เด็กทุกคนมีศักยภาพและพรสวรรค์ที่รอการค้นพบ แม้แต่เด็กที่มีภาวะออทิสติกก็สามารถเติบโตและใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างปกติ หากได้รับการสนับสนุนที่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นอัจฉริยะด้านกฎหมายอย่าง ‘อูยองอู’ หรืออาจจะเป็นศิลปินผู้หลงใหลในศิลปะ เด็กออทิสติกแต่ละคนมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และสามารถมีความสุขในแบบของตนเองได้

ออทิสติกคืออะไร

คำว่า “Autism” มาจากภาษากรีก แปลว่า “ตัวเอง” ซึ่งสะท้อนพฤติกรรมของผู้ที่มีภาวะออทิสติก ซึ่งมักมีโลกส่วนตัวสูง สนใจสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นพิเศษ และมีความท้าทายในการสื่อสารหรือเข้าสังคม อย่างไรก็ตาม ออทิสติกไม่ใช่ความบกพร่อง แต่เป็นลักษณะเฉพาะตัวที่สามารถพัฒนาได้หากได้รับการดูแลที่เหมาะสม

สาเหตุของออทิสติก

ปัจจุบันยังไม่มีข้อสรุปแน่ชัดว่าออทิสติกเกิดจากอะไร แต่พบว่ามีหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง เช่น

  • ความไม่สมดุลของสารเคมีในสมอง
  • ความผิดปกติระหว่างการตั้งครรภ์หรือคลอด
  • พันธุกรรม
  • สิ่งแวดล้อมและการเลี้ยงดู เช่น การขาดปฏิสัมพันธ์ทางสังคมตั้งแต่เด็ก

แม้เด็กบางคนจะไม่ได้เกิดมาพร้อมภาวะออทิสติก แต่หากไม่ได้รับการกระตุ้นทางสังคมและพัฒนาการที่เหมาะสม ก็อาจมีพฤติกรรมคล้ายออทิสติกได้

*นอกจากการดูแลและสังเกตลูกด้วยตัวเองแล้ว การเข้าพบหมอด้านพัฒนาการเด็กก็ทำให้เราเข้าใจและดูแลเขาได้ดียิ่งขึ้น

ความแตกต่างด้านการรับรู้ของเด็กออทิสติก

เด็กออทิสติกมีระบบประสาทที่ตอบสนองต่อสิ่งเร้าแตกต่างจากคนทั่วไป

  • บางคนไวต่อเสียง แสง หรือสัมผัสมากเกินไป จึงมักปิดหูหรือหลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีเสียงดัง
  • บางคนรับรู้สิ่งเร้าน้อยกว่าปกติ จึงมีพฤติกรรมแสวงหาสิ่งเร้ามากขึ้น เช่น เคาะโต๊ะ ซ้ำ ๆ หรือแกว่งตัวไปมา

ความเข้าใจในลักษณะเฉพาะของเด็กแต่ละคนจะช่วยให้เราดูแลและสนับสนุนเขาได้อย่างเหมาะสม

วิธีดูแลเด็กออทิสติก

  1. ให้ความรักและการโอบกอด
    กอดเบา ๆ และพูดคุยด้วยน้ำเสียงอ่อนโยน จะช่วยให้เด็กรู้สึกปลอดภัยและผ่อนคลาย
  2. กระตุ้นให้เด็กลองสิ่งใหม่ๆ อย่างค่อยเป็นค่อยไป
    เช่น ลองเปลี่ยนเมนูอาหารบ่อยๆ หรือเส้นทางกลับบ้านใหม่ๆ เพื่อช่วยให้เขาปรับตัวและยืดหยุ่นมากขึ้น
  3. ฝึกทักษะการดูแลตัวเอง
    เนื่องจากเด็กออทิสติกไม่ค่อยแสดงอารมณ์และความรู้สึก จึงต้องฝึกฝนให้เขาได้ทำกิจวัตรประจำวันด้วยตัวเอง เช่น การแต่งตัว อาบน้ำ และรับประทานอาหาร เพื่อส่งเสริมความเป็นอิสระและความมั่นใจในตนเอง
  4. เสริมสร้างจินตนาการและพัฒนาการทางอารมณ์
    ใช้เวลาว่างอยู่กับลูกสัก 30 นาที ในการอ่านนิทาน วาดภาพ หรือเล่นดนตรี จะช่วยพัฒนาอารมณ์และความคิดสร้างสรรค์ของเด็กได้

สนับสนุนเด็กออทิสติกให้เติบโตอย่างมั่นใจ

เด็กก็เหมือนต้นไม้ที่ต้องได้รับการดูแลอย่างเหมาะสมเพื่อให้เติบโตและผลิบาน การเลี้ยงดูเด็กออทิสติกอาจเป็นความท้าทาย แต่หากพวกเขาได้รับความรัก ความเข้าใจ และได้รับการส่งเสริมที่เหมาะสม เด็กเหล่านี้ก็สามารถพัฒนาและใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขและประสบความสำเร็จในแบบของตนเองได้ และครอบครัวเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยให้เด็กก้าวข้ามอุปสรรคและเติบโตไปสู่อนาคตที่สดใส

โลกของเด็กออทิสติกไม่ได้มีเพียงแค่กรอบจำกัด หากพร้อมที่จะเปิดใจและมองหาวิธีสนับสนุนที่เหมาะสม เราก็สามารถเป็นผู้เปิดประตูให้พวกเขาออกมาสู่โลกกว้างที่เต็มไปด้วยโอกาสได้


ผู้เขียน:
คุณนภัสนันท์ แก้วสกุลรัตน, โรงพยาบาลรามคำแหง

แหล่งอ้างอิง:

  • สถาบันราชานุกูล. (2557). เด็กออทิสติก คู่มือสำหรับพ่อแม่/ผู้ปกครอง. สืบค้นเมื่อ 17 มีนาคม 2568, จาก https://th.rajanukul.go.th/_admin/file-download/5-4569-1450084821.pdf
  • โรงพยาบาลรามคำแหง. (2568). กิจกรรมบำบัดกับการพัฒนาเด็กพิเศษ. สืบค้นเมื่อ 18 มีนาคม 2568, จาก https://www.ram-hosp.co.th/news_detail/2027 
  • ปิ่นประภา ธรรมวิภัชน์. (2568). ออทิสติก เฝ้าสังเกตร่วมดูแลเมื่อรู้ว่าลูกเป็น ต้องทำอย่างไร. สืบค้นเมื่อ 18 มีนาคม 2568, จาก https://www.ram-hosp.co.th/news_detail/2647