เด็กที่มาที่นี่คือเด็กรอบนอก แค่มาเรียนก็โอเคแล้ว แต่เราสร้างโอกาสให้เขา นอกจากได้เรียนรู้คณิต วิทย์ อังกฤษแล้ว การที่เด็กมีจำนวนชั่วโมงเรียนที่ได้ใช้คอมพิวเตอร์มากขึ้น ความคล่อง ความไม่กลัวคอมฯ ก็มากขึ้น
นายพงษ์เทพ เจริญไทย ผู้อำนวยการโรงเรียนพยุหะพิทยาคม กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับนักเรียน หลังจากเขานำโรงเรียนพยุหะพิทยาคมเข้าร่วมโครงการร้อยพลังการศึกษา
โรงเรียนพยุหะพิทยาคม ตั้งอยู่ที่อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ เมื่อ 4 ปีก่อนตอนที่ ผอ.พงษ์เทพ เพิ่งย้ายมาโรงเรียนแห่งนี้มีนักเรียนอยู่ 589 คน แต่ปัจจุบันจำนวนนักเรียนเพิ่มขึ้นรวมแล้วมากกว่า 700 คน แต่กว่าที่โรงเรียนจะสร้างการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับนักเรียนและความเชื่อมั่นของคนในชุมชนอย่างทุกวันนี้ ก็ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจของคุณครู การมีส่วนร่วมกับองค์กรภายนอกและการบริหารจัดการของผู้อำนวยการโรงเรียนที่จะเอาชนะอุปสรรคต่างๆ ที่ผ่านเข้ามา
จากวันแรกที่ครูไม่คล่อง คอมฯ ไม่พอ
เมื่อเด็กได้ประโยชน์ โรงเรียนก็พร้อมเดินหน้า
ผอ.พงษ์เทพ เล่าถึงเครื่องมือแรกด้านเทคโนโลยีดิจิทัลที่ร้อยพลังการศึกษามาชวนโรงเรียนติดตั้งเมื่อปีการศึกษา 2560 นั่นคือ เลิร์นเอ็ดดูเคชั่น หรือห้องเรียนดิจิทัลวิชาคณิตศาสตร์ให้ฟังว่า ตอนนั้น ผอ.รู้จักโครงการนี้อยู่แล้ว และเคยนำโรงเรียนพนมรอกวิทยา เข้าร่วมโครงการตั้งแต่เป็น ผอ.อยู่ที่นั่น ผอ.พงษ์เทพมองว่าปัจจัยสำคัญคือ ครูผู้ใช้โปรแกรมต้องสนใจ “ในตอนนั้นมองแล้วว่าคนที่ได้ประโยชน์ คือ “เด็ก” แต่จะขับเคลื่อนได้ไหม ไม่ได้อยู่ที่ ผอ. ถ้า ผอ.สั่งให้ใช้ มันก็จะอยู่ที่ ผอ. แต่ไม่รู้ว่าครูจะใช้จริงไหม เลยกลับคุยกับครู” ดังนั้น เขาจึงพูดคุยกับครูที่เกี่ยวข้องก่อน เมื่อพบว่าคุณครูสนใจ จึงส่งไปฟังข้อมูลกับทีมงานแล้วกลับมาหารือกัน เป็นจุดเริ่มต้นที่โรงเรียนตัดสินใจติดตั้งเลิร์นเอ็ดดูเคชั่น
