คุณเคยเชื่อไหมว่า ทุนการศึกษาเพียง 3,500 บาทต่อเทอม สามารถเปลี่ยนชีวิตใครบางคนได้?
“กนินี หรือ แจ้” คุณครูวัย 25 ปี ที่สอนวิชาภาษาไทยและวิชาแนะแนวในโรงเรียนขนาดเล็กแห่งหนึ่งที่จังหวัดน่าน ทุนการศึกษาที่เธอได้รับในช่วงเรียนมัธยมฯ ไม่เพียงช่วยลดภาระครอบครัว แต่ยังเป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทางสู่การเป็น “ครูผู้ให้” ในวันนี้
ย้อนกลับไปในช่วงเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 4 ในวัย 15 ปี แจ้ได้รับทุนการศึกษาจากมูลนิธิยุวพัฒน์ เนื่องจากครูแนะแนวที่โรงเรียนแนะนำให้สมัครขอทุน ด้วยเหตุผลที่ต้องการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของครอบครัว
“บ้านเรามีพี่น้องสามคน และแจ้มีพี่น้องฝาแฝด ค่าชุดนักเรียนหรืออุปกรณ์การเรียนต้องคูณสอง ทุนนี้ช่วยลดความกดดันทางการเงินได้อย่างมาก”
นอกจากนี้ ทุนการศึกษายังเปิดโอกาสให้แจ้ได้ใช้ลงทุนกับอุปกรณ์การเรียนที่มีคุณภาพมากขึ้น เธอจำได้ว่าก่อนหน้านั้นไม่กล้าซื้อดินสอที่ราคาแพง แต่ทุนการศึกษาทำให้เข้าใจถึงความสำคัญของการลงทุนในการเรียนรู้ เงินทุนการศึกษา 3,500 บาทต่อเทอม ได้กลายเป็นจุดเปลี่ยน ไม่เพียงแต่ช่วยให้สามารถซื้ออุปกรณ์การเรียนที่มีคุณภาพ แต่ยังปลูกฝังให้เธอรู้จักคุณค่าของโอกาสด้วย
“ตอนได้ทุนรู้สึกว่า เราต้องรักษาเกรดเฉลี่ยให้ดี ต้องเป็นเด็กที่อยู่ในระเบียบวินัย เพราะหน้าที่ของเราคือต้องเรียนให้ดี ได้เงินมาซื้อหนังสือเรียนดีๆ แล้ว ก็ต้องทำให้ได้ และครูเเนะเเนวได้สอนว่า สิ่งที่เรากำลังพยายามทำ คนที่ได้ประโยชน์คือตัวเรา”
ในช่วงมหาวิทยาลัย แจ้เลือกศึกษาวิชาชีพครูที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถึงแม้ตอนแรกจะอยากเป็นวิศวกร แต่ครูแนะแนวเห็นศักยภาพและสนับสนุนให้เธอสมัครเรียนครู โดยได้เข้าสู่กระบวนการคัดเลือกเข้าโครงการครูคืนถิ่น ที่มีการคัดเลือกค่อนข้างเข้มข้น มีการสอบถึง 4-5 รอบ เพื่อให้ได้ครูที่มีความตั้งใจกลับไปพัฒนาท้องถิ่น
แต่เส้นทางชีวิตของแจ้นั้นไม่ง่าย การเรียนต่อมหาวิทยาลัยก็ต้องอาศัยการกู้เงินเรียน และเธอยังต้องทำงานพิเศษด้วยการเป็นครูสอนภาษาไทย 6 วันต่อสัปดาห์ รายได้เริ่มต้นเพียง 100 บาทต่อชั่วโมง และเพิ่มขึ้นเป็น 250 บาท เมื่อตอนใกล้จะจบการศึกษา แต่ความเหนื่อยยากและความพยายามเหล่านี้ไม่ได้แค่ช่วยพยุงเรื่องค่าใช้จ่าย แต่ยังทำให้เธอเข้าใจถึงคุณค่าของการศึกษา การช่วยเหลือผู้อื่น และอนาคตที่ดีของเด็กและเยาวชน
“ช่วงเรียนมหาวิทยาลัย เป้าหมายคือต้องรักษาเกรดเฉลี่ยให้ดีเหมือนเดิม เเต่ก็พอมีเวลาจึงได้ไปสอนพิเศษวิชาภาษาไทย ตั้งแต่ช่วงเรียน ปี 1 เพราะมีการกู้เรียน ค่าใช้จ่ายเยอะ โชคดีที่มีรุ่นพี่ในคณะช่วยแนะนำ ส่งต่อนักเรียนที่ต้องการเรียนพิเศษมาให้ ก็เลยได้ไปสอนพิเศษ”
