ในฐานะพ่อแม่ก็มีแต่ความปรารถนาดีที่จะช่วยลูกให้เติบโตเป็นคนที่มีความสามารถและประสบความสำเร็จ แต่ในบางครั้ง การใส่ใจและการมีส่วนร่วมของเรากลับกลายเป็นการจุ้นจ้านและเกินขอบเขต จนทำให้ลูก ๆ รู้สึกอึดอัดและไม่มีพื้นที่ส่วนตัว การที่พ่อแม่จุ้นจ้านมากเกินไป อาจส่งผลให้เกิดความเครียด ความไม่พอใจ และความขัดแย้งในครอบครัว ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่และลูกยิ่งห่างไกลกันมากขึ้น

บทความนี้จะให้คุณได้สำรวจถึงความสำคัญของการสร้างสมดุลระหว่าง การสนับสนุน และการให้พื้นที่ส่วนตัวแก่ลูก โดยนำแนวคิดและวิธีการเลี้ยงลูกจากหนังสือ “พูดอย่างไร? ให้ลูกอยากเรียน (สไตล์คุณแม่ญี่ปุ่น)” เขียนโดย เทรุโกะ โซดะ เพื่อให้ได้เรียนรู้ว่าการเป็นพ่อแม่ที่ดี ไม่จำเป็นต้องจุ้นจ้านหรือควบคุมทุกอย่าง แต่สามารถให้ลูกมีอิสระในการตัดสินใจและเรียนรู้จากประสบการณ์ของตนเอง ซึ่งจะช่วยให้ลูกมีความมั่นใจและพร้อมที่จะเผชิญกับโลกด้วยตัวเอง

บทเรียนที่ 3
คุณพ่อ คุณแม่… จุ้นจ้านไปแล้วนะ

ถ้าได้ผลสอบแล้ว ต้องเอามาให้ดูด้วยนะ

เหตุผลที่ลูกไม่อยากให้พ่อแม่เห็นผลสอบคืออะไร?

“เคยเจอลูกแอบดื้อ ทิ้งกระดาษข้อสอบที่โรงเรียนให้คืนกลับมา ถึงคะแนนจะออกมาไม่ดี แต่ก็ไม่เห็นต้องซ่อนเลยนี่นา”

กล้าไหม? ที่จะไม่ดูผลสอบถ้ารู้ว่าลูกได้รับผลคะแนนสอบมาแล้ว แต่ไม่ยอมเอาผลคะแนนมาให้ดูก็คงอึดอัดใจอยู่ไม่น้อย สำหรับพ่อแม่การเข้าใจและรู้เรื่องการเรียนทั้งหมดของลูกเป็นสิ่งสำคัญ ก็เป็นเรื่องธรรมดาที่จะอยากรู้ผลคะแนนสอบของลูก

คุณครูโรงเรียนกวดวิชาท่านหนึ่งกล่าวไว้ว่า กระดาษข้อสอบที่ได้คะแนนไม่ดีนี่แหละเป็นสมบัติที่มีค่า สำหรับคนเป็นพ่อแม่มักชอบสะสมกระดาษข้อสอบที่ได้คะแนนดี ๆ ของลูกไว้ชื่นชมมากกว่า แต่กระดาษข้อสอบที่ผิดเยอะ ๆ ต่างหากที่จะเป็นตัวชี้ทางบอกว่าลูกไม่เข้าใจเนื้อหาการเรียนเรื่องไหน ตรงไหน อย่างไร เมื่อเห็นกระดาษคะแนนแย่ ๆ ของลูกอย่าเพิ่งรีบไปดุว่าเขา ให้ช่วยลูกทบทวนว่าควรเพิ่มเติมหรือแก้ไขตรงไหนจะดีกว่า

