบอย่างด้านการเงินให้ลูกตั้งแต่เล็กจะทำให้ลูกมีความมั่นใจและพร้อมเผชิญสถานการณ์การเงินทั้งในปัจจุบันและอนาคตได้อย่างมั่นคง
การสอนให้ลูกวัยรุ่นรู้จักการใช้เงิน เป็นกระบวนการที่ต้องใช้ระยะเวลาและความอดทน ผู้ปกครองควรเริ่มอย่างค่อยเป็นค่อยไป ดูสถานการณ์ว่าลูกให้ความสนใจหรือไม่ โดยอาจเริ่มต้นด้วยสิ่งพื้นฐานง่าย ๆ เช่น การออม หรือการวางแผนรายรับรายจ่ายในชีวิตประจำวันแบบไม่ซับซ้อนมากนัก สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ลูกมีนิสัยการออมและจัดการการใช้จ่ายที่ดี และช่วยสอนให้ลูกเข้าใจโดยเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ชีวิตจริง การเรียนรู้เรื่องเงินไม่ใช่แค่รู้จักจากการใช้จ่ายเท่านั้น แต่จะช่วยให้ลูกตระหนักและปลูกฝังการสร้างทัศนคติที่ดีต่อเงิน การวางแผนการใช้เงินอย่างมีระบบ ซึ่งจะส่งผลต่อการตัดสินใจอย่างมีเหตุผลในทุกด้านของชีวิต
เรื่อง: ศิริพรรณ รัตนะอำพร
แหล่งอ้างอิง:
– พัฒนาการวัยรุ่น
– Wealth Me Up
– “เงิน” เป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นของชีวิต
– Money Matters: Children’s Perceptions of Parent-Child Financial Disclosure
– Money Matters: When to include your children in your financial matters
– REVIEW 5 แอปบันทึกรายรับรายจ่าย ที่ติดอันดับใน App Store
– Teaching teens about money management
– 10 financial life lessons to teach your teenagers