“
การสอนให้เด็กมีความสุขสำคัญมาก
เพราะส่งผลต่อทัศนคติ โดยเฉพาะกับวิชาเรียน
ถ้าเขามีความสุข ก็อยากเรียนและทำคะแนนให้ดีขึ้น
และต่อยอดเพื่อพัฒนาอนาคตต่อไปได้
แต่ก็ต้องยอมรับว่าปัจจุบันด้วยข้อจำกัด
เช่น ภาระของครู ก็ทำให้บางวิชาอาจมีแต่สั่งงาน
หรือเวลาเรียนก็ต้องจดตามทฤษฎี
ไม่มีการกระตุ้นการเรียนรู้ เด็กก็อาจจะเบื่อ
และเรียนไม่สนุก
“
ครูบัวพิม พัชณิดา เทือกถา ครูในโครงการ “ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์” ที่มุ่งขจัดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาผ่านการสร้าง “ผู้นำ” จากคนรุ่นใหม่ที่มุ่งมั่นและมีความสามารถ หรือที่เรียกว่า “ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง” ถือเป็นอีกหนึ่งในภาคีที่เข้ามามีส่วนร่วมในโครงการ “ร้อยพลังการศึกษา”
ครูบัวพิม สะท้อนให้เห็นว่า ห้องเรียนที่ดีไม่ได้เน้นแค่พัฒนาเด็กให้เป็นคนเก่ง แต่ที่สำคัญ คือ เด็กต้องมีความสุขในการเรียน การอยู่ร่วมกันในห้องเรียน และสนุกที่จะเรียนรู้ไปพร้อมกัน
คำถามคือ แล้วเราจะสามารถจัดการห้องเรียนแห่งความสุขได้อย่างไร จะทำอย่างไรให้เด็ก รวมถึงครูผู้สอนมีความสุขจากการจัดการเรียนรู้ และสร้างห้องเรียนให้เป็น “ห้องเรียนแห่งความสุข” อย่างแท้จริง
ครูบัวพิม ตอบได้อย่างเต็มอก หลังจากที่ผ่านการสอนเป็นเวลาเกือบ 2 ปี ที่โรงเรียนบ้านด้ายเทพกาญจนาอุปถัมภ์ จังหวัดเชียงราย ในวิชาภาษาอังกฤษ ระดับชั้นมัธยมต้น เธอไม่เพียงได้ร่วมเปลี่ยนชีวิตเด็ก แต่ยังได้พัฒนาศักยภาพของตนเองและเข้าใจปัญหาการศึกษาของสังคมไทยอีกด้วย
“
พูดภาษาอังกฤษผิด
เท่ากับโง่?
”
เมื่อถามถึงสูตรการสอน เธอบอกว่าตั้งต้นจากประสบการณ์ช่วงระยะเวลาหนึ่งในวัยเด็กที่เคยเรียนในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกล และไม่ได้รับโอกาสเท่าที่ควร กระทั่งได้มีโอกาสเข้ามาศึกษาในเมืองจึงมีพัฒนาภาษาอังกฤษได้มากขึ้น ทำให้รู้ว่าภาษาเปิดโอกาสในชีวิตมากแค่ไหน เมื่อมาเป็นครูจึงต้องการสร้างโอกาสให้กับเด็กๆ
เธอตั้งเป้าหมายว่าต้องทำลายกำแพงของเด็กที่มีต่อการเรียนภาษาอังกฤษ ด้วยการเปลี่ยนทัศนคติที่ว่า “พูดภาษาอังกฤษผิด เท่ากับโง่” ให้เป็นการเรียนภาษาอังกฤษที่มีความสุข สนุก และทำให้เห็นว่าวิชานี้สามารถสร้างโอกาสให้กับชีวิตได้ขนาดไหน แน่นอนว่า “ก้าวแรก…มักยากเสมอ”
“แรกๆ รับมือยาก เพราะครูไม่เคยพูดหน้าชั้น ไม่เคยจัดการห้องเรียน อาจจะด้วยไม่ได้เรียนมาทางด้านนี้มาโดยตรง และในช่วงที่เทรนด์นิ่งกับโครงการ ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ ก็จะเป็นออนไลน์ทั้งหมด พอมาเจอเด็กจริงๆ ที่มีหลากหลายรูปแบบ เช่น ไม่อยากเรียนภาษาอังกฤษ คิดว่ายาก คิดว่าถ้าพูดผิดเท่ากับโง่ ครูก็เลยอยากเปลี่ยนทัศนคติของพวกเขาใหม่ เพราะจะยั่งยืนกว่าเมื่อถึงวันที่ครูไม่ได้สอนพวกเขาแล้ว เด็กๆ ก็ยังสามารถไปหาความรู้ได้เองจากอินเตอร์เน็ต เพราะพวกเขาตั้งต้นว่าเรียนมีความสุข สนุก เกิดความรักในการเรียนภาษาอังกฤษแล้ว”
