คุณพ่อคุณแม่คงสงสัยว่า… สาเหตุอะไร? ลูกวัยรุ่นป่วยเป็นโรคซึมเศร้า แล้วจะดูแลลูกอย่างไร?

อาการซึมเศร้าในวัยรุ่นจะต่างกับวัยผู้ใหญ่ และอาการของเด็กแต่ละคนก็จะไม่เหมือนกัน คุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตอาการเบื้องต้นได้ เช่น

เด็กอารมณ์หงุดหงิดง่าย ผลการเรียนแย่ลง ขาดสมาธิ เบื่อหน่าย ใส่ใจตัวเองน้อยลง อ่อนไหวต่อคำวิพากษ์วิจารณ์  มีพฤติกรรมต่อต้าน เกเร บางคนอาจมีเพศสัมพันธ์ ใช้สารเสพติด ทำร้ายตัวเอง ทำร้ายกัน เป็นต้น

จะเห็นว่าพฤติกรรมต่อต้านเหล่านี้ไม่มีอารมณ์เศร้าอยู่เลย ซึ่งหากพ่อแม่ผู้ปกครองได้พูดคุยกับเด็กบ่อยๆ จนเขารู้สึกไว้วางใจ เมื่อครอบครัวเป็นพื้นที่ปลอดภัย เด็กจะบอกเล่าทุกสิ่งไม่ว่าเขากำลังมีความสุข เศร้าใจ ทุกข์ใจ หรือเสียใจอยู่


เพราะอะไรเด็กวัยรุ่นจึงซึมเศร้า


โรคซึมเศร้าในเด็กวัยรุ่นมักมาจากความเครียดสะสมจนเรื้อรัง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเรียน เรื่องเพื่อน (ไม่มีเพื่อน เพื่อนแกล้ง) หรือปัญหาที่เกิดขึ้นภายในครอบครัว ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของโรคซึมเศร้าในวัยรุ่น รวมถึงวัยนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงของระบบสมอง ระบบฮอร์โมน และเคมีในร่างกาย มีความเครียดที่มาจากความกดดันต่างๆ ทำให้ไปกระตุ้นปมที่อยู่ภายในใจปรากฏเป็นอาการซึมเศร้าได้

ปัญหาในครอบครัวที่ส่งผลต่ออาการซึมเศร้าของวัยรุ่น มีดังนี้

– พ่อแม่ไม่มีเวลาให้
หลายครอบครัวต้องส่งลูกไปอยู่กับญาติ ซึ่งญาติเองก็อาจจะไม่สามารถให้เวลาและดูแลเด็กได้อย่างใกล้ชิดมากนัก

– พ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวที่ต้องเหน็ดเหนื่อยกับการทำภารกิจต่างๆ คนเดียว
ด้วยภาระหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบมีมากมายทั้งในบ้านและนอกบ้าน เกิดระยะความห่างเหินกับลูก ขาดการใส่ใจ ส่งผลให้เด็กเกิดความโดดเดี่ยว รู้สึกไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ต้องการ ไม่มีคุณค่า ก็เป็นจุดเริ่มต้นของการนำไปสู่โรคซึมเศร้าได้

– เกิดความรุนแรงขึ้นในครอบครัว
พ่อแม่ทะเลาะกันเป็นประจำ พ่อทำร้ายแม่ แม่ทำร้ายลูก พ่อทำร้ายลูก ไม่ว่าทั้งทางร่างกายหรือคำพูด เหตุการณ์เหล่านี้ทำให้เด็กกลัว รู้สึกไม่ปลอดภัย แม้จะอยู่ในบ้านก็ตาม ไม่กล้าสร้างความสัมพันธ์กับคนอื่น รู้สึกโกรธแค้น

– พ่อแม่มีความใกล้ชิด แต่เป็นความใกล้ชิดที่มีความคาดหวังสูง ควบคุมลูก
พ่อแม่ให้ความอบอุ่นมากเกินไปจนลูกรู้สึกร้อน ทำให้ลูกรู้สึกว่าทำเท่าไหร่ก็ไม่ดีเลย ไม่เป็นตัวของตัวเอง ไม่รู้ความต้องการของตัวเอง หลายครอบครัวสอนลูกโดยการเน้นให้เกิดความรู้สึกผิด กดดันด้วยความกตัญญู ต่อว่าลูก ทำแบบนี้คือไม่กตัญญู ซึ่งจะทำให้เด็กเกิดความรู้สึกผิดได้ง่าย รู้สึกไม่เป็นที่รัก ไม่มีคุณค่า ไม่ดีพอ


