หากจะพูดถึงวัยรุ่นกับแก๊งเพื่อน เรียกว่าติดกันเป็นปาท่องโก๋ได้เลย ไม่ว่าจะไปไหน ทำอะไร เพื่อนคือคนที่รู้เรื่องราวระหว่างกันและกันแทบทุกอย่าง ไปไหนไปกัน ทำอะไรก็ทำด้วยกัน สุขใจ ทุกข์ใจ เพื่อนจะเป็นคนแรกที่เราจะแชร์เรื่องราวด้วย เพราะใกล้ชิดกัน มีความสำคัญต่อกันขนาดนี้ การเลือกเพื่อนสักคนมาเป็นเพื่อนแท้ จึงเป็นเรื่องน่าสนใจว่า…เพื่อนแบบไหนนะ ที่จะเป็นเพื่อนแท้ของเรา เพื่อนแบบไหนที่จะพากันไปสู่ความสำเร็จได้

เพราะอะไร? วัยรุ่นจึงมีความรู้สึกรักและผูกพันกับเพื่อน

ทราบหรือไม่ว่า เพราะอะไรเพื่อนจึงมีความสำคัญกับเรา? เพราะอะไรจึงรู้สึกสนิทสนม ผูกพันกับเพื่อนมากกว่าบุคคลอื่น? ให้สังเกตตัวเองว่ามีความรู้สึกแบบนี้หรือไม่

– รู้สึกว่าเพื่อนคือคนที่สามารถร่วมทุกข์ ร่วมสุขด้วยกันได้
– เพื่อนเข้าใจปัญหาที่เราเจอได้ดีกว่าคนอื่น
– รู้สึกเป็นสุข สบายใจ เมื่อได้เที่ยว ได้ทำกิจกรรมร่วมกัน
– ได้รับการยอมรับ เป็นคนสำคัญเมื่อได้อยู่กับเพื่อนๆ

คนในแต่ละช่วงวัยจะมีธรรมชาติที่แตกต่างกัน สำหรับเยาวชนจะให้ความสำคัญกับการรวมกลุ่มกับคนที่อายุใกล้เคียงกัน อาจจะเป็นเพศเดียวกันหรือต่างเพศก็ได้ เพราะรู้สึกว่าสามารถร่วมทุกข์ร่วมสุขกันได้ เข้าใจปัญหาของกันและกัน การคบเพื่อนร่วมวัยจึงมีความสำคัญมาก

เพื่อนเป็นได้ทั้งคนที่ประคับประคองจิตใจในวันที่ทุกข์ใจ ชี้แนะสิ่งที่เป็นประโยชน์ แต่ในมุมกลับกัน เพื่อนก็อาจจะเป็นผู้ชักนำไปในทางที่ไม่เหมาะสม ปัญหาพฤติกรรมต่างๆ เช่น การขาดความรับผิดชอบ การใช้สารเสพติด ลักขโมย ล้วนมีสาเหตุจากการถูกเพื่อนชักจูง เพราะจิตใจของวัยรุ่นละเอียดอ่อนและเปราะบางกับ “การมีเพื่อนและการไม่มีเพื่อน”

และในเมื่อเพื่อนมีความสำคัญและมีบทบาทขนาดนี้ การที่เราจะเลือกคบใคร คงต้องไตร่ตรองดูว่าคนๆ นั้นสามารถเป็นเพื่อนที่ดีของเราได้หรือไม่ เราจะมีวิธีเลือกคบเพื่อนได้อย่างไร?

⇒ เลือกจากคุณสมบัติความเป็นเพื่อนแท้
แน่นอนว่า เราย่อมต้องอยากคบเพื่อนที่เป็นเพื่อนแท้ คือ มีความรักที่จริงใจต่อกัน มีน้ำใจ ไม่เอาเปรียบกัน ไม่เห็นแก่ประโยชน์ของตัวเองฝ่ายเดียว ลองสังเกตว่าเพื่อนที่คบมีความเสียสละหรือไม่ เป็นคนอ่อนน้อมอ่อนโยนไม่ใช่คนมีจิตใจแข็งกระด้าง  ขยันหมั่นเพียร ชวนกันเรียน  นิสัยดีเสมอต้นเสมอปลาย ไม่ชวนเรา ทำในสิ่งที่ไม่เหมาะสม