แต่ในเวลานั้นโรงเรียนมีห้องคอมพิวเตอร์เพียง 1 ห้อง ไม่เพียงพอต่อการใช้สอนคณิตศาสตร์ด้วย โครงการร้อยพลังการศึกษาและเลิร์นเอ็ดดูเคชั่น จึงได้ประสานกับโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ ขอรับบริจาคคอมพิวเตอร์ที่ไม่ได้ใช้งานแล้วจำนวน 40 เครื่องมาให้กับโรงเรียน โดยโรงเรียนลงทุนเพิ่มประมาณ 40,000 บาท ติดตั้งฮาร์ดดิสก์ให้คอมพิวเตอร์สามารถใช้งานได้ หลังจากติดตั้งระบบต่างๆ แล้ว อุปสรรคต่อมาที่ ผอ. พบ คือ การใช้งานของครู ซึ่งตอนนั้นมีการฝึกอบรมให้ครูเรียนรู้การใช้งานเพียงไม่กี่ชั่วโมง ทำให้ครูยังใช้งานได้ไม่คล่อง
แม้จะมีอุปสรรคข้างต้น แต่ ครูผู้สอนคณิตศาสตร์อย่างครูสุรชัย บัวหลวง ซึ่งเป็นผู้เริ่มใช้งานคนแรกๆ ของโรงเรียนก็ไม่ท้อ ครูสุรชัยบอกว่า “สอนๆ อยู่ บางที เครื่องนี้จอขาวครับ เครื่องนี้ไม่ติดค่ะ เราเป็นครูคณิตศาสตร์ ซ่อมไม่เป็น ครูไอทีก็สอนอยู่ ก็ต้องให้น้องๆ (ทีมงาน) ช่วยแก้ไขทางไกล สำหรับเนื้อหาในไฟล์ที่ครูเขาสอน ให้ความรู้กับเด็กได้ เลยพยายามแก้ไขไปเรื่อยๆ เพราะมันมีประโยชน์กับเด็ก … เด็กบางคนไม่เคยใช้เมาส์ ก็ต้องมาฝึกอยู่เป็นอาทิตย์”
เกวลิน นักเรียนชั้น ม.4 ซึ่งได้เรียนเลิร์นเอ็ดดูเคชั่นในตอน ม.ต้น แสดงความเห็นสอดคล้องกับครูสุรชัย เธอมองว่าข้อดีของการเรียนผ่านโปรแกรม คือ ครูในคลิปวิดีโอมีการสร้างสีสันที่ทำให้ไม่เครียด มีการใช้รูปภาพที่ทำให้เธอเข้าใจมากขึ้น นอกจากนี้การเรียนจากคลิป หากไม่เข้าใจตรงไหนก็สามารถย้อนกลับมาดูซ้ำได้
“เกรดคณิตดีขึ้นค่ะ หนูเป็นคนอ่อนเลขมาก ไม่ชอบคิดเลข จากที่ได้ 2.5 ก็ได้ 3.5 ได้ 4 ทำให้หนูเปลี่ยนความคิด จากที่เกลียดการคิดเลขที่สุดในโลก แต่ก็รู้สึกว่า ถ้าเราตั้งใจกับมันจริงๆ เราเข้าใจ มันก็ทำได้” เกวลินกล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในตัวเอง เมื่อได้เรียนกับเลิร์นเอ็ดดูเคชั่น
พัชริญา ซึ่งย้ายมาเรียนที่นี่ตอน ม.3 ให้ความเห็นคล้ายเพื่อนของเธอว่า โปรแกรมนี้มีข้อดีคือสามารถมาเรียนเมื่อไหร่ก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเรียนในคาบเรียนเท่านั้น นอกจากนี้ เธอยังชอบเทคนิคการสอนของคุณครูในคลิปวิดีโอ ที่ทำให้เธอจำเนื้อหาได้ดีขึ้น
“ครูชัวร์ (ครูในคลิป) มีลูกเล่นในการจำเป็นเพลง เป็นคำศัพท์ บางครั้งมันก็ช่วยในห้องสอบ เราฮัมเพลงที่เขาสอนในห้องสอบ”
ในด้านการประยุกต์ใช้เลิร์นเอ็ดดูเคชั่นมาสอนนักเรียนในระยะแรกนั้น ครูนงลักษณ์ จอกสุวรรณ์ ครูผู้สอนคณิตศาสตร์ ชั้น ม.3 ซึ่งใช้โปรแกรมนี้มาร่วม 3 ปีแล้ว เล่าย้อนถึงช่วงแรกที่ต้องใช้งานโปรแกรมว่า จากการใช้งานเธอมองว่าเป็นสื่อที่ดี ทำให้เธอไม่ต้องเตรียมอุปกรณ์การสอน ซึ่งในหลายๆ หัวข้อการเตรียมอุปกรณ์การสอนต้องใช้เวลานาน สื่อนี้ยังกระตุ้นความสนใจของเด็กๆ ได้ด้วย
