ในยุคที่การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว การมีส่วนร่วมถูกพูดถึงในวงกว้างมากขึ้น แม้โครงสร้างการศึกษาดั้งเดิมจะแข็งแรงมาก แต่ในขณะเดียวกันระบบการศึกษาก็จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ทันสมัยต่อสถานการณ์และมีความเปิดกว้างมากขึ้น ให้ผู้เรียนสามารถนำความรู้เชื่อมโยงและประยุกต์ใช้กับสถานการณ์ต่างๆ ได้ อีกทั้งการเรียนรู้ไม่ใช่แค่การเรียนในวิชา แต่การเรียนรู้ยังรวมไปถึงนิสัย ความเชื่อ และคุณธรรม ซึ่งเป็นที่สำคัญต่อชีวิตของนักเรียนอย่างมาก

ในขณะที่ “ครู” ผู้เป็นหัวใจในฐานะผู้สนับสนุนและกระตุ้นให้นักเรียนได้เรียนรู้ด้วยตนเองและเรียนรู้ร่วมกัน ยังต้องเปิดโอกาสให้นักเรียนได้มีส่วนร่วมในการออกแบบรูปแบบการเรียนที่มาจากความสนใจและความต้องการของพวกเขาเอง เพื่อให้นักเรียนสามารถใช้ไอเดียสร้างสรรค์นโยบายที่จะสามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของทุกคนในโรงเรียนให้ดีขึ้นได้ด้วยตนเอง ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการฝึกทักษะคิดวิเคราะห์ กล้าคิด กล้าทำ ฝึกความผู้นำ (Leadership skill) ในสังคมและผู้นำในชีวิตการทำงานของนักเรียนเองได้ในอนาคต

ปัจจุบัน ภาพการออกแบบการเรียนการสอนแบบนี้เกิดขึ้นได้จริงจาก โครงการพัฒนาโรงเรียนคุณธรรมหนึ่งใน 9 เครื่องมือสร้างโอกาส ภายใต้โครงการร้อยพลังการศึกษา โดยมูลนิธิยุวพัฒน์ ที่สามารถทำให้เกิดขึ้นจริงได้ด้วยการส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมกับทุกฝ่ายในโรงเรียน ทั้งผู้บริหาร ครู โดยเฉพาะนักเรียนที่ได้รับบทบาทเป็น ผู้นำ” ในการออกแบบนโยบาย ทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียน หรือที่เรียกว่า “นักเรียนแกนนำ”

เพื่อให้สามารถนำมาปรับใช้ในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของเพื่อนนักเรียน เช่น จากที่เคยขาดเรียน มาสาย ไม่ทำการบ้าน ให้เป็นพฤติกรรมเชิงบวกมากขึ้น เพราะนักเรียนด้วยกันจะมีข้อมูลที่รู้ดีว่าตัวเองหรือเพื่อนๆ มีปัญหาอะไร ซึ่งก็น่าจะทำให้นโยบายการลดขาดเรียนมาสายแก้ได้อย่างตรงจุด จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรมที่ดีขึ้นในโรงเรียน

เรียกได้ว่าไม่ได้เป็นการพัฒนาให้เด็กต้องเก่งวิชาการเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการพัฒนาจากภายใน หรือ Soft Skills คือแก่นแท้ที่เห็นว่าควรมุ่งสร้างให้เกิดขึ้นกับเด็กทุกคน โดยเฉพาะส่งเสริมการสร้างคุณงามความดีให้เกิดขึ้นในโรงเรียน และขยายผลให้เกิด “โรงเรียนคุณธรรม” เพิ่มมากขึ้น

การดำเนินโครงการฯ จะเน้นเปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมของทุกคนผ่านโครงงานคุณธรรม (Moral Project) ให้นักเรียนได้เรียนรู้และปฏิบัติจริง รวมทั้ง ครู ผู้บริหาร ผู้ปกครอง คณะกรรมการสถานศึกษา และชุมชน โดยจะมีนิเทศอาสาเป็นที่ปรึกษาให้กับครูแกนนำ นักเรียนแกนนำ และผู้บริหารโรงเรียน เพื่อผลักดันให้โครงงานคุณธรรมประสบความสำเร็จ เพื่อลดปัญหาพฤติกรรมเชิงลบ สร้างวินัยและความรับผิดชอบให้เกิดขึ้น นักเรียนมีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีตามที่โรงเรียนต้องการ ด้วย 4 หลักการ ดังนี้

