3 เหตุผลหลัก
เด็กไทยอ่อนภาษาอังกฤษ
อย่างแรกเลยคือ ภาษาอังกฤษถูกมองว่ายาก โดยเฉพาะเด็กที่อยู่ในครอบครัวที่ผู้ปกครองไม่มีทักษะภาษาอังกฤษ เช่น เวลาเด็กมีปัญหาไม่เข้าใจเนื้อหาวิชามาจากโรงเรียน หรือทำการบ้านวิชาภาษาอังกฤษไม่ได้ แต่ไม่มีใครอธิบายให้เข้าใจได้ จึงคิดว่าภาษาอังกฤษยากเกินไปสำหรับพวกเขา ลำดับต่อมา สังคมไทยไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวัน และลำดับสุดท้ายเป็นเหตุผลที่สำคัญมาก เด็กไม่เข้าใจว่าทำไมวิชานี้มีความสำคัญอย่างไร คือเรียนไปแล้วได้ประโยชน์อย่างไร?
ซึ่งในฐานะของครูจะต้องเข้าไปแก้ปัญหา ไม่ว่าจะเป็นการแนะนำให้เด็กใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์มากที่สุดหากคนที่บ้านไม่สามารถช่วยอธิบายได้เนื่องจากไม่มีความรู้ด้านภาษา ต่อมาครูจะต้องทำให้เด็กเข้าใจว่าภาษาอังกฤษมีความสำคัญอย่างไร ทั้งในชีวิตประจำวันและการประกอบอาชีพในอนาคต และต้องปรับทัศนคติของนักเรียนที่มีต่อภาษาอังกฤษไปในเชิงบวก ด้วยวิธีการแทรกคำศัพท์ภาษาอังกฤษเมื่อพูดคุยกับนักเรียน พานักเรียนไปเข้าค่ายภาษาอังกฤษ หรืออาจจะพานักเรียนไปพบเจอกับคนต่างชาติ เพื่อทำให้นักเรียนเกิดทัศนคติที่ดีต่อการใช้ภาษาอังกฤษ
ทักษะการใช้ภาษาอังกฤษ
ไทยอยู่ในอันดับ 101 จาก 113 ประเทศ
อยู่ลำดับที่ 21 รั้งท้ายกลุ่มอาเซียน
“เด็กไทยไม่ได้ด้อยภาษา” อาจจะมาจากสถานการณ์โควิด เพราะนักเรียนไม่ได้เจอครูตัวต่อตัว ซึ่งสำคัญมากกับทักษะการอ่านและออกเสียง ต้องเรียนออนไลน์ ในขณะที่บางคนเจอปัญหาระบบอินเตอร์เน็ตไม่มีสัญญาณ ขณะที่ในห้องเรียนก็มีปัญหา นักเรียนบางคนมีทัศนคติในเชิงลบกับวิชาภาษาอังกฤษ แต่ก็คาดว่าปีหน้าคะแนนต้องดีขึ้น เพราะประเทศไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก ต้องให้กำลังใจเด็กไทยและเชื่อมั่นในความสามารถ
“อาจมาจากช่วงโควิดนักเรียนไม่ได้เจอครู ทำให้มีผลกับวิชาภาษาอังกฤษ เพราะว่าหากจะพูดได้ต้องเริ่มจากการฟังเพื่อให้เกิดความคุ้นเคยกับสำเนียงการออกเสียง เรียนรู้คำศัพท์ เรียนรู้ประโยค จากนั้นฝึกพูดตาม แต่เมื่อมีการเรียนออนไลน์ เด็กหลายคนก็เจอปัญหาด้านสัญญาณอินเตอร์เน็ตไม่ดี บางครอบครัวมีรายได้น้อยก็ไม่มีเงินค่าอินเตอร์เน็ต ครอบครัวเด็กบางคนว่างงานในสภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ เด็กไม่มาโรงเรียนเพื่อให้พ่อแม่มีภาระน้อยลง เป็นปัญหาที่ทำให้เด็กนักเรียนไม่สามารถเข้าถึงคุณภาพการศึกษาได้”