ด้านครูสุนาริน บุญมี ซึ่งสอนคณิตศาสตร์ ชั้น ม.2 บอกว่าในช่วงแรกก็ยังไม่รู้หลัก แต่หลังจากใช้งานมาระยะหนึ่ง เธอใช้โปรแกรมได้ดีขึ้น ครูสุนารินบอกว่า “เราจับจุดเด็กได้ว่าทำอย่างไรให้เด็กสนใจ ตอนแรกจับไม่ได้ก็ให้ดูไปเรื่อยๆ แต่พอมีการมาสะท้อนกันเรื่อยๆ เราจะรู้ว่าควรสอนอย่างไรเพื่อให้เด็กเข้าใจ”
อย่างไรก็ตาม การใช้งานเลิร์นเอ็ดดูเคชั่นก็มีข้อจำกัดต่างๆ ทั้งในมุมมองของนักเรียนและคุณครู เด็กๆ บอกว่า ไม่สามารถสื่อสารกับครูในคลิปได้ หากมีตรงไหนที่ครูอธิบายเร็วไป หรือฟังแล้วไม่เข้าใจก็ต้องไปสอบถามจากครูประจำวิชา หรือหาความรู้จากช่องทางอื่นๆ เพิ่ม รวมถึงหากโปรแกรมนี้สามารถเรียนที่ไหนก็ได้ เช่น เรียนจากที่บ้านได้ หรือเป็นแอพพลิเคชั่นบนมือถือ ไม่จำเป็นต้องรอมาเรียนที่โรงเรียนเท่านั้น คิดว่าน่าจะสะดวกมากยิ่งขึ้น และอยากให้มีการสรุปเนื้อหาทั้งหมดที่เรียนมาด้วย เพื่อช่วยย่นระยะเวลาในการทบทวนบทเรียนก่อนสอบได้
ขณะที่ฝั่งคุณครูมองว่าข้อกำหนดของโครงการที่ต้องการให้ครูและเด็กใช้งานโปรแกรมในสัดส่วนที่ไม่น้อยกว่า 70 เปอร์เซนต์นั้น บางสถานการณ์ก็ทำได้น้อยกว่าข้อกำหนด เช่น เวลาเกิดปัญหาจากเครือข่ายหรือคอมพิวเตอร์ ทำให้เด็กที่เรียนจากเครื่องนั้นใช้งานไม่ได้ ก็ต้องไปนั่งเรียนที่เครื่องของเพื่อนแทน หรือในช่วงสถานการณ์โควิด ที่เด็กๆ ต้องเรียนจากที่บ้าน ซึ่งบางคนยังไม่พร้อมในเรื่องอุปกรณ์และอินเทอร์เน็ต รวมไปถึงระยะเวลาในการเรียนที่ครูต้องรวบรัดให้กระชับกว่าในสถานการณ์ปกติ ปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลให้การเข้าใช้งานโปรแกรมน้อยกว่าที่กำหนด ยังมีประเด็นเรื่องความสามารถในการเรียนรู้ของเด็กที่แตกต่างกัน ซึ่งห้องที่มีเด็กเก่งจะเรียนรู้ผ่านโปรแกรมได้ดีกว่าห้องที่มีเด็กที่เรียนอ่อน นับเป็นจุดที่ยังต้องหาแนวทางการสอนที่เหมาะสมกับเด็กแต่ละห้องเรียนต่อไปในอนาคต
ขยายห้องเรียนดิจิทัลเพิ่มอีก 2 วิชา
และการเปลี่ยนแปลงที่มาพร้อมครูทีชฯ
