เมื่อกล่าวถึง ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล หลายคนอาจจะไม่รู้จักเธอ แต่เธอคนนี้เป็นผู้บุกเบิกวิชาชีพพยาบาลและระบบสาธารณสุข และเธอยังเป็นนางพยาบาลที่พลิกโฉมหน้าประวัติศาสตร์จนโลกต้องจารึกชื่อเธอ ผู้จัดทำหลักสูตร และเปิดโรงเรียนพยาบาลที่เป็นรากฐานการศึกษาวิชาพยาบาลของโรงเรียนพยาบาลทั่วโลก ความสามารถของเธอได้รับการยอมรับจนมีคำกล่าวว่า “อังกฤษเสียแม่ทัพผู้ยิ่งใหญ่ไปคนหนึ่ง เหตุเพราะฟลอเรนซ์ ไนติงเกลได้ถือกำเนิดมาเป็นผู้หญิง”
แล้วอะไรคือแรงบันดาลใจที่ผลักดันให้ ฟลอเรนซ์ ทิ้งฐานะหรูหราทางสังคมและความสะดวกสบายในชีวิต ยอมเสียเกียรติและชื่อเสียง เพราะในสมัยนั้นภาพลักษณ์ของพยาบาลไม่ค่อยดีนักและมักเป็นงานของผู้หญิงที่มีฐานะยากจน และเธอยังยอมที่จะขัดแย้งกับความปรารถนาของครอบครัวที่ต้องการให้เธอแต่งงาน? อะไรคือพลังที่ทำให้เธอส่องแสงเรืองรองดุจดวงประทีปที่ไม่มีวันอับแสงให้แก่ผู้คนทั่วโลกจนถึงปัจจุบัน?
เรามาทำความรู้จักสตรีผู้ได้รับสมญานามว่า “ดวงประทีปแห่งความหวัง” กันดีกว่า
ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล เกิดวันที่ 12 พฤษภาคม ค.ศ. 1820 ที่เมืองฟิเรนเซ (ฟลอเรนซ์) ประเทศอิตาลี ซึ่งเป็นที่มาของชื่อฟลอเรนซ์ของเธอ ครอบครัวของฟลอเรนซ์อาศัยอยู่ในคฤหาสน์ที่สวนเอมบรีย์ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เพราะเธอเกิดในครอบครัวที่มั่งคั่งและมีชื่อเสียงในวงสังคมชั้นสูงของประเทศอังกฤษ เธอจึงถูกคาดหวังถึงการเตรียมความพร้อมเป็น ‘กุลสตรี’ ในทุกกระเบียดนิ้ว งานที่เหมาะกับสุภาพสตรีในสมัยนั้นมีแค่ จัดแจกันดอกไม้ ปักผ้า เล่นดนตรี และงานบ้านเล็กๆ น้อยๆ การศึกษาจึงไม่ใช่สิ่งจำเป็นสำหรับผู้หญิงแต่อย่างใด
แต่นับว่าเป็นโชคดีของฟลอเรนซ์ที่พ่อของเธอได้สอนวิชาวรรณกรรม ปรัชญา และภาษาศาสตร์อย่างเข้มข้น ไม่ว่าจะเป็น ภาษาละติน กรีก ฝรั่งเศส เยอรมัน อิตาเลียน เธอจึงสามารถสื่อสารได้คล่องแคล่ว และเธอยังให้ความสนใจวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์มากเป็นพิเศษอีกด้วย
แม้ในศตวรรษที่ 19 ผู้หญิงอังกฤษถูกคาดหวังให้แต่งงาน มีลูก และดูแลครอบครัวตามขนบธรรมเนียมและมาตรฐานสังคม แต่ฟลอเรนซ์ปฏิเสธที่จะทำตามขนบธรรมเนียมนั้นและประกาศด้วยความมุ่งมั่นว่า “ฉันจะเป็นพยาบาล” เพื่อรับใช้เพื่อนมนุษย์ผู้ประสบความทุกข์จากความเจ็บป่วย เธอจึงตัดสินใจไปเรียนเป็นนางพยาบาลที่ประเทศเยอรมนี แม้ว่าการไปเรียนต่อนี้จะขัดแย้งกับความต้องการของครอบครัวก็ตาม