⇒ เลือกจากความสนใจที่เหมือนกัน
ดูความชอบและความสนใจของตัวเรา เลือกคบเพื่อนที่มีความสนใจเหมือนกันหรือคล้ายกัน เป็นความสนใจหรืองานอดิเรกที่ดี  สร้างสรรค์  เราก็จะมีเพื่อนที่รู้ใจ  ร่วมทำกิจกรรมที่ชอบ กิจกรรมที่เป็นประโยชน์ร่วมกันได้ และยังส่งเสริมและช่วยเหลือกันได้อีกด้วย

⇒ เลือกจากนิสัยที่เข้ากันได้
การคบเพื่อนควรเลือกคนที่มีนิสัยเข้ากันได้ดี คบแล้วไม่ขัดแย้ง  ไม่ทะเลาะ หรือทำให้อีกฝ่ายรู้สึกอึดอัด คอยเตือนกันและกัน หากต้องคบกับเพื่อนที่เห็นแก่ประโยชน์ของตัวเอง หรือเพื่อนที่มีนิสัยต่างกันมากไป หรือเหมือนกันแต่ไม่ส่งเสริมกัน เช่น ต่างฝ่ายต่างใจร้อน ไม่มีใครเตือนใครก็จะไม่เป็นผลดีแน่ หรือเฉื่อยทั้งคู่ก็ยิ่งแย่ ให้เลือกคนที่มีนิสัยสนับสนุนเกื้อกูลกันได้ดี

⇒ เลือกเพื่อนที่เห็นว่าเราเท่าเทียมกัน
ความเป็นเพื่อนเปรียบเหมือนเครื่องหมายเท่ากับ (=)  ในความเป็นเพื่อนจึงควรเท่าเทียมกัน  ไม่ใช่คบกันแล้วฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอยู่เหนือกว่า อีกฝ่ายกลายเป็นผู้ตาม เป็นคนรับใช้ หรือทำให้รู้สึกด้อยค่าไม่เท่าเทียม ให้คุณค่าที่ฐานะการเงิน ไม่ใช่การปฎิบัติต่อกัน แม้เพื่อนจะมีฐานะดีกว่าแต่หากไม่ข่มกัน มองเพื่อนเท่าเทียมในความเป็นเพื่อน เพื่อนคนนั้นก็เป็นเพื่อนที่น่าคบหา

เพื่อนคือคนที่ร่วมทุกข์ร่วมสุข
คอยตักเตือนชี้แนะสิ่งดีๆ
และไม่กดขี่กันและกัน

แล้วเพื่อนแท้ล่ะ…เป็นแบบไหน

เพื่อนแท้ หรือ มิตรแท้ คือเพื่อนที่คอยช่วยเหลือเพื่อนอย่างจริงใจโดยไม่หวังสิ่งใดตอบแทน เป็นเพื่อนที่หวังดี มีแต่สิ่งดีๆ ให้กันด้วยความจริงใจ ลักษณะของเพื่อนแท้ ได้แก่  

> เมื่ออยู่ด้วยแล้วรู้สึกสบายใจ อยากสนิทสนม ชวนให้อยากเข้าไปปรึกษา พูดคุย ไต่ถาม
> ทำให้เกิดความรู้สึกอบอุ่นใจ เป็นที่พึ่งทางใจ และรู้สึกปลอดภัยเมื่ออยู่ด้วย
> ใฝ่หาความรู้ และปรับปรุงตัวเองอยู่เสมอ ควรเอาเป็นแบบอย่าง
> รู้จักพูดให้กำลังใจ พูดให้คิดในสิ่งที่เป็นประโยชน์ รู้ว่าเมื่อไรควรพูดอะไร อย่างไร คอยให้คำแนะนำ ตักเตือนเพื่อให้เราพัฒนาตัวเองได้ดีขึ้น และเป็นที่ปรึกษาที่ดี
> พร้อมที่จะรับฟังคำเสนอแนะ คำวิพากษ์วิจารณ์ โดยไม่โกรธ ไม่ฉุนเฉียว
> สร้างแรงบันดาลใจให้แก่กัน เมื่อเรามีความฝัน และอยากสร้างฝันให้เป็นจริง เพื่อนแท้จะช่วยผลักดันให้เราได้เดินตามความฝัน เพื่อนแท้จะเป็นลมใต้ปีกที่คอยให้การสนับสนุนและสร้างพลังใจให้กับเราได้ 