1.ทำทั้งโรงเรียน ทุกคนในโรงเรียนมีส่วนร่วม ทั้ง นักเรียน ครู ผู้บริหาร หรือผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียคนอื่นๆ
2.ทำจากล่างขึ้นบน (Bottom Up) : ให้นักเรียนเป็นผู้ริเริ่ม คิด ลงมือทำ นำเสนอด้วยตนเอง ซึ่งหลักการนี้จะแตกต่างจาก รูปแบบการสอนดั้งเดิมคือ ครูเป็นศูนย์กลางในห้องเรียนและเป็นการเรียนการสอนแบบบนลงล่าง (Top-down)
3.ทำอย่างมีส่วนร่วม ให้โอกาสทุกคนมีส่วนร่วมในการพัฒนาโรงเรียนคุณธรรม ทั้งผู้ปกครอง และชุมชน
4.ทำอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ กระตุ้นให้เกิดการทำกิจกรรมต่อเนื่อง เพื่อให้มีทักษะ ความชำนาญ มากขึ้น โดยพยายามให้เกิดเชื่อมโยงในการเรียนรู้ทุกประเภทของโรงเรียน

โดยมีตัวชี้วัดความสำเร็จของโครงการโรงเรียนคุณธรรม จะใช้ตัวชี้วัด 7 ตัว ไม่ว่าจะเป็นการมีกระบวนการขับเคลื่อนการพัฒนาคุณธรรม จริยธรรม โดยพิจารณาหลักฐานความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างครูกับนักเรียน มีกลไกและใช้โครงงานคุณธรรมเป็นเครื่องมือ เช่น มีแผนปฏิบัติงาน คณะทำงานที่มีส่วนร่วม พฤติกรรมที่พึงประสงค์ในโรงเรียนเพิ่มขึ้น พฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ในโรงเรียนลดลง มีกระบวนการมีส่วนร่วมทั้งโรงเรียน รวมทั้งผู้ปกครองและชุมชน เกิดองค์ความรู้/นวัตกรรมการสร้างเสริมคุณธรรม จริยธรรม ที่เป็นประโยชน์และเป็นที่ยอมรับ และเป็นแหล่งเรียนรู้โรงเรียนคุณธรรม จริยธรรม โดยตลอดระยะเวลาโครงการฯ จะมีนิเทศอาสาลงพื้นที่ติดตามและให้คำแนะนำแก่โรงเรียนเทอมละ 1 ครั้ง เพื่อช่วยให้โรงเรียนสามารถปฏิบัติตามกระบวนการพัฒนาโรงเรียนคุณธรรมจนประสบความสำเร็จ

แม้การเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาของประเทศจะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ “โครงการพัฒนาโรงเรียนคุณธรรม โดยมูลนิธิยุวพัฒน์” เป็นอีกหนึ่งโครงการที่เกิดจากความตั้งใจที่จะสนับสนุนให้มีการเปิดพื้นที่ให้นักเรียนได้มีส่วนร่วมออกแบบในสิ่งที่พวกเขาต้องการ บริหารจัดการแบบล่างขึ้นบน การพยายามขยายจำนวนโรงเรียนเครือข่ายจึงเป็นการสร้างโอกาสการเรียนรู้ให้กับเด็กๆ อย่างทั่วถึง แต่การผลักดันนี้จะใช้เพียงโครงการพัฒนาโรงเรียนคุณธรรมอย่างเดียวก็ไม่อาจสามารถเข้าถึงเด็กทุกคนในประเทศได้ จึงต้องอาศัยการมีส่วนร่วมจากทุกคนในสังคม ทั้งระดับองค์กร ประชาชน ในการขับเคลื่อนโครงการฯ เพื่อให้เด็กและเยาวชนเติบโตไปเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติต่อไป เพราะถ้าการศึกษาดี สังคมจะเต็มไปด้วยคนที่มีคุณภาพ