ในฐานะพ่อแม่ การสนับสนุนและให้กำลังใจลูกเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้พวกเขารู้สึกมั่นใจและมุ่งมั่นในสิ่งที่ทำ แต่เคยถามตัวเองหรือไม่ว่า การที่ผลักดันและให้กำลังใจลูกให้เรียนรู้อย่างเต็มที่นั้นแท้จริงแล้วทำไปเพื่อใคร? บางครั้งความคาดหวังที่มีต่อความสำเร็จของลูก อาจไม่ได้เกิดจากความต้องการของพวกเขาโดยตรง แต่เป็นเพราะพ่อแม่ ผู้ปกครองอยากเห็นเด็ก ๆ เป็นอย่างที่ตัวเองคิดว่าควรเป็น ในบทความนี้ เราจะมาสำรวจถึงวิธีการพูดและการให้กำลังใจที่ส่งผลให้ลูกอยากเรียนรู้ โดยไม่ลืมที่จะตั้งคำถามกับตัวเองว่า สิ่งที่เราทำนั้น ทำเพื่อใครกันแน่?

ในฐานะพ่อแม่ การสนับสนุนและให้กำลังใจลูกเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้พวกเขารู้สึกมั่นใจและมุ่งมั่นในสิ่งที่ทำ แต่คุณเคยถามตัวเองหรือไม่ว่า การที่เราผลักดันและให้กำลังใจลูกให้เรียนรู้อย่างเต็มที่นั้น แท้จริงแล้วทำไปเพื่อใคร? บางครั้ง ความคาดหวังที่เรามีต่อความสำเร็จของลูก อาจไม่ได้เกิดจากความต้องการของพวกเขาโดยตรง แต่เป็นเพราะเราอยากเห็นพวกเขาเป็นอย่างที่เราคิดว่าควรเป็น

บทความนี้เป็นเนื้อหาบางส่วนจากหนังสือ “พูดอย่างไร? ให้ลูกอยากเรียน (สไตล์คุณแม่ญี่ปุ่น)” เขียนโดย เทรุโกะ โซดะ ที่นำเสนอวิธีการสื่อสารกับลูกอย่างมีประสิทธิภาพผ่านการสนทนาและการสนับสนุนในแบบที่ลูกต้องการ ไม่ใช่แค่สิ่งที่พ่อแม่ต้องการ หนังสือเล่มนี้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการให้กำลังใจในแบบที่ช่วยสร้างแรงบันดาลใจและแรงขับเคลื่อนภายในตัวเด็ก ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการปลูกฝังความอยากเรียนรู้จากตัวพวกเขาเอง

บทเรียนที่ 4
ให้กำลังใจลูกมากมาย ที่จริงแล้วทำไปเพื่อใคร

พยายามเข้านะ

เป็นคำสำหรับเด็กที่กำลังพยายามอยู่ เพิ่งเริ่มจะพยายาม หรือหมดความพยายาม

เคยบอกลูกที่กำลังอ่านหนังสืออย่างขะมักเขม้นว่า “พยายามเข้านะ” แต่ลูกกลับโมโห อุตส่าห์จะให้กำลังใจแท้ ๆ ทำไมถึงโกรธ ลูกเอาแต่ใจเกินไปหรือเปล่า?

ยิ่งกระตุ้นให้พยายาม ลูกยิ่งพยายามไม่ไหว คำว่า “พยายามเข้า” ปกติเป็นคำพูดที่ให้กำลังใจที่เต็มไปด้วยความเข้าอกเข้าใจซึ่งกันและกันใช่ไหม? แต่บางทีคำนี้ก็ให้ผลตรงข้ามได้เหมือนกัน มีวันหนึ่งที่คุณเทรุโกะเห็นลูกของเธอกำลังตั้งใจอ่านหนังสือเพื่อเตรียมตัวสอบจนดึกดื่น จึงได้พูดให้กำลังใจว่า “พยายามเข้านะ” ลูกของเธอกลับโมโหและบอกเธอว่า “นี่ก็กำลังพยายามอยู่”

ทั้ง ๆ ที่พ่อแม่พูดออกไปเพื่อให้กำลังใจจริง ๆ แต่ทำไมลูกกลับรู้สึกไม่ดีและเกิดความรู้สึกเช่นนี้ได้ คุณเทรุโกะให้ความเห็นไว้ว่า…อาจจะเป็นเพราะคำนี้มีความหมายที่แสดงถึงการปฏิเสธ ไม่ยอมรับความพยายามของเขาในปัจจุบัน