สำหรับวิธีแก้ปัญหากรณีเด็กมีทัศนคติเชิงลบกับวิชาภาษาอังกฤษ ครูธัญยมัย ยกตัวอย่างวิธีการแก้ปัญหาจากประสบการณ์ของตนเองโดยแนะนำว่า…จำเป็นต้องวิเคราะห์พฤติกรรมของนักเรียนเป็นอันดับแรก พยายามหาสาเหตุของการไม่ชอบภาษาอังกฤษของเด็ก สร้างความไว้วางใจพร้อมกับสร้างบรรยากาศห้องเรียนให้ผ่อนคลาย สนุกสนาน เลือกใช้สื่อการเรียนการสอนที่ทันสมัยเหมาะสมกับการเรียนรู้ของเด็กในยุคใหม่ ขณะที่การวัดผลก็ต้องพิจารณาไปตามความสามารถของเด็ก แต่ไม่ทิ้งตัวชี้วัดที่เป็นแกนของหลักสูตร ที่สำคัญครูต้องปรับตัวอยู่ตลอดเวลาเพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี
“เด็กบางคนไม่ชอบเพราะคิดว่ายาก อ่านไม่ออก พอถึงคาบเรียนก็ไม่สนใจ นั่งเหม่อลอย บางคนหนีเรียน ครูต้องรีบแก้ปัญหา ตรวจสอบว่าเด็กแต่ละคนมีพฤติกรรมอย่างไร ชอบเรียนแบบไหน เช่น เด็กในห้องเรียนของครูจะรู้สึกผ่อนคลายเวลาทำกิจกรรมที่ต้องทำเป็นคู่กับเพื่อน ครูก็จะใช้วิธีจัดการเรียนการสอนแบบให้ทำงานเป็นคู่ สร้างบรรยากาศห้องเรียนให้ผ่อนคลาย ใช้สื่อการเรียนการสอนที่ทันสมัยเหมาะสมกับเด็กในยุคใหม่ ผลลัพธ์ที่ออกมาเด็กมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในเชิงบวก เข้ามาเรียนมากขึ้น”
ใช้ “เทคโนโลยี” มาช่วยเติมทักษะ
การเรียนภาษาอังกฤษให้กับเด็กไทย
เทคโนโลยีในยุคนี้มีมากมาย ในสมัยก่อนถ้าต้องการอ่านหนังสือภาษาอังกฤษสักเล่มต้องเดินไปร้านหนังสือ แต่ยุคนี้แตกต่างออกไปเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาท เด็กต้องได้รับการสนับสนุนให้สามารถหาความรู้จากสิ่งเหล่านี้ได้อย่างเท่าเทียม ขณะเดียวกันในโรงเรียนโดยเฉพาะโรงเรียนห่างไกลก็ควรเข้าถึงเทคโนโลยีได้อย่างครอบคลุม เช่น ห้องเรียนภาษาอังกฤษผ่าน E-learning ซึ่งในปัจจุบันทางโรงเรียนที่ครูธัญยมัยสอนอยู่ก็ได้นำเข้ามาช่วยครูและเด็กๆ ในการเรียนการสอนภาษาอังกฤษให้มีคุณภาพมากขึ้น
นั่นก็คือ สื่อดิจิทัลภาษาอังกฤษ “วินเนอร์อิงลิช” โดย บริษัท เอ็ดดูเทค อินโนเวชั่น จำกัด หนึ่งในภาคีเครือข่ายโครงการร้อยพลังการศึกษา โดยมูลนิธิยุวพัฒน์ ซึ่งได้ออกแบบหลักสูตรการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ E-learning แบบครบวงจรทั้ง ฟัง พูด อ่าน เขียน และไวยากรณ์ สามารถเรียนตั้งแต่ระดับพื้นฐานไปถึงการใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน เพื่อเป็นเครื่องมือช่วยคุณครูในการพัฒนาศักยภาพของเยาวชนไทย ให้สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้อย่างคล่องแคล่วและมีประสิทธิภาพ สะท้อนผ่านเสียงของนักเรียนที่ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ช่วยให้การเรียนภาษาอังกฤษเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น