จะดีแค่ไหน หากเรามีเพื่อนที่มีคุณสมบัติแบบนี้ และในทางกลับกันหากเราสามารถเป็นเพื่อนที่มีคุณสมบัตินี้เช่นกัน ความสัมพันธ์ระหว่างเรากับเพื่อนคงจะเป็นความสัมพันธ์ที่พากันเติบโตและเป็นเพื่อนกันไปได้ยาวนาน

การพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างเรากับเพื่อน

การเรียนรู้วิธีการพัฒนาความสัมพันธ์ที่ดีเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็น ก่อนอื่นต้องรู้ว่า เราทุกคนต้องการสิ่งใดบ้างในการเป็นเพื่อนกับใครสักคน สิ่งที่ทุกคนต้องการ ได้แก่ 

> ความใส่ใจและเอาใจใส่ซึ่งกันและกัน ความใส่ใจในเพื่อน คือ มีความต้องการที่จะรู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นกับเขาบ้าง มีความสนใจในความคิดและความรู้สึกของเขา ต้องการรับรู้ในความล้มเหลวและความสำเร็จในชีวิตของเพื่อนคนนั้น ทุกคนชอบคนที่ให้ความสนใจในเรื่องราวของตัวเขาอย่างจริงใจ และจะไม่อยากคบหากับคนที่สนใจแต่เรื่องของตัวเอง ไม่สนใจผู้อื่น  คนประเภทนี้จะพูดถึงแต่เรื่องของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมในชีวิตของเขา ประสบการณ์ของเขา ความคิดเห็นของเขา

ความใส่ใจมีความหมายเช่นเดียวกับ “ฉันจะอยู่เคียงข้างเธอ เมื่อเธอต้องการฉัน” คนส่วนมากมักลังเลที่จะร่วมรับรู้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับอีกฝ่าย เพราะกลัวว่าจะต้องร่วมรับภาระปัญหานั้น แต่ถ้าเพื่อนสนิทที่เราเอาใจใส่ในตัวเขา มีปัญหากับเพื่อนในชั้นเรียน เราก็หวังว่าเพื่อนจะมาปรึกษา แม้ว่าเราจะไม่สามารถแก้ปัญหาให้ได้ แต่สามารถช่วยให้กำลังใจ และช่วยให้เขารู้สึกดีขึ้นเมื่อรู้ว่ามีคนรับฟังอยู่

ทุกคนต้องการเพื่อนแท้
เราก็ควรเป็นเพื่อนแท้ด้วยเช่นกัน

และในความเป็นเพื่อนก็ต้องรู้จักปฏิเสธและกล่าวคำว่า “ไม่ได้” เช่นกัน เมื่อมีคนปฏิบัติกับเราอย่างไม่ยุติธรรมหรือไม่ถูกต้อง ควรจะบอกให้เพื่อนรู้ว่าเรารู้สึกอย่างไร การปฏิเสธจะเป็นการดีกว่าการยอมทำในสิ่งที่ไม่เหมาะสม หรือยอมให้เพื่อนกระทำความผิด

> ความไว้เนื้อเชื่อใจ การอยู่กับผู้อื่นอย่างมีความสุขจำเป็นต้องมีความไว้เนื้อเชื่อใจกัน รู้จักที่จะรักษาสัญญา เช่น หากเรานัดเพื่อนไว้ แต่เขาไม่มาตามนัด แน่นอนว่าครั้งหน้าเราคงเกิดความลังเล และไม่แน่ใจว่าจะนัดเพื่อนคนนี้อีกดีหรือไม่ คนที่ไม่ได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจก็ยากที่ใครจะเลือกคบเป็นเพื่อนสนิท