แล้วที่เรียกว่า “ความพยายาม” จริง ๆ แล้วนั้นหมายถึงอะไร? หมายถึงความตั้งใจที่จะอดทนฝึกฝนและพัฒนาเพื่อการเปลี่ยนแปลงของตัวเองใช่ไหม? ดังนั้นเมื่อพูดให้กำลังใจลูกว่า…พยายามเข้านะ หรือ พยายามอีกนิดสิ ทั้ง ๆ ที่ลูก ๆ ก็พยายามอยู่แล้ว อาจทำให้เขารู้สึกเหมือนกับว่าพ่อแม่มาบอกเขาว่า ที่พยายามทำอยู่ตอนนี้ยังไม่เพียงพอ เขาจะต้องพยายามให้มากกว่านี้อีก แบบนี้ยิ่งทำให้ลูกหมดกำลังใจกันไปใหญ่

นอกจากนี้ถึงจะพูดว่าพยายามเข้านะลูก แต่คนที่จะต้องพยายามก็ไม่ใช่พ่อแม่อยู่ดี เด็กบางคนฟังแล้วอาจรู้สึกเหมือนโดนทอดทิ้งให้พยายามอยู่คนเดียว แต่จะให้พูดกับลูกว่าไม่ต้องฝืน ไม่ต้องพยายามนะ ก็ไม่ใช่เรื่องที่ดี ท้ายที่สุดแล้วพ่อแม่ต้องไม่ลืมว่า คนที่พยายามไม่ใช่ตัวของพ่อแม่เอง แต่เป็นลูกต่างหาก ดังนั้นยามที่ลูกกำลังพยายามอยู่ ขอให้พ่อแม่ให้กำลังใจลูกอยู่ห่าง ๆ น่าจะดีกว่า…ลองทำแบบนี้ดู

ยอมรับความพยายามและให้กำลังใจ เข้าอกเข้าใจลูก

ถ้าลองทำ ลูกต้องทำได้แน่

ความเชื่อมั่นของพ่อแม่ที่มีต่อลูกแบบนั้น จะเป็นผลดีกับตัวลูกจริงหรือ?

การบ้านยังพอถูไถทำให้เสร็จได้ นอกจากนั้นแล้วลูกไม่สนใจจะอ่านหนังสือเลย คิดว่าถ้าลูกตั้งใจอีกสักหน่อยก็ทำได้แน่นอน เมื่อไหร่ถึงจะยอมเปิดสวิตซ์นะ

ลูกตัดสินใจเองว่าจะเริ่มเอาจริงเมื่อไหร่ การที่คนเป็นพ่อแม่ช่วยผลักดันให้ลูกมีความมั่นใจ หรือการที่พ่อแม่ยอมรับในผลความพยายามของลูกด้วยคำว่าเห็นไหม “ถ้าได้ลองทำลูกต้องทำได้แน่นอน” เป็นสิ่งที่ดี

คุณเทรุโกะได้พูดถึงกรณีที่พ่อแม่พูดคำว่า “ถ้าลองทำ ก็ทำได้แน่นอน” เพื่อให้ลูกที่ดูเหมือนจะยังไม่ได้พยายาม เกิดความรู้สึกมีกำลังใจสู้ขึ้นมา คุณเทรุโกะเคยพูดแบบนี้กับลูก ๆ ของเธอเช่นกัน ลูกสาวคนนี้เป็นเด็กที่มีความสามารถแต่ไม่ค่อยมีความพยายามเท่าที่ควร ยิ่งคิดก็ยิ่งเสียดาย ถ้าได้พยายามอีกสักนิดลูกก็ต้องทำออกมาได้ดี ยิ่งทำให้ดิฉันอยากจะให้ลูกลองทำมากขึ้นไปอีก

แต่ลูกสาวดิฉันกลับตอบว่า “ถ้าทำได้ก็ทำไปนานแล้ว แต่มันทำไม่ได้ ชอบมาพูด ว่าหนูทำได้ๆ มันลำบากนะ”

หากพูดกับลูกอยู่ทุกวันๆ ว่า “ถ้าทำได้ก็ทำได้” ลูกอาจมีแนวโน้มที่จะเลือกไม่ทำอะไรไปตลอด  ถ้าทำแล้วไม่สำเร็จความจริงก็จะปรากฏให้เห็นว่าลูกไม่มีความสามารถถึงขั้นที่เราหวังไว้  เขาก็อาจเลี่ยงไม่ทำเพราะอย่างน้อยถ้าไม่ทำจะได้ไม่ต้องรู้ว่าทำได้หรือไม่ได้

ลูกอาจจะโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่คิดจะลองทำอะไรเลย เพียงแต่ยังเชื่อฝังใจว่าถ้าเราทำได้ก็จะทำได้ หากพ่อแม่คาดหวังกับลูกมากเกินไป ถ้าลูกเราได้ลองทำนะต้องทำได้แน่ๆ อาจจบลงด้วยการวิ่งหนี ไม่ยอมทำไปตลอดชีวิต  แต่หากไปบอกว่า ถึงอย่างไรลูกก็ไม่มีทางทำได้เขาก็จะคิดว่ายังไงก็ทำไม่ได้

ถ้าเช่นนั้น ควรจะพูดอย่างไรดี  ดิฉันถามลูก เขาก็ตอบว่า “ถ้าอยากทำเดี๋ยวก็ลงมือทำเอง ไม่ต้องห่วงหรอกค่ะ” ก็อย่างที่ลูกบอก แต่ที่อดจู้จี้ไม่ได้ก็เพราะเราอดทนรอให้ลูกลงมือทำไม่ไหวนั่นเอง…ลองทำแบบนี้ดู

ไม่ต้องพูดอะไรมาก แต่ให้เชื่อมั่นในตัวลูกถ้าทำก็ทำได้แน่ และคอยเฝ้าดูลูกอยู่ห่างๆ

ทั้งหมดที่ทำไปก็เพื่อลูกนะ

ระวังจะผิดหวังกับสิ่งที่เราเชื่อมั่นว่า ทำไปเพื่อลูก

เคยพยายามจัดเตรียมสิ่งต่าง ๆ เพื่อการเรียนของลูกอย่างเต็มที่ ทั้งเรื่องที่เรียนพิเศษ ครูพิเศษที่จ้างมาสอนที่บ้าน หรือหนังสือเสริมความรู้ราคาแพง ไม่ว่าจะบอกลูกยังไงก็ไม่มีท่าทีจะสนใจขึ้นมาเลย

อยากให้พ่อแม่รับฟังความคิดเห็นลูกก่อนจะยัดเยียดสิ่งต่าง ๆ ให้  คุณเทรุโกะเองก็เคยซื้อหนังสือรวมแนวข้อสอบมาให้ลูก และบอกว่าที่ซื้อมานี่ก็เพื่อลูกเลยนะ แต่ลูกของเธอกลับทำสีหน้าไม่พอใจและบอกว่า “ไม่ได้ขอให้แม่ซื้อมาสักหน่อย อย่ายัดเยียดแบบนี้สิ”

ถึงเราจะคิดว่าที่ทำไปก็เพื่อลูก แต่ลูกอาจเกิดความรู้สึกว่ากำลังถูกยัดเยียดได้เหมือนกัน แม้ว่าพ่อแม่จะรู้เรื่องอะไรในโลกนี้มากกว่าลูกและก็คิดว่ารู้จักตัวตนของลูกเป็นอย่างดีก็ตาม จึงไม่แปลกที่อยากจะคัดสรรเลือกเส้นทางการดำเนินชีวิตที่คิดว่าถูกต้องสำหรับลูก เพราะอยากให้ลูกได้งานที่มีสถานะทางสังคมสูง ๆ เช่น หมอ ทนายความ ได้ทำงานในบริษัทที่มีชื่อเสียงหรือเป็นข้าราชการเพื่อชีวิตที่มั่นคงในอนาคต

เมื่อเลือกเส้นทางชีวิตให้ลูกแล้ว ก็ยิ่งอยากหาวิธีเคลียร์เส้นทางให้ราบรื่นและไม่มีอุปสรรค แต่ละสิ่งที่สรรหามาให้ลูกไม่ว่าจะเป็นการเคี่ยวเข็ญให้เรียนหนังสือ ไปเรียนกวดวิชา ก็แน่นอนว่าเพื่อตัวของลูกทั้งนั้น สิ่งที่พ่อแม่คิดไม่ใช่สิ่งที่ผิด แต่ก็มีสิ่งที่ต้องคำนึงถึงควบคู่ด้วยเช่นกัน