ครั้งหนึ่งคุณเทรุโกะเจอกระดาษข้อสอบของลูกสาวเธอถูกขยำทิ้งในถังขยะ และเธอก็พยายามถามลูกสาวว่าที่ไม่ยอมให้แม่ดูเพราะกลัวจะถูกแม่ดุหรือเปล่า? ที่ถามไปแบบนั้นเพราะถ้าเหตุผลเป็นเช่นนั้นจริงก็จะปรับเปลี่ยนวิธีปฏิบัติกับลูกเวลาขอดูกระดาษคำตอบ แต่คำตอบของลูกสาวเธอกลับเป็นอีกเรื่อง ลูกสาวตอบเธอว่า “ที่ไม่ให้ดูเพราะรู้สึกอายที่คะแนนสอบออกมาไม่ดี” และคุณเทรุโกะก็เกือบจะหลุดพูดกลับไปว่า ถ้าอย่างนั้นลูกก็ต้องตั้งใจเรียนสิ คะแนนสอบจะได้ดี ๆ โชคดีที่เธอยั้งไว้ทัน โดยคนส่วนใหญ่มักรู้สึกอับอาย ไม่อยากให้คนอื่นเห็นผลงานหรือผลคะแนนที่ไม่ดีของตน ถึงจะคิดว่าลูก ๆ ไม่เห็นจำเป็นต้องปกปิดผลงานที่ไม่ดีกับพ่อแม่เลย แต่ถ้าดูจากมุมมองของลูกแล้ว พวกเขาอาจจะอยากให้พ่อแม่ชื่นชมว่าเป็นเด็กเก่งมากกว่า หากลูกมีความรู้สึกแบบนั้นเขาก็ย่อมทำความเข้าใจได้ว่า ก็แค่ตั้งใจเรียนให้มาก จะได้คะแนนสอบดี ๆ แล้วลูกก็จะเริ่มตั้งใจเรียนด้วยตัวเอง… ลองทำแบบนี้ดู

สิ่งไหนที่ลูกไม่ยอมให้เราดู ช่วงแรกคุณพ่อคุณแม่ควรทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นไปก่อนจะดีกว่า

ทำการบ้านหน้านี้เสร็จแล้ว มาต่อด้วยแบบฝึกหัดชุดนี้นะ

ลูกกำลังโล่งใจว่า… ในที่สุดก็ทำงานเสร็จพอดี อยู่ดี ๆ พ่อกับแม่ก็เข้ามาเพิ่มนู่นเพิ่มนี่ ทำเอาเซ็งไปเลย

“เห็นลูกทำการบ้านเสร็จเร็ว เลยรีบเอาแบบฝึกหัดวิชาอื่นมาให้ทำเพิ่ม ลูกถึงกับเบือนหน้าหนีไม่ยอมทำต่อ แหม…แค่ช่วยพยายามทำต่อให้อีกสักหน่อยก็ไม่ได้”

หากมีงานไหนทำแบบไม่จบไม่สิ้นเด็กจะทนไม่ไหว มีวันหนึ่งขณะที่คุณเทรุโกะกำลังล้างจานอยู่ในครัว พอเธอล้างทุกอย่างเสร็จเช็ดมือเรียบร้อย กำลังจะไปพักดื่มชาสักหน่อย คุณสามีของเธอก็เอาจานอาหารที่เลอะคราบน้ำมันมาให้ล้างเพิ่มอีกใบ ทำเอาคุณเทรุโกะอารมณ์บูดไปเลย จริงอยู่ว่าการล้างจานเพิ่มอีก 1 ใบ ก็ไม่ได้ทำให้เสียเวลาสักเท่าไหร่ แต่แหม…คนกำลังโล่งใจ ดีใจที่ทำการบ้านเสร็จเสียที จู่ ๆ ก็มีจานจากไหนไม่รู้ลอยมาขัดจังหวะ