การดูแลเมื่อลูกเป็นโรคซึมเศร้า


– พ่อแม่ต้องตระหนักก่อน
เช่น ตอนที่พ่อกับแม่อายุยังน้อยอาจจะเคยพลั้งไปทำร้ายลูก ไม่ใช่แค่การทำร้ายร่างกาย การบงการชีวิต การคาดหวังมากเกินไปให้ลูกเป็นอย่างที่ตนเองต้องการ ก็เกิดเป็นบาดแผลและปมในใจของลูกได้ หรือพ่อแม่อาจจะยังไม่รู้ว่าสิ่งที่ได้กระทำไปนั้นคือสาเหตุ เพราะเข้าใจไปเองว่าความต้องการนั้นคือการทำให้ลูกมีชีวิตที่ดี แต่ไม่รู้ว่าจะส่งผลกับลูกอย่างไร หรือพ่อแม่ละเลยที่จะรับฟัง ไม่เข้าใจอารมณ์และความต้องการของลูกเลย เมื่อตอนนี้พ่อแม่อายุมากขึ้น มีประสบการณ์การใช้ชีวิต เข้าใจชีวิตมากขึ้น จัดการอารมณ์ของตัวเองได้ พ่อแม่ต้องตระหนัก ไม่ละเลย ไม่ปล่อยให้ลูกโดดเดี่ยว ไม่คาดหวังและควบคุมลูกมากเกินไปจนลูกอึดอัดไม่เป็นตัวของตัวเอง

– ไม่เปรียบเทียบลูกของเรากับลูกของครอบครัวอื่น
เพราะการเปรียบเทียบนั้นจะทำให้ลูกรู้สึกว่าตัวเขาไม่มีคุณค่า และไม่เป็นที่ต้องการ

– โรคซึมเศร้าอาจจำเป็นต้องใช้ยา แต่ยาไม่ใช่การรักษาที่ดีที่สุด และหลายครั้งยาใช้ไม่ได้ผล
เพราะบาดแผลหรือปมที่ฝังอยู่ในใจเป็นสาเหตุ การกินยาทำให้เด็กรู้สึกว่าปัญหาอยู่ที่ตัวของเขา แม้ว่าเด็กจะรู้อยู่ในใจเสมอว่า “ปัญหาอยู่ที่ความสัมพันธ์ในบ้าน” แต่เด็กพูดหรืออธิบายออกมาได้ยาก ครอบครัวจึงมีความสำคัญมากที่สุดในการช่วยเยียวยาหัวใจของเด็กได้

– พ่อแม่ต้องเข้าใจว่าลูกไม่ได้มีความผิดปกติที่ต้องรักษา
โรคซึมเศร้าของเด็กที่เกิดจากปัญหาความสัมพันธ์ในครอบครัว พ่อแม่ต้องมีการเปลี่ยนแปลง ต้องกลับมาทบทวนตัวเอง ให้เกียรติลูกด้วยการให้พื้นที่ส่วนตัวกับเขา เปิดโอกาสให้ลูกได้ค้นหาตัวตน ไม่เอาแต่ตำหนิ เพราะลูกอาจได้ยินคำตำหนิจนรู้สึกเบื่อหน่ายแล้ว

– พ่อแม่ควรดูแลใจของตัวเอง เพื่อให้จิตใจสงบนิ่ง
ทำให้ครอบครัวมีความร่มเย็น สร้างบรรยากาศที่ดี เมื่อลูกเห็นว่าพ่อแม่มีบางอย่างเปลี่ยนแปลงไป เด็กจะมีกำลังใจ และสักวันหนึ่งโรคซึมเศร้าของเขาจะดีขึ้นได้

– พูดคุยและสังเกตพฤติกรรม อารมณ์และความรู้สึกของลูก
พูดคุยกับลูกให้บ่อยๆ สังเกตพฤติกรรม สอบถามความรู้สึก ความสุขของลูก สารทุกข์สุกดิบต่างๆ

