Site icon มูลนิธิยุวพัฒน์

เล่าเรื่องนักเรียนทุน : สิ่งที่ชอบ อาจไม่ใช่ สิ่งที่ใช่

เคยได้ยินหรือรู้จักอาชีพเหล่านี้หรือไม่?… นักผังเมือง นักแผนที่ภาพถ่าย นักธรณีศึกษา นักธรณีสัณฐานวิทยา นักบรรพกาล เป็นอาชีพที่มีอยู่จริง ที่อดีตนักเรียนทุนยุวพัฒน์กำลังเรียนอยู่ เพื่อมุ่งไปสู่หนึ่งในอาชีพเหล่านี้ในอนาคต…

บลูแท้งค์ ชลันธร อดีตนักเรียนทุนยุวพัฒน์ ณ ปัจจุบันกำลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 4 คณะมนุษยศาสตร์ สาขาภูมิศาสตร์ ในจังหวัดปัตตานี ที่มาของชื่อ “บลูแท้งค์” เป็นชื่อที่คุณพ่อตั้งให้ซึ่งมาจากชื่อปลาทะเลชนิดหนึ่ง เพราะคุณพ่อของเขาชอบปลาทะเลและชอบตกปลามาก หากนึกภาพปลาชนิดนี้ไม่ออก ให้นึกถึงการ์ตูนเรื่อง Finding Nemo จะมีปลาสีน้ำเงินจอมขี้ลืมเพื่อนของนีโม ที่ชื่อ “ดอรี่” นั่นเอง

สายวิทย์ เรียนยาก แต่ก็ผ่านมาได้

บลูแท้งค์ เรียนจบ ม.6 จากโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดยะลาและสิ้นสุดการรับทุนจากมูลนิธิยุวพัฒน์ไปแล้ว และได้มาเล่าเรื่องราวชีวิตในช่วงวัยมัธยมฯ ของตัวเองว่า… ตอนที่เรียนอยู่ ม.ต้น ผลการเรียนค่อนข้างดี จึงเลือกเรียนต่อ ม.ปลาย สายวิทย์ แต่ช่วงที่เรียนอยู่ ม.4 กลับไม่ค่อยตั้งใจเรียน ติดเล่นกับเพื่อน ทำให้เรียนไม่ทันเพื่อนๆ คนอื่นๆ และมีเหตุการณ์หนึ่งที่บลูแท้งค์จำฝังใจ คือ ชั่วโมงวิชาคณิตศาสตร์ คุณครูสอนเรื่องเมทริกซ์ แล้วเรียกชื่อถามนักเรียนทีละคน เพื่อนตอบคำถามครูได้ทุกคน มีเขาคนเดียวที่ตอบคำถามครูไม่ได้ ตอนนั้นบลูแท้งค์รู้สึกแย่กับตัวเองมาก เดินออกจากห้องเรียนไปร้องไห้กับเพื่อนสนิทหน้าห้องน้ำ แต่ด้วยความโชคดีที่ “ครูเอ – กัณฐิกา วิบูลพันธ์” ครูสอนคณิตศาสตร์ในตอนนั้นให้โอกาสและช่วยติวหลังเลิกเรียนพร้อมกับเพื่อนคนอื่นๆ อีกหลายคน ทำให้บลูแท้งค์กลับมาตั้งใจเรียน ตั้งใจอ่านหนังสือและฮึดสู้ใหม่ และทำให้เขามีผลการเรียนดีขึ้น เกรดก็เพิ่มขึ้น เพราะเหตุการณ์ในวันนั้นทำให้บลูแท้งค์เรียนรู้ว่า… ถ้าตั้งใจจริง ก็ไม่ยาก การเรียนก็ดีขึ้นด้วย…

เมื่อสิ่งที่ชอบ กลับไม่เป็นสิ่งที่ใช่

เมื่อผ่านช่วง ม.4 เขาก็เริ่มคิดถึงการเรียนต่อและอาชีพที่อยากจะทำในอนาคต บลูแท้งค์ถามตัวเองว่า เราชอบอะไร? และเขาก็ได้ตอบกับตัวเองว่า เราเป็นคนที่ชอบศึกษาเรื่องจิตใจ ชอบคิด ชอบอ่านเกี่ยวกับ How To ทำให้เขาสนใจในสาขาจิตวิทยา และในตอนนั้นโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้โรงเรียนก็เปิดโอกาสให้นักเรียนที่สนใจอยากทำงานด้านการแพทย์ได้ไปฝึกและเรียนรู้งานในโรงพยาบาล และบลูแท้งค์ก็ไม่พลาดรีบคว้าโอกาสนั้นทันทีด้วยความตื่นเต้นดีใจ และเขาก็ได้เข้าไปเห็นการทำงานของนักจิตวิทยา แต่แล้วบลูแท้งค์ก็พบว่าเป็นการทำงานที่หนักมาก ต้องพูดคุย รับฟัง ให้คำปรึกษากับคนที่เจอปัญหาต่างๆ เป็นงานที่เต็มไปด้วยความเครียด ก็เลยกลับมาทบทวนตัวเองอีกครั้งเพราะว่า “ตัวของเขาเองไม่น่าจะเหมาะกับงานนี้ ถ้าหากทำอาชีพนี้จริงๆ จะรับมือไม่ไหว เพราะสิ่งที่เขาชอบ อาจไม่ใช่อาชีพที่เป็นคำตอบของเขาเสมอไป” และคำตอบนี้ก็เปลี่ยนความคิดของบลูแท้งค์