การอ่านหนังสือหรือทำแบบฝึกหัดของลูกก็เหมือนกัน เมื่อลูกทำการบ้านหรือแบบฝึกหัดเสร็จเร็ว ใจเราอยากให้ลูกฝึกทำนู่นทำนี่เพิ่มอีกด้วยความหวังดี แต่สำหรับลูกจะรู้สึกเหมือนโดนส่งจานที่เปรอะเลอะน้ำมันใบนั้นมาให้เรื่อย ๆ อย่างไม่มีหมด คงคร่ำครวญในใจทำนองว่าอุตส่าห์นึกว่าเสร็จแล้วซะอีก เอามาเพิ่มให้อีกทำไมเนี่ย

บริษัทที่บังคับให้พนักงานต้องทำงานล่วงเวลาแบบไม่จบไม่สิ้น จะถูกประณามว่าเป็นองค์กรที่ไม่มีจริยธรรม การเรียนหนังสืออาจแตกต่างจากการทำงาน แต่ภายใต้สภาพแวดล้อมแบบบริษัทดังกล่าว จะไม่มีทางสร้างความตั้งใจอยากเรียนของลูกให้เพิ่มขึ้นมาได้ พลังขับเคลื่อนของการเรียนหนังสือต้องมาจากความอยากเรียนของเจ้าตัวเอง ความรู้สึกดีใจ ปลื้มใจ โล่งใจที่ทำแบบฝึกหัดได้ สอบได้สำเร็จในแต่ละขั้น จะช่วยกระตุ้นให้ลูกตั้งใจและอยากเรียนได้ต่อเนื่อง หากโดนเพิ่มงานแบบไม่หยุดยั้ง ทำนู่นทำนี่ตลอดแบบไม่รู้จบสิ้น เด็ก ๆ ก็คงรู้สึกอึดอัดไม่น้อย หากลูกทำเสร็จแล้วลองตรวจเช็กดูว่าเขาทำแบบฝึกหัดได้ครบถ้วนหรือไม่ และอย่าลืมชื่นชมที่เขาทำการบ้านหรือแบบฝึกหัดเสร็จเร็วด้วยเช่นกัน

มีคำกล่าวที่ว่า ปริมาณอาหารที่ทำให้คนกินรู้สึกอร่อยที่สุด คือ ปริมาณที่คนกินรู้สึกว่า ถ้ากินต่ออีกนิดหน่อยก็จะอิ่ม การอ่านหนังสือหรือทำแบบฝึกหัดก็เช่นกัน การให้ลูกทำแบบฝึกหัดเสริมในปริมาณที่เขารู้สึกว่าทำเสร็จได้สบาย ๆ ทำได้ต่อเนื่องทุกวัน น่าจะมีผลดีกับตัวเด็ก ๆ มากกว่า… ลองทำแบบนี้ดู

แทนที่จะคอยเติมข้าวให้ลูกกินไปเรื่อย ๆ แบบไม่จบไม่สิ้น สู้รอให้ลูกขอเติมข้าวเองจะดีกว่า

การบ้านยังไม่เสร็จ ห้ามนอนเด็ดขาด

พัฒนาการที่ดีทางร่างกายและสมองของลูกต้องการ… การพักผ่อนที่เพียงพอ

“ลูกยังทำการบ้านไม่เสร็จเลย แค่สามทุ่มก็ง่วง ทำท่าจะไม่ไหวแล้ว ใจหนึ่งก็อยากให้ทำให้เสร็จก่อน ใจหนึ่งก็ไม่อยากจะฝืนกำลังของลูกเหมือนกัน”