> การยอมรับนับถือ คนทุกคนต้องรู้จักการยอมรับและนับถือตนเอง การยอมรับนับถือตนเองมาจากการรู้ว่าตัวเรามีข้อดี ข้อด้อยอย่างไร ตัวเราสามารถทำประโยชน์ให้กับผู้อื่นอย่างไรได้บ้าง และเพื่อนที่ดีจะเป็นตัวกระตุ้นให้เราได้พัฒนาตัวเอง เพื่อให้รู้สึกถึงคุณค่าในตัวเรา นอกจากการรู้จักนับถือตนเองแล้ว เราต้องรู้จักที่จะยอมรับนับถือเพื่อน ด้วยการรู้ว่าเพื่อนของเรามีข้อดี ข้อด้อยอย่างไร รู้จักชื่นชม ให้กำลังใจ จริงใจที่จะให้คำแนะนำ และตักเตือนในสิ่งที่จะทำให้เกิดประโยชน์กับเพื่อนของเรา

> การมีส่วนร่วมและการแบ่งปัน หมายถึง การรับฟังเพื่อนเล่าถึงสิ่งที่หวัง ความใฝ่ฝัน และความไม่สมหวังของเขา ความสัมพันธ์ที่ดีที่สุด คือการได้มีส่วนร่วมและแบ่งปันในเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการมีส่วนร่วมในประสบการณ์ ความคิด ความรู้สึก ความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างเพื่อนจะเกิดขึ้นได้ เมื่อทั้งสองฝ่ายต่างได้มีส่วนร่วมในชีวิตของกันและกัน

> การมีความยืดหยุ่น สัมพันธภาพที่ดีระหว่างคนสองคนควรมีความยืดหยุ่น หมายถึง สามารถยอมรับและปรับตัวเข้ากับผู้อื่นได้ ไม่คาดหวังจนไปเกิน ไม่ต้องสมบูรณ์แบบ  ไม่ต้องดีที่สุด เพราะทุกคนต่างมีข้อบกพร่อง ทุกคนทำผิดพลาดได้ และคนแต่ละคนแตกต่างกัน คนที่มีความยืดหยุ่นจะเป็นคนที่มีความสุข แม้จะอยู่กับคนที่มีความคิดเห็นหรือวิถีชีวิตต่างกัน โดยไม่รู้สึกกดดัน หรือต้องทำตามเพื่อนเพื่อที่จะเข้ากับเพื่อนให้ได้ การมีความยืดหยุ่นจะช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นในความเป็นตัวเรามากขึ้น ส่วนคนที่ไม่มีความยืดหยุ่น จะไม่สามารถยอมรับเพื่อนหรือคนที่มีความแตกต่างจากเขาได้

ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น คือ ความสามารถในการเข้าใจความรู้สึกของเพื่อน เช่น เพื่อนพูดเสียงดังกับเรา ไม่ยอมฟังสิ่งที่เราพูดให้จบ แต่เราสามารถเข้าใจได้ว่าเป็นเพราะตอนนั้นเขากำลังรีบทำงานส่งครู สิ่งที่เพื่อนทำกับเราอาจจะไม่เหมาะสมนัก แต่เราสามารถเข้าใจและเห็นอกเห็นใจเพื่อนได้

เพื่อนที่ดีนั้นมีค่าและมีความหมาย เพื่อนที่คบหากันได้ยาวนานจะช่วยให้แต่ละคนเติบโตบนเส้นทางที่ถูกต้องเหมาะสม เพื่อนที่ดีส่งผลให้เรามีความสุข มีความหวัง และมีกำลังใจในการใช้ชีวิตมากขึ้น ต่อให้มีเพื่อนน้อยแต่เราจะไม่รู้สึกว่าต้องต่อสู้อยู่เพียงลำพัง

นอกจากการพัฒนาความสัมพันธ์แล้ว การสื่อสารระหว่างเพื่อนยังมีความสำคัญต่อการรักษาความสัมพันธ์ให้ยั่งยืน เพราะหลายๆ ครั้งที่ความสนิทสนมทำให้เราลืมระมัดระวังสิ่งที่เราพูดหรือสื่อสารออกไปว่ามีผลกระทบต่อความคิดหรือความรู้สึกของเพื่อนหรือไม่