จากเลิร์นเอ็ดดูเคชั่น ในปีการศึกษานั้นโรงเรียนยังรับเครื่องมืออื่นๆ จากร้อยพลังการศึกษาด้วย ได้แก่ ทุนการศึกษาจากมูลนิธิยุวพัฒน์ ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงทีชฟอร์ไทยแลนด์ ตามมาด้วยปีการศึกษา 2562 ได้ติดตั้งห้องเรียนดิจิทัลภาษาอังกฤษ วินเนอร์อิงลิช และในปีการศึกษา 2563 ก็ได้เพิ่มห้องเรียนดิจิทัลวิชาวิทยาศาสตร์ และโรงเรียนคุณธรรม
แม้จะเป็นห้องเรียนดิจิทัลเหมือนกัน แต่การติดตั้งโปรแกรมวินเนอร์อิงลิชใน 2 ปีต่อมาดูจะคล่องตัวมากกว่า เพราะโปรแกรมนี้ให้เวลาในการจัดอบรมการใช้งานให้ครูมากขึ้น ทำให้ครูรู้รายละเอียดของโปรแกรม ทั้งเนื้อหาและการประมวลผลต่างๆ
ครูพิชัย กีรกมลชัย เล่าว่าครั้งแรกที่ได้เรียนรู้การใช้งานวินเนอร์อิงลิช เขาเห็นว่าเป็นบทเรียนที่มีลักษณะเรียนปนเล่น สนุกดี พอมาใช้สอนเด็กที่รู้สึกสนุกกับการเรียน “บางคนมองว่าสื่อมันง่าย แต่เรามองว่าถ้าคิดจะวางพื้นฐานให้เด็กฟัง พูด อ่าน เขียน ถ้ายากไปเด็กก็เบื่อ ไม่อยากทำ แต่ถ้าเขาทำได้แล้วเราก็มีงานเพิ่มให้เขาทีหลัง” ครูพิชัยกล่าว ซึ่งครูเชื่อว่าเมื่อเด็กทำแบบฝึกหัดได้ครบ ทักษะภาษาอังกฤษย่อมดีขึ้น ในส่วนของปัญหาที่พบก็จะมีเรื่องเซิร์ฟเวอร์ อินเทอร์เน็ต ซึ่งทีมงานก็ช่วยแก้ปัญหาอย่างรวดเร็ว
ครูทิพย์วัลย์ จงไพศาลสถิตย์ หัวหน้ากลุ่มสาระภาษาต่างประเทศ มองว่าประโยชน์ที่เด็กๆ ได้รับไม่เพียงแต่ทักษะภาษาอังกฤษเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องโอกาสด้วย ครูทิพย์วัลย์บอกว่า “ดูจากที่เราไปเยี่ยมบ้านเด็ก เด็กส่วนใหญ่ของพยุหะฯ เป็นเด็กรอบนอก ก็จะมีปัญหาในเรื่องเน็ตบ้าง ทุนทรัพย์บ้าง เศรษฐกิจของครอบครัว พอเขามาอยู่กับเรา ได้เรียนห้องแอร์ มีอุปกรณ์การเรียนครบ เพราะวินเนอร์ฯ ดูแล 40 เครื่อง 40 ชุด เด็กๆ จึงเข้าถึงอุปกรณ์เหล่านี้ ตอนนี้ผ่านไป 3 ปีอุปกรณ์เริ่มเสื่อม ก็ต้องดูแลกันต่อไป”
เนื่องจากครูทิพย์วัลย์เป็นครูพี่เลี้ยงที่ดูแลครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงทีชฟอร์ไทยแลนด์ด้วย เธอบอกว่านี่เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่มาช่วยแก้ไขปัญหาขาดแคลนครูในกลุ่มสาระวิชาภาษาต่างประเทศ และยังเป็นครูที่มีจิตวิทยาในการพูดคุยมีวัยที่ใกล้เคียงกับนักเรียน