อย่าเพิ่งเชื่อว่าสิ่งที่เราชอบ
จะเป็นสิ่งที่ใช่ เพราะอาจจะ
ไม่ได้เป็นอย่างที่เราคิดไว้ก็ได้

ค้นหาต่อ ไม่ยอมแพ้

บลูแท้งค์ กลับมาทบทวนและค้นหาความชอบของตัวเองอีกครั้ง และพบว่าตัวเองชอบวาดรูป จึงฝึกวาดและเรียนรู้จาก YouTube อยู่เรื่อยๆ และรู้สึกสนุก คิดว่าจะดูเท่มากๆ ถ้าสอบเข้าคณะสถาปัตยกรรมได้ แต่พอไปสอบกลับรู้สึกว่ายากกว่าที่คิดเอาไว้ จึงถอยกลับมาทบทวนตัวเองอีกครั้ง ถามตัวเองว่า มีอาชีพไหนที่จะรวมทุกความชอบของตัวเองไว้ด้วยกัน ทั้งวิทยาศาสตร์ การวาดรูป และจิตวิทยา ก็ได้มารู้จักกับสาขาภูมิศาสตร์ พอย้อนกลับไปคิด บลูแท้งค์รู้สึกว่าตัวเองสามารถคิดผิดได้มากกว่าหนึ่งครั้ง แต่ถ้าไม่คิดต่อยอด ก็คงไม่เจอสิ่งที่ตัวเองรักในวันนี้ บลูแท้งค์ขอบคุณตัวเองที่ไม่ยอมแพ้ แม้จะพลาดไปไม่รู้กี่ครั้งก็ตาม

ออกจากความคิดลบ

แต่ด้วยความขี้ลืม ทำให้เกิดความผิดพลาดครั้งใหญ่ขึ้น บลูแท้งค์จำวันสอบผิด!!! ความตั้งใจที่จะได้เข้ากรุงเทพฯ ไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งที่ตัวเองอยากเข้าไปเรียนได้หายไปในทันที มีแต่ความเครียดและพลังลบเข้ามาแทนที่ความตั้งใจ เป็นช่วงเวลาที่เขารู้สึกเกลียดตัวเองมาก แต่ก็พยายามไม่ให้ตัวเองจมอยู่กับความคิดลบนานๆ เพราะเขาได้พลาดโอกาสนั้นไปแล้ว มองหาสิ่งที่จะทำต่อไปได้ดีกว่า เมื่อรู้ตัวว่ารู้สึกไม่ดีบลูแท้งค์ก็พัฒนาตัวเองเพิ่มขึ้น ในตอนนั้นเขาเลือกที่จะเอาดีด้านดนตรี จึงหัดเล่นกีต้าร์จากคนที่เล่นไม่เป็น ก็ฝึกเล่นบ่อยๆ จนเล่นได้ดีขึ้น การเล่นดนตรีช่วยให้เขาออกมาจากความคิดลบนั้นได้เร็วมากขึ้น ซึ่งเป็นความผิดพลาดที่ก็ไม่เสียเปล่าซะทีเดียว เขาก็ยังได้บางอย่างกลับมาด้วย

จากความรู้สึกเฉย ๆ กลายเป็นรัก

มาถึงวันที่ได้เรียนต่อในระดับปริญญาตรี เขากลายเป็นน้องใหม่ในคณะมนุษยศาสตร์ สาขาภูมิศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในจังหวัดปัตตานี ตอนที่สอบได้บลูแท้งค์กลับรู้สึกเฉยๆ ไม่รู้สึกดีใจเลย แต่ทุกคนในครอบครัวกลับดีใจกันมาก จนวันที่ได้เข้าไปเรียนวันแรกเขากลับรู้สึกตื่นเต้นที่ได้เจอเพื่อนใหม่ ได้เจออาจารย์ที่เป็นแบบอย่างที่ดี จนเขารู้สึกศรัทธาและเชื่อมั่นในอาจารย์มาจนถึงวันนี้ เขามีความรู้ใหม่ๆ จนได้ค้นพบว่า สาขาภูมิศาสตร์ที่นี่แหละคือสิ่งที่เขารัก

สาขาภูมิศาสตร์ เขาเรียนอะไรกัน

การเรียนในสาขาภูมิศาสตร์เป็นการศึกษาเกี่ยวกับพื้นที่ต่างๆ บนโลก รวมถึงการศึกษาลักษณะและการเปลี่ยนแปลงของโลก ภูมิอากาศแต่ละแห่งบนโลก ระบบนิเวศแต่ละพื้นที่ นอกจากนี้ ภูมิศาสตร์ยังศึกษาถึงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับภูมิประเทศในเรื่องการใช้ประโยชน์ของพื้นที่ การย้ายถิ่นฐาน การเเบ่งเขตการปกครอง ฯลฯ