ความสัมพันธ์ที่ดีที่สุด
คือการได้มีส่วนร่วม
และแบ่งปันในเรื่องต่างๆ

สื่อสารอย่างไรเพื่อรักษาความสัมพันธ์

> ตั้งใจฟังเมื่อเพื่อนพูด ตั้งใจฟังอย่างตั้งใจ และจริงใจ ไม่พูดแทรก หรือตัดบทเวลาเพื่อนพูด หรือพูดสวน พูดแทรก เพื่อจะได้เข้าใจว่าเพื่อนต้องการบอกอะไรกับเรา  การตั้งใจฟังจะทำให้เราเข้าใจความต้องการ ความรู้สึกของเพื่อนอย่างแท้จริง และช่วยให้เพื่อนรู้สึกได้ว่าเราใส่ใจ และเขาจะไว้วางใจที่จะเล่าเรื่องราวต่างๆ ให้ฟัง ถ้าหากเราไม่เข้าใจสิ่งที่เพื่อนพูด เราสามารถถามเพื่อให้เขาอธิบายเพิ่มเติมได้ ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่าเราสนใจฟังที่เขาพูดเช่นกัน

> เปิดใจรับฟัง รับฟังมุมมองหรือความคิดเห็นที่แตกต่างจากเรา การที่เพื่อนคิดเห็นต่างจากเรา ไม่ได้หมายความว่าเขาคิดผิด แต่การเปิดใจรับฟังจะช่วยให้เราเข้าใจเพื่อนมากขึ้น

> พูดแสดงความรู้สึก โดยใช้คำพูดที่เหมาะสม เช่น “ฉันรู้สึกไม่ค่อยดีเลยที่เธอมาสาย” ดีกว่าพูดตำหนิเพื่อนว่า “เธอแย่มากเลยนะที่มาสาย” การที่เราเข้าใจความรู้สึกของเพื่อน ไม่ตำหนิ เพื่อนก็จะเปิดใจยอมรับเรามากขึ้น

> ใช้คำพูดและการแสดงออกที่จริงใจ สอดคล้องกัน บางครั้งเราใช้คำพูดที่ดีแต่การแสดงออกไม่ตรงกับสิ่งที่พูดก็อาจจะทำให้เพื่อนเข้าใจผิดได้ และเราควรรู้จักใช้ภาษากายที่ดี เช่น การยิ้ม การสบตา  นั่งคุยกันในท่านั่งสบายๆ ผ่อนคลาย  ไม่ทำอย่างอื่นไปด้วยขณะที่ฟังเพื่อนพูด

> มีความเป็นมิตร ความเป็นมิตรจะแสดงออกผ่านน้ำเสียงและสีหน้า หากเพื่อนรู้สึกถึงความเป็นมิตร เขาจะเปิดใจที่จะเล่าหรือฟังสิ่งที่เราพูด เสนอความเห็นหรือตอบอย่างจริงใจ ไม่ปิดบัง  

การเจอเพื่อนแท้สักคน ไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแค่เราต้องพิถีพิถันในการพิจารณาว่า เพื่อนแต่ละคนนั้นเป็นอย่างไร คนไหนที่มีคุณสมบัติเหล่านี้ และไม่ใช่เพียงแค่การหาเพื่อนแท้เท่านั้น ตัวเราเองก็ควรจะปฏิบัติตัวให้มีคุณสมบัติของการเป็นเพื่อนที่ดีด้วยเช่นกัน

ขอบคุณข้อมูล :
https://bit.ly/3O7U0Ck
https://bit.ly/3bkR9HK
https://bit.ly/3QC4LhG
https://bit.ly/3QzM66h
https://bit.ly/3xFX6Xc
https://bit.ly/3xzB6Nm
หนังสือจิตวิทยาพัฒนาการทุกช่วงวัย เล่ม 2 วัยรุ่น-วัยสูงอายุ โดย ศ.ดร.ศรีเรือน  แก้วกังวาล

ภาพประกอบ :
CASMA
https://www.behance.net/gallery/84892533/Childhood