“แนะแนวคืออะไร? จะสอนยังไง?” เป็นคำถามแรกที่ผุดขึ้นในใจของ ครูศิริพร คำชวด หรือ ‘ครูหนิง’ ครูสอนวิชาคณิตศาสตร์ โรงเรียนวังข่อยวิทยา จังหวัดนครสวรรค์ เมื่อต้องมารับผิดชอบสอนวิชาแนะแนวทั้งที่ไม่ได้เรียนจบมาทางด้านนี้

HIGHLIGHT:

  • การเรียนรู้และพัฒนา แม้ไม่ได้จบด้านแนะแนว แต่ครูหนิงไม่หยุดที่จะเรียนรู้ โดยเข้าร่วมอบรมและนำมาปรับใช้
  • ความอดทนและความเข้าใจ เมื่อนักเรียนต่อต้าน เธอไม่ได้บังคับ แต่ให้เวลากับพวกเขา จนในที่สุดเด็กๆ เปิดใจ
  • การช่วยเหลือแบบองค์รวม เธอไม่เพียงให้คำแนะนำ แต่ลงมือช่วยเหลือ เช่น การพานักเรียนที่เคยมีปัญหาเกี่ยวกับยาเสพติดเข้าสู่ชมรมกีฬา
  • การสร้างพื้นที่ปลอดภัย นักเรียนรู้สึกว่าครูเป็นที่พึ่งได้ ไม่ใช่แค่คนที่สั่งสอน

“ตอนแรกมองไม่ออกเลยว่าวิชาแนะแนวสำคัญยังไง เพราะประสบการณ์ตั้งแต่เป็นนักเรียน ครูแนะแนวในความทรงจำก็แค่บอกว่ามีมหาวิทยาลัยไหนน่าสนใจ มีโควตาอะไรบ้าง”

ครูหนิงย้อนความหลัง

จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นเมื่อเพื่อนครูแนะนำให้เธอเข้าร่วมอบรมกับ โครงการ a-chieve” ครูหนิงบอกว่า พอได้เข้าไปอบรมสร็จแล้ว รู้สึกว้าว มาก เพราะไม่ได้เป็นการนั่งฟังบรรยายว่าต้องสอนแนะแนวอย่างไร แต่เป็นการทำกิจกรรมที่สามารถนำไปใช้ในคาบเรียนได้เลย

สิ่งที่ a-chieve ทำ สามารถนำไปปรับใช้ในการจัดกิจกรรมแนะแนวของครูได้เลย เป็นแนวทางที่ดี เพื่อให้นักเรียนได้เริ่มรู้จักตนเอง รู้จักคนอื่น ยอมรับความแตกต่างและหลากหลาย ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับการตัดสินใจว่าจะก้าวเดินไปในเส้นทางที่นักเรียนต้องการได้อย่างแท้จริง

แน่นอนว่าการเริ่มต้นไม่ใช่เรื่องง่าย เมื่อนำกิจกรรมไปใช้ในห้องเรียนครั้งแรก นักเรียนต่อต้านทันที เพราะเด็กๆ มีความรู้สึกว่าแนะแนวควรได้เล่นกีฬาหรือทำกิจกรรมสนุกๆ ไม่ใช่มานั่งเปิดวงสนทนา ครูหนิงเล่าว่า มีนักเรียนบางคนยกมือขอออกไปเล่นกีฬากับเพื่อน

ในช่วงแรกครูก็จะอนุญาตให้ออกไปเล่นกีฬากับเพื่อน เพราะเข้าใจว่ายังไม่ยอมเปิดใจ แต่ผลปรากฏว่าหลังจากออกไปเล่นกีฬา แต่มีเพื่อนๆในห้องร่วมทํากิจกรรม เด็กกลุ่มนั้นก็มาแอบดู พอครั้งถัดไปก็เปิดใจเข้าร่วมกิจกรรม และกล้าที่จะเปิดใจพูดคุยกับครูมากขึ้น

สิ่งหนึ่งที่ครูหนิงนำมาใช้สะท้อนให้เห็นว่า ครูไม่ยอมแพ้ เธอค่อยๆ สร้างความไว้วางใจด้วยการรับฟังอย่างตั้งใจ ไม่ตัดสิน และพยายามเข้าใจมุมมองของนักเรียน

“ครูจะไม่พูดแทรกระหว่างที่นักเรียนเล่าเรื่องราวต่างๆ ให้ฟัง พอฟังจบแล้วจึงจะชวนคุย โดยจำลองเหตุการณ์ว่าถ้าเป็นแบบนี้เด็กนักเรียนจะรู้สึกยังไง หรือถ้าสถานการณ์เปลี่ยนไปนักเรียนจะทำยังไง เพื่อให้เขาได้เห็นภาพที่กว้างมากขึ้น”