“น้องเบล” นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 เด็กหญิงผู้มีความฝันในเส้นทางอาชีพล่ามภาษา เพราะความชอบเรียนวิชาภาษาอังกฤษเป็นทุนเดิม เมื่อมีห้องเรียนภาษาอังกฤษผ่าน E-learning ก็ยิ่งได้พัฒนาทักษะภาษาอังกฤษมากขึ้น
“ภาษาอังกฤษมีความสำคัญมากทำให้เรามีโอกาสในอาชีพที่หลากหลายในอนาคต ซึ่งหลังได้เรียนภาษาอังกฤษของโปรแกรมวินเนอร์อิงลิช ก็ทำให้มีพัฒนาการที่ดีขึ้น เช่น ได้เรียนรู้คำศัพท์ใหม่ๆ ฝึกการฟัง การออกเสียง คะแนนในวิชาภาษาอังกฤษดีขึ้นมาก ซึ่งการเรียนภาษาอังกฤษไม่ใช่เรื่องยาก แต่ต้องใช้เวลาฝึกฝน และเปิดใจ”
“น้องแบงค์” นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ได้เรียนโปรแกรมวินเนอร์อิงลิช ทำให้พัฒนาการด้านไวยากรณ์ดีขึ้น ซึ่งการเรียนภาษาอังกฤษการเข้าใจไวยากรณ์สำคัญแต่ไม่สำคัญเท่ากับการสื่อสารให้รู้เรื่อง
“ผมชอบบทเรียนแกรมมาในโปรแกรมวินเนอร์อิงลิช ทำให้คะแนนของผมออกมาดีมาก แต่การใช้ไวยากรณ์ในภาษาอังกฤษสำคัญแต่ไม่เท่ากับการที่เราสามารถสื่อสารให้เข้าใจ และนอกจากมีเทคโนโลยีมาช่วยให้เรามีพัฒนาการด้านภาษาดีขึ้น ผมยังมองว่าครูก็มีส่วนสำคัญ ถ้าได้เรียนกับครูที่เข้าใจนักเรียน สร้างบรรยากาศที่ดีในการสอน ครอบครัวที่ให้การสนับสนุน จะช่วยกระตุ้นให้เรามั่นใจและอยากพัฒนาด้านภาษา”
“น้องภา” นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 อธิบายความแตกต่างก่อนและหลังได้เรียนโปรแกรมวินเนอร์อิงลิชสิ่งที่เห็นชัดเจนคือได้เรียนรู้ “คำศัพท์” ใหม่มากขึ้น
“คำศัพท์ที่ครูสอนอาจเป็นคำเดิมๆ แต่พอเรียนโปรแกรมวินเนอร์อิงลิชได้คำศัพท์ใหม่ๆ มากขึ้น ได้ฝึกการออกเสียง ทำให้มั่นใจเวลาสื่อสารกับครู หรือต้องสื่อสารกับคนต่างชาติ ส่วนผลการเรียนก็ทำออกมาได้ดี จาก 3.5 ขึ้นมาเป็นเกรด 4”
ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นว่า… การยกระดับคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนในประเทศไทย เพื่อให้เด็กทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพได้อย่างเท่าเทียมด้วยเทคโนโลยีการเรียนออนไลน์ และการปรับการเรียนการสอนแบบใหม่มีความสำคัญ อย่างที่มูลนิธิฯ ได้ขยายภารกิจในการช่วยเหลือเด็กและเยาวชนขาดโอกาสเพิ่มขึ้น ผ่านโครงการต่างๆ จากการดำเนินงานโดยตรงและการร่วมมือกับภาคีเครือข่ายในการขยายผลและสร้างผลลัพธ์ที่ดี เพราะเราเชื่อว่าระบบการศึกษาที่ดีต้องเกิดจากการมีส่วนร่วมของทุกคนในสังคม