แรงบันดาลใจของเธอเริ่มจาก “ศรัทธาในความรักที่มีต่อเพื่อนมนุษย์อย่างไร้ข้อแม้”
เมล็ดพันธุ์แห่งความรักถูกบ่มเพาะเติบโตในหัวใจบริสุทธิ์ของเธออย่างแท้จริง เธอส่งต่อความรักนั้นให้กับเพื่อนมนุษย์โดยไม่เลือกชนชาติ ศาสนา หรือแม้แต่ชนชั้นวรรณะ ความรักนี้ทำให้เธอปราศจากความเห็นแก่ตัว เธอสามารถดูแลผู้อื่นที่ไม่ใช่ญาติด้วยมาตรฐานที่สูงส่งได้
สงครามไครเมีย สงครามที่สร้างสตรีผู้ถือดวงประทีป
ค.ศ. 1853 อังกฤษเข้าร่วมสงครามไครเมียเพื่อรบกับรัสเซีย ฟลอเรนซ์ได้รับมอบหมายให้นำนางพยาบาล 38 คน มุ่งหน้าไปยังโรงพยาบาลทหารในเมืองสคูตารี ประเทศตุรกี ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ผู้หญิงได้รับอนุญาตให้ทำงานในกองทัพ ที่นั่นมีแต่กลิ่นอันน่าสะอิดสะเอียน พื้นของโรงพยาบาลสกปรกไปด้วยกองอุจจาระหนาหนึ่งนิ้ว ฟลอเรนซ์และพยาบาลต้องลงมือชำระล้างทำความสะอาด คอยดูแลเรื่องอาหารและเสื้อผ้าให้เหล่าทหารที่ได้รับบาดเจ็บ เมื่อพระอาทิตย์ตกดิน ฟลอเรนซ์ถือโคมไฟเดินตรวจตราผู้ป่วย และนี่เองคือที่มาของคำเรียกขานเธอว่า “สุภาพสตรีผู้ถือดวงประทีป”
แพทย์ที่ทำงานในสงครามไครเมีย ได้บันทึกถึงฟลอเรนซ์ไว้ว่า
“พลังอันวิเศษของเธอนั้นมีอิทธิพลเหนือความรู้สึกของบรรดาทหารภายในห้องนั้น ห้องอันน่าหวาดหวั่นและเปรอะเปื้อนไปด้วยคราบเลือด เป็นสถานที่สำหรับใช้ผ่าตัด ในบางครั้งภายในห้องนี้จะมีทหารที่ได้รับบาดเจ็บสาหัสถึงขั้นที่ต้องสูญเสียแขน ขา ถ้าไม่ใช่การยอมจำนนต่อโชคชะตา ก็อาจจะเป็นครั้งแรกที่พวกเขาปรารถนาความตายมากกว่าจะได้เจอกับมีดของหมอผ่าตัด แต่ยามใดที่เขาได้เห็นสุภาพสตรีผู้ทรงเกียรติยืนอยู่อย่างอดทนข้างๆ เขาก็จะตกอยู่ในภวังค์ ยอมเชื่อฟังในคำสั่งที่อยู่ในความเงียบสงบของเธอ และเขาก็ได้ค้นพบพลังบางอย่างจากการปรากฏกายของเธอ ซึ่งนำเขาให้ยอมรับและอดทนต่อทุกสิ่งในที่สุด”
ดวงประทีปฉายแสง
ฟลอเรนซ์มักจะถ่ายทอดแนวคิดการพัฒนางานต่างๆ โดยเฉพาะมุมมองต่อการพัฒนาวิชาชีพพยาบาล โดยเธอมักเน้นย้ำว่า “สำหรับพวกเราผู้ซึ่งเป็นพยาบาล งานการพยาบาลนั้นหากเราไม่พัฒนาให้ก้าวหน้าทุกๆ ปี ทุกๆ เดือน ทุกๆ สัปดาห์ จำคำของฉันไว้ พวกเรากำลังล้าหลัง”