นั่นคือ ชีวิตเป็นของเขา การที่จะเลือกทางเดินชีวิตแบบไหน คนที่จะตัดสินใจก็คือตัวลูก ก่อนจะยัดเยียดอะไรให้ด้วยความรู้สึกที่ว่าอยากทำเพื่อลูก อยากให้ตั้งใจรับฟังความคิดเห็นของลูกดี ๆ ว่า เขาอยากทำอยากเป็นอะไร แล้วมาช่วยกันคิดหาหนทางด้วยกันจะดีกว่า สุดท้ายแล้วหนังสือรวมแนวข้อสอบที่คุณเทรุโกะซื้อมาให้ลูกของเธอก็ถูกวางให้ฝุ่นจับอยู่บนโต๊ะการบ้านของลูกไปพักใหญ่ แต่คุณเทรุโกะก็รู้สึกไม่แน่ใจในตัวเองเหมือนกันว่า ตอนนี้ลูกยังทำโจทย์เลขชั้นประถมปลายได้อยู่หรือเปล่า พอเล่าความรู้สึกนี้ให้ลูกของเธอฟัง ลูกกลับบอกเธอมาว่า “คุณแม่ลองหัดทำโจทย์เลขดูสิคะ เพื่อตัวแม่เองเลยนะ”…ลองทำแบบนี้ดู

ถามลูกดูก่อนว่า อยากทำอะไร อยากจะเป็นอะไรในอนาคต ก่อนที่จะยัดเยียดสิ่งต่าง ๆ ให้

คราวหน้าขอให้ได้ 100 คะแนนเต็มนะ

ฟังดูเหมือนเป็นคำให้กำลังใจ แต่แฝงไว้ด้วยความรู้สึกที่ว่า ไม่ยอมรับคะแนนอื่น นอกจากคะแนนเต็ม

ผลสอบที่ลูกเอากลับมาจากโรงเรียน ได้ 95 คะแนน เสียดายมากเลย แต่ก็ให้กำลังใจไปว่า คราวหน้าเอาให้ได้ 100 คะแนนเต็มเลยนะ ลูกกลับทำหน้าจ๋อยทั้งที่พยายามให้กำลังใจอยู่แท้ ๆ แต่ทำไมถึงเป็นเช่นนั้นได้

ถ้าลูกไม่ได้รู้สึกแบบนั้น แม้จะพูดอะไรไปก็ไม่มีประโยชน์ เมื่อได้เห็นผลคะแนนที่เกือบได้เต็มหรือคะแนนยังไม่ดีนัก พ่อแม่ก็คงอยากจะพูดให้กำลังใจลูกว่า สอบคราวหน้าลูกต้องทำให้ได้เต็ม 100 คะแนนเลยนะ ด้วยความที่พ่อแม่อยากให้กำลังใจและก็มีความคาดหวังในการสอบครั้งต่อไปด้วย และการวางเป้าหมายให้ได้ 100 คะแนนเต็ม ก็ไม่ใช่เรื่องผิด แต่คำพูดนี้ก็มีจุดที่ต้องระวังตอนจะใช้อยู่เหมือนกัน

คำว่า คราวหน้าขอให้ได้ 100 คะแนนเต็มนะ ก็มีความหมายอีกนัยหนึ่งว่า ไม่ว่าสอบครั้งนี้จะได้คะแนนดีแค่ไหน ตราบใดที่ไม่ได้ 100 คะแนนเต็มก็ถือว่ายังใช้ไม่ได้ แม้ว่าจะพูดด้วยเจตนาดี อยากให้กำลังใจลูกก็ตาม แต่ก็อาจจะมีความหมายที่สื่อไปถึงลูกว่า เขาต้องสอบให้ได้ 100 คะแนนเต็มเท่านั้น จนทำให้เกิดผลลบได้

เวลาที่พ่อแม่พูดคำนี้ออกมา ก็มักจะไปว่าคนที่ต้องใช้ความพยายามอย่างหนักเพื่อให้ได้ 100 คะแนนเต็มนั้นไม่ใช่ตัวพ่อแม่ แต่เป็นตัวของลูกเอง ถึงจะเสียดายกับผลคะแนนสอบลูกแค่ไหน แต่ถ้าเขาไม่ได้รู้สึกอะไรกับข้อที่ทำผิด ที่ทำให้ไม่ได้คะแนนเต็ม ครั้งหน้าก็มีโอกาสที่จะผิดซ้ำแบบเดิมได้อีก

ในทางกลับกัน หากลูกรู้สึกเจ็บใจคะแนนส่วนที่เสียไปนั้น เขาก็จะเกิดความมุ่งมั่นจากข้างในที่จะแก้ไขปรับปรุงเพื่อให้ได้คะแนนเต็มให้ได้ และการที่จะทำให้ลูกรู้สึกแบบนั้นได้ อันดับแรกพ่อแม่ควรจะชื่นชมสิ่งที่ลูกทำได้ดีในครั้งนี้ก่อน เช่น ทำได้มาถึงตรงนี้แล้วหรอเก่งจัง แล้วค่อยแนะนำให้กำลังใจในส่วนที่ลูกทำผิดพลาด และเขาก็จะมีความกล้าเผชิญหน้าและฮึดสู้ขึ้นอีกแน่นอน…ลองทำแบบนี้ดู