เทคนิคของครูบัวพิม เธอบอกว่าเริ่มจากการสอนคำศัพท์พื้นฐาน โดยประยุกต์เกมเข้าไปกับการเรียนด้วย ขณะที่การสอนแกรมม่าที่ใครๆ บอกว่าแสนจะน่าเบื่อ ครูก็ไปหาบทเพลงมาประกอบการสอน และกระตุ้นเชิงบวกไปพร้อมกัน
“เวลาสอนแกรมม่า นักเรียนจะไม่ชอบ เลยลองเอาเพลงมาประกอบ เช่น ถ้าเรียนหลักการใช้ Past Tense ก็เอาเพลงที่เกี่ยวข้องมาช่วย เพื่อทำให้เด็กรู้ว่าแกรมม่าไม่ได้น่าเบื่อขนาดนั้น โดยครูก็จะไปค้นหาในอินเตอร์เน็ต หรือหาไอเดียจากครูทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ด้วยกัน ส่วนการสอนที่ต้องมีการฝึกพูด การใช้คำศัพท์ หรือคำสั่งต่างๆ ครูก็จะมีการกระตุ้นเชิงบวก อย่างเช่น ให้สะสมแสตมป์ ถ้าคนไหนมีพฤติกรรมที่ดีก็จะได้แสตมป์ไปสะสมหรือมีของรางวัล เช่น กล่องสุ่ม ขนม ลูกอม เพิ่มคะแนน พอเรานำวิธีแบบนี้มาร่วมในการสอนเด็กก็อยากเรียนมากขึ้น”
ครูบัวพิมยกเคสตัวอย่างของนักเรียนคนหนึ่ง ที่ถึงขั้นเกลียดภาษาอังกฤษมากๆ เลยก็ว่าได้ กระทั่งการเปลี่ยนแปลงได้เกิดขึ้น แม้ระดับคะแนนของเขาจะไม่ได้พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วแต่ความพยายามมีมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ส่วนหนึ่งก็เพราะได้เข้ามาในห้องเรียนแห่งความสุขนี้
“เด็กคนหนึ่งเคยยอมรับว่าเกลียดภาษาอังกฤษ พอไปดูคะแนนก็ได้เกรด 0 แล้วยังติด ร. อีก แต่พักหลังเขาเปลี่ยนไปมาก ทำการบ้าน ส่งงานก่อนเพื่อนเลย แถมพอเขาเรียนแล้วเข้าใจก็จะไปสอนเพื่อนต่อ ที่น่าภูมิใจมากๆ คือ เขามาบอกครูว่าจะเรียนต่อ และจะเลือกเรียนด้านภาษาอังกฤษด้วย”
ฟีดแบ็คอีกอย่างหนึ่งที่สะท้อนว่าการจัดการเรียนการสอนให้เด็กมีความสุขเป็นไปตามเป้าหมาย ก็คือ การที่เด็กนักเรียนชอบภาษาอังกฤษมากขึ้น
“ล่าสุดคุณครู ม.4 บอกว่าเด็กที่จบจากชั้นเรียนของเราไป เขาชอบภาษาอังกฤษมากขึ้น อย่างน้อยก็มีเด็กจำนวนหนึ่งอยากไปเรียนต่อในสายศิลป์เพิ่มขึ้น เพราะต้องยอมรับว่าพอเด็กไม่ชอบภาษา เขาก็ไม่อยากเรียนในสายนี้กัน หมายความว่า เด็กได้เปลี่ยนทัศนคติที่ดีขึ้น ก็เป็นเป้าหมายที่ตั้งใจไว้แต่แรก”
บทสนทนาในชั้นเรียนถือเป็นสิ่งสำคัญเช่นกันในการวางพื้นฐานความสัมพันธ์และการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข การสร้างบทสนทนาและการมีส่วนร่วมให้เกิดขึ้นผ่านการจัดการเรียนรู้ในชั้นเรียน สามารถทำได้หลากหลายวิธีการ วิธีหนึ่งคือ “การให้กำลังใจ”
“เราใช้เครื่องมือสร้างสรรค์มาเปลี่ยนห้องเรียนให้มีความสุข สนุกมากขึ้นแล้ว ก็ยังมีการให้กำลังใจนักเรียนด้วย เพราะบางคนก็ยังคิดว่าภาษาอังกฤษยาก เรียนไม่ได้ ครูก็พยายามให้กำลังใจว่าเขาทำได้ ให้มีความภูมิใจในตนเอง เวลาเรียนออกมาได้ดี ครูจะชื่นชม”
นี่คือประสบการณ์ตรงของคุณครูเกี่ยวกับการจัดการในชั้นเรียนให้เป็น “ห้องเรียนแห่งความสุข” ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งในทิศทางใหม่ของการเรียนรู้ของศตวรรษที่ 21 เชื่อว่าคุณครูทุกคนก็ปรารถนาให้นักเรียนมีความสุขกับการเรียนรู้ ยิ่งสภาพแวดล้อมในการเรียนรู้ส่งผลต่อความสุขมากเท่าไหร่ ประสิทธิภาพในการเรียนรู้ของนักเรียนก็จะแสดงออกมาให้เห็นมากขึ้นเท่านั้น