“ต้องขอบคุณ ผอ. ที่นำโครงการมา ช่วงปี 2560 เรามีครูสอนภาษาอังกฤษเกษียณ เลยขาดครู แล้วก็มีครูทีชฟอร์ไทยแลนด์เข้ามา เป็นบุคลากรที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลง ตอบโจทย์ได้ดี ครูเข้ากับนักเรียน ช่วยพูดคุยกับนักเรียนได้ จากเด็กที่มีปัญหาทางบ้าน เขาก็ช่วยพูดคุยมีการสะท้อนความคิดออกมาและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้”
“ครูทีชฯ นำประสบการณ์ชีวิตที่แตกต่างกันมาพูดคุยแลกเปลี่ยน ทำให้เด็กมีมุมมองในการนำเสนอที่แปลกใหม่ ได้พูดคุย วางแผนการทำงานร่วมกับคุณครู ทำให้เกิดการแสดงใหม่ๆ ที่คุณครูในโรงเรียนชื่นชมกันมาก” ผอ.พงษ์เทพกล่าวถึงครูทีชฟอร์ไทยแลนด์ ซึ่งเขาเองมองว่าการมีครูแปลกหน้ามาสอนที่โรงเรียนเรื่อยๆ ทำให้เด็กตื่นตัว และเมื่อนำประสบการณ์มาเล่าให้เด็กๆ ฟัง ให้คำแนะนำถึงมุมมองในอนาคตซึ่งเป็นเรื่องสำคัญสำหรับเด็กๆ เกวลินและพัชริญานักเรียนชั้น ม.4 ซึ่งเคยเรียนกับครูทีฟอร์ไทยแลนด์บอกว่า สามารถปรึกษาและคุยปัญหากับครูได้ ครูบางคนเพิ่งเรียนจบมหาวิทยาลัยก็จะแนะนำถึงการเรียนต่อคณะที่พวกเธอสนใจในมหาวิทยาลัยได้ด้วย
ทุนการศึกษาสร้างโอกาสให้เด็ก
และระบบช่วยเหลือดูแลของโรงเรียน
สำหรับห้องเรียนดิจิทัลวิชาต่างๆ และโครงการครูผู้นำทีชฟอร์ไทยแลนด์ ถือว่าเป็นเครื่องมือที่มุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพการศึกษาใน 3 วิชาหลัก ได้แก่ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และภาษาอังกฤษ แต่หนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่ช่วยสร้างโอกาสให้เด็กเข้าถึงการศึกษาหรือมีทุนทรัพย์ในการมาเรียนหนังสือที่โรงเรียนได้ ก็คือทุนการศึกษาโดยมูลนิธิยุวพัฒน์ ผอ.พงษ์เทพ กล่าวและเสริมต่อไปว่า “เด็กในโรงเรียนส่วนมากพ่อแม่ไปทำงานที่กรุงเทพฯ บ้างก็หย่าร้าง เด็กๆ ต้องอาศัยกับปู่ย่าตายายโดยที่พ่อแม่ส่งเงินมาให้พอบ้างไม่พอบ้าง ตรงนี้ก็เป็นส่วนเสริมได้เป็นอย่างดีกับเด็กที่ขาดโอกาส ถือว่าเราดูแลเขาได้”
โรงเรียนเองยังสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ปกครองในอีกหลายๆ ด้าน เช่น การสนับสนุนการศึกษาต่อสายอาชีพ ทว่าเด็กที่เลือกเรียนต่อระดับมัธยมปลายกลับเพิ่มขึ้น รวมถึงมีระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนด้วย ครูพิมพาพร พันธ์ผูก ซึ่งดูแลพฤติกรรมนักเรียนเพื่อป้องกันนักเรียนหลุดจากระบบการศึกษา บอกว่า “เราออกเยี่ยมบ้านนักเรียนร้อยเปอร์เซ็นต์ โดยครูที่ปรึกษา