เพื่อให้ลูกคิดสู้ครั้งต่อไปได้ พ่อแม่คนกล่าวชมสิ่งที่ลูกทำได้ก่อน

ดูนักเบสบอลชื่อดังคนนั้นสิ ตอนที่เขาเด็ก ๆ นะ…

สิ่งสำคัญที่พ่อแม่อยากบอก ได้ส่งไปถึงตัวลูกหรือไม่

เวลาที่คุณพ่ออารมณ์ดี ๆ มักจะเล่าประวัติของบุคคลสำคัญที่เก่ง ๆ ให้ฟัง บางทีลูกก็แกล้งทำเป็นฟัง หรือฟังแบบแค่ผ่าน ๆ แบบเข้าหูซ้ายทะลุหูขวา การอบรมสั่งสอนลูกด้วยวิธีการเล่าเรื่องราวบุคคลสำคัญที่เก่ง ๆ หรือมีชื่อเสียงให้ลูกฟังนั้นมีมานานแล้ว ตอนที่คุณเทรุโกะเป็นเด็ก คุณพ่อของเธอก็ชอบเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ให้ฟังมากมาย โดยเรื่องที่เล่าเป็นประจำก็มีเรื่องเด็กชายวอชิงตัน หักกิ่งซากุระ หรือเรื่อง ธนู 3 ดอกของโมริ โมตานาริ

ถ้าเป็นอย่างสมัยนี้ เรื่องที่นิยมกันในหมู่พ่อทั้งหลายก็จะเป็นเรื่องของอิจิโร่ นักเบสบอลมืออาชีพ ฮะนิว นักกีฬาสเก็ตน้ำแข็ง หรือ ฮอนดะ เคสุเกะ นักฟุตบอลทีมชาติ ฯลฯ ซึ่งคุณเทรุโกะก็เข้าใจความรู้สึกของคุณพ่อที่อยากจะให้ลูกเอาอย่าง เจริญรอยตามคนที่มีชื่อเสียง อยากให้ลูกกระตือรือร้นและมีความพยายามตั้งแต่ยังเล็ก แต่สำหรับลูก ๆ แม้ว่าพ่อแม่จะเอาเขาไปเปรียบเทียบกับนักเบสบอลหรือบรรดาคนที่มีชื่อเสียงต่าง ๆ ลูกก็คงจะนึกภาพอะไรไม่ออกอยู่ดี

เพราะการที่ไเอาแต่บอกให้ลูกทำอย่างนั้นหรือต้องเอาอย่างคนนี้ โดยที่ไม่ได้พยายามเชื่อมต่อแนวคิดอะไรให้ลูกเข้าใจ ซึ่งก็คงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรลูกได้ ตรงกันข้าม ลูกอาจจะมองว่าพ่อก็เล่าเรื่องให้ฟังไปอย่างนั้นเอง ไม่มีสาระสำคัญอะไร แต่ทราบหรือไม่ว่าเรื่องราวประวัติของอิจิโร่ นักเบสบอลคนนี้ พ่อของเขาต้องเร่งสะสางงานในแต่ละวันให้เสร็จไว ๆ เพื่อจะได้กลับมาซ้อมขว้างบอลกับลูกที่บ้าน ทำอย่างนี้ตั้งแต่ลูกชายอยู่ชั้นประถม 3 จนถึงมัธยม 3 ทุกวันไม่เคยขาดแม้แต่วันเดียว ความมุ่งมั่นและจริงจังของพ่อเป็นแรงผลักดันให้ลูกมุ่งมั่นไปสู่ความฝันได้สำเร็จ ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้นจะเป็นจริงได้ลำต้นต้องแข็งแกร่งก่อน ลูกจึงจะแข็งแกร่งตาม

การอบรมสั่งสอนลูกด้วยคำพูดดังกล่าวก็เป็นการแสดงความรัก ความห่วงใยของพ่อแม่อีกวิธีหนึ่ง แต่บางทีอาจจะต้องใช้เวลานานกว่าเขาจะเข้าใจ จนเมื่อลูกโตถึงวัยที่จะมาทำหน้าที่อบรมลูกตัวเอง เมื่อนั้นเขาก็คงจะนึกถึงเรื่องที่พ่อแม่เคยอบรมสั่งสอนมาก่อนได้…ลองทำแบบนี้ดู

การบอกเล่าหรือสั่งสอนลูก ด้วยคำพูดก็สำคัญ แต่ที่สำคัญกว่า คือ การกระทำของพ่อแม่ที่ต้องแสดงให้ลูกเห็น