– ทำกิจกรรม สร้างบรรยากาศใหม่ๆ อยู่เสมอ
ทำกิจกรรมร่วมกับลูกบ่อยๆ เพื่อสร้างบรรยากาศใหม่ๆ กิจกรรมใหม่ๆ เพื่อให้ลูกมีความสุขเพิ่มขึ้น และต้องไม่เป็นกิจกรรมที่ลูกไม่ชอบ เพราะจะทำให้อาการแย่ลงได้

– พูดคุยกับลูกโดยใช้เหตุและผลเสมอ
พูดคุยกับลูกโดยใช้เหตุและผล ไม่ใช้อารมณ์ ไม่ควบคุม ไม่บังคับ ให้ความเอาใจใส่และความอบอุ่นแก่ลูกอยู่เสมอ

– ให้ลูกได้เล่าปัญหาของตัวเองที่เกิดขึ้นด้วยบรรยากาศที่ผ่อนคลาย
เปิดโอกาสให้ลูกได้เล่าปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่เร่งรัด สร้างบรรยากาศที่ผ่อนคลาย ไม่ตึงเครียด

– หมั่นสำรวจพฤติกรรมของลูกอยู่เสมอ
คอยสำรวจพฤติกรรมหรือขอความช่วยเหลือจากคุณครูให้ช่วยสอดส่องพฤติกรรมของลูก

– ขอความร่วมมือกับคุณครูเพื่อแลกเปลี่ยนปัญหาที่พบ
เปิดเผยพูดคุยกับคุณครูเพื่อแลกเปลี่ยนปัญหาของลูกที่พบที่บ้านและโรงเรียน เพื่อร่วมมือกันป้องกันและแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด

– ปรึกษาจิตแพทย์เป็นประจำ
ปรึกษาจิตแพทย์เป็นประจำ เพื่อรับการรักษาอย่างถูกต้องและต่อเนื่อง


ความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว
คือสิ่งปกป้องและเยียวยาใจของลูกได้ดีที่สุด


การเยียวยาโรคซึมเศร้าจะเกิดขึ้นได้จริงๆ เมื่อเด็กยอมรับได้ว่าอาการของเขาแม้ว่าครอบครัวจะมีส่วนเกี่ยวข้อง แต่ตัวเขาเองคือผู้ที่ต้องรับผิดชอบดูแลเยียวยาตัวเอง พ่อแม่ต้องรักษาความสัมพันธ์ในครอบครัวให้ดี ดูแลใจของตัวเองให้ดี รู้จักผ่อนปรน เมื่อลูกเห็นการเปลี่ยนแปลงของพ่อแม่ เขาก็พร้อมที่จะยอมรับและเยียวยาใจตัวเอง

เชื่อว่าพ่อแม่ไม่ได้มีเจตนามุ่งร้ายต่อลูก ไม่อยากให้ลูกป่วยเป็นโรคซึมเศร้า แต่หลายๆ อย่างที่พ่อแม่กระทำอาจจะมาจากความไม่รู้ว่าการกระทำนั้นจะส่งผลอย่างไรต่อลูก ขอให้ตระหนักไว้เสมอว่า ความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว คือสิ่งปกป้องและเยียวยาใจของลูกได้ดีที่สุด


ขอบคุณข้อมูล :
https://citly.me/zKoZL
https://www.phyathai.com/article_detail/3410/th/ลูกแค่เศร้า_หรือเป็นโรคซึมเศร้ากันแน่

ภาพประกอบ :
pngtree.com
pinterest.com

บทความเกี่ยวกับหัวข้อนี้อาจทำให้คนที่เห็นรู้สึกไม่ดี หากคุณหรือคนที่คุณรู้จักกำลังเผชิญกับเรื่องยากลำบาก มีความคิดฆ่าตัวตายหรืออยากทำร้ายตนเอง ขอให้รู้ว่าคุณไม่ได้ตัวคนเดียว มีสายด่วนให้ความช่วยเหลือที่พร้อมให้บริการฟรีและทันท่วงที รวมทั้งเก็บเป็นความลับ

โทรสายด่วนสุขภาพจิต : 1323
สายด่วนสุขภาพจิต : dmh.go.th
สะมาริตันส์ : Facebook.com/Samaritans.Thailand