วิธีการนี้ได้ผลดีเกินคาด นักเรียนเริ่มเปิดใจมากขึ้น จนกระทั่งสามารถพูดคุยถึงปัญหาสำคัญในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นปัญหาครอบครัว การเงิน หรือแม้แต่การหลงผิดเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด

หนึ่งในความสำเร็จที่ครูหนิงภูมิใจที่สุด คือการช่วยเหลือนักเรียนที่ประสบปัญหานี้ ครูหนิงเล่าว่า เด็กคนนี้หลงผิดไปเกือบหนึ่งปีการศึกษา จึงต้องไปเยี่ยมบ้านบ่อยครั้ง พูดคุยโดยไม่กล่าวโทษ จนเขาค่อยๆ เปิดใจกล้าเล่าว่ามีปัญหาที่บ้าน ไม่ว่าจะเป็นความเครียดจากการที่แม่ป่วยกะทันหัน พ่อไม่เข้าใจ จนทำให้เกิดอาการเครียดสะสมจนไปลองเสพยากับรุ่นพี่

ครูหนิงไม่ได้แค่รับฟัง แต่ยังช่วยหาทางออกด้วยการชวนนักเรียนมาเข้าชมรมกีฬาฟุตซอล โดยโทรศัพท์พูดคุยกับครอบครัวและรายงานว่านักเรียนมาซ้อมทุกวันจริง พร้อมกับฝากครูที่ดูแลชมรมให้ช่วยดูแลเป็นพิเศษ จนสุดท้ายเขาได้เป็นผู้รักษาประตูของโรงเรียน และเลิกเสพยาได้ในที่สุด

รู้สึกมีกําลังใจ มีพลังในการที่จะทํางานต่อ พอผ่านจุดที่มีความยากแล้ว ถึงครูจะไม่ได้จบมาในสาขาแนะแนวโดยตรง แต่พอได้ทํางานกับผู้ปกครอง ทําให้มีกําลังใจเพิ่มขึ้นกับการที่จะพัฒนานักเรียนให้ดีมากขึ้น

ประสบการณ์เหล่านี้ทำให้ครูหนิงตระหนักว่า การแนะแนวไม่ใช่แค่การบอกข้อมูลการศึกษาต่อ แต่เป็นการช่วยให้นักเรียนรู้จักและเข้าใจตัวเอง ก่อนที่จะก้าวไปถึงเป้าหมาย นักเรียนจะต้องรู้ตัวเองก่อน รู้ให้ทันอารมณ์ตัวเอง รู้สิ่งที่อยู่ภายในจริงๆ เพราะเด็กในยุคนี้มักจะมองคนอื่นก่อน ลืมมองตนเอง

ครูหนิงอธิบายเพิ่มเติมว่า ความท้าทายสำคัญในการทำงานกับเด็กในยุคนี้คือ พวกเขามีความคิดเป็นของตัวเอง เข้าถึงข้อมูลได้กว้างขวาง ไม่ใช่ยุคที่จะสั่งอย่างเดียวแล้วเด็กจะทำตาม ดังนั้นครูและนักเรียนจึงต้องสร้างข้อตกลงร่วมกัน เช่น การที่ทั้งครูและนักเรียนได้บอกเป้าหมายและความต้องการของตนเอง แล้วมาสร้างพื้นที่ไปพร้อมกัน

แม้ปัจจุบันโรงเรียนจะมีครูแนะแนวโดยตรงแล้ว แต่ครูหนิงยังคงใช้ทักษะการรับฟังและการสร้างความไว้วางใจกับนักเรียนในชั่วโมง โฮมรูม

เป้าหมายของครู คือ การเป็นครูที่ยังมีไฟอยู่เสมอ ไม่ให้ไฟในตัวมอดลงไปเพียงเพราะภาระงานเอกสารหรือนโยบายต่างๆ เพราะสิ่งสำคัญที่สุดคือการอยู่เคียงข้างและเป็นที่พึ่งให้นักเรียนได้

บทเรียนจากครูหนิงแสดงให้เห็นว่า การเป็นครูแนะแนวที่ดีไม่ได้อยู่ที่วุฒิการศึกษา แต่อยู่ที่หัวใจที่พร้อมจะรับฟัง เข้าใจ และเรียนรู้ไปพร้อมกับนักเรียน แม้จะไม่ได้จบมาทางนี้โดยตรง แต่ด้วยความตั้งใจและการพัฒนาตัวเอง ครูทุกคนสามารถเป็น “ครูแนะแนว” ที่ช่วยเปลี่ยนแปลงชีวิตนักเรียนได้