ค.ศ. 1859 เธอได้เขียนหนังสือ 2 เล่ม คือ Notes on Hospitals พูดถึงสาเหตุที่ทำให้ผู้คนหวาดกลัวโรงพยาบาล แนวทางการปรับปรุงโครงสร้างอาคารของโรงพยาบาล การส่งเสริมสุขภาพทางกาย การปรับปรุงระบบน้ำทิ้งและน้ำเสีย รวมถึงระยะห่างระหว่างเตียง จนเธอได้กลายเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านโครงสร้างอาคารโรงพยาบาล และหนังสือ Notes on Nursing เรื่องราวของการพยาบาลแบบใหม่ มีการนำเสนอแนวคิดและวิธีการปฏิบัติงานที่ชัดเจน ในเวลาต่อมาเธอได้เปิดโรงเรียนพยาบาลแห่งแรกขึ้นในโรงพยาบาลเซนต์โทมัส โรงเรียนแห่งนี้ได้กลายเป็นโรงเรียนแม่แบบของโรงเรียนพยาบาลทั่วโลกจนกระทั่งปัจจุบัน
แม้ว่าบั้นปลายชีวิต ฟลอเรนซ์จะตาบอด แต่เรื่องราวของเธอยังคงส่องสว่างเป็น ทำให้ใครๆ ได้เห็นว่า การอุทิศตัว การมีชีวิตเพื่อผู้อื่น และการมีความรักต่อเพื่อนมนุษย์สามารถเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้คนหนึ่งคนสามารถลุกขึ้นมาทำประโยชน์ให้แก่สังคมอย่างไร้ขีดจำกัด จนกระทั่งนำไปสู่การพัฒนาชีวิตผู้คนทั่วโลกให้ดีขึ้น รวมถึงการเปิดโอกาสให้ตัวเองกล้าท้าทายทำสิ่งใหม่ที่หลายคนคิดว่า “ไม่มีทางเป็นไปได้” ให้กลายเป็น “ความสำเร็จ” ในที่สุด
วันนี้ แม้ว่าหุ่นยนต์และคอมพิวเตอร์สามารถวินิจฉัยโรคได้อย่างแม่นยำ และเข้ามามีบทบาทในการทำงานแทนมนุษย์ แต่วิชาชีพพยาบาลยังคงเป็นสายงานที่ต้องอาศัยพลังเพื่อการเยียวยาดูแลผู้ป่วย ด้วยการ ได้สัมผัสทางกายและมอบความเห็นใจให้เพื่อนมนุษย์ด้วยกัน และนี่ก็เป็นเครื่องพิสูจน์ว่า ฟลอเรนซ์มีวิสัยทัศน์กว้างไกล สามารถเล็งเห็นถึงความสำคัญของ “การเป็นมนุษย์ เพื่อเพื่อนมนุษย์” อย่างแท้จริง
ไม่มีความสำเร็จใดบนโลกใบนี้ ที่ไม่เริ่มจาก “ก้าวแรก” และไม่ใช่ทุกๆ ก้าวที่เราเดินจะไม่สะดุด แต่ถ้าเราหมั่นเติมเชื้อไฟแห่งความพยายามไม่ให้ริบหรี่ลง ดวงประทีปแห่งความหวังจะลุกโชนขึ้นอีกครั้ง และนำพาเราก้าวสู่จุดหมายได้ในที่สุด เช่นดวงประทีปในหัวใจของผู้หญิงที่ชื่อว่า ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล ที่ลุกโชนอยู่ตลอดกาล
ที่มา :
บทความ “ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล “สุภาพสตรีแห่งดวงประทีป” หญิงร่ำรวยผู้เลือกช่วยชีวิตคนผ่านงานพยาบาล” -BBC News Thai
หนังสือ จิตวิญญาณของผู้นำทางการพยาบาล ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล โดย พัชนี สมกำลัง สนพ. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผู้เขียน : ทอรุ้ง
#อาสาเขียนบทความ