การไปเยี่ยมบ้านทำให้เห็นเลยว่าเด็กเขาอยู่อย่างไร เดินทางมาลำบากอย่างไร…” ครูพิมพาพรเชื่อว่า การที่ครูใส่ใจนักเรียนทั้งเรื่องเรียนและครอบครัว เป็นสิ่งที่ทำให้ผู้ปกครองรู้สึกว่าโรงเรียนให้ความสำคัญกับบุตรหลานของเขา และมีความเชื่อมั่นว่า ถ้าเขาส่งมาเรียนที่นี่ นอกจากได้เรื่องเรียน ลูกหลานน่าจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วย
ถอดบทเรียนการจัดการของผู้นำ
และวิธีปูทางสู่ความยั่งยืน
ที่ผ่านมาโรงเรียนได้รับบริจาคคอมพิวเตอร์มา ซึ่งหากเป็นเครื่องมือสองก็ต้องมีการตรวจสอบและแก้ไขสเปกให้สามารถใช้งานได้ รวมถึงหาความร่วมมือจากคู่ค้าหรือซัพพลายเออร์ที่ทำงานร่วมกับโรงเรียนให้มาสนับสนุนเครื่องคอมพิวเตอร์ด้วย นอกจากนี้ ในเรื่องของการจัดทำแผนงบประมาณต่างๆ ผอ.พงษ์เทพจะดูแลด้วยตัวเอง โดยแต่ละปีเขาจะจัดสรรงบประมาณสำหรับค่าใช้จ่ายอย่างค่าไฟที่เพิ่มขึ้นเตรียมไว้อย่างชัดเจน แล้วไปลดงบประมาณอื่นที่ไม่จำเป็นออก ส่วนค่าซ่อมบำรุงคอมพิวเตอร์หรือค่าใช้จ่ายในการติดตั้งระบบก็อาจจะใช้งบที่เหลือจากโครงการอื่นๆ มาสนับสนุน สำหรับค่าหนังสือเรียนก็ใช้งบเท่าเดิมแต่เปลี่ยนรายการหนังสือที่จะซื้อมาเป็นหนังสือที่ใช้กับโปรแกรมแทน โดยที่งบประมาณที่กลุ่มสาระวิชาต่างๆ เคยได้รับจะยังคงได้เท่าเดิม 4 ปีที่ ผอ.พงษ์เทพ ทยอยติดตั้งเครื่องมือต่างๆ ของร้อยพลังการศึกษา เขาบอกว่าประโยชน์ที่โรงเรียนได้รับ เรื่องแรกคือโอกาสของเด็กที่แตกต่างจากโรงเรียนอื่น ซึ่งเด็กได้รับทั้งทุนการศึกษาและการเรียนรู้ที่ผ่านเทคโนโลยีซึ่งเด็กๆ อาจจะไม่รู้ตัว “แทนที่เขาจะไปนั่งเล่นแต่เกมอย่างเดียว เขาใช้คอมได้มากกว่าเล่นเกม โดยผ่านการเรียนวิชาต่างๆ”
ขณะเดียวกัน ก็ถือเป็นมิติใหม่ในการจัดการศึกษาของโรงเรียน ที่มีการใช้เทคโนโลยีมาช่วยจัดการเรียนการสอน เนื่องจากครูรุ่นใหม่ๆ เริ่มใช้ไอแพด โน้ตบุ๊ค หรือแอพพลิเคชั่นใหม่ๆ ในการเรียนการสอน ทางโรงเรียนก็สนับสนุนอุปกรณ์รองรับ เช่น ห้องเรียนที่เคยมีโปรเจ็คเตอร์ พอเครื่องเสียก็เปลี่ยนเป็นสมาร์ททีวี เพื่อให้ครูนำเสนอเนื้อหาผ่านสมาร์ททีวีได้ ทางโรงเรียนยังให้ครูสามารถกู้ยืมเงินสหกรณ์เพื่อซื้ออุปกรณ์เหล่านี้ได้โดยไม่คิดดอกเบี้ย
สิ่งที่เปลี่ยนแปลงในครูคือวิถีการสอน เมื่อครูระดับชั้น ม.ต้น เริ่มดาวน์โหลดเนื้อหาการเรียนรู้ใหม่ๆ จากอินเทอร์เน็ตมาสอน ก็ทำให้ครูระดับชั้น ม.ปลาย เปลี่ยนวิถีเช่นกัน การสอนแบบชอล์กแอนด์ทอล์คก็น้อยลงไป
ผอ.พงษ์เทพ ได้สรุปองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนเครื่องมือร้อยพลังการศึกษาในโรงเรียนไว้ อันดับแรก คือ วิสัยทัศน์ของผู้อำนวยการ เมื่อ ผอ.สนใจดำเนินโครงการแล้ว ต้องนำครูไปได้ด้วย เพราะถ้าครูไม่เอาด้วย ก็เกิดขึ้นได้ยาก และสุดท้ายคือความพร้อมของบุคลากรในโรงเรียน ถ้าในโรงเรียนมีครู 2 เจเนอเรชั่น ครูรุ่นใหม่ก็จะรับเทคโนโลยีใหม่ได้ง่าย หรือครูรุ่นก่อนมีวิสัยทัศน์ที่พร้อมจะนำเทคโนโลยีมาใช้ ก็จะไม่เกิดปัญหา อีกหนึ่งปัญหาที่มักเกิดขึ้นในโรงเรียนที่ใช้เครื่องมือ คือการย้ายครูไปยังโรงเรียนอื่น ทำให้การใช้งานเครื่องมือต่างๆ ต้องหยุดชะงักไป เพราะครูคนใหม่ใช้งานไม่คล่อง ผอ.พงษ์เทพ บอกว่า แต่ละกลุ่มสาระมีหัวหน้ากลุ่ม ดังนั้น เวลามีโครงการใหม่ต้องทำให้ครูทั้งกลุ่มสาระเข้าใจ มีทัศนคติไปในทิศทางเดียวกัน
ครั้งแรกที่นำเครื่องมือมาใช้ต้องคุยกับครูทุกคนจะได้เชื่อมต่อได้ เพราะเวลาครูคนหนึ่งย้าย ครูอีกคนมาสอนแทน ถ้าเขาไม่มีพื้นฐานในการรับรู้โปรแกรมเลย และไม่มีใจในการศึกษาว่าโปรแกรมทำอะไรได้ เขาก็จะไม่สนับสนุน ดังนั้น ที่โรงเรียนพยุหะฯ จะให้ครูทุกคนเข้าไปศึกษาโปรแกรมตั้งแต่แรก จะได้สอนแทนกันได้ เนื่องจากตำแหน่ง ผอ.เองก็มีการโยกย้ายเช่นกัน ที่ผ่านมาเวลาประชุมกับโครงการร้อยพลังการศึกษา บางครั้งเขาจะเชิญผู้บริหารโรงเรียนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมด้วย “สิ่งที่ผมต้องการ คือ ต้องไม่อยู่ที่ ผอ. คนเดียว ทีมบริหารต้องไปในแนวทางเดียวกัน เมื่อ ผอ.เปลี่ยนจะได้ไม่สะดุด” ผอ.พงษ์เทพ กล่าวทิ้งท้าย
โครงการร้อยพลังการศึกษา โดย ร้อยพลังเปลี่ยนประเทศ มีเป้าหมายในการพัฒนาเยาวชนใน 3 มิติ สำคัญ 1.ด้านการเข้าถึงการศึกษา 2.ด้านคุณภาพการศึกษา 3.ด้านการพัฒนาทักษะชีวิต ผ่านการใช้เครื่องมือในโรงเรียน ทั้ง 6 เครื่องมือมีการติดตามผลลัพธ์และพัฒนาการใช้งานในโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง โดยภาคีการศึกษา เลิร์นเอ็ดดูเคชั่น, ทีชฟอร์ไทยแลน์, เอ็ดดูเทค อินโนเวชั่น, อาชีฟ และ มูลนิธิยุวพัฒน์ ปัจจุบันมีโรงเรียนที่เข้าร่วมใน โครงการร้อยพลังการศึกษา 85 โรงเรียน ใน 30 จังหวัด