ปัจจุบันภูมิศาสตร์มีมากมายหลายแขนง แต่ที่สำคัญคือการประยุกต์ใช้ความรู้ทางภูมิศาสตร์มาช่วยในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ วางแผนพัฒนาเมือง การศึกษาและป้องกันภัยพิบัติต่างๆ การพัฒนาการท่องเที่ยว ฯลฯ  หัวใจหลักของภูมิศาสตร์ตามที่เรียนมาจะมี 3 ด้าน คือ
1. เรียนด้านกายภาพ เช่น หิน แร่ ธรณีวิทยา
2. เรียนด้านวัฒนธรรม เช่น สังคม อารยธรรมเมโสโปเตเมีย เพื่อเข้าใจความเป็นมนุษย์
3. เรียนด้านเทคนิค เช่น การขึ้นบอลลูนในสมัยก่อน ตามมาด้วยเครื่องบินที่พี่น้องตระกูลไร้ท์ประดิษฐ์ได้สำเร็จ และในปัจจุบันคือ GIS หรือระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (Geographic Information System)

สำหรับบลูแท้งค์ภูมิศาสตร์เหมือนกับจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญที่สามารถต่อไปได้เรื่อยๆ ประยุกต์ใช้ได้หลากหลาย ยิ่งได้เรียนยิ่งสนุก เรียนจบก็สามารถทำได้หลายอาชีพ เช่น นักภูมิศาสตร์ นักผังเมือง นักแผนที่ภาพถ่าย นักสำรวจ นักธรณีศึกษา นักธรณีสัณฐานวิทยา นักบรรพกาล นักสถิติ นักวิจัย เป็นต้น ซึ่งสาขาอาชีพนี้ยังได้รับความสนใจจากคนในหลายๆ ประเทศ เนื่องจากเเต่ละประเทศหรือภูมิภาคนั้นจะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวให้ได้ไปศึกษาเรียนรู้ เพราะว่าโลกของเรามีการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่และประชากรอยู่ตลอดเวลา ทำให้การศึกษาเรื่องนี้สำหรับนักภูมิศาสตร์แล้วไม่มีจำกัด

การฝึกงาน…ประสบการณ์สุดล้ำค่า

บลูแท้งค์ฝึกงานแบบสหกิจ คือการส่งใบสมัครงาน ส่งเรซูเม่ เพื่อสมัครเข้าทำงานและได้ทำงานเป็นพนักงานคนหนึ่งในองค์กรนั้นๆ ซึ่งเขาได้รับตำแหน่งผู้ช่วยตรวจสอบภาพถ่ายทางอากาศ ที่กรมโยธาธิการและผังเมือง กรุงเทพฯ ในระยะเวลา 4 เดือนนั้นมีค่ามากๆ สำหรับบลูแท้งค์ เพราะเขาได้ทั้งความรู้ ความเข้าใจ และทักษะในการทำงานจริงๆ ได้ความรู้ตลอดกระบวนการตั้งแต่เริ่มต้นจนจบ เข้าใจการประสานงานและการสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน บลูแท้งค์รู้สึกได้ว่าการได้อยู่ท่ามกลางคนที่มีความชำนาญ ทั้งนักภูมิศาสตร์ ผู้ชำนาญการพิเศษ นักแผนที่ ที่เก่งมากๆ และยินดีสอนงานให้เขาอยู่เสมอ เป็นแรงบันดาลใจสำคัญให้บลูแท้งค์หลงรักและอยากทำงานในด้านนี้มากๆ อีกทั้งเขายังได้เรียนรู้เกี่ยวกับ Soft Skills เป็นทักษะที่สำคัญและจำเป็นมากๆ ในการทำงาน และพี่เลี้ยง ผู้อำนวยการ พนักงานในองค์กรจะสอนบลูแท้งค์เสมอว่า “ไม่ว่าเราจะเรียนด้านไหนมา เมื่อได้ทำงานอย่าขาดเรื่องมนุษยสัมพันธ์ การอยู่ร่วมกัน และเราต้องสามารถทำงานร่วมกับคนอื่นๆ ได้”

บลูแท้งค์ทิ้งท้ายไว้ว่า…ฝากสาขาภูมิศาสตร์ สำหรับคนที่ชอบความหลากหลาย ชอบความท้าทาย ชอบการค้นหาสิ่งใหม่ๆ สำหรับคนที่อยากค้นหาความต้องตัวเอง สามารถทดลองทำหลายๆ อย่างได้เสมอ เพื่อให้เราเองได้เรียนรู้และค้นหาสิ่งที่ชอบจริงๆ ทำในสิ่งที่ทำให้มีความสุขและสบายใจเพราะเราจะทำได้ดีได้ในทุกๆ วัน…

ผู้เขียน : แสงอรุณ ลิ้มวงศ์ถาวร
#อาสาเขียนบทความ

Exit mobile version