ปัจจุบัน แจ้ทำหน้าที่ “ครูสอนภาษาไทย” ที่โรงเรียนเมืองลีประชาสามัคคี จังหวัดน่าน ซึ่งเป็นโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกล ระยะห่างจากบ้านของเธอถึง 100 กิโลเมตร ไม่เพียงสอนวิชาภาษาไทยเท่านั้น แต่ยังทำหน้าที่แนะแนวและครูดูแลทุนการศึกษาให้กับนักเรียน เธอใช้ประสบการณ์ของตนเองในการคัดเลือกเด็กที่เหมาะสมกับทุน และลงพื้นที่เยี่ยมบ้านเด็กเพื่อทำความเข้าใจความต้องการของแต่ละคน
“เรานำสิ่งที่ครูเคยสอนตอนเรียนมัธยมฯ มาปรับใช้กับงานทุนของโรงเรียน เพื่อให้รู้ว่าเด็กแบบไหนต้องได้ทุนการศึกษาอย่างไร ลงพื้นที่ไปเยี่ยมบ้านเด็กๆ เพื่อคัดกรองทุกคน เพราะแต่ละปีทุนการศึกษามีหลากหลายรูปแบบ”
เป้าหมายสำคัญ คือ การสร้างโอกาสและแรงบันดาลใจให้กับนักเรียน เพราะเข้าใจความยากลำบากเป็นอย่างดี เนื่องจากเคยผ่านประสบการณ์มาก่อน จึงมุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือนักเรียนที่ตั้งใจเรียนแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ขณะเดียวกันแจ้ก็เชื่อว่า “การศึกษาไม่จำเป็นต้องเป็นวิชาการอย่างเดียว การเรียนสายอาชีพก็คือได้รับการศึกษาเช่นกัน เพราะเป็นการได้เรียนรู้ทั้งหมด” นี่คือแนวคิดที่พยายามปลูกฝังให้กับนักเรียน เป้าหมายของเธอคือการเห็นเด็กๆ จบการศึกษาและก้าวออกจากวังวนความยากจน
“พอมาเป็นครู จึงรู้ว่าไม่ใช่การเเนะนำ แต่เป็นการแชร์ประสบการณ์ เช่น ตอนที่เรียนเป็นอย่างไร หรือเล่าให้เด็กฟังว่าตอนนี้โลกเปลี่ยนแปลงไปเร็วแค่ไหน เพราะมีบางคนไม่เคยไปในเมือง หรือรู้ว่าประเทศไทยมีรถไฟฟ้าด้วยซ้ำ จึงคิดว่าจะทำอย่างไรให้เด็กเข้าถึงโอกาส เรียนจบ ได้งานดีๆ เห็นเด็กๆ มีชีวิตที่ดีขึ้นก็ดีใจแล้ว”
ท่ามกลางข้อจำกัดของโรงเรียนขนาดเล็ก เช่น อุปกรณ์การเรียนที่ไม่เพียงพอ และงบประมาณที่จำกัด แจ้ยังคงมุ่งมั่นที่จะรักษามาตรฐานการศึกษา และสร้างแรงบันดาลใจให้นักเรียนทุกคน และยังคงมุ่งมั่นทำหน้าที่ให้ดีที่สุด
“เด็กในโรงเรียนขนาดเล็กควรได้รับโอกาสเท่ากับเด็กในโรงเรียนขนาดใหญ่ เราอยากรักษามาตรฐานการสอน ไม่ให้ลดลงเพียงเพราะเรามีทรัพยากรน้อย”
ความตั้งใจของแจ้ในวันนี้ คือการเรียนรู้และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับคุณภาพการสอนและสร้างโอกาสให้กับเยาวชนในพื้นที่ห่างไกล “โรงเรียนขนาดเล็กไม่ใช่ข้ออ้างในการลดคุณภาพการสอน” เธอยืนยัน
สำหรับแจ้ โรงเรียนขนาดเล็กและข้อจำกัดต่างๆ ไม่เคยเป็นอุปสรรคในการสร้างอนาคตให้เด็กๆ เธอเชื่อมั่นว่า “การศึกษาคือประตูที่พาทุกคนหลุดพ้นจากความยากจน” และหน้าที่ของครู คือการเปิดประตูนั้นให้กว้างที่สุด