เปลี่ยนให้เขาทำการบ้าน อ่านหนังสือในตอนเช้าก็ดีนะ คุณเทรุโกะเคยเห็นลูกสาวของเธอจะเข้านอนทั้งที่ยังไม่ได้ทำการบ้าน เลยถามไปว่า “จะนอนแล้วหรอ การบ้านยังไม่ได้ทำเลยนะ” ลูกสาวเธอตอบกลับมาว่า “เดี๋ยวพรุ่งนี้ตื่นมาเช้า ๆ แล้วค่อยทำค่ะ” ปกติพ่อแม่ส่วนใหญ่มีแต่ไล่ให้ลูกรีบ ๆ เข้านอนแต่หัวค่ำ แต่พอมีเรื่องการเรียนเข้ามาเกี่ยวข้อง กลับอยากให้ลูกอดหลับอดนอนทำการบ้าน อ่านหนังสือถึงดึก ๆ ดื่น ๆ แทนที่จะให้ลูกฝืนนั่งถ่างตาทำการบ้าน อ่านหนังสือถึงดึกดื่น สู้ให้ลูกได้ชาร์จแบตนอนหลับพักผ่อนเต็มที่ แล้วค่อยตื่นมาตอนเช้ามืดน่าจะได้ผลลัพท์ที่ดีกว่า

ทางการแพทย์ได้ชี้ให้เห็นแล้วว่า ร่างกายและสมองของเด็ก ๆ จะเจริญเติบโตในช่วงที่นอนหลับพักผ่อน เพราะการนอนเป็นสิ่งสำคัญมาก ๆ โดยเด็กแต่ละคนอาจแตกต่างกันบ้าง แต่โดยทั่วไปแล้วเด็กเล็ก ๆ ควรได้พักผ่อนนอนหลับวันละประมาณ 10 ชั่วโมง และ 8 ชั่วโมง สำหรับเด็กโต

จากการสำรวจพบว่า เด็กเรียนเก่งส่วนมากชอบทำการบ้านหรืออ่านหนังสือในตอนเช้า เด็กเหล่านี้เลือกตื่นขึ้นมาในช่วงที่มีสมาธิดี ได้อ่านหนังสือตอนเช้ามืดที่เงียบสงบมากกว่าฝืนทนอ่านหนังสือทั้ง ๆ ที่ง่วงเหงาหาวนอนตอนกลางคืน และช่วงเวลาที่สมองจะทำงานได้อย่างเต็มที่ คือ หลังจากตื่นนอนมาแล้วประมาณ 2 ชั่วโมง

หากลูกตื่นตั้งแต่เช้ามืด นอกจากจะไม่ไปโรงเรียนสายแล้ว ในช่วงที่มีการสอบที่โรงเรียนหรือการสอบเข้าแข่งขันที่ส่วนมากมักจะเริ่มช่วงครึ่งเช้า ก็ทำให้ได้เปรียบคนอื่น ๆ ที่นอนดึกแล้วตื่นสาย ถ้าจะให้ลูก ๆ ปรับเปลี่ยนเวลามาตื่นแต่เช้ามืดอยู่คนเดียวคงเป็นไปได้ยาก แนะนำว่าควรปรับเปลี่ยนเวลาตื่นนอนของสมาชิกในครอบครัวทุก ๆ คนไปพร้อมกันด้วย จะได้ผลดีกว่า และพ่อแม่เองก็น่าจะได้ประโยชน์จากการตื่นเช้ามืดเช่นกัน

ในปัจจุบันหลายบริษัทเริ่มใช้เวลาช่วงเช้าให้เกิดประโยชน์มากขึ้น เช่น ประชุมสรุปงานตอนเช้าก่อนเริ่มงาน การออกกำลังกายก่อนเข้างาน แถมการตื่นเช้ายังช่วยเรื่องการลดน้ำหนักสำหรับคุณแม่ด้วยได้… ลองทำแบบนี้ดู

หากการบ้านยังไม่เสร็จ อย่าบังคับลูกไม่ให้นอน แต่เปลี่ยนมาชวนลูกเข้านอนเร็ว ๆ แล้วปลุกขึ้นมาทำการบ้านตอนเช้ากันเถอะ

อีกหนึ่งตัวอย่างที่หยิบยกมาจากหนังสือเล่มนี้… ติดตามบทความ “พูดอย่างไร? ให้ลูกอยากเรียน” ใน EP. ต่อไป